อยู่ดีมีแฮง : ห้องเรียนหลงป่า ภาษาป่า ภาษาคน ภาษาคอมฯ

อยู่ดีมีแฮง : ห้องเรียนหลงป่า ภาษาป่า ภาษาคน ภาษาคอมฯ

หลังจากเกิดการระบาดโรค covid-19 ใน 1 ถึง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดสิ่งหนึ่งก็คือเรื่องของการศึกษา หลายสถาบันการศึกษาปรับตัวการทำการเรียนการสอน โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในการจัดการเรียนการสอน หรือที่เรารู้จักกันดีคือการเรียนออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อที่จะทำการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้เรียนและผู้สอน แต่ก็มักพบเจอปัญหาระหว่างทาง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนแบบนี้ได้ ด้วยปัจจัยพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่ทักษะของผู้ปกครอง และผู้เรียน หรือแม้แต่ผู้สอน ที่ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว

วันนี้อยู่ดีมีแฮงชวนมาพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ ที่อำเภอสีชมพูและอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ที่กำลังสร้างเครือข่าย ที่พวกเขาเรียกแทนตัวเองว่า มหาลัยไทบ้าน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีของชุมชนและบ้านเกิดของพวกเขา ในการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ให้เกิดขึ้น และจับมือยึดมั่นเพื่อนฝูง เดินไปข้างหน้าด้วยกันเพื่อเป้าหมายบางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น

สัญญา มัครินทร์

“เราตีความเรื่องความรู้ไม่ใช่ วิชา ห้องเรียนธรรมชาติ วิชาหลงป่าเรามองว่าการเรียนรู้ไม่ควรแยกส่วนเป็นวิชา สิ่งที่เราพยายามทำก็คืออยากให้การเรียนรู้กับพื้นที่ชีวิตจริง กับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกัน”

เริ่มต้นบทสนทนากลับ ครูสัญญา มัครินทร์ หรือ ครูสอญอ ครูคนรุ่นใหม่วัย 37 ปี ผู้ที่พยายามสร้างการเรียนรู้ในมิติใหม่ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นครูในโรงเรียนสีชมพูศึกษา จังหวัดขอนแก่น อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของครูสอญอ มาตั้งแต่เล็ก ๆ

วิชาหลงป่า คืออะไร

จากสถานการณ์ covid-19 ทำให้ครูหลายคนจะต้องสอนออนไลน์ เนื่องด้วยต้องปรับตัวด้วยความรวดเร็ว และด้วยปัจจัยปัญหาต่าง ๆ ก็ทำให้เห็นว่า การเรียนการสอนแบบออนไลน์อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ สำหรับผู้เรียนและผู้สอนในบางพื้นที่

“ครูก็ทุกข์เพราะเหนื่อย เด็กก็เหนื่อย เราก็เห็นความทุกข์ของครูของเด็ก พอเราเห็นว่าพื้นที่ที่เรามีสามารถเป็นที่เรียนรู้ได้ จึงลองพิจารณาดูว่าจะออกแบบกระบวนการ อย่างไรให้เด็กสนุกสนานกับการเรียน เราก็มองเห็นว่าป่าบ้านเรามีพื้นที่หลากหลาย จึงนำเอาห้องเรียนธรรมชาติเป็นทางเลือก ในการสร้างการเรียนรู้ในสถานการณ์แบบนี้ได้” 

ครูสอญอ เล่าถึงที่มาของการเริ่มห้องเรียนหลงป่า พลางยิ้มแล้วหัวเราะไปด้วย ก่อนจะเล่าต่อว่าในพื้นที่อำเภอสีชมพู ถือว่าเป็นพื้นที่ที่สามารถจัดกระบวนการการเรียนการสอนแบบธรรมชาติได้ เพราะมีการดูแล เรื่องมาตรการความปลอดภัยจากการระบาด covid-19 ของผู้เรียนที่อยู่ในชุมชน จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะเกิดห้องเรียนหลงป่า เรียนรู้เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในชุมชน

ข้อมูลภาพ ครูสอญอ

กิจกรรมห้องเรียนหลงป่าเป็นกิจกรรมที่พาเที่ยว เพื่อออกไปสัมผัสว่าในบ้านเกิดของตัวเองนั้นมีดีอะไรบ้าง มีมุมภาพสวย ๆ มีภูเขา มีต้นไม้แปลก ๆ มีลำธาร หรือสิ่งอื่น ๆ หรือไม่ แต่เมื่อได้ทดลองทำกิจกรรมไปแล้วในครั้งแรก ก็พบว่าห้องเรียนหลงป่า น่าจะเป็นมากกว่าการไปท่องเที่ยวได้

จึงเป็นแนวคิดได้ที่มาในการศึกษาเรื่องต้นไม้ การสร้างงานศิลปะจากใบไม้ การไปเรียนตามลำธาร สำรวจหินสีเพื่อมาสร้างงานศิลปะ ที่มาจากธรรมชาติเพื่อสร้างความเชื่อมโยงเรียนรู้เรื่องของลำน้ำ เรื่องของหิน สร้างความหวงแหน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในชุมชนไปในตัว โดยมีศิลปินอิสระที่อยู่ในท้องถิ่นซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ร่วมเป็นผู้ถ่ายทอดศิลปะที่มาจากธรรมชาตินี้ในห้องเรียนหลงป่า

ครูไทบ้านสร้างงานศิลปะ

ข้อมูลภาพ ครูสอญอ

“เมื่อก่อนเป็นครูศิลปะแต่ตอนนี้ไม่ได้สอนในโรงเรียนครับ แต่ก็ยังเป็นครูศิลปะอยู่ ตอนนี้พาเด็กไปสอนในป่าบ้าง ตามลำน้ำบ้าง ส่วนตัวผมคิดว่าห้องเรียนในหลักสูตรทั่วไป 1 ชั่วโมงศิลปะไม่อาจเรียนได้จบ จัดการเรียนตามธรรมชาติเราสามารถให้เวลามันได้เยอะ”

ขวัญยืน เกตุหนู ครูไทบ้านผู้ถ่ายทอดงานศิลปะข้างลำธารในห้องเรียนหลงป่า ซึ่งเป็น 1 ในกลุ่มมหาลัยไทบ้าน และคนรุ่นใหม่ในอำเภอสีชมพู ที่พยายามสร้างการเรียนรู้รูปแบบใหม่ และสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ให้เกิดขึ้นในบ้านเกิดของพวกเขา

ขวัญยืน เกตุหนู

จากห้องเรียนหลงป่า สู่มหาลัยไทบ้าน พื้นที่สร้างสรรค์เชื่อมโยงคนรุ่นใหม่

อนุวัตร บับภาวะตา

“มหาลัยไทบ้าน เกิดจากการระดมความคิดเพื่อเชื่อมโยงผู้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่อำเภอสีชมพู  และอำเภอภูผาม่าน ไท คือ ไทเสรีที่ไม่มีกรอบเป็นการเรียนนอกกรอบ บ้าน ก็คือบ้านของเรานี่แหละ”

อนุวัตร บับภาวะตา หนึ่งในคนรุ่นใหม่ มหาลัยไทบ้านพื้นที่สร้างสรรค์ใหม่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลัดกันเรียนเปลี่ยนกันสอน นำความรู้มาปรับใช้ในพื้นที่ ทั้งการท่องเที่ยว และการลงมือทำ ดึงศักยภาพของพื้นที่ที่มีอยู่ทั้งด้านทรัพยากร ผู้คน ประวัติศาสตร์ และสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ให้เกิดขึ้น โดยเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่เพียงแต่จะอยู่ในหลักสูตร เหมือนเช่นเดิมอีกต่อไปแต่การเรียนรู้สามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่ กับสิ่งแวดล้อม และผู้คนได้

แล้วการเรียนแบบไหนที่เป็นแบบมหาลัยไทบ้าน ?

ในโลกของยุคข้อมูลข่าวสาร ได้ใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารในปัจจุบัน ทำให้บทบาทของชนบท ได้ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในชุมชนจึงเป็นโจทย์ท้าทายว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงชุมชนได้มากน้อยแค่ไหน

อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น เป็นอำเภอเล็ก ๆ ที่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดขอนแก่นเกือบ 100 กิโลเมตร ด้วยต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวมาก่อน แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีกระแสแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ดังขึ้นมาบนโลก social media ภาพนักท่องเที่ยวนั่งจิบกาแฟตอนเช้ากลับภาพวิวธรรมชาติภูเขา ที่เรียกกันว่าวิวผาม่านถูกแพร่หลายในออนไลน์ ทำให้นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเยี่ยมชม แล้วถ่ายภาพกลับไป กุลชาติ เค้นา หนึ่งในผู้ริเริ่มในการสื่อสาร แหล่งท่องเที่ยวใหม่หนองสมอ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น และผู้ประกอบการร้านอาหาร คือผู้ที่พยายามใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารเรื่องราวในท้องถิ่นจนเกิดกระบวนการที่เรียกว่า “เทคฯไทบ้าน”

กุลชาติ เค้นา เทคฯไทบ้าน

“เทคฯไทบ้าน คือการพาเด็กไปเดินป่า ลองให้เขาใช้โทรศัพท์มือถือ ให้เด็กลองใช้โทรศัพท์พูดให้โทรศัพท์เป็นคนจด ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ชุมชน โทรศัพท์เครื่องเดียวกับคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง เราก็สามารถทำงานได้ เราไม่ได้ยึดติดกับสถานที่ เราไม่ได้ยึดติดกับรูปแบบการทำงาน ไปเดินป่า ไปกินข้าวป่า เอาเรื่องง่ายๆให้เขาได้เล่าผ่านเทคโนโลยีและเขาได้มาตรวจสอบคำพูดตัวเอง สมมุติว่ามีเด็กอยู่หลายคนคนหนึ่งเป็นผู้อ่าน อีกคนหนึ่งตรวจคำผิดมันก็เกิดกระบวนการพูดอ่านเขียนเกิดขึ้น และเกิดการใช้เทคโนโลยีไปในตัวมันเกิดกระบวนการใหม่ในการเรียนรู้”

กุลชาติ เค้นา ผู้เริ่มต้นหลักสูตร เทคฯไทบ้าน ผู้ที่ถือคอมพิวเตอร์เดินไปเดินมาในไร่ในสวนในนา ซึ่งเป็นภาพที่ชินตาของชาวบ้านในอำเภอภูผาม่านไปแล้ว การใช้แอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อช่วยในการจดบันทึก และการเก็บรวบรวมข้อมูลชุมชนโดยวิธีการออกสำรวจ ก่อนจะนำข้อมูลนั้นมาทำเว็บไซต์อย่างง่าย เพื่อแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอภูผาม่าน การปักหมุดโลเคชั่นไกด์ ผ่านกูเกิลแมปเพื่อแนะนำสถานที่ของร้านประกอบการไปอำเภอภูผาม่าน สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่กำลังเกิดการเรียนรู้ใหม่ในชุมชน ซึ่งมองว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีและการเรียนรู้ที่ไร้ขอบเขตในพื้นที่ชุมชน ทำให้ชุมชนมีโอกาสในการแสดงศักยภาพการสื่อสารเรื่องราวของตัวเองออกไปให้กับผู้มาเยือนได้รับรู้และเข้าใจสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่

รู้จักบ้านเกิด การเรียนรู้ควรจะเป็นเรื่องเดียวกัน

การเรียนรู้ การศึกษา เรื่องชีวิตเรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องธรรมชาติ กับเรื่องพื้นที่มันควรจะเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะตอนนี้เราอยู่ที่อำเภอสีชมพู แต่เราเรียนเรื่องกรุงเทพฯเยอะมาก เราเรียนเรื่องต่างประเทศมากมาย แต่ว่าเรื่องที่เป็นพื้นที่ของเราจริงๆ เรายังมีพื้นที่สร้างสรรค์ มีตำราหรือหลักสูตรน้อยมาก ถ้าเราได้เรียนรู้เรื่องของบ้านเรามากขึ้น ทั้งมุมดีและมุมไม่ดี มุมใหม่ๆ เราก็จะห่วงแหนและรักบ้านเกิดของเรา”

สัญญา มัครินทร์ กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อการก่อร่างสร้างตัวของการเรียนรู้รูปแบบใหม่ในชุมชน ที่หลายคนต่างมองไปยังเป้าหมายเดียวกันว่า การมีเครือข่ายแล้วทุกคนได้ร่วมมือกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้มันจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เยาวชนและผู้คนในชุมชนต่างจะได้เรียนรู้ เติบโต แล้วจะได้รับใช้บ้านเกิดของตัวเอง เพื่อให้บ้านเราน่าอยู่แล้วสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับพื้นที่อื่น ๆ ได้ด้วย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ