ลวดลายสีสันในหน้าแล้งที่แม้ใบไม้แห้งเหี่ยวร่วงหล่น แต่มุมหนึ่งในโรงเรียนห้วยเม็กวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ สีส้มแสดจากดอกจานที่บานสะพรั่งยังสร้างความสดใสให้ผู้พบเห็น แม้ท่ามกลางแดดแรงแยงตา “ผ้าพิมพ์” Eco print และสีสวยสดของดอกไม้ในหน้าแล้งจึงกลายมาเป็นบทเรียนหนึ่งของนักเรียนและเครือข่ายก่อการครูกาฬสินธุ์กับวิชาเรียนภาคสมัครใจ เพิ่มเติมจากการศึกษาภาคบังคับตามหลักสูตรในห้องเรียน
นับเป็นช่วงระยะเวลา 1 ปีแล้ว ที่เครือข่ายก่อการครูกาฬสินธุ์ได้สร้างการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงระบบนิเวศในชุมชนให้เข้ากับผู้เรียน ไปพร้อม ๆ กับชวนเพื่อนครูต่างโรงเรียนมาร่วมเดินทาง สร้างบทเรียนใหม่ ที่ไร้ข้อจำกัดและเน้นให้ผู้เรียนสามารถร่วมออกแบบและนำไปใช้ในชีวิตจริงได้
สราวุฒิ พลตื้อ หรือที่เด็ก ๆ เรียกกันว่า ครูตู้ เป็นครูโรงเรียนมัธยมประจำตำบล ที่โรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ หนึ่งในเพื่อนครูผู้ร่วมสร้างขบวนเครือข่ายขับเคลื่อนการศึกษาบนฐานทรัพยากรของชุมชนบอกเล่าถึงการชวนครู นักเรียน ทลายกรอบบทบาทที่เป็นช่องว่างของความต่างเพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ เติมประสบการณ์ใหม่ไปพร้อมกันได้
“หลัก ๆ next step เราคือก่อการครูกาฬสินธุ์ เราทำงานมา 1 ปี แล้ว เราให้ความสำคัญในการเกี่ยวร้อย เครือข่ายครูไว้ สำคัญที่สุดคือครูด้วยกัน ทำอย่างไรเราถึงจะอยู่ด้วยกันได้ เพราะว่าถ้าเราอยู่คนเดียว เราจะมีพลังแค่นั้น แต่ถ้าเราเกี่ยวร้อยกันไว้ ก็จะมีพลังเยอะขึ้น”
ฉะนั้นวันนี้เลยชวนมองว่าเราเห็นอะไรกัน เราเห็นความสุขเราไหม เราเห็นความสุขของตัวนักเรียนไหม แล้วกาฬสินธุ์เราให้ความสำคัญกับการนำครูนักเรียนมาร่วมกิจกรรมกันเลยให้ความรู้สึกว่าเราเป็นครู เป็นนักเรียน ให้ทุกคนรู้ว่ามันก็เรียนรู้ร่วมกันได้
สิ่งนี้เลยอยากมองว่า ถ้าโครงการเราอยากสิ้นสุดแล้ว เราอยากมีอีกไหมปีหน้า หน้าตามันจะเป็นอย่างไร พวกคุณเป็นนักเรียน แต่ว่าก็มีสิทธิที่จะเสนอไอเดียได้ ว่ามันจะเกิดไปอย่างไร ส่วนการเคลื่อนวงก่อการครูกับเครือข่ายอื่น เราทำตลอด ส่วนใหญ่เรามีโอกาสก็ไปได้ไปขอนแก่น สกลนครร่วมกับเครือข่ายครูเรา ถ้าไปไม่ได้จริง ๆ เราก็เชื่อมวงออนไลน์กัน ซึ่งค่อนข้างจะสำคัญ เพราะว่าเราอยู่แต่ในกาฬสินธุ์ เราไม่ได้ไปเห็นเครือข่ายอื่น แต่พอไปเห็นเครือข่ายอื่นเราก็จะเห็นว่ามันมีความหลากหลายในวงการครู”
สราวุฒิ พลตื้อ ยังเล่าเพิ่มอีกว่ากิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นการรับฟังเสียงของทุกคน “ผมว่าสำคัญ คือ ก่อการครูช่วงที่ผ่านมาเราฟังเด็กเยอะขึ้น เรารู้สึกว่าเสียงเด็กชัดขึ้น เพราะว่าเราฟังเขา เมื่อก่อนเราคิดว่าเราเป็นที่ตั้งในห้องเรียน แต่พอมาได้เครือข่ายแล้วรู้สึกว่าเราฟังเพื่อนครูเยอะขึ้น เราก็ฟังเด็กเยอะขึ้น บางอย่างไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นครูเสมอไป บางอย่างได้เรียนรู้จากเด็กเยอะมากเลย
คิดว่าเรื่องการฟังความแตกต่างหรือฟังความเห็นของผู้เรียน ให้ได้มีส่วนร่วมเป็นส่วนสำคัญของกาฬสินธุ์ สำคัญเราพยายามทำบทเรียนง่ายขึ้น พาเด็กไปปั่นจักรยาน ทำสีจากธรรมชาติ พาเด็ก ๆ ทำผ้าพิมพ์ลายใบไม้ ก็คือเป็นเรื่องในชุมชนที่มันจับต้องได้ วันนี้เด็ก ๆ ก็ได้รู้จักใบไม้ซึ่งอยู่รอบตัวเขาเลย ต้องมาดูว่าเขาจะได้อะไร”
วราภร์ ศรีบัว หรือ ครูแมวเหมียว ครูโรงเรียนคำม่วงจรัสวิทย์ ต.ทุ่งคลอง อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ หนึ่งในผู้ร่วมขบวนการก่อการครูกาฬสินธุ์ รุ่น 3 อีกคนผู้นำแนวคิดการสอนมาปรับใช้ในชั้นเรียน “ก่อการครูกาฬสินธุ์ให้อะไรบ้าง อย่างน้อย ๆ คือ ให้เห็นกลุ่มคนที่เขาคิดจะพัฒนาการศึกษาของกาฬสินธุ์เรา เราก็เป็นตัวสะท้อนตัวปัญหาของกาฬสินธุ์ พูดง่าย ๆ คือครูกาฬสินธุ์ที่เป็นคนในพื้นที่ก็ย่อมรู้ปัญหาของพื้นที่กาฬสินธุ์เรา แล้วก็ย่อมที่จะจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มันตรงกับจุด แก้ปัญหาในจุดที่คิดว่าเป็นปัญหาของเด็กกาฬสินธุ์เราได้ถูกจุด ซึ่งการแก้ไม่ใช่ว่ามันจะเห็นกันง่าย ๆ มันก็จะต้องใช้เวลา ตอนนี้ก็เริ่มใช้เวลา แทรกซึมไปเรื่อย ๆ ถือว่าเป็นกระบวนการที่ดี คาดว่าเราก็จะขยายเครือข่ายไป
ในวันนี้เราอยากมารู้ว่าพี่น้องครูกาฬสินธุ์ต่างอำเภอเป็นเหมือนกันกับอำเภอคำม่วงไหม ตอนนี้มีโควิด-19 ในอำเภอเราก็รู้สึกว่าสอนเด็กได้ไหม เราอยากมารู้ว่าทางห้วยเม็ก หนองกรุงศรี ยางตลาด เป็นเหมือนกันไหม แล้วก็มาดูนักเรียนเขาด้วยเป็นเหมือนที่คำม่วงเราไหม จากกระบวนการที่เราได้เห็นตอนเช้าก็สะท้อนว่าเด็กเขารู้สึกอย่างนี้ ซึ่งเราก็ได้รู้ รู้เขารู้เรา”
Next Step ก่อการครูกาฬสินธุ์ครั้งนี้ ภายใต้การจัดกระบวนการเรียนรู้ ผ่านห้องเรียนใบไม้ Eco Printing ผ้าพิมพ์ลาย ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายในชุมชน เพื่อชวนให้เด็กและเพื่อนครู ผู้เชื่อมร้อยเรื่องการศึกษา ได้มีพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ที่มากกว่าตำราเรียนที่ต้องท่องจำได้กะเทาะความคิด ออกแบบการเรียน และสร้างบทสนทนาร่วมกันในการก้าวต่อ