อยู่ดีมีแฮง : ศิลปะ “สตรีทอาร์ต”เล่าเรื่องเปิดพื้นที่ใหม่ใจกลางเมืองชวน “งึดสกล”

อยู่ดีมีแฮง : ศิลปะ “สตรีทอาร์ต”เล่าเรื่องเปิดพื้นที่ใหม่ใจกลางเมืองชวน “งึดสกล”

“มันท้าทายเราคือตอนแรกไปขอกำแพง ชาวบ้านไม่เข้าใจว่าศิลปะแบบนี้มันคืออะไร และเขาก็ลังเลว่าจะทำหรือไม่ทำดี แต่พอทำสำเร็จแล้วเขาก็บอกว่า ไอ้หนูคราวหน้ามาทำกำแพงบ้านลุงนะ”

พสุธา โกมลมาลย์  สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของชุมชนกลางธงชัย อ.เมือง จ.สกลนคร พื้นที่ใจกลางเมืองที่นักท่องเที่ยวหลายคนที่มาเยือน จ.สกลนคร อาจยังไม่รู้จักมาก่อน หลังจากความร่วมมือจากหลายหลายหน่วยงาน และรวมไปถึงคนรุ่นใหม่ พร้อมกับชุมชนที่ตัดสินใจทดลองทำพื้นที่ชุมชน ที่เรียกกันว่าพื้นที่ปิด ให้เปิดออก โดยการใช้ศิลปะข้างถนน หรือรู้จักกันมากในชื่อ สตรีทอาร์ต สร้างงานศิลปะบนกำแพงที่เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะแบบมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้คนใน จ.สกลนคร

พสุธา โกมลมาลย์

“ประวัติศาสตร์ของเมืองมันหายไป เพราะเมืองมันถูกล้อม คนก็มองไม่เห็น นอกจากงานกราฟิกตี้จะเป็นเรื่องของการสร้างพื้นที่สาธารณะแล้ว มันยังดึงให้คนเข้ามาสนใจในเรื่องของเมืองเก่า สนใจประวัติศาสตร์ของเมืองเก่า ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ตรงนี้มันกางออก”

ชุมชนบ้านกลางธงชัย เป็นชุมชนที่อยู่ใกล้พระธาตุเชิงชุมและถนนคนเดินที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งของ จ.สกลนคร ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาเกี่ยวข้องกับหนองหาน และการก่อตั้งเมืองมาก่อนในอดีต จากชุมชนที่เป็นเพียงบ้านเรือนแสนธรรมดา ในวันนี้ได้กลายมาเป็นพื้นที่ใหม่ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาชม ถ่ายรูป เช็คอิน สื่อสารผ่านออนไลน์ ชาวบ้านเริ่มมีการใช้ชีวิตที่มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เปิดร้านขายสินค้าจากชุมชนมากขึ้น

“เมื่อเราพูดถึงการพัฒนาชุมชน เรามักจะนึกถึงชนบทก่อน แต่เราลืมไปว่าก็มีชุมชนเมืองเช่นเดียวกัน ปัญหาของชุมชนเมืองที่มักจะพบเลยคือ ปัญหาของพื้นที่สาธารณะที่ลดลง เพราะพอเมืองมันโตขึ้นพื้นที่สาธารณะต่อหัว มันจะลดลงไปเรื่อย ๆ”

พสุธา โกมลมาลย์ เล่าต่อว่าพื้นที่สาธารณะที่มีส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างพื้นที่สวนสาธารณะ ซึ่งมักจะเป็นการเวนคืน หรือหากเป็นรูปแบบอิงปัจเจกก็จะมีเรื่องของทุน ที่ต้องใช้เงินเพื่อซื้อพื้นที่กึ่งสาธารณะนั้น ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นพื้นที่ที่กันผู้คนออกไปจากพื้นที่สาธารณะอยู่ดี จึงเกิดคำถามว่า จะดีไหมหากเรามีพื้นที่สาธารณะและผู้คนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันจริง ๆ

“ไปเห็นโมเดลหนึ่ง เป็นเรื่องของกราฟิกตี้ สร้างพื้นที่ใหม่ที่เราเรียกกันว่าพื้นที่ที่ 3 กำแพงก็เป็นของชาวบ้าน แต่พอวาดภาพลงไป ความแข็งของความเป็นปัจเจกมันก็ลดลงมาให้คนสามารถเข้าไปแตะได้ ถ่ายรูปได้”

การเริ่มต้นทำกราฟิกตี้ ในพื้นที่บ้านกลางธงชัย ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะชาวบ้านยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับศิลปะในรูปแบบ สตรีทอาร์ต ทำให้ต้องใช้เวลาในการอธิบาย และทดลองทำในปีแรก เพราะหากพูดถึงเรื่องของงานศิลปะที่ถูกสร้างบนกำแพงก็มักจะเห็นศิลปะที่อยู่ในขนบธรรมเนียม เช่น ภาพกี่ทอผ้า ที่จะมีให้เห็นในบริเวณถนนคนเดินใกล้กับชุมชนกลางธงชัย  ในครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนการสร้างงานศิลปะบนกำแพง ในครั้งนี้เป็นความร่วมมือของกลุ่ม At exchange ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินงานกราฟิกตี้ และ สตรีทอาร์ต ระดับประเทศ ร่วมกับศิลปินท้องถิ่นที่สร้างสรรค์ผลงาน ออกแบบศิลปะบนกำแพงสื่อสารในรูปแบบใหม่ แต่ยังคงการเล่าเรื่องผ่านศิลปะบนกำแพง เป็นเรื่องของความเชื่อและประวัติศาสตร์ของเมืองสกลนครอยู่ เช่น รูปพญานาค ผาแดงนางไอ่ กระรอกด่อน ซึ่งเป็นตำนานการเล่าขานของอีสาน

งานศิลปะช่วยเปิดเมืองเปิดพื้นที่และเปิดใจคนในชุมชน

หลังจากเริ่มลงมือทำศิลปะบนกำแพงในพื้นที่ชุมชนกลางธงชัย ชาวบ้านหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าชื่นชอบ ทำให้พื้นที่บนกำแพงที่ว่างเปล่ามีสีสันขึ้นมาก รู้สึกตื่นเต้นที่มีผู้คนเข้ามาในชุมชนเพื่อถ่ายรูป จากชุมชนที่เคยเป็นเพียงทางผ่านทะลุไปยังถนนอีกฟากหนึ่ง วันนี้กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอีกพื้นที่ในจังหวัดสกลนคร

คนรุ่นใหม่คือหัวใจของการขับเคลื่อนเมือง

“สกลนครเกิดสกลเฮ็ดขึ้นมา เราเห็นคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน เรารู้สึกว่าคนรุ่นใหม่มีพลังในการสร้างสรรค์เมือง แต่ประเด็นคือมันมีคนรุ่นใหม่อีกกลุ่มนึง ซึ่งมีวัฒนธรรมย่อย เช่น วัฒนธรรมแบบสเก็ตบอร์ด วัฒนธรรมแบบ สตรีทอาร์ตบีบอย แร็ปเปอร์ ยังถูกมองว่าแปลกประหลาดอยู่ การลองเอา สตรีทอาร์ต มาเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้ลองทำซึ่งเชื่อว่า คนรุ่นใหม่มีพลัง ซึ่งศิลปะแบบนี้จะช่วยดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน เช่น การเชิญชวนนักเรียนในจังหวัดสกลนครมาช่วยทำศิลปะแบบนี้ ซึ่งเชื่อว่าในโรงเรียนเขาคงไม่ได้ทำศิลปะที่สุดโต่งแบบนี้ มันทำให้เขาได้ค้นหาตัวเอง”

นอกจากพื้นที่สาธารณะพื้นที่ใหม่ใจกลางเมืองแห่งนี้เกิดขึ้นแล้ว คนรุ่นใหม่ที่ร่วมกันสร้างสรรค์ก็เป็นส่วนสำคัญในการร่วมกันพัฒนาเมืองให้มีชีวิตมากขึ้น เพราะหากเมืองขาดผู้คนแล้วก็ไร้ประโยชน์ คนรุ่นใหม่จึงเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันออกแบบสร้างสรรค์เมืองที่พวกเขาอยากจะเห็น และอยากที่จะอยู่ต่อไปในวันข้างหน้า

จากพื้นที่ปิดสู่พื้นที่เปิดแห่งใหม่ใจกลางเมืองจังหวัดสกลนคร การร่วมมือการของชาวบ้าน ภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา คนรุ่นใหม่ ที่ร่วมกันสร้างสรรค์เมืองผ่านการลงมือทำ ทำให้คุณค่าของเมืองเกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกัน ที่อยากจะเห็นเมืองพัฒนาไปในทิศทางที่ดี สร้างพื้นที่การทดลองใหม่ๆให้กับคนรุ่นใหม่ สร้างโอกาสให้เกิดขึ้นกับชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็เป็นพื้นที่ตัวอย่างแห่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่อีสานบ้านเรา  ที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ