กทม.เตรียมรับมือโควิดละรอกใหม่ คาดพบระบาดในเด็กมากขึ้น

กทม.เตรียมรับมือโควิดละรอกใหม่ คาดพบระบาดในเด็กมากขึ้น

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงในประเด็นระบบการดูแลผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ และความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล ณ กระทรวงสาธารณสุข (10 ม.ค. 2565) ตอนหนึ่งเกี่ยวกับการคาดการณ์ว่าการระบาดครั้งนี้จะเกิดกับเด็กมาก โดยเฉพาะในช่วงอายุ 5 – 11 ปี ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จึงได้มอบหมายให้สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชราชินีเตรียมพร้อมในการรักษาสำหรับผู้ป่วยเด็ก ช่วยสนับสนุนการเตรียมยาน้ำฟาวิพิราเวียร์ โดยการเผยแพร่วิธีการเตรียมยาน้ำฟาวิพิราเวียร์สำหรับเด็ก ผ่านทาง YouTube และสนับสนุนยาน้ำฟาวิพิราเวียร์ในระยะแรก

ภาพจาก : Facebook กรมการแพทย์

นอกจากนี้ยังจัดผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยเด็กเพื่อเป็นที่ปรึกษา โดยมีโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลในเครือข่ายกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถาบันเด็กของกรมการแพทย์ จัดคณะผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็กที่จะคอยดูแล และให้คำปรึกษาสำหรับการดูแลผู้ป่วยเด็กที่อยู่ในระบบ Community Isolation (CI) หรือ Home Isolation (HI) ซึ่งในขณะนี้มีการประสานกับ กทม. ให้จัดเตรียม CI ผู้ป่วยเด็กอย่างน้อยโซนละ 1 แห่ง และมีการจัดระบบส่งให้โรงพยาบาลเมื่อพบอาการรุนแรง และเตรียมเตียงระดับ 3 ในโรงพยาบาล สำหรับเด็กที่มีอาการรุนแรงมาก

ล่าสุด (11 ม.ค. 2564) PPTV รายงานว่าพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายกำชับให้เตรียมความพร้อมศูนย์พักคอย (CI) จำนวน 41 แห่ง รวม 5,158 เตียง ทั้งทางด้านบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และเปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2565 โดยขณะนี้มี CI จำนวน 13 แห่งแรก ที่เปิดรับผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว มีจำนวนเตียงพร้อมรองรับแล้วรวมทั้งหมด 1,826 เตียง และเตรียมพร้อมอีก 28 แห่ง อีก 3,332 เตียง คาดว่าจะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้ อีก 3,332 เตียง ปัจจุบันมีผู้ครองเตียง 137 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ม.ค. 65) คงเหลือ 5,021 เตียง 

ภาพจาก : https://www.pptvhd36.com

สำหรับ ศูนย์สร้างสุขทุกวัยเกียกกาย (เฉพาะสำหรับเด็กและครอบครัว) สามารถรับผู้ป่วยเด็กอายุ 5-12 ปี แบ่งเป็นได้ ชาย 26 คน และหญิง 26 คน เดิมได้ปรับเป็นสแตนด์บายโหมดอยู่แล้ว หากมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ที่เป็นเด็กอายุ 5-12 ปี ก็สามารถรับผู้ติดเชื้อมาดูแลได้ทันที

ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมการแพทย์ รายงานว่า (11 ม.ค. 2565) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่ากรมการแพทย์โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ดูแลผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิดจำนวนมาก โดยในระยะที่มีการระบาดของโควิดโอมิครอน ทางสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ได้รับผู้ป่วยดูแลรวมทั้งสิ้น 59 คน โดยผู้ป่วยทุกคนได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐานของการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดที่กรมการแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มว่า กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งเป็นสถาบันเฉพาะทางที่ดูแลเด็ก มีการเตรียมความพร้อมอย่างดี สามารถให้การดูแลผู้ป่วยโควิดเด็กทุกกลุ่มอาการตามนโยบายของกรมการแพทย์ โดยขณะนี้ดูแลกลุ่มสีเขียวที่ให้รักษาตัวที่บ้าน Home Isolation (HI) หรือศูนย์แยกโรคในชุมชน Community Isolation (CI) รวมทั้งสิ้น 46 คน ส่วนกลุ่มสีเหลืองและสีแดงจะรับไว้รักษาในสถาบันฯ ซึ่งขณะนี้มีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดทั้งหมด 70 เตียง และมีห้องแยกความดันลบ โดยผู้ป่วยเด็กโควิดที่ต้องการรับบริการขอให้ติดต่อผ่านระบบโทรสายด่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1330 เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป

ภาพจาก : https://www.thaigov.go.th

ในส่วนของการเตรียมแผนฉีดวัคซีน ข่าวทำเนียบรัฐบาล (8 ม.ค. 65) รายงานว่า นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมพร้อมการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 5-11 ปี ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าจะเริ่มฉีดได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ การฉีดจะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเด็กและผู้ปกครอง ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างการสำรวจความสมัครใจ โดยสถานที่ฉีดจะใช้โรงเรียนเป็นจุดฉีดหลัก ร่วมกับจุดฉีดที่โรงพยาบาล และสำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน สามารถเข้ารับการฉีดแบบ Walk In ได้ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครกำหนดไว้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ