สำรวจชีวิตหลังลวดหนาม : คุยกับทีมภาคสนามมูลนิธิรักษ์ไทย

สำรวจชีวิตหลังลวดหนาม : คุยกับทีมภาคสนามมูลนิธิรักษ์ไทย

โควิด 19  ระบาดระลอกใหม่รอบนี้ทำให้พื้นที่ 3 สมุทรประกาศล็อกดาวน์ไปแล้วเริ่มจากสมุทรสาคร สมุทรปราการและสมุทรสงคราม พบผู้ติดเชื้อในจังหวัดอื่น ๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร มากกว่า  25 จังหวัด

ภายหลังที่ปิดตลาดเพื่อควบคุมโรคทำให้เกิดภาวะ “คนนอกเข้าไม่ได้ คนในก็ออกไม่ได้” หน่วยภาครัฐของจังหวัดสมุทรสาครได้ทำงานควบคู่กับเจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย องค์กรพัฒนาที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งมีภารกิจดูแลสุขภาพแรงงานเพื่อนบ้านในหลายจังหวัดที่เข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข และระบบประกันสุขภาพอยู่

รายการนักข่าวพลเมือง C-Site  ดำเนินรายการโดยฟักแฟง วิภาพร วัฒนวิทย์ ได้พูดคุยกับคุณวัชระพล บูรณะเนตร ผู้ประสานงานภาคสนาม มูลนิธิรักษ์ไทย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นข้อต่อสำคัญระหว่างหน่วยงานทางการแพทย์และกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้าน ขณะนี้อยู่ในพื้นที่และออนไลน์คุยกับเรา

(สัมภาษณ์ 24 ธ.ค. 2563)

สถานการณ์ในตลาดกลางกุ้งเป็นอย่างไรบ้างคะ

จากล่าสุดที่ได้ลงพื้นที่ เห็นการเซ็ตระบบของพื้นที่ในตลาดกุ้งที่ดีขึ้นกว่าการล็อกดาวน์วันแรก เนื่องจากหลายหน่วยงานได้ประชุมทีมกัน อย่างเรื่องสภาพแวดล้อมภายในตลาดกุ้งที่มีปัญหาขยะ ซึ่งไม่สามารถนำออกมาได้ตอนนี้ก็มีรถของบริษัทเอกชนที่รับจัดการขยะติดเชื้อ ก็วางแผนที่จะการเข้าไปเก็บขยะ โดยมีแรงงานข้ามชาติที่ดูแลเรื่องขยะจะรวบรวมขยะใส่ถุงขยะสีแดง แล้วนำมาวางไว้บริเวณด้านหน้า เพื่อให้รถขยะเข้าไปรับได้

เรื่องความเป็นอยู่ อาหารการกินยังพอหรือไม่ ต้องการความช่วยเหลือเรื่องใดบ้างคะ

เรื่องอาหารจะมีสำนักงานกาชาดจังหวัดที่ได้รับบริจาคจากพื้นที่อื่น ๆ และจัดสรรมายังพื้นที่ตลาดกุ้ง ซึ่งมีความเพียงพอกับจำนวนแรงงาน เนื่องจากจะมีถุงยังชีพอยู่เป็นประจำ ส่วนน้ำดื่ม-น้ำสะอาดจะมีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมบริจาคโดยมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เมื่อวานตอนเช้าจะมีบริษัทไทยยูเนียนและคิงฟิชเชอร์นำเอาข้าวสารและอาหารแห้ง มาแจกจ่ายให้กับพนักงานของโรงงาน

“บรรยากาศที่เราเจอในช่วงวันสองวันแรก แรงงานก็ออกมานั่งข้างนอกตึกและเล่นตระกร้อในพื้นที่โซนด้านหลัง โดยเฉพาะแรงงานวัยรุ่นผู้ชาย แรงงานมีความกังวลใจ มีความว่าตนจะรู้ได้เมื่อไหร่ว่าตนติดเชื้อหรือไม่ แรงงานส่วนหนึ่งก็จะกักตัวเองอยู่ในห้องพักของตัวเอง เพราะกังวลใจว่าหากตัวมีเชื้อจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อ หรือได้รับเชื้อจากเพื่อนแรงงานด้วยกันเองหรือไม่”

สถานที่และที่พักของแรงงานค่อนข้างแคบ จะส่งผลต่อมาตรการกักตัวหรือไม่คะ?

สภาพห้องภายในตึกจะเป็นห้องใหญ่ แล้วแบ่งเป็นห้องเล็กย่อย ๆ การกักตัวตามมาตรการของรัฐสำหรับตลาดกุ้งอาจจะทำได้ยาก เพราะสภาพแวดล้อมของที่พักค่อนข้างปิดทึบ ไม่มีการระบายอากาศที่ดีพอ การเว้นระยะในระดับที่ปลอดภัยก็เป็นไปได้ยาก อาจทำให้มีความเสี่ยงในการรับเชื้อสูงขึ้น เพราะในวันแรกก็เป็นการสุ่ม ไม่ได้ตรวจทุกคนในพื้นที่ตลาด

จากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง มองเห็นข้อห่วงกังวล ความเสี่ยงอะไรที่รัฐต้องเร่งทำเพื่อควบคุมโรค

ตอนนี้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในพื้นที่ทุกคน คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบร่วมกัน ไม่มีใครอยากติดโควิด สิ่งแรกที่ต้องเข้าไปจัดการในพื้นที่หลังจากล็อกดาวน์มาหลายวัน คือ สภาวะของจิตใจของคนที่อยู่ข้างใน จากที่สอบถามถึงปัญหาหรือความกังวลใจเราพบว่า สิ่งแรกคือความกลัว แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีแล้วเพราะทุกคนมีความเสี่ยง เขาอยากจะรู้ว่าใครติดเชื้อไปแล้วยังไม่แสดงอาการ เนื่องจากทางจังหวัดยังไม่ได้เข้าไปดำเนินการระบุตัวบุคคลว่าเป็นใครนอกจากนี้ยังมีความกังวลใจเรื่องการถูกล็อกดาวน์แล้วไม่ได้ไปทำงาน

ความกังวลแรงงาน คือ ถูกกักตัวไม่ได้ไปทำงาน กังวลเรื่องค่าเข่าห้องและค่าแรงในระหว่างลอคดาวน์แรงงานไม่รู้ว่าโรงงานจะจ่ายหรือไม่?

เปิดพื้นที่พักอาศัยของแรงงานในตลาดกลางกุ้ง

กลุ่มอาคารสีน้ำเงิน คือ อาคารห้องพักจำนวน 1,029 ห้อง จากข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจของมูลนิธิรักษ์ไทย

สีส้ม เป็นแนวรั้วลวดหนามที่เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคนำไปติดตั้ง

สามเหลี่ยม คือ จุดตรวจของเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค และจุดตรวจการที่ศบค.แถลง (24 ธ.ค.63)

เอกสารประกอบการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด19 หรือ ศบค. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2563

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ