หลังการทำงานกว่า 8 เดือน (ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2564 ถึง เดือนมีนาคม พ.ศ.2565) ที่เครือข่ายชุมชนเมือง จ.ขอนแก่น ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานกลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ได้ ทดลองดำเนินการสร้างปฏิบัติการชุมชนเพื่อป้องกันกลุ่มเสี่ยงไร้บ้านในชุมชนเปราะบาง พื้นที่นำร่องปฏิบัติการใน 3 ชุมชน เขตอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น คือ ชุมชนมิตรภาพ ชุมชนเหล่านาดี-12 และ ชุมชนริมคลอง ชลประทาน
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโรงแรมกรีนโฮเทล จ.ขอนแก่น ก็ถึงเวลาสรุปผลการทำงานผ่านกิจกรรม ส่งเสียง-เสวนา-สนทนา-สาธารณะ ในหัวข้อ Voice From The Bottom : ‘เสียงจากคนข้างล่าง สู่ความท้าทายเพื่อสร้างระบบดูเเลกันทางสังคมที่มองเห็นคนทุกคน’
“เราทำเรื่องคนไร้บ้านตั้งแต่ปี 2558 เราพบว่าคนไร้บ้านมีปัญหาทับซ้อนหลายอย่างมากครับ ไม่มีบ้าน ไม่มีเงิน สุขภาพฯ ส่วนหนึ่งของปัญหาคนไร้บ้าน ไม่ได้มาจากตัวพวกเขาเสมอไป แต่มาจากการพัฒนาเมืองร่วมด้วย ปีที่ผ่านมาเรามีปัญหาเรื่องของคนไร้บ้านหน้าใหม่เกิดขึ้นมาเยอะ”
คณิน เชื้อดวงผุย หัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงสภาพปัญหาคนไร้บ้าน ที่ไม่ใช่แค่ไม่มีบ้านเพียงเท่านั้น แต่การพัฒนาเมืองที่รวดเร็วเกินไป ก็มีส่วนทำให้เกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งการจัดการคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่เริ่มทำไป มีวัตถุประสงค์ในการทำโครงการนี้ขึ้นมา
- สร้าง พัฒนาและยกระดับอาสาสมัครชุมชนเพื่อป้องกันการเกิดกลุ่มเสี่ยงไร้บ้านหน้าใหม่
- อาสาสมัครมีส่วนในการศึกษาพัฒนาการปัจจัยทางสังคมและผลกระทบของชุมชนเปราะบาง
- ทีมวิจัยค้นหาและพัฒนารูปแบบเพื่อลดปัญหาคนไร้บ้านหน้าใหม่
“เราพยายามทำโครงการจัดการนำร่อง 3 ชุมชน คือ ชุมชนมิตรภาพ ชุมชนริมคลองชลประทาน และชุมชนเหล่านาดี 12 เพื่อลดปัญหาคนไร้บ้านหน้าใหม่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยได้รับผลตอบรับไปในทางที่ดี วันนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในการสรุปผลงานที่ผ่านมา และ ส่งต่อข้อเสนอการทำงานสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจหน้าที่ได้รับฟังบ้าง และคาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี”
นอกจากนั้นในเวทียังมีการแลกเปลี่ยนในเรื่อง ‘บทบาทเเละความสำคัญของชุมชนเครือข่ายต่อการพัฒนาคุณชีวิตกลุ่มเปราะบางเเละคนไร้บ้าน’ โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. และเรื่อง ‘ความท้าทายต่อคุณภาพชีวิตคนจนผู้เปราะบาง สู่การสร้างระบบความคุ้มครองทางสังคมเเละชุมชนที่มองเห็นคนทุกคน’ โดย นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย (สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข)
รวมไปถึงถอดปฏิบัติการเรียนรู้เเละชุดประสบการณ์ ‘การพัฒนารูปเเบบป้องกันกลุ่มเสี่ยงไร้บ้านในชุมชนเปราะบางโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเเละเครือข่ายทางสังคมเมืองขอนเเก่น’ ที่ให้อาสาสมัครชุมชนเมืองขอนเเก่นที่ทำงานจริง มาเล่าประสบการณ์พร้อมทั้งถอดชุดความรู้ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น อย่าง สถาบันชุมชนอีสาน สำนักงาน พมจ.ขอนเเก่น และสำนักงาน พอช.ภาคอีสาน
ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมา พวกเขาได้แนวทางในการป้องกันกลุ่มเสี่ยงไร้บ้านในชุมชนเปราะบางที่มีจุดร่วมคล้ายคลึงกันใน 3 ชุมชน ภายใต้แนวคิดค้นพบสำคัญ คือ “การมีระบบความคุ้มครองดูแลป้องกันกลุ่มเสี่ยงไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางในระดับชุมชน” ที่ยื่นเสนอต่อหน่วยงานระดับท้องถิ่นเพื่อไปพัฒนาต่อดังนี้
- สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพความรู้ความสามารถและความเข้มแข็งของอาสาสมัครในชุมชน เพื่อที่จะสามารถประเมินความเปราะบางและความเสี่ยงไร้บ้านได้อย่างทันท่วงที กล่าวในที่นี้คือ การที่แกนนำ ชุมชนหรืออาสาสมัครชุมชนที่เป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก มีศักยภาพความรู้ในการประเมินผู้ที่จะมีความเสี่ยงไร้ บ้านและวิเคราะห์ปัจจัยสาเหตุความเปราะบางได้อย่างชัดเจนและเท่าทันสภาพปัญหา นำมาสู่การกำหนด แผนการดูแลป้องกันและช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
- ส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพโอกาสและทางเลือกในการดำรงชีวิตในชุมชน เช่น เงินทุนหรือปัจจัย ตั้งต้น การส่งเสริมอาชีพรายได้และการยกระดับอาชีพขนาดเล็กสู่การเป็นผู้ประกอบการรายย่อยทีมีระบบการ บริหารจัดการต้นทุนกำไรที่ดี การสามารถมีทางเลือกในการเข้าถึงที่ดินที่อยู่อาศัยที่มั่นคงของตนเอง การเข้าถึง ข้อมูลความรู้ เข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อการประกอบอาชีพและพัฒนาศักยภาพชีวิต
- สนับสนุนการสร้างระบบหลักประกันความเสี่ยงในชีวิตและความคุ้มครองดูแลกันในชุมชน เช่น กองทุนพัฒนาและส่งเสริมอาชีพในชุมชน กองทุนดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในชุมชน กองทุนสนับสนุน อาสาสมัครชุมชนดูแลป้องกันและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเสี่ยงไร้บ้านในชุมชน โดยเป็นแนวคิดในการสร้าง “ทุนของชุมชน” ผสมผสานความร่วมมือกับ “ทุนทางสังคม” เช่น ภาคีเครือข่าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ สังคมนอกชุมชน เพื่อนำสู่การร่วมกันสร้างเกราะป้องกันความเปราะบางของสมาชิกในชุมชนที่มีความเสี่ยงไร้ บ้าน หรืออยู่รอยต่อของสภาวะวิกฤตในชีวิต ให้ได้มีทางออก ทางเลือก หรือการช่วยเหลือคุ้มครองตั้งแต่ต้น ทางในระดับชุมชน
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก เครือข่ายเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น