14 กุมภา “รักนี้ที่สีชมพู” เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ด้วยแรงแห่งรักในบ้านเกิดเมืองนอน

14 กุมภา “รักนี้ที่สีชมพู” เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ด้วยแรงแห่งรักในบ้านเกิดเมืองนอน

ภาพโดย สัญญา มัครินทร์

“กุมภาพันธ์เดือนแห่งความรัก” ช่วงเวลานี้ของทุกปีเป็นเดือนที่อบอวลไปด้วยการแสดงความรักความห่วงใยถึงคนที่เราปรารถนาดี เป็นอีกเดือนที่อิ่มเอมเต็มไปด้วยความสุข หากแต่การแสดงความรักนั้นไม่ได้มีแค่คู่รักหนุ่มสาวระหว่างบุคคลเท่านั้น หากยังมีการใช้ช่วงเวลานี้ บอกรักถิ่นฐานบ้านเกิดด้วยการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชน  ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หัวใจนักพัฒนาได้จับเข่าคุยกัน ผสานกำลัง ขับเคลื่อนชุมชนผ่านการท่องเที่ยว การศึกษา และเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ที่มีความหลากหลาย ทั้ง เพศ อายุ และอาชีพมาร่วมกัน ในงาน“รักนี้ที่สีชมพู” ซึ่งจัดที่บึงทามจั๊กจั่น อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565

สัญญา มัครินทร์

สัญญา มัครินทร์ หรือ ครูสอญอ ลูกหลานชาวสีชมพู ผู้สวมบทบาทครูนักพัฒนา คืออีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญผู้มีส่วนต่อภาพการทำงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ให้ได้ร่วมกันขยับเรื่องการพัฒนาชุมชน “เราไปทำวงคุยสนทนา ที่บึงจักจั่น เป็นเหมือนแลนด์ มาร์ค ที่สีชมพูพอทำไปมันก็เกิดกลุ่ม เขาสนใจประเด็นการขับเคลื่อนเรื่องท่องเที่ยว พื้นที่การเรียนรู้กับพื้นที่ให้เยาวชนมาแสดงออก มันเลยกลายเป็นเทศกาลแห่งความรักและพื้นที่สร้างสรรค์ “รักนี้ที่สีชมพู” ตอนนี้ก็เลยระดมทุนมหาศาลเพราะว่าอย่างทำเสื้อ ขอตังค์ เพราะว่าคนในพื้นที่นึกไม่ออก จะไม่เข้าใจ มันเป็นงานจากรวมกลุ่มกันทำ ปกติมันจะเป็นงานส่วนกลางสั่งมา ปีแรกเริ่มให้เขาเห็นหน่อยว่าจริง ๆ คนธรรมดาหรือว่าเยาวชนทำงานได้ เลยอยาก Empower กันหน่อย”

“ทำไมถึงมีงานนี้ ประเด็น คือ หนึ่ง เป้าหมายมีสองข้อ อันที่หนึ่ง คือเราอยากจะทดลองด้วยว่าคนที่ทำงานเครือข่าย เรามารู้จักผ่านการทำงานไหม เพราะเดิมทีพวกเราทำในพื้นที่ อย่างก่อการครู เราทำเพราะเรารู้จักกันมาพอสมควรแล้ว เราได้ใจกันแล้ว แต่คราวนี้มันเป็นทั้งครู ทั้งคนในตัวอำเภอ คือ หน้าใหม่หมดเลย คือ เราไม่รู้จักเขาเลยแต่ว่า ถ้าเกิดจะรู้จักกันเร็ว ๆ นี้ เราเลยเอางานนี้มาทำงานร่วมกัน แล้วก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนรู้จัก ตัวท่องเที่ยวให้คึกคัก ซึ่งมิตินี้มันไม่เคยเกิดขึ้น อย่างกิจกรรมสร้างสรรค์ ส่วนใหญ่เกิดจากพวกเราทำ แต่คราวนี้อยากให้มันเกิดในพื้นที่ตรงนั้นจังเลย มาลองทำช่วยกัน ลองดูว่าถ้าจะขับเคลื่อนกันทั้งอำเภอ ลองดูว่าทีมนี้จะจริงแค่ไหน จะเต็มที่ร่วมกันมากแค่ไหน เป็นงานเหมือนลองได้รู้จักกันด้วย

แต่เท่าที่ทำมาโอเคมาก เพราะว่าเห็นความตั้งใจของพี่ ๆ วงมันก็ขยายใหญ่ มากกว่าเฉพาะพวกเรา มีครู รองนายก มันมีหลายส่วนมากเลย แล้วก็พอมันไปทำในตัวอำเภอมันดี เด็ก ๆ ในพื้นที่เยาวชน เขากระโดดเข้ามาแจม เพราะว่ามันคือพื้นที่บ้านเขาจริง ๆ เป็นจุดเป็นงานแรกที่จะทำงานร่วมกัน ถ้ามันเกาะกลุ่มเสร็จแล้ว โดยใช้ชื่อว่าเป็นชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและการเรียนรู้ มันน่าจะมีความเป็นไปได้ เป็นพื้นที่ใหม่ ๆ ต่อไปได้อยู่เพราะว่ามันมีนักเรียน ม.ปลาย มีพวกครู จบใหม่ ๆ มาอยู่ในทีม พี่ว่าเห็นความหวังอยู่ว่างานจะน่าสนุกขึ้นอยู่ ที่จะทำอะไรสนุกร่วมกัน เพราะว่ามันไม่เคยมีคนมารวมคนรุ่นใหม่ มาทำอะไรอย่างนี้ในพื้นที่โซนนั้น

พวกเราเลยเหมือนเป็นจุดประกาย เป็นแรงบันดาลใจให้เขาไปช่วยทำ เราก็ลองดู เพราะมันเป็นเป้าหมายของทีมอยู่แล้ว ว่าอยากทำงานพัฒนา แต่ว่าเราก็ดูกำลังเรา ว่ามันจะไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่พอไปทำก็เห็นความหวัง เห็นหน้าใหม่ ๆ ที่เขากระโดดมากับเราก็โอเคอยู่” สัญญา มัครินทร์ เริ่มต้นถึงถึงเป้าหมายของการเกิดขึ้นของงาน “รักนี้ที่สีชมพู” เพื่อทำความรู้จักเครือข่ายและการขยายฐานการทำงานการด้านการท่องเที่ยว

มากกว่าบอกรักด้วยถ้อยคำ การแสดงออกด้วยการลงมือปฏิบัติของคนรักถิ่นของชาวอำเภอสีชมพูในวันที่ 14 กุมภาพันธ์   นี้ ดูเหมือนจะเป็นอีกสีสีนในวันแห่งความรัก ที่อยากชวนติดตาม “รักนี้ที่สีชมพู” โดยแท้จริง จากหัวใจคนรุ่นใหม่ นักออกแบบ นักพัฒนา ผู้มีหัวใจรัก(ษ์)บ้านเกิดมาร่วมออกแบบสร้างสรรค์กิจกรรมและเปิดพื้นที่การเรียนรู้บนพื้นที่ อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ