อากาศที่แปรปรวน อุณหภูมิที่ลดต่ำลงหลายพื้นที่เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวผู้โหยหาธรรมชาติ นักวิชาการหลายสำนักต่างแสดงความคิดเห็นถึงกับบอกว่าประเทศไทยจะมีหิมะตก นักเคลื่อนไหวที่สนใจเกี่ยวกับโลกร้อนสรุปรวบยอดเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ขยายวงกว้างและรุนแรงมากขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกับชาวนาที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ อากาศที่เย็นผิดปกติ ข้าวที่กำลังตั้งท้องไม่ออกรวง ที่ออกมาเมล็ดฝ่อ ไม่สมบูรณ์ทั้งทุ่ง นี่คือความโหดร้ายกับความหวังของชาวนาในขณะนี้ บางแปลงเริ่มไถทิ้ง
ขณะเดียวกันความร้อนแรงทางการเมืองที่สวนทางกับสภาพอากาศบ้านเรา “เลือกตั้งก่อนการปฏิรูป หรือ ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการณ์ นายกรัฐมนตรีผู้หญิงคนแรกของประเทศไทยยุติบทบาทข้อเสนอที่นำมาสู่ความขัดแย้งที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ความร้อนแรงทางการเมืองกว่า 3 เดือน จนถึงวันนี้ต่างฝ่ายต่างถอยไม่ได้ “ทางตัน” ประเทศไทยได้มาถึงแล้ว การแสดงพลังมวลมหาประชาชน, การตอบโต้ด้วยกฎหมาย, กลไกที่จัดตั้งอย่างเร่งด่วน, พรก.ฉุกเฉิน, ศรส.เกิดขึ้นพร้อมกับน้ำคำนักการเมืองที่เติมอารมณ์และยั่วยุให้เกิดความรุนแรงทั้งสองฝ่าย ผู้คนล้มตาย บาดเจ็บ นี่คือเรื่องจริง ยังไม่เห็นหนทางที่จะคลี่คลาย
ชาวนายังถูกลากจูง เรียกร้อง เคี่ยวเข็ญให้ร่วมการเคลื่อนไหวทั้งสองฝ่าย สุดท้ายชาวนาตกเป็นเหยื่อของนักการเมือง ของพรรคการเมือง “ถ้าเลือกพรรคเดิมชาวนาได้เงินจำนำข้าวแน่นอน ถ้าไล่รัฐบาลจบ ชาวนาได้เงินจำนำข้าวอย่างเร็วสุด” น้ำลายนักการเมืองพร้อมกับเชิญชวนร่วมเลือกตั้งและร่วมขบวนการเคลื่อนไหว คำยืนยันสุดท้ายของชาวนา “อยากได้เงินค่าจำนำข้าว” การเรียกร้องของชาวนามีมาเป็นระยะ เริ่มตั้งแต่ทวงถามกับผู้ว่าราชการจังหวัด, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) รวมทั้งเรียกร้องกับรัฐบาล แต่ทั้งหมดไร้คำตอบจากรัฐบาล นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลหลอกชาวนาทั้งที่รู้ว่าโครงการจำนำข้าวอยู่ในภาวะขาดทุน ชาวนามิได้สนใจ จีทูจี, เวียนเทียน, รัฐบาลโกง ฯลฯ สิ่งสำคัญคือให้ชีวิตนี้ขายข้าวได้เกวียนละเกิน 10,000 บาทถึงไม่ถึง 15,000 บาทเหมือนรัฐบาลรับปากไว้ก็ไม่เดือดร้อนและไม่สนใจที่จะค้นหาคำตอบ “ผมอยากได้เงินค่าข้าว” คือสิ่งที่อยู่ในใจชาวนา
หายนะของชาวนาที่มาพร้อมกับนโยบายประชานิยม โครงการจำนำข้าวเกวียนละ 15,000 บาท ในช่วงรัฐบาลเปิดโครงการจำนำข้าว นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว นักการเมืองฝ่ายค้าน ได้ท้วงติงและคัดค้านการจำนำข้าวที่จะส่งผลกระทบระยะยาวกับระบบตลาดข้าว แต่รัฐบาลมิได้ใส่ใจและยืนยันว่าเป็นประโยชน์กับชาวนา ชาวนาค่อนประเทศดีใจ นักวิชาการที่ออกมาท้วงติง คัดค้านถูกชาวนากร่นด่า ข้อเสนอของนักวิชาการยังถูกตอบโต้อย่างร้อนแรงจากนักการเมือง พร้อมทั้งเชื่อมโงสู่วาทกรรมอย่างเหลื่อมล้ำ สุดท้ายรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ก็เพิกเฉยจนเข้าสู่ “ชาวนาจำนำข้าวไม่ได้เงิน”
ทุกข์ของชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน คำกล่าวนี้อาจไม่ใช่อีกต่อไป วันนี้ทุกข์ของชาวนาตกเป็นเครื่องมือและตัวประกันของนักการเมืองทั้งสองฝ่าย การทวงเงินจำนำข้าวของชาวนาที่อยากได้เงินค่าข้าวของตัวเองถูกนักการเมืองและสังคมเชื่อมโยงสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง การรวมตัวเรียกร้อง ปิดถนน ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็น “ชาวนาฝ่าย กปปส.” จนอีกฝ่ายบอกว่า “ชาวนาปลอม” จนถึงทุกวันนี้ เงินค่าจำนำข้าวยังไม่มีคำตอบจากผู้เกี่ยวข้อง การเพิกเฉย ปัดความรับผิดชอบให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของนักการเมือง เช่น เพราะมีคนไปปิดกระทรวงการคลังชาวนาจึงไม่ได้เงินจำนำข้าว นี่คือคำพูดของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโครงการจำนำข้าวที่มีฉายา “โกหกสีขาว” ซึ่งมองไม่เห็นความผิดพลาดของนโยบายจำนำข้าวที่สังคมรับรู้ว่า “เครือข่ายโกงข้าวที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล” ความหวังของชาวนาเลือนราง แต่ที่สุดถึงจะเป็นความหวังลมๆแล้งๆ ชาวนาก็มิยอมจำนน การเรียกร้อง, การผลิตรอบใหม่, การแบ่งปันเงินทุนภายในชุมชนพอประทังชีวิต คือวิถีชีวิตของชาวนาที่จะมีชีวิตและเงินเพื่อประทังชีวิต
วงคุยเล็กๆของชาวนา ตอนนี้ไม่มีเงินติดบ้าน ไม่มีเงินใช้หนี้ ธกส. ข้าวต้องซื้อกิน อาหาร ผัก กำลังจะเข้าฤดูแล้งที่หากินตามป่า ตามริมน้ำก็เป็นที่นายทุน เงินที่จะให้ลูกไปโรงเรียนพรุ่งนี้ยังไม่มี กองทุนในหมู่บ้านถูกใช้และกู้ยืมหมด นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่คนไม่ได้ใส่ใจ
การเริ่มต้นการผลิตรอบใหม่ การกู้ยืมเงินนอกระบบ การเริ่มต้นหาเมล็ดพันธุ์, ปุ๋ย, ยา, น้ำมัน จากเงินเชื่อเพราะคาดว่าจะได้เงินจำนำข้าว พร้อมกับการปรับเปลี่ยนระยะเวลาการทำนาให้เข้ากับระยะเวลาที่รัฐบาลเปิดจำนำ ธรรมดาจะเริ่มต้นการผลิตกลางเดือนธันวาคม และเกี่ยวข้าวเดือนเมษายน จากการให้ทันรอบจำนำปรับเปลี่ยนรอบการผลิตเป็นเดือนตุลาคมและคาดว่าจะได้เกี่ยวก่อนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระยะเปิดรับจำนำข้าวรอบใหม่ ด้วยอากาศที่หนาวเย็นทำให้ข้าวที่ตั้งท้องไม่ออกรวง “ข้าวแท้ง” นี่คือทุกข์ที่สังคมเพิกเฉย ซ้ำร้ายร้านปุ๋ย, ยา, น้ำมัน เลิกสินเชื่อหลังจากได้ข้อมูลเงินจำนำรอบแรกยังไม่ออก
ความหวังของชาวนา กับเงินจำนำข้าวไร้คำตอบจากรัฐบาล ข้าวที่ปลูกรอบสองโดยใช้เงินสินเชื่อมาประสบกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนาวเย็นยาวนาน ข้าวไม่ออกรวง ข้าวบางส่วนที่เก็บเกี่ยวได้ไม่มีพ่อค้ารับซื้อ พ่อค้ากำลังรอซื้อข้าวราคาถูกในโกดังรัฐบาลทีจะระบายออก สินเชื่อที่ลงทุนกับปัจจัยการผลิตถูกคิดดอกเบี้ยทบต้น ซ้ำร้ายจะครบ 3 ปี การชะลอการส่งหนี้ ธกส. จากน้ำท่วม ธกส.แจ้งให้ชาวนาไปชำระหนี้ นี่แหละทุกข์ของชาวนาที่ตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองและสังคม
การปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สภาพภูมิอากาศ ชาวนาภายในชุมชนได้เรียนรู้ “กองทุนการปรับตัว” บนฐานคิดการช่วยเหลือกันภายในชุมชน การระดมทุนทั้งภายในและภายนอก เป็นการสะสมเงินร่วมกันของชุมชนจอมทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก ที่มีการสะสมครอบครัวละ 10 บาทต่อเดือน รวมทั้งการสนับสนุนจากภายนอกในช่วงการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้ลุกมานั่งทบทวนในขณะที่เกิดวิกฤติกับชาวนา การช่วยเหลือกันภายในชุมชน กองทุนที่มีเพียงน้อยนิดถูกแบ่งปันช่วยเหลือกันภายในชุมชน ค่าอาหาร ค่าลูกไปโรงเรียน ค่าซื้อเมล็ดพันธุ์ผักมาปลูก นี่คือการดิ้นรนของชุมชนที่ยังเหลือวัฒนธรรมชุมชนที่จะดูแลกันในขณะที่ลำบากและยังมีการแลกเปลี่ยน ช่วงเดือนมีนาคมชาวนาจะลำบากที่สุด เงินขาดมือ อาหารจะขาดแคลน เงินจำนำรอบแรกไม่ได้ ข้าวไม่ได้เกี่ยว เราจะเริ่มต้นอย่างไรที่จะปรับตัวอยู่ได้ นี่คือคำถามที่คนในชุมชนตั้งคำถามให้ทุกคนร่วมกันคิดและเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ พร้อมกับเราอย่าตกเป็น “เหยื่อ” ของนักการเมืองที่หาประโยชน์จากชาวนา
การซื้อเสียงโดยนโยบายประชานิยม เป็นบทเรียนที่จะทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟจากการเมืองวงใหญ่ ส่งผลกระทบกับชาวนาผู้ยากไร้ ใครจะช่วยคลี่คลาย หรือเรื่องราวของชาวนาเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆที่นักการเมืองหยิบฉวยใช้ประโยชน์เพื่อแย่งชิงโอกาส อำนาจ ให้ตัวเองและพรรคพวกแสวงหาผลประโยชน์ จากการมีอำนาจทางการเมืองของนักการเมืองและพรรคการเมือง ณ เวลานี้ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวนาถูกเพิกเฉยและตกเป็นเหยื่อของนักการเมือง
สาคร สงมา : Climate Watch Thailand : มูลนิธิคนเพียงไพร