เมื่อวันที่ 30-31 ม.ค.58 นิสิตกลุ่มเพื่อนสังคมมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดค่ายลงพื้นที่มอบไออุ่นสู่ชุมชน โดยมีกิจกรรมมอบเครื่องนุ่งห่ม และร่วมแลกเปลี่ยนตามรอยประวัติศาสตร์เพื่อศึกษาเรียนรู้ชีวิตชุมชนและปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน
นายธีรวัฒน์ ไกรรัตน์ นิสิต ม.มหาสารคาม บอกว่า ทั้งเขาและเพื่อนๆเป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ในนามกลุ่มเพื่อนสังคมมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวน 21 คน แบ่งกันเป็นทีมละ 6-7 คน โบกรถมาจากจังหวัดมหาสารคามนับแต่ช่วงเช้า เพื่อมาร่วมออกค่ายมอบไออุ่นสู่ชุมชนที่บ้านบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในการลงพื้นที่นอกจากได้รับรู้ถึงสภาพปัญหาของชาวบ้าน ยังทราบว่าบ่อแก้ว มีจำนวน 56 หลังคาเรือน หลายครอบครัวยังขาดแคลนเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของชาวบ้าน ประกอบกับช่วงนี้เป็นหน้าหนาว จึงร่วมปรึกษากันในกลุ่มว่า นอกจากไปลงพื้นที่เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนตามรอยประวัติศาสตร์ศึกษาเรียนรู้ชีวิตชุมชนแล้วนั้น ควรนำสิ่งของใช้ คือเครื่องนุ่มห่ม ไปมอบไออุ่น ปันน้ำใจสู้ภัยหนาว สู่ชาวบ้านด้วย
ตัวแทนนิสิต บอกอีกว่า ตามกำหนดลงพื้นที่ประมาณช่วงกลางเดือนมกราคม แต่ความตั้งใจที่จะหาเงินเพื่อไปซื้อเครื่องนุ่มห่ม และผ้าห่มนวมนำมาจัดมอบให้ชาวบ้านให้ได้ครบทุก 56 หลังคาเรือนนั้น จำนวนเงินที่ได้รับเงินบริจาค และจากการไปร่วมกันเปิดหมวกทั้งตามตลาดสด ตลาดนัดเปิดท้าย และในบริเวณรอบรั้วมหาลัยมหาสารคาม ยังไม่สามารถหาซื้อปัจจัยดังกล่าวได้ครบตามที่ระบุไว้ จึงได้ร่วมกันไปจัดกิจกรรมเปิดหมวกเป็นเวลาหลายวันถึงได้นำเงินมารวบรวมไปหาซื้อของใช้ได้ตามจำนวนที่ต้องการ แม้อาจล่าช้าตามกำหนด แต่สิ่งหนึ่งและเป็นหัวใจที่สำคัญยิ่งในไออุ่นครั้งนี้ คือสามารถทำให้นักศึกษาเกิดจิตสำนึกร่วมกับชาวบ้าน ถือเป็นทางเชื่อมความสัมพันธ์ที่จะส่งผลดีต่อไปในอนาคต
“พวกเราจะนำประสบการณ์จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและการเรียน และเผยแพร่ปัญหาของชุมชนต่อไป เพราะชุมชนบ่อแก้ว เป็นอีกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และรู้สึกยินดีถึงอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความชอบธรรม แม้วันนี้ผลกระทบที่ชาวบ้านบอกว่า จะลดความกังวลใจลงไปได้บ้าง หลังจากมีคำสั่งให้ชะลอไล่รื้อ และยุติการดำเนินการใดๆที่จะทำให้ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนออกไปก่อน แต่ปัญหาที่สั่งสมมานาน จะถูกแก้ไขเพื่อความปกติสุขของชาวบ้านจะคืนกลับมาดังเดิม ยังไม่สามารถหาคำยืนยันจากคำตอบของรัฐบาลได้ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านมักถูกปิดกั้นสิทธิในการถือครองที่ดินทำกินมาโดยตลอด หากถูกไล่ออกไปอีก จะไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีผลผลิตให้สามารถนำมาหล่อเลี้ยงความสุขและความอบอุ่นให้กับชีวิตและครอบครัวได้” ธีรวัฒน์ กล่าว
รายงานโดย ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน