ภาพยนตร์ หรือ ที่เรียกกันง่าย ๆ สั้น ๆ ติดปากว่า “หนัง” ถูกจัดกลุ่มเป็นสื่อเพื่อความบันเทิงในเบื้องต้น แต่วันนี้ผู้เขียนอยากเริ่มต้นชวนคุยผ่านตัวอักษรในบทสนทนากับคนทำหนัง ปิ๊ก องอาจ หาญชนะวงษ์ หนึ่งในทีมอำนวยการร่วมสร้าง “ภาพยนตร์คนยาก” “หนัง” ในมุมมองที่ต่างออกไป แต่เชื่อว่ายังมีความรื่นรมย์บันเทิงและแง่งามในสายตาที่มองมามากน้อยเท่าใดนั้นยังไม่แน่ใจ เพราะหนังที่จะเล่าถึงทำขึ้นเพื่อถ่ายทอดอีกด้านของเมืองขอนแก่นในดินแดนที่ราบสูง อีกเมืองใหญ่ในภาคอีสานที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดตลอดช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา หนังเหล่านี้จะถูกบันทึก และบอกเล่าผ่านสายตากลุ่มคนเปราะบาง คนจนเมือง และคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่พำนักพักพิงอิงอาศัยอยู่ในสังคมเมืองขอนแก่น ท่ามกลางความเจริญที่กำลังเปลี่ยนไป เพื่อทำความรู้จัก เข้าใจ มุมมองและการมีอยู่ของพวกเขาผ่านภาพยนตร์ ซึ่งจัดภายใต้ความร่วมมือกับกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมและมูลนิธิกระจกเงา
องอาจ หาญชนะวงศ์ หรือ ปิ๊ก เล่าถึงการใช้องค์ความรู้ด้านการผลิตภาพยนตร์ ให้คนที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์ได้ฝึกถ่ายทอดเรื่องราว เพราะเขามองว่านี่เป็นอีกอำนาจในมือเมื่อเริ่มกดปุ่มบันทึก (Recorder)
“เราออกแบบการอบรม ไม่เรียกว่าการอบรมหรอก เราเรียกว่าการแจกจ่ายเครื่องมือ เพราะว่าเราก็คงไม่ได้ทำให้มันเป็นในเชิงของรูปแบบภาพยนต์ ในเชิงในความบันเทิง 100% เพราะว่าชื่อของโครงการก็จะบอกเป็นคำสร้อยอยู่แล้ว “โครงการภาพยนตร์คนยาก” มันจะมีคำขยายก็ คือ การสร้างสรรค์ภาพเคลื่อนไหวสะท้อนเมืองผ่านมุมมองคนไร้บ้าน หมายความว่าจะเป็นมุมมองที่คนไร้บ้านมีต่อเมืองที่เขาอยู่ เราก็ให้เครื่องมือในการบันทึกกับเขาไป ก็ได้ลงพื้นที่ไปแล้ว 3-4 ครั้ง ได้มีผู้เข้าร่วมแบ่งเป็น 2 ประเภท ก็เป็นคนที่เชื่อมโยงกับบ้านโฮมแสนสุข อีกส่วนหนึ่งก็เป็นคนที่สวนเรืองแสง ศาลหลักเมือง บขส. บึงแก่นนคร แบ่งเป็นสองผู้เข้าร่วม ก็จะได้สอนในการใช้อุปกรณ์เบื้องต้นก็คืออุปกรณ์บันทึกภาพ คือ กดถ่ายอย่างไร บันทึกอย่างไร เปิด-ปิดอย่างไร ใส่การ์ด ถอดการ์ดอย่างไร ให้ไปตามความเหมาะสมของแต่ละคน
เราจะแบ่งไปตามศักยภาพเขาด้วย ซึ่งในที่นี้ เราก็ไม่ได้หวังผลกับความที่จะถ่ายอะไรเลยนะ แต่แค่เราใช้ภาพที่เขาถ่ายมาเป็นตัวสะท้อนมุมมอง ความเข้าใจของพวกเขา หรือถอดความคิดของคน ที่เราอาจจะไม่เคยไปอยู่ในชีวิตแบบเขา”
ฝึกกำกับ ถ่ายภาพ เล่าเรื่องด้วยตัวเอง
“เรามีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ อันหนึ่งตระหนักของการมีอยู่ ความเข้าใจและการอยู่ร่วมกัน อย่างหนึ่งก็คือเป็นกระบวนการผลิตภาพยนต์ทดลอง ที่เอาไว้ถ่ายทอดมุมมอง ของผู้ที่อาจจะเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ ที่ใช้ในการบันทึกภาพ เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดสื่อ ทีนี้การเข้าถึงหรือการเป็นผลิตเอง มันก็จะอย่างครั้งก่อนที่เราบอกเป็นผู้ที่มีอำนาจเองในการกด Record เราก็เอาไปให้เขาเลือกเลยว่า อยากบันทึกภาพไหน มุมไหน ที่เป็นมุมที่เขาสนใจ มุมไหนที่เป็นมุมที่เขาผูกพันมุมที่เขาชอบมา หรือเป็นพื้นที่ที่เขารู้สึกดี ส่วนใหญ่เท่าที่ผ่านมา ก็จะไปบันทึกพื้นที่ที่เขารู้สึกสบายใจ ที่ ๆ เขารู้สึกปลอดภัย พื้นที่ต่าง ๆ ที่เขาไปอยู่มันเป็นอย่างไร มันก็สร้างความเข้าใจกัน แล้วก็มุมต่าง ๆ พวกนี้ บางมุมอาจจะคาดไม่ถึง
อาจจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนวงสนทนา ส่วนหนึ่งอยากให้เป็นโมเดล คือ ให้เขาเป็นคนจัดทำร่วมกันก็จะจัดฉาย แล้วก็มีการเก็บค่าเข้าชมตามอัธยาศัย ตามศรัทธา เอาไว้เป็นค่าบำรุงสถานที่บ้านโฮมแสนสุข อันนี้ก็เป็นโมเดลการจัดฉายภาพยนต์เทศกาลหนึ่ง ก็ต้องดูความเหมาะสมอีกที จะออนไลน์ไม่ออนไลน์แต่สุดท้ายต้องเผยแพร่และมีการเสวนา”
ณัฐวุฒิ กรมภักดี เครือข่ายเพื่อนคนไร้บ้าน และผู้ประสานงานกิจกรรม เล่าถึงเป้าหมายของการได้ฝึกเล่าเรื่องของกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน “เรามีเป้าหมายในการที่จะสื่อสารเรื่องราวกลุ่มคนจนเมือง คนไร้บ้านอยู่แล้ว เรามีไอเดียว่าคนที่เล่าเรื่องจะเป็นคนไร้บ้านเอง โจทย์ที่คุยกัน คือ อยากจะเล่าเรื่องของเมืองโดยผ่านมุมคนไร้บ้าน คนจนเมือง ที่ผ่านมาเวลาเรามองเรื่องเมือง เรื่องการพัฒนาเมือง เวลาภาพที่เล่าออกไปมักจะเป็นกลุ่มคนที่เป็นนักธุรกิจ กลุ่มคนที่เป็นชนชั้นกลางในเมือง ที่เล่าผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมความสวยของเมือง หรือแม้แต่มุมด้านที่มันเป็นเชิงบวก เชิงสวยงาม ดูวินเทจแบบนี้
เราทำงานคลุกคลีกับคนไร้บ้าน คนจนเมืองมาจริง ๆ แล้ว เราก็รู้สึกว่ามีมิติของเมืองที่มักจะถูกซ่อนไว้หรือไม่ถูกพูดถึง คือเป้าหมายของกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้านเอง อย่างน้อยคนทั่วไป ได้เห็นมุมมองการใช้ชีวิต ตั้งแต่สิ่งที่เขาจะสะท้อนผ่านภาพของเขาออกมา จริง ๆ ของคนไร้บ้านเอง มันน่าจะทำให้เราได้เข้าใจชีวิตของเขามากขึ้น ที่เขาถูกกระทำมากขึ้น แล้วก็ให้คนในสังคม ตั้งคำถามได้ถกเถียงถึงประเด็นเพื่อนคนไร้บ้านมากขึ้น อาจจะนำไปสู่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมสนใจมากขึ้นแล้วก็นำไปสู่การขับเคลื่อน แก้ไขปัญหา ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาในอนาคตได้”
เปล่งเสียงสื่อสารจากคน(จน)เมือง
ณัฐวุฒิ กรมภักดี ยังเล่าทิ้งท้ายก่อนจบบทสนทนาอีกว่า“เราเชื่อเสมอมาว่าคนไร้บ้าน คนจนระดับล่างเขามีสิ่งหนึ่งที่เขาขาดหายคือเขาเป็นคนที่ไม่ค่อยมีเสียง เสียงไม่ค่อยดัง เวลาพูดอะไรมักไม่ค่อยมีใครได้ยิน เรามองว่าการที่เราใช้เครื่องมือของการสื่อสารจะเป็นหนังเป็นภาพยนตร์ เป็นภาพถ่ายเป็นอะไรต่าง ๆ ที่คนในสังคมมาเป็นข้อต่อระหว่างเขาและเคสที่เขาต้องการจะสื่อ เราคิดว่าอันนี้ คือ กระบวนการสำคัญที่เราพยายามจะขยายให้เสียงของเขามันถูกขยายขึ้น ดังขึ้น เรื่องราวของเขามันถูกรับรู้ คนในสังคมเข้ามาเรียนรู้ เข้าใจเขามากขึ้น”
ตลอดบทสนทนาที่ไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป พลันก็ทำให้นึกถึงเครื่องมือสื่อสารที่กำลังใช้บันทึก (Recorder) เรื่องราวผ่าน “เสียงสนทนา” ในมือขณะนี้ ที่หลายครั้งมองเห็นความสำคัญเพียงแค่การติดต่อสื่อสารจากต้นทางกับปลายทาง ที่ใช้ภาพถ่าย คลิปวิดีโอต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำได้ง่าย กลาดเกลื่อน เพียงเรามีสมาร์ตโฟน
แต่เมื่อฟังให้ลึกและคิดตามไป เครื่องมือทันสมัยที่หลายคนบอกว่าหาได้ง่ายแบบนี้ ยังมีกลุ่มคนที่ห่างไกลการเข้าถึงอยู่มาก เพราะมีราคาค่างวดไม่น้อยเมื่อเทียบกับต้นทุนรายได้ อย่างกลุ่ม “คนไร้บ้าน” ที่มีตัวตนอยู่จริงในสังคมเมืองใหญ่รวมถึง “เมืองขอนแก่น” และโอกาสสำคัญครั้งนี้ ที่มีการระดมกล้องบันทึกภาพวิดีโอแบบ Handy cam จากเพื่อน ๆ ผู้พอมีและพร้อมแบ่งปันเพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสบันทึกภาพ เสียง และพร้อมถ่ายทอดเรื่องราวหลังฉากม่านเมืองใหญ่ ก็ดูเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่จะขยับความห่างช่องว่างของการเข้าถึงการสื่อสารให้แคบลง
แน่นอน นี่เพียงจุดเริ่มต้น “ภาพยนตร์คนยาก” ฉากหนังในสายตา คน(จน)เมือง ได้เปิดกล้องถ่ายทำไปแล้ว ไม่ต้องมีพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นใด นอกจากเสริมพลังใจให้พวกเขาได้กล้ากดปุ่มบันทึกด้วยปลายนิ้ว ซึ่งได้เติมความมั่นใจจากทีมทำหนังอาสาสมัครอย่าง องอาจ หาญชนะวงษ์ พร้อมทีมอำนวยการสร้าง ณัฐวุฒิ กรมภักดี โดยหนังเหล่านี้ คาดว่าจะมีนักแสดงตัวจริงที่เป็นชาวขอนแก่นร่วมโลดแล่นในฉาก ขอคุณผู้ชมโปรดติดตามและให้กำลังใจทีมงานผู้กำกับด้วยใจระทึก เพื่อติดตามฉากชีวิตของพวกเขา เพื่อให้เรารู้จักและเข้าใจกันมากขึ้น คาดว่าในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้เราจะได้รับชมกัน
ภาพโดย บุรินทร์ฑร ตันตระกูล,มาริญา ทรงปัญญา