สมานฉันท์แรงงานเคลื่อนขบวนทวง “ค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท” เท่ากันทั่วประเทศ

สมานฉันท์แรงงานเคลื่อนขบวนทวง “ค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท” เท่ากันทั่วประเทศ

24 ม.ค. 2465 – คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) รวมกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2564 ที่เคยได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของแรงงาน

หนังสือของกลุ่มผู้ใช้แรงงานระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันราคาสินค้าอุปโภค บริโภค สาธารณูปโภค สาธารณูปการได้ปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนงานและประชาชนทุกสาขาอาชีพ หมู ไก่ ไข่ เนื้อ ข้าวสาร น้ำมันพืช ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าพาหนะเดินทาง ค่าทางด่วน และอื่นๆ เกือบทุกรายการ

และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้มีนโยบายสั่งการให้หน่วยงานของรัฐ เอกชน ปรับวิธีการทำงาน โดยพนักงาน ลูกจ้าง ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ จำนวนมากทำงานที่บ้าน (Work from Home) และให้นักเรียน นักศึกษาเรียนออนไลน์ ทำให้ภาระทั้งหมดไปตกที่ประชาชน ครอบครัว ต้องแบกรับภาระ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอินเตอร์เน็ต และอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ขณะที่คนทำงานบางส่วนก็ถูกเลิกจ้าง ตกงาน ขาดรายได้ ไร้อาชีพ อยู่ในภาวะที่เดือดร้อนกันอย่างถ้วนหน้าทั่วประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะเยียวยาช่วยเหลือแต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น ๆ ส่วนเกษตรกรรายย่อยเองก็ต้องเผชิญภัยพิบัติธรรมชาติไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ รวมทั้งราคาผลผลิตเองที่พอจะผลิตขายเลี้ยงชีพได้ราคาก็ตกต่ำโดยเฉพาะราคาข้าวเปลือก

คสรท. และ สรส.ได้ยื่นข้อเสนอให้แก่รัฐบาลแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2564 ที่ครอบคลุมในเรื่อง ให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้าง พร้อมกับการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินไป สร้างหลักประกันการทำงาน ความมั่นคง ความปลอดภัยในการทำงาน มาตรการประกันสังคมที่เป็นธรรมแก่คนทำงาน ให้ใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ให้รัฐบาลวางนโยบายในการจ้างงาน พร้อมกับให้ช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น แต่ที่สุดแล้วรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

หนังสือระบุด้วยว่า จำเป็นที่ต้องยื่นข้อเสนอขอให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2565 ในราคาวันละ 492 บาท ให้เท่ากันทั้งประเทศและให้รัฐบาลประกาศโครงสร้างค่าจ้าง เพื่อสะท้อนการปรับค่าจ้างในแต่ละปีอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ ค่าจ้างที่เสนอเป็นตัวเลขและข้อมูลที่ คสรท. ได้ทำการสำรวจจากคนงานในพื้นที่ครอบคลุมภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศประมาณ 3,000 คน ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายรายวันที่เป็นค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ประกอบด้วย ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าเลี้ยงดูครอบครัว บุพการี เป็นตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่วัน 492 บาท แต่หากจะให้มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จะอยู่ที่ 712 บาทต่อวัน ซึ่งข้อมูลตัวเลขเป็นของปี 2560

นอกจากนั้นหนังสือของกลุ่มผู้ใช้แรงงานยังยกงานศึกษาของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เพื่อชี้ว่าการปรับค่าจ้างก็ไม่ได้มีกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการปรับค่าจ้างจะเป็นการสร้างรายได้ สร้างกำลังซื้อ สร้างกำลังการผลิต เกิดการไหลเวียนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายนำไปเป็นงบประมาณพัฒนาประเทศได้


สมัชชาแรงงานฯ ยื่นหนังสือ กมธ.แรงงาน ขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศ 425 บาท – ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค

20 ม.ค. 2565 – สมัชชาแรงงานแห่งชาติ นำโดย นายอมรฤทธิ์ แสงยะรักษ์ เลขาธิการสมัชชาแรงงานแห่งชาติ ยื่นหนังสือต่อ นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เรื่องขอปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำทั้งประเทศ จากสถานการณ์ปัจจุบันมีการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภค บริโภค อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นกับค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 320 บาท

รัฐบาลเคยให้นโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ว่าจะต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 425 บาท ดังนั้น ทางสมัชชาแรงงานฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐมีนโยบายควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และเสนอให้รัฐปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันให้แรงงานทุกคนเท่ากันทั้งประเทศอย่างเร่งด่วน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ