หลังจากเหล่า นักรบผ้าถุง ตั้งคอนเซ็ป “ส็อกแส๊ก” โดยได้ “สตูดิโอนิ้วแดง” เป็นพี่เลี้ยงในการแชร์ไอเดีย เพื่อสร้างงานที่จะไปร่วมจัดแสดงในเทศกาลออกแบบปักษ์ใต้ หรือ Pakk Taii Design Week 2023 อันเป็นหมุดหมายหนึ่งของการจัดแสดงในโซน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยออกแบบการใช้พื้นที่ร่วมกันกับร้าน Lorem Ipsum (ถ.นิพัทธ์อุทิศ1) เพื่อจัดแสดงเต็มพื้นที่ร้าน ให้ได้สัมผัสทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ภายใต้นิทรรศการ “ส็อกแส็ก” เรื่อง…น้อยนิดมหาศาล
เป็นนิทรรศการที่ใช้การเชื่อมโยงจากป้ายประกอบคำพูดพื้นถิ่น ถึงสถานที่และความเป็นมาของอาชีพส็อกแส๊ก อันเป็นนิยามของอาชีพ กลุ่มเปราะบางที่หาเลี้ยงชีพโดยการปลดสัตว์น้ำจากอวนแห ของเรือประมงพื้นบ้านที่จับได้ในแต่ละวัน โดยนอกจากจะปลดสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่นำไปขายได้แล้ว ยังต้องปลดเหล่าขยะที่ติดมาพร้อมอวน
“ถุงพลาสติก โฟม และสิ่งของต่าง ๆ ต่อไปเราต้องช่วยกันอนุรักษ์ทะเลของเรา ต้องเริ่มจากคนในหมู่บ้านเราก่อน ว่าอย่าทิ้งขยะลงไปในทะเล เพราะถุงพลาสติก โฟม เป็นของที่ย่อยสลายยาก และเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำในทะเลด้วย ไปติดตามปะการังสร้างความเสียหายได้” จ.สงขลา
เจ๊ะเซ๊าะ หนุดทอง ประมงพื้นบ้านชุมชนปากบาง ต.สะกอม อ.จะนะ
“ชาวประมงพื้นบ้านจะออกไปวางอวนไว้ประมาณ 2-3 วัน เมื่อกู้อวนกลับมาจะพบว่ามีทั้งปูม้า และส็อกแส็กหลาย ๆ แบบ คนที่ทำหน้าที่ปลดอวนจะเริ่มจากการปลดปูหรือสัตว์ทะเลที่ขายได้ จะถูกปลดออกเป็นอันดับแรกเพื่อนำไปขายก่อน เมื่อคัดเสร็จก็เริ่มปลดส็อกแส็ก มีตะกร้า 1 ใบ ค้อน ถุงมือ นั่งทำงานสบาย ๆ อยู่ในที่ร่มแต่รายได้ดี”
ในนิทรรศการส็อกแส็ก นอกจากชวนทำความรู้จักคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของอาชีพประมงพื้นบ้านในจะนะแล้ว ยังมีการออกแบบส็อกแส็กเป็นโมบาย เพื่อสร้าง “เสียง” ภายในนิทรรศการที่เกิดจากการเรียงร้อยของเปลือกหอยและวัสดุเหลือทิ้ง จากการทำประมงพื้นบ้าน โดยเบื้องหลังคือการ ขัด ล้าง ตากแห้ง จนไร้กลิ่น มาเรียงเล่าเป็นเรื่องราว “ส็อกแส๊ก” พร้อมเวิร์คชอป การปลดเศษหอย เศษปูจากอวนประมงของจริง เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจถึงกระบวนการส่วนหนึ่งที่เปรียบเสมือน เรื่องหลังบ้านของการทำประมงพื้นบ้าน
“อยากให้คนภายนอกรู้ถึงศักยภาพของทรัพยากรของพวกเราที่มีอยู่จริง อย่างส็อกแส็ก เราก็เอามาล้าง มาทำให้สวยงาม ทำโมบาย ทำพวงกุญแจ ทำปุ๋ย และนี่เป็นอีกเรื่องที่ดีที่มี ปาล์มกับโจ (ทีมดีไซน์เนอร์สตูดิโอนิ้วแดง) เข้ามาช่วยยกระดับพวกเรา ให้มากกว่าการปลดส็อกแส็ก”
เจ๊ะเซ๊าะ หนุดทอง ประมงพื้นบ้านชุมชนปากบาง ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา
“เพื่อได้สื่อสารออกไปให้คนภายนอกได้รู้ จะทำให้พวกเขาอยากรู้ว่าส็อกแส็กคืออะไร อยากมาเรียนรู้ในชุมชน เมื่อมีคนเข้ามาในชุมชน การท่องเที่ยวก็จะเกิดขึ้น มีอาหารทะเลต้อนรับ ทำให้รายได้เข้ามายังชุมชนด้วย ต่อไปรายได้จากส็อกแส็กจะมากขึ้น ใครที่สนใจก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้” เจ๊ะเซ๊าะ ย้ำถึงเป้าหมายของการยกวิถีชุมชนเข้ามาสื่อสารกับคนหาดใหญ่ในครั้งนี้
อีกความเกี่ยวเนื่องหนึ่งของคนทำอาชีพปลดส็อกแส็ก คือการนำใบเทียน ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกกันทั่วไปในชุมชนมุสลิม เนื่องจากในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองต่าง ๆ ของพี่น้องมุสลิม ผู้หญิงจะนำใบเทียนมาตำพร้อมข้าวสวยให้แหลกก่อนนำมาโปะ หรือพอกไว้ที่นิ้วมือ ซึ่งข้าวสวยจะช่วยให้มีความเหนียวติดมือ ยิ่งโปะทิ้งไว้นานเท่าไหร่ เมื่อล้างเทียนออกนิ้วก็จะสีแดงเข้มขึ้น
ในส่วนของรสชาติมีเมนูพิเศษที่ทำจากวัตถุดิบท้องถิ่นโดยประมงพื้นบ้าน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา “ZogZag Set” (ส็อกแส็ก เซ็ต) ประกอบไปด้วย “บัน ลาบหอยเหลือง ” มีหอยเหลือง จากทะเลจะนะ ปรุงสุกมาคลุกเคล้ากับเครื่องลาบ ใช้ขนมปังมาผ่าตามแนวยาวและนำส่วนผสมต่าง ๆ มาใส่ระหว่างกลางเสิร์ฟเป็นอาหาร พร้อม “สปาร์กลิง ชาคนที” ใช้ใบคนที (พบได้ทั่วไปตามชายหาดทะเลจะนะ) ที่มีสรรพคุณแก้อาการปวดศรีษะและมีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ ถูกนำมาสกัดเป็นชา ผสมด้วยโซดาและน้ำทับทิม ท็อปปิ้งด้วยวุ้นมะพร้าวเพื่อเพิ่มรสสัมผัส สดชื่นและดื่มง่าย
งานนี้ยังให้เหล่าเยาวชนในพื้นที่รังสรรค์ลวดลายบนกระเป๋าผ้า,ผ้าพันคอ,ผ้าคลุมไหล่ จำหน่ายเพื่อระดมทุนในกิจกรรมต่อไป ซึ่งได้รับการตอบรับดีเยี่ยมเพราะขายสินค้าได้หมดในงานนี้ “ส็อกแส๊ก” จึงนับว่าเป็น “เรื่องน้อยนิดมหาศาล” ในการเชื่อมโยงเหล่าผู้ชมมาบรรจบกันกับงานศิลป์ระดับชาวบ้าน ที่คาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆเพื่อสอดแทรกเรื่องราววิถีชีวิตที่มีอยู่จริง ในพื้นที่บ้านสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา
ขอ 3 คำเมื่อพูดถึงทะเลจะนะ
เรื่องโดย : ปุณรดา คชรัตน์
ภาพโดย : ปุณรดา คชรัตน์ และ เชี่ยววิทย์ พัฒนสุขพันธุ์
บรรณาธิการโดย : แลต๊ะแลใต้