สังคมจะช่วยอะไรได้บ้าง? กรณีโควิดระบาดแรงงานเพื่อนบ้าน คุยกับ “พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย”

สังคมจะช่วยอะไรได้บ้าง? กรณีโควิดระบาดแรงงานเพื่อนบ้าน คุยกับ “พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย”

ขณะที่ลวดหนามกั้นไม่ให้คนเข้าออกในพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด 19 แต่กลุ่มคนที่ต้องเข้าไปในพื้นที่แต่แรก เพื่อจัดระบบ ประเมินสถานการณ์ และคือเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกันอาสาสมัครแรงงานและอีกส่วนหนึ่งคือเจ้าหน้าที่ภาคสนามของมูลนิธิรักษ์ไทย 

ทีมสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส ได้คุยกับ พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย ถึงสถานการณ์หลังรั้วลวดหนาม การทำงานของทีมอาสาสมัคร และแง่มุมที่ต้องคำนึงถึงต่อเหตุการณ์นี้ เพื่อได้เข้าใจและมีมุมคิด ทางออกที่จะร่วมคลี่คลายสถานการณ์นี้

ช่วยเล่าภารกิจของมูลนิธิรักษ์ไทย

มูลนิธิรักษ์ไทยเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสุขภาพมาหลายสิบปี เนื่องจากแรงงานข้ามชาติมาทั้งครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นแรงงานผู้หญิง ผู้ชาย ในยุคแรกเเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข ระบบประกันสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันโรคติดต่อ ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีแรงงานเพื่อนบ้านจำนวนเป็นแสนคน จึงเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญที่ทีมทำงานเข้าพื้นที่ในทันที

อาชีพแรงงานเพื่อนบ้านในจังหวัดสมุทรสาคร เป็นอาชีพเกี่ยวกับประมงต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อก่อนสถิติของสาธารณสุขพบว่าแรงงานประมงก็จะเป็นแรงงานกลุ่มที่ประชากรที่มี HIV หรือโรคเอดส์ ค่อนข้างสูง เนื่องจากลักษณะอาชีพ ขึ้นไปที่ไหนก็อาจจะมีการไปเที่ยวและทำให้เกิดเชื้อ HIV แต่ตอนนี้คลี่คลายไปเยอะแล้ว รวมถึงเรื่องวัณโรคก็ค่อยข้างเบาบางลง

ทีนี้มายุคปัจจุบันที่มีโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี เราก็ทำงานด้านนี้ มองว่าช่วงนั้นเราก็ได้ลงพื้นที่นำอุปกรณ์ป้องกันและการให้ความรู้ โดยที่เรามีเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ณ เฉพาะที่สมุทรสาครมี 25 คน และมีคนไทยที่ทำงานคู่กัน ประมาณ 15 คน รวมแล้วประมาณ 35 คน วิธีการทำงาน คือโรงพยาบาลในประเทศไทยมีระบบสุขภาพต่าง ๆ แต่อาจจะเป็นเรื่องของการสื่อสารที่จะให้มีแรงจูงใจที่แรงงานข้ามชาติ จะไปตรวจสุขภาพ แรงจูงใจที่จะไปหาหมอจะค่อนข้างต้องอธิบายว่าประโยชน์การไปโรงพยาบาลเป็นอย่างไร  ต่างกับการไปซื้อร้านขายยา ต่างกับไปคลินิกอย่างไร

ดังนั้นพอเกิดเหตุการณ์ปัจจุบัน ที่โรคโควิด-19 ระบาดในแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเราทราบกันอยู่ล่วงหน้าว่าประเทศเมียนมามีการระบาดมากกว่าประเทศไทยสูงมาก มีแต่นับวันว่าเมื่อไหร่จะกลับสู่ประเทศไทย แม้ว่าแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ส่วนใหญ่จดทะเบียนเรียบร้อยตามกฎหมาย แต่ก็มีส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อยที่ลักลอบเข้ามา ตามข่าวเราก็ได้ข่าวว่าคนไทยเองก็ลักลอบเข้าไปประเทศเมียนมาไปทำงานแล้วก็ติดโควิด-19 กลับมาเช่นเดียวกัน

ทีนี้ทำไมจังหวัดสมุทรสาครเป็นแหล่งใหญ่ เพราะอาชีพการแกะกุ้งแกะปลาคนอยู่ร่วมกันจำนวนมาก ตั้งแต่เช้ามืดอยู่แกะกุ้งแกะปลา มีการแยกกุ้ง มีการเข้าตลาด มีการชั่งทั้งวัน ฉะนั้นถึงแม้ว่าเรามีหน้ากากต่าง ๆ ให้แรงงานเพื่อนบ้าน แต่ลองนึกภาพของการแกะกุ้งแกะปลามือจะเลอะ เพราะฉะนั้นการใส่ตลอดเวลามันอาจจะไม่ได้ตลอดเวลา อาจจะหลุดบ้าง มือเลอะก็หยิบยากอีก พอเกิดเหตุเราก็ทราบตามข่าวคือมีการปิดพื้นที่ (ตลาดกลางกุ้ง) ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ในสิงค์โปร์ แต่พอปิดพื้นที่ก็เกิดภาวะที่คนเข้าไม่ได้ ออกไม่ได้ คนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นกลุ่มคนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่อยู่ด้วยกันก็ต้องระวังมากขึ้น

แล้วทำไมมูลนิธิรักษ์ไทยถึงเข้าไป

อย่างที่บอกว่าเรามีพื้นฐานการทำงานด้านสุขภาพเราทำงานใกล้ชิดกับทั้งโรงพยาบาล และสิ่งที่เรามีคือรายงาน เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทยที่เป็นคนพม่าเอง การสื่อสารก็ได้ และพร้อมเข้าไปทำงานร่วมกับสาธารณสุข หมอ ทางโรงพยาบาลเป็นคนจัด ทางฝ่ายการปกครอง จังหวัดเป็นคนจัด เราก็จะเป็นฝ่ายที่เข้าไปซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญ ตอนนี้เราเข้าไปพบว่ามีชุมชน มีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนข้ามชาติเกือบ 4 พันกว่าคน มีทั้งเด็ก ผู้หญิง และคนมีเจ็บป่วยจากโรคประจำตัว และทราบกันดี ใครเคยไปตลาดกุ้ง ค่อนข้างจะแออัดอยู่แล้ว เป็นย่านเก่าแก่ของสมุทรสาครที่ใคร ๆ ที่อยากดูวิถีชีวิตแรงงานข้ามชาติก็ไปที่ตลาดกุ้ง

ตอนนี้ตลาดกุ้งปิด เกิดความยากลำบากในพื้นที่ตรงนั้น อาหารการกินไม่ได้ครบถ้วนต้องมีการนำส่ง การเข้าไปตรงนี้มันต้องใช้ชุดป้องกัน PPE และก็เข้าไปได้จำกัด คัดเลือกคนที่เข้าได้ ของมูลนิธิรักษ์ไทยก็จะเข้าพร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนพม่าไปกับคนไทย และเราตั้งใจจะเข้าไปเก็บข้อมูลสำรวจสถานการณ์ โดยเฉพาะหาคนที่เจ็บป่วย เด็กเล็ก หรือคนที่ตั้งครรภ์ เราคิดว่าตรงนั้นก็ต้องมีความต้องการพิเศษ ถึงแม้ว่าในภาพรวมจะมีการจัดหาอาหารให้ มีหมอ แต่คิดว่าบางคนก็ไม่กล้าออกมา และบางคนก็บอกว่าเอกสารขาดอายุเขาก็จะมีความตื่นตระหนกอยู่ในนั้น

เราก็ต้องให้มีความรู้สึกอุ่นใจว่าประเทศไทย อย่างที่รัฐบาลประกาศ เรายังไม่ได้ตามล่า ตามจับ แต่ขอให้ดูสุขภาพกันก่อนขอให้เข้าระบบ เพราะประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเราผ่อนผันหลายรอบแล้ว เราไม่ได้เอากฎหมายเป็นที่ตั้งเพื่อที่จะตามจับ

ฉะนั้นวิธีการเหล่านี้เราพยายามทำให้เกิดอาสาสมัครอยู่ในชุมชน เพราะถึงแม้เราจะมีเจ้าหน้าที่เราเองเข้าไปจำนวนนึง และเขาก็ต้องใส่ชุด PPE ทำให้มีข้อจำกัด ฉะนั้นการเกิดอาสาสมัครในพื้นที่ก็สำคัญ

ถ้าหลังจากนี้จะยุติสถานการณ์ไหม เราก็คงได้ข่าวว่ามันมีเคสที่อื่นที่มาติดต่อตลาดกุ้ง เราไม่ควรจะคิดว่าคนนี้เป็นพม่า คนนี้มาจากตลาดกุ้ง เราคิดว่าการป้องกัน ที่สากลเรียกว่า Universal Protection ทุกคนต้องป้องกันตัวเอง เราไม่สามารถคิดได้ว่าเราไม่ได้ไปสมุทรสาคร ฉันปลอดภัยเราไม่ได้เป็นคนพม่า ฉันปลอดภัย เพราะไม่ว่าใครก็ตามก็สามารถแพร่ได้ ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นประเทศที่ขึ้นอันดับว่าเอาชนะโควิด-19ได้ค่อนข้างดี ตอนนี้เราเจอศึกครั้งใหญ่เพราะมาแบบใต้ดินขึ้นมา แต่เราก็พยายามที่จะป้องกัน มูลนิธิรักษ์ไทย และองค์กรอื่นก็เชื่อมกันอยู่ ภาครัฐก็เป็นกลไกสำคัญและคิดว่ารัฐบาลก็มีความตั้งใจอย่างมากที่จะทำให้เกิดการคลี่คลายโดยเร็ว

เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับ เจ้าหน้าที่รัฐ ลงพื้นที่จ.สมุทรสาครเพื่อตรวจคัดกรองแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงของการระบาด (19 ธ.ค.) https://www.facebook.com/raksthaifoundation/posts/3772339672816668

เจออุปสรรคในการทำงานในสถานการณ์โควิด 19 ไหม

ขึ้นอยู่ที่ว่า ระยะเวลาในการปิดและคนต้องอยู่พื้นที่ตรงนั้น ถ้าอยู่กันนาน ๆ คิดว่าจะมีเรื่องของความเครียด เด็ก และคนป่วยด้วยโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โควิด-19 ซึ่งถ้าเขาออกมามันก็จะลำบาก ตอนนี้จะมีการสร้างเป็นโรงพยาบาลสนามขึ้นมาดูแลคนที่มีการพบเชื้อ แต่การทำอย่างนี้มันก็เป็นการคาดคะเนว่าเอาอยู่ เพราะขณะเดียวกันเราก็ได้ข่าวในพื้นที่อื่นว่าเอาอยู่ สมัยก่อนสนามมวยอยู่ในพื้นที่จำกัดติดกันทั่วประเทศอันนี้ก็เป็นภาพที่คล้ายกันแต่มันเข้มข้นอยู่ที่ตลาดกุ้ง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องจัดการตรงนี้ก่อน แต่เราคิดว่ามันยังไม่ได้เป็นการที่ว่าแก้ตรงนี้แล้วมันจะจบไปจากประเทศไทย และอีกอันที่เป็นห่วงกันว่าถ้าเป็นนาน ๆ คนจะมองว่าเป็นค่ายกักกัน เป็นแดนสนธยา ซึ่งไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่อยากให้เห็นว่านี่คือชีวิตคน ชีวิตคนเป็น ๆ อยู่ในนั้น ซึ่งก็ดีใจที่สื่อมาสนใจเห็นวิถีชีวิตคนในนั้นด้วย อย่าดูเขาว่าเป็นสิ่งที่นำโรคที่เราจะต้องอยู่ห่างหรือว่ามีการดักป้องกัน เราต้องอยู่ด้วยกันได้

มีข้อเสนออย่างไรบ้าง ถ้าสถานการณ์โควิด-19 ยังอยู่ระยะยาว

ระยะแรก คือการเร่งตรวจ ตรวจพบก็มีการรักษา และคนที่อยู่ในนั้นก็ต้องอยู่ครบ 14 วันอาจไม่นานพออาจต้องอยู่นานกว่านั้น ทุกครั้งที่มีคนเพิ่มมาใหม่ ในนั้นอาจจะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ที่พบว่ามีคนพบเชื้อโควิด-19 ใหม่ เฟสนี้ก็จะยาว

ในขณะเดียวกันก็ต้องมองเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ เพราะตรงนี้เป็นแหล่งเศรษฐกิจด้วย เพราะฉะนั้นมีหลายคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งคนในพื้นที่ตรงนั้นและรอบ ๆ บางคนตกงาน ครอบครัวก็จะเริ่มมีปัญหาขึ้นมาเป็นลูกโซ่ ซึ่งปกติแล้วรัฐบาลก็จะช่วยได้แต่ช่วยในส่วนที่เป็นหลักอย่างคนไทยและคนที่มีประกันสังคม ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ไม่รู้ว่าตัวนายจ้างจะรับไหวไหม เราคิดว่ามันกำลังคลี่คลาย คนกลับไปทำงาน แต่กลับหนักขึ้นแบบนี้ ฉะนั้นต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจคู่กับเรื่องของโรคและเรื่องทางสังคมทั้งสามด้าน

สิ่งที่มันยากคือเรื่องของภาษาพม่ากับภาษาไทยมันต่างกันลิบลับ ไม่ได้สื่อสารกันได้โดยตรง แต่ก็มีข้อดีที่แรงงานพม่าที่อยู่ประเทศไทยก็เรียนรู้ภาษาไทยกันเยอะ และมีเด็กโตหน่อยที่เข้าโรงเรียนไทย คนเหล่านี้ก็จะช่วยในการสื่อสารได้ แรงงานส่วนใหญ่แล้ว มีมือถือ มีเบอร์โทรศัพท์ การมีมือถือเขาสามารถที่จะรับข่าวสารข้อมูล ช่องทางที่เขาสามารถสื่อสารกับสังคมได้ และเราก็สื่อสารกับเขาได้

สังคมจะช่วยเหลือกันในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ประเทศไทยเราเป็นเจ้าบ้าน และแรงงานพวกนี้เราก็คิดว่าพวกเขามาช่วยในงานที่คนไทยไม่ทำ สิ่งเหล่านั้นทำให้เศรษฐกิจเรายังเดินหน้าต่อได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีเกิดโรคระบาดเขาก็ไม่ได้ตั้งใจ มันเกิดขึ้นแล้ว 1.คือให้ดูแลโรคดูแลสุขภาพ 2.ให้มองเขาเป็นคน มองเขาเป็นเพื่อนบ้าน มองเขาเป็นคนรู้จัก และเขาก็อยากสื่อสารกับเรา เขาไม่ได้อยากโดดเดี่ยว และที่สำคัญเขาก็อยากป้องกันเขาก็เป็นห่วงสุขภาพตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่ในความเข้าใจกัน เรามีช่องทางในการสื่อสารกับเขาได้ เรามีการแลกเปลี่ยนกัน ผมคิดว่าจะให้กำลังใจเขา และผมคิดว่าโลกทั้งโลกมองอยู่ ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่โหดร้ายกับคนที่เข้ามาเป็นแรงงาน หรือใครก็ตามเรามีเมตตาจิตสำคัญที่เราต้องใช้ตัวนี้นำ

สถานการณ์ตรงตลาดกุ้งเป็นอย่างไรบ้างแล้วตอนนี้

ถ้าเขาพบว่าใครติดเชื้อ ก็จะมีการรักษา มีการทำโรงพยาบาลสนาม และถ้ายังไม่พบก็ยังต้องเฝ้าดูว่า เขาจะไปคัดแยกไว้ที่ไหน เพราะว่ามันไม่น่าจะมีที่พอ ก็อาจจะอยู่ในนั้น ซึ่งดูว่าจะทำอย่างไง ถ้าคัดแยกแล้วยังอยู่ที่เดิมวนเวียนตรงนั้น ขณะนี้มีมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิรักษ์ไทยที่ไปลงทุกวัน และจะมีคนรายงานว่าคนที่นี่เขาเป็นยังไง และเขาจะมีที่พอไหมทั้งคนป่วยเป็นร้อยและคนที่คัดแยกแล้วจะทำอย่างไร แล้วคัดแยกที่อื่น ชุมชนรอบข้างสบายใจไหม มันต้องเป็นส่วนๆ ผมคิดว่าสิ่งที่ทุกคนต้องระวังอย่างที่ทุกคนทราบกัน คือการป้องกันตัวเอง และที่สำคัญคือผู้สูงอายุก็จะต้องระวังเป็นพิเศษ ประเทศไทยก็มีสถิติหายเจ็บแล้วป่วยแล้วหายค่อยข้างดี แต่เราต้องระวังผู้ที่สูงอายุและเปราะบาง และคนที่มีโรคต่างๆ ทุกคนก็ควรต้องระวัง

ส่วนอาหารการกินมีการบริจาคกับรัฐหรือมูลนิธิรักษ์ไทยก็ได้และก็มีการนำส่ง ทางมูลนิธิรักษ์ไทยและตัวแทนชุมชนจะพยายามสำรวจว่ามีอะไรเป็นพิเศษไหมที่จำเป็นที่เราไม่ได้คิดถึง ธรรมดาจะคิดถึงอาหาร ข้าว มาม่า อย่างหลายครั้งเราพบว่า ภัยพิบัติ สิ่งที่ขาดมากที่สุดคือ ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ต่อไปถ้าเรามีข้อมูลดี อันนี้ขาดจำนวนเท่านี้ ไม่อย่างนั้นก็วิ่งกันไปมา ถ้าขึ้นกระดานว่าอะไรขาดก็ตอบได้ทันที ที่กว่าให้บางอย่างแล้วมันล้นขึ้นมามันก็ไม่ประโยชน์ แต่บางอย่างเราก็เคยคิดระบบที่ว่าไม่มีค่าเช่าแล้วทำยังไง คุณมีใบเสร็จ ใครอยากช่วยค่าเช่า ก็อาจจะเป็นเรื่องของการโอนเงินไปช่วยค่าใช้จ่ายก็ได้เลย แทนที่จะเป็นของเสมอไป เดี๋ยวนี้การช่วยเหลือมันไปได้เยอะ แม้กระทั่งการสื่อสารระหว่างผู้ที่รับความช่วยเหลือมันคุยกันได้

ภาพ : มูลนิธิรักษ์ไทย : Raks Thai Foundation

กลุ่มแรงงานมีความเครียดมากน้อยแค่ไหน

ยังไงก็เครียด คงอาจจะเครียดจากเรื่องโรคด้วย ถ้าฉันโดนล้อมโอกาสติดเชื้อจากโรคมากขึ้น แต่บางครั้งอาจจะเครียดจากไม่รู้ว่ามีครอบครัวแยกกันต่างๆ เรื่องการทำงานแบบนี้เราเข้าใจกันดีว่า ใครที่ถูกปิด อยู่ในพื้นที่จำกัดมันจะมีความเครียดขึ้นมา เพราะฉะนั้นสังคมต้องมีวิธีการผ่อนคลาย อย่างสมัยก่อนน้ำท่วมเรามีกิจกรรมเด็กเยาวชนไม่ให้เขาอยู่นิ่ง อยู่นิ่งไม่ได้ หรืออาจจะมีกิจกรรมส่งเสริมผู้หญิงต่างๆ ดีที่สุดก็ให้ชุมชนทำ แต่หน่วยงานต่างๆ ต้องทำให้เกิดบรรยากาศ คุณอยู่อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่อยู่อย่างหดหู่

เราจะช่วยให้สังคมมองความความเป็นมนุษย์กับกลุ่มแรงงานนี้ได้อย่างไร

โควิดมันแพร่ได้เร็วจะไปบอกว่าใครพามาหาใครจะใช้เป็นการโทษไม่ได้ เพราะประเทศไทยเราก็เปิดให้แรงงานเข้ามาตลอด บางส่วนก็มีเอกสารที่ถูกต้อง แต่มันก็เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศอยุ๋แล้ว พอมีโควิดเข้ามาเราก็เห็นในยุโรปมันไปหมดเลย โอเคว่ามันมีความพยายามที่จะลด แต่ว่าการลดการทำงานจริงๆ จะต้องช่วยกันระหว่างประเทศ

ตอนนี้สิ่งที่ดีที่สุดคือ อย่าให้เขาตกใจ ถ้าเขาไม่ตกใจแล้วเขามีความมั่นใจมารักษามาตรวจ และทำอย่างไรให้ตรวจในชุมชนเข้าคิวแล้ว อาจจะมีตัวแทนแกนนำหรือองค์กรภาคเอกชนช่วยกันตรวจได้ และทำให้คนตระหนักว่าอาการอย่างไรที่เขาควรรีบไปตรวจ และก็ไม่กลัวที่จะไปโรงพยาบาล เพราะสมัยก่อนวัณโรคคนไม่กล้า เพราะกลัวว่าตรวจแล้วตกงาน เขามีความเปราะบางมากกว่าคนไทย คนไทยแค่ลางานแต่ของเขาคือตกงาน เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างและต้องช่วยกัน ตอนนี้เศรษฐกิจแย่อยู่เราก็พยายามเอาเรื่องโรคให้ได้ก่อนทุกคนจะได้กลับมาทำงานต่อ.

ภาพ : มูลนิธิรักษ์ไทย : Raks Thai Foundation

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ