น้ำ คือทรัพยากรที่เป็นสมบัติผลัดกันชม…?

น้ำ คือทรัพยากรที่เป็นสมบัติผลัดกันชม…?

10 ก.ค. 2558 ดร.สมพร ช่วยอารีย์ นักวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี (พีบีวอทช์ดอทเน็ต) โพสต์ เฟซบุ๊กส่วนตัว Somporn Chuai-Aree แสดงความคิดเห็นต่อการจัดการน้ำในสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น โดยระบุ “น้ำคือทรัพยากรที่เป็นสมบัติผลัดกันชม…?” ทีมข่าวพลเมืองเห็นว่าน่าสนใจจึงขอนำมาเผยแพร่อีกครั้ง

20151007151143.jpg

00000

น้ำที่เราดื่มเข้าไป ก็ต้องออกจากตัวเราครับ ดื่มเข้าไปเท่าไร ก็ต้องออกจากตัวเราไปอย่างสมดุล เป็นการโยกย้ายมวลสารนั่นเอง

มาดูเรื่องภัยแล้ง หรือว่าวิกฤตความแห้งแล้งในเมืองไทย เราจะเห็นว่าพายุที่เข้าไปบริจาคน้ำที่ประเทศจีนตอนใต้ ผมเชื่อว่าเราก็อยากจะได้ให้พายุลูกนั้นมาบ้านเรากันนะครับ แต่พอเราอยากได้ก็กลับไม่มา แต่พอเราไม่อยากได้กลับมา กระบวนการแบบนี้คือไม่ตรงใจ ไม่ถูกใจ หากจะอยู่ร่วมกันก็ต้องเตรียมใจแล้วสร้างกลไกเพื่ออยู่ร่วมกับสิ่งนี้

ตอนนี้ถ้าไปดูปริมาณน้ำในเขื่อน ก็จะพบว่าเขื่อนจำนวนมากมีปริมาณน้ำน้อยกว่า 50% รทก. บางเขื่อนมีน้ำไหลเข้าเขื่อนบ้าง แสดงว่าฝนตกเหนือเขื่อนบ้าง ใต้เขื่อนบ้าง ฝนตกเหนือเขื่อนอาจจะไม่ได้ถูกปล่อยออกไปในยามที่เขื่อนมีน้ำน้อย แสดงว่าตกใต้เขื่อนน่าจะดีกว่า น้ำจะไหลไปหาชาวนาได้?

20151007143721.jpg

20151007144227.jpg

20151007144537.jpg

ที่มา:http://www.thaiwater.net/DATA/REPORT/php/rid_bigcm.php

การจะนำน้ำไปยังนาของเกษตรกรคงไม่ใช่เรื่องง่าย ความขัดแย้งระหว่างสายน้ำก็เกิดขึ้นได้หากไม่เข้าใจอันดีต่อกันท่ามกลางความต้องการน้ำ

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขึ้นกับสถานที่ บางจุดก็สูบน้ำใต้ดินมาใช้ได้ แต่หากใช้ไปเยอะมากจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาในภายหลังได้อีกเช่นกัน ก็ต้องยอมรับกันตามสภาพ

กรณีการทำฝนเทียมนั้น เป็นการฝืนธรรมชาติ ซึ่งจะใช้งบประมาณในการสร้างสภาพแวดล้อมหรือจำลองสภาพแวดล้อมให้เกิดฝน แต่เป็นการดึงไอน้ำจากบริเวณใกล้เคียงมาใช้ ฝนอาจจะตกตรงนั้นหรือไม่ตกตรงนั้นก็ได้ ในขณะเดียวกันเมื่อฝนตกลงไปแล้วความแห้งแล้งบริเวณอื่นใกล้เคียงก็จะเสียความชุ่มชื้นในอากาศไป แต่ในสภาพที่มีลมมรสุมยังพัดไอน้ำมาสมทบได้ก็อาจจะมีผลกระทบน้อยหน่อยครับ หากให้ดีที่สุดคือเป็นไปตามธรรมชาติแล้วใช้การบริหารจัดการในทางวิถีอื่นร่วมด้วย

ลองจินตนาการดู กรณีนาที่ไร้ป่า กับพื้นที่ป่าล้อมนา หรือแม้แต่ต้นกล้วยล้อมนาก็น่าสนใจ ต้นกล้วยเป็นพืชที่มีความสามารถสูง ปลูกที่ไหนก็ได้ ตรึงน้ำจากอากาศมาเก็บไว้ในลำต้นได้ มีโครงสร้างใบในการเก็บดักน้ำค้างในยามเช้าและค่ำคืนให้ไหลลงทางกาบส่งต่อไปยังลำต้นได้ นี่เป็นแนวทางในการพึ่งตนเอง จะเห็นว่ากล้วยเป็นพืชนำร่องของพื้นที่ที่สำคัญชนิดหนึ่งก่อนจะลงพื้นที่อื่นๆ หากมีการบริหารจัดการพื้นที่ปลูกข้าวแบบที่ไม่หวังผลกำไรสุดโต่ง เกษตรกรจะมีทางออกที่ดีขึ้นได้หากรู้จักการประยุกต์ใช้ ถ้าคิดติดกรอบเดิมๆ ก็ต้องติดปัญหาแบบเดิมๆ

20151007152052.jpg

การมีป่าล้อมน้ำ กรณีแสงแดดที่สาดแสงลงไปแผดเผาหญ้า ข้าว หน้าดิน มันจะไม่ทำให้ไอน้ำหลุดลอยไปสู่ชั้นบรรยากาศมากจนเกินไป เพราะลมคืออีกปัจจัยที่จะพัดเอาไอน้ำเหล่านั้นให้หลุดลอยไปจากพื้นที่ท้องนา ทำให้สูญเสียไอน้ำมากเกิน

อย่างต่างประเทศ เช่น อินเดีย ใช้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ เหนือคลองส่งน้ำ ทำให้การระเหยของน้ำลดลง แถมยังได้พลังงานเพิ่มขึ้นด้วย หรือแม้จะสูบน้ำใส่นาให้กับเกษตรกรได้อย่างสบายเช่นกัน สำหรับเมืองไทยอาจจะเกิดได้แต่ไม่รู้เมื่อไหร่ จนกว่าจะมีท่านผู้นำผู้กล้าถูกส่งลงมาปรับเปลี่ยนวิถีคิด

เรื่องของน้ำ คือเรื่องของวงรอบฤดูกาล ในหลายๆ ช่วงของฤดูกาลรวมๆ กันก็จะเป็นวงรอบของการเปลี่ยนแปลงในรอบหลายๆ ปีจะวนจะเปลี่ยนแปลงเจอกันอีก ดังนั้นในช่วงฝนมากก็มีแล้งภายใน และในช่วงของแล้งก็มีฝนตกอยู่ภายใน นี่คือความงดงามของการใช้ชีวิตนั่นเองครับ

สร้างป่ามาล่อฝนกันบ้างไว้ก็ดีนะครับ เพราะตรงไหนเย็นๆ ชุ่มชื้นเมฆจะอยู่ต่ำๆ สังเกตดูที่ยอดภูเขาน้ำตกแต่ละที่ครับ ฝนจะตกตลอดเวลาครับ เกิดได้อย่างไร ต่างจากเราสูบน้ำขึ้นไปรดยอดภูเขาเพื่อให้ได้ภาพน้ำตกแต่ใช้งบประมาณมหาศาลครับ

ฝนตกมากก็รู้จักชะลอน้ำ ฝนตกน้อยก็เอาฝนยามตกมากมาชดเชยครับ ไม่มีสูตรตายตัวครับ แต่ละพื้นที่ต้องศึกษาและปรับตัวครับ

การจัดการน้ำระดับครัวเรือน ให้กลับไปใช้น้ำฝนจากหลังคาบ้านกรณีที่บ้านยังมีหลังคาครับ อย่ารอแต่น้ำประปาเพียงอย่างเดียว เพราะท่านจะเดือดร้อนในภาคหน้าครับ… พึ่งตนเองตั้งแต่วันนี้ให้มากๆ ครับ อย่ารอให้เกิดวิกฤตก่อนถึงจะหาทางแก้… เพราะพอเจอวิกฤตอาจจะไม่มีโอกาสแก้เพราะสายเกินไปครับ

แนะนำให้นำข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำทั้งหลายมาใช้ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน วางแผนร่วมกัน น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดครับ

ด้วยมิตรภาพครับ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ