หลังจากวิกฤต covid-19 ผ่านมาแล้ว 3 รอบส่งผลให้การท่องเที่ยวในประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก หลายที่ต้องปิดตัวลง ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวหลายแห่ง ก็ได้เปลี่ยนแปลงผันตัวเองไปทำอย่างอื่นแทนในช่วงเวลาเพียง 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง แต่หลังจากที่มีมาตรการจากกระทรวงสาธารณสุข ปรับอากาศของจังหวัดในหลายพื้นที่ ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนเริ่มปรับตัว แล้วอยู่ร่วมกับวิกฤตโควิด 19 ผ่านการเรียนรู้การเอาตัวรอด จะสร้างทางเลือกใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม ชุมชนท่องเที่ยว ที่ต้องปรับตัวให้สามารถดำเนินกิจการของกลุ่มด้านการท่องเที่ยวต่อไปได้
วันนี้อยู่ดีมีแฮงชวนทุกท่านเดินทางไปที่อำเภอเวียงเก่า อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นอำเภอที่รู้จักกันดีในเรื่องการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ แหล่งใหญ่ของภาคอีสาน พื้นที่ภูเขาภูเวียงที่มีความเป็นธรรมชาติ มีเอกลักษณ์ของพื้นที่ในตัวอำเภอเล็ก ๆ นี้ ที่เป็นพื้นที่วงกลมและมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว จึงทำให้ภายในพื้นที่ภูเวียงล้อมรอบไปด้วยภูเขา ธรรมชาติสีเขียวซึ่งนั่นก็เป็นอีกเหตุผลที่พื้นที่นี้เหมาะแก่การเป็นพื้นที่ทำท่องเที่ยว ด้วยต้นทุนทางธรรมชาติ และระยะทางจากตัวจังหวัด การคมนาคมที่ไปมาสะดวกสบาย เราเดินทางกันมาวันนี้เพื่อไปพบกับชมรมท่องเที่ยวเมืองภูเวียง ที่กำลังปรับตัว สร้างการท่องเที่ยวชุมชนแบบมีส่วนร่วม ท่ามกลางวิกฤตโควิด 19 ในรูปแบบการท่องเที่ยวแบบบ้าน ๆ
“ศักยภาพของที่นี่เราเข้ามาในหุบเขาภูเวียง เราอยู่ที่นี่ได้ทั้งวัน พื้นที่วงกลมนี้ทางเข้าทางออกทางเดียวเราจะไปขึ้นภูเขาเราจะไปกางเต็นท์ได้หมด สถานการณ์ covid-19 กระทบโดยตรงเรื่องของการท่องเที่ยว แต่พื้นที่นี้นักท่องเที่ยวจะเป็นคนไทยส่วนใหญ่ แต่พอมี covid-19 มาแล้วไม่ว่าจะไทยหรือต่างชาติก็ไม่อยากจะเที่ยว กว่าจะปรับตัวกันได้ใช้ระยะเวลาเลยครับ”
เอกราช ฟูแสง ประธานชมรมการท่องเที่ยวเมืองภูเวียง เล่าถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวของชมรมการท่องเที่ยวเมืองภูเวียงที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ covid-19 ส่งผลกระทบในพื้นที่ทั้งผู้ประกอบการ ชาวบ้าน ทำให้ต้องมีการจัดตั้งชมรมการท่องเที่ยวเมืองภูเวียงเกิดขึ้น ในการร่วมกันหาวิธีการที่จะสร้างความร่วมมือ ให้เกิดการท่องเที่ยวเกิดขึ้นในพื้นที่อีกครั้ง
เทศกาลดนตรีที่เล็กที่สุดในจังหวัดขอนแก่น เกิดขึ้นที่อำเภอภูเวียง
“ผมเคยมีประสบการณ์ในการทำท่องเที่ยวมาก่อนหน้านี้ พอได้มีโอกาสย้ายมาอยู่ที่อำเภอภูเวียง ทำให้ได้นำความรู้และประสบการณ์ที่เคยทำมาก่อนนำมาปรับใช้กับที่นี่ อย่างเช่นการทำเทศกาลดนตรี เราดึงศิลปินในท้องถิ่นที่อยู่ในอำเภอภูเวียง อำเภอเวียงเก่า มาเล่นเพื่อโชว์ศักยภาพให้คนจากต่างถิ่นได้เห็นศักยภาพของคนในพื้นที่ นอกจากนั้นก็มีการออกร้านของชมรม ของเครือข่าย ชาวบ้านในพื้นที่ให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน”
เอกราช ฟูแสง เล่าถึงที่มาของการจัดเทศกาลดนตรีขนาดเล็ก ในพื้นที่ไร่แทนคุณ ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มชมรมท่องเที่ยวเมืองภูเวียง ซึ่งเป็นการจัดงานขึ้นมาจากความร่วมมือของภาครัฐ ชาวบ้าน ผู้ประกอบการ ผ่านเครือข่ายชมรมการท่องเที่ยวเมืองภูเวียง ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งแรก ที่ต้องจัดการเรื่องของมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ covid19 ไปด้วยในตัว การจัดการระบบควบคุมดูแล แต่เรื่องของการลงทะเบียน ควบคุมของผู้คนที่มาจะต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม มีการตรวจ ATK หน้างาน ก็เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการที่พยายามเอาชนะวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
“connection is power การเชื่อมต่อคือพลังนะครับ”
การรวมกลุ่มการของชาวบ้าน ผู้ประกอบการในพื้นที่ ภาครัฐและหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ รวมไปถึงอุทยานธรณีฯ ของอำเภอเวียงเก่า และอำเภอภูเวียง ทำให้เกิดการพูดคุยกัน และพยายามทดลองสร้างพื้นที่การท่องเที่ยวผ่านการเชื่อมโยงกันในทุกระดับ รูปแบบของการลงแรง อีกทั้งร่วมกันสืบสานสู่สาธารณะผ่านโลกออนไลน์ และการประชาสัมพันธ์อื่นๆ การดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่
อาบป่า ภาพธรรมชาติ สปากายสปาใจ สร้างการท่องเที่ยวบ้านๆยึดโยงทรัพยากรในชุมชน
“เราพานักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง ไปกินอาหารในป่า ท่ามกลางห้องอาหารธรรมชาติ ข่าวเราก็ห่อด้วยใบตอง กินข้าวป่าเสร็จก็พาเดินเส้นทาง unseen เส้นทางที่แม้แต่คนเวียงเก่าหลายคนก็ไม่รู้จัก แล้วพาไปนอนสมาธิ นอกจากนั้นก็มีการดื่มกาแฟบนพะลานหิน ชมวิวมุมกว้างของหุบเขาไดโนเสาร์”
แสงเพชร ตันทะอธิพานิช ผู้ประกอบการได้แทนคุณแผ่นดิน สมาชิกชมรมการท่องเที่ยวเมืองภูเวียง ผู้ริเริ่มกิจกรรมท่องเที่ยวแบบบ้านๆ ซึ่งเห็นศักยภาพของทรัพยากรในท้องถิ่นว่าสามารถสร้างการท่องเที่ยวได้ จากความร่วมมือของชาวบ้าน และสถานที่ที่มีอยู่ในตัวอำเภอเวียงเก่า และอำเภอภูเวียง เพื่อเปิดพื้นที่การท่องเที่ยวชุมชน กับธรรมชาติ สร้างเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวตามจุดต่างๆ ให้เกิดขึ้น
ซาเล้งไปนาแบบบ้าน ๆ ก็พาเที่ยวได้
จุดเด่นของการท่องเที่ยวของชมรมการท่องเที่ยวเมืองภูเวียงจัดขึ้น นั่นคือ ซาเล้ง ซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์พ่วงข้างของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอภูเวียงและอำเภอเวียงเก่า ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มชมรมการท่องเที่ยวเมืองภูเวียง เพื่อนำมาเป็นไกด์ท่องเที่ยวชุมชน ในการพาทัวร์ตามเส้นทางท่องเที่ยว โดยอาศัยเวลาว่างจากการทำไร่ทำนาทำสวนของชาวบ้าน มาร่วมกิจกรรมเพื่อนำนักท่องเที่ยวออกเยี่ยมชมชุมชนและธรรมชาติที่อยู่ในชุมชน สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน ต่อ 1 คันประมาณ 300 บาท ซึ่งใช้เวลาในการท่องเที่ยวประมาณ 4 ชั่วโมง
“การที่เรานำการท่องเที่ยวเข้ามาปรับใช้มันสร้างอาชีพได้มากกว่าการเป็นแค่โรงแรม เช่น ทริปที่เราจัดใช้ซาเล้ง เที่ยวละ 10 คันชุมชนก็มีรายได้ ระหว่างเที่ยวก็มีขนมกินก็มาจากชุมชนก็สร้างรายได้ อีกอย่างคือมันช่วยให้บรรยากาศ ของชุมชนมันคึกครื้นขึ้น มันก็เป็นสีสันให้กับชุมชนเราได้ดี และสามารถสร้างรายได้สร้างอาชีพ”
แสงเพชร ตันทะอธิพานิช พูดถึงบรรยากาศชุมชนระหว่างนำนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมธรรมชาติตามโปรแกรมของกลุ่มชมรมท่องเที่ยวเมืองภูเวียงจัดขึ้น นอกจากนี้ยังมีหลากหลายกิจกรรมที่อาศัยความร่วมมือจากคนในชุมชนที่มีศักยภาพ อย่างเช่น คนเป่าแคน คนทำขนม ไกด์ที่เป็นเยาวชน ก็สร้างสีสันให้กับพื้นที่ และทำให้สร้างความท้าทายใหม่ให้กับชุมชนที่สร้างการท่องเที่ยวแบบบ้าน ๆ ขึ้นมา
ท่องเที่ยวชุมชนไปต่อได้เพราะความร่วมมือ
แม้จะมีสถานการณ์ covid-19 ที่ยังคาราคาซังและไม่หายไปในทันทีทันวัน แต่จากวิกฤตครั้งนี้เขาทำให้เห็นว่าผู้คนก็เริ่มที่จะหันมาเที่ยวในประเทศกันมากขึ้น จากความเหนื่อยล้าในการทํางาน และการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมาคนเมืองก็เริ่มรู้สึกอยากกลับมาสู่ธรรมชาติกันมากขึ้น
“มันเป็นโอกาสของท่องเที่ยวชุมชนนะครับ ที่น่าจะได้รับผลตอบรับที่ดีในสถานการณ์แบบนี้”
แสงเพชร ตันทะอธิพานิช ผู้ประกอบการไร่แทนคุณแผ่นดิน สมาชิกชมรมการท่องเที่ยวเมืองภูเวียง
“หลัก ๆ เลยอยากให้คนในท้องถิ่น มีส่วนร่วมให้มากที่สุดครับ เพราะหากถ้าเราจัดงานในท้องถิ่น แต่คนในท้องที่ไม่มีส่วนร่วม ในคราวต่อไปจะไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน แล้วมันจะทำให้เครือข่ายเราจะหยุดอยู่แค่นี้ ผมเชื่อว่ามันมีประโยชน์แน่นอนการรวมกลุ่ม connection is power การเชื่อมต่อคือพลังครับ ส่วนที่เราทำไม่ได้ส่วนที่เขาประสานให้ได้ อย่างไรมันก็ดีกว่าการทำคนเดียวแน่นอนครับ”
เอกราช ฟูแสง ประธานชมรมการท่องเที่ยวเมืองภูเวียง
แม้การท่องเที่ยวชุมชนจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่การเริ่มต้นใหม่ในครั้งนี้ ทำให้ชุมชนมีภูมิต้านทานในการจัดการกับปัญหาของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการใช้วิธีการใหม่ ๆ การออกแบบใหม่ ๆ และความร่วมมือของเครือข่ายที่ประสานความร่วมมือกัน ก็ทำให้การท่องเที่ยวชุมชนสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และสามารถสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชุมชนร่วมกัน