ทิศทางปัญหาความมั่นคงโลกและเอเชียในกระแส ISIS

ทิศทางปัญหาความมั่นคงโลกและเอเชียในกระแส ISIS

ความเปลี่ยนแปลงของโจทย์ความมั่นคงชุดใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์

แม้ในตอนนี้จะมีประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ 5 ประเทศ คือ จีน คิวบา เกาหลีเหนือ ลาว เวียดนาม แต่คนรุ่นใหม่กลับไม่มีความรู้สึกเกรงกลัวคอมมิวนิสต์อีกต่อไป ต่างจากในยุคสงครามเย็น ที่ถือว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคาม ทำให้ในสมัยนั้นมีจุดยุทธศาสตร์ร่วมกันคือ ปราบปรามกลุ่มคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อสงครามขนาดใหญ่ระดับโลกอย่างสงครามเย็นสิ้งสุดลง โฉมหน้าของสงครามก็เปลี่ยนไป 

ปลายยุคสงครามเย็น เราจะเห็นว่ามีความขัดแย้งรุนแรงในระดับต่ำ (low intensity conflict) สภาพแบบนี้ทำให้เกิดโจทย์ว่า ถ้าโลกเปลี่ยน สงครามใหญ่ที่เคยเกิดในยุคสงครามเย็นอาจจะเปลี่ยนเป็นสงครามจุดเล็กๆอยู่ในหลายพื้นที่ของโลกแทน ทำให้หลังสงครามเย็น “สงคราม”ถูกขนานนามใหม่ด้วยภาษาทางเทคนิคว่า The New War หรือ 4th Generation Warfare

หลังจากปี 2532 หรือ 2533 เป็นต้นมาเรารู้สึกว่ามีสันติภาพเกิดขึ้น(เนื่องจากไม่มีสงครามใหญ่แบบสงครามเย็นเกิดขึ้น) แต่แล้วก็มีการเปิดสงครามอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 (9/11) เหตุการณ์จี้เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิรด์เทรด และอาคารเพนตากอน นับเป็นปฏิบัติการก่อการร้ายที่ร้ายแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จนมีนักวิชาการให้คำจำกัดความถึงเหตุการณ์ 9/11 ว่าเป็น “Violence Peace” หรือเป็นสันติภาพที่มีความรุนแรงแฝงอยู่ หลังจากนั้น เมื่อตุลาคมในปี 2545 ก็เกิดเหตุระเบิดที่ไนท์คลับในบาหลี ขยับเข้ามาใกล้ไทยมากขึ้น รัฐบาลไทยเริ่มยอมรับว่าหากไม่ทำอะไรเลย ปัญหาในตัวแบบของบาหลีอาจมาถึงไทยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ในปี 2546 จึงเห็นความพยายามของรัฐบาลอยู่ในระดับหนึ่งที่จะสร้างความสัมพันธ์ จัดความสัมพันธ์ ขับเคลื่อนปัญหาหรือโจทย์ของพี่น้องมุสลิมในภาคใต้ให้เดินหน้าไปให้ได้ แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่นราธิวาสในวันที่ 4 มกราคม 2547 จากเหตุการณ์นี้นักวิชาการเห็นว่าโจทย์ความมั่นคงของยุคหลังสงครามเย็นได้เดินทางมาถึงไทยแล้ว (หากปีทองอันแสนสุข 1 ทศวรรษของคนทำงานความมั่นคงของเวทีโลกจบลงที่เหตุการณ์ 9/11 ปีทองของคนทำงานความมั่นคงไทยคงจบลงที่ 4 มกราคม 2547 เช่นกัน)

ในยุคสมัยสงครามเย็นขบวนการก่อการร้ายมักจะต้องพึ่งพิงและสนับสนุนโดยรัฐ(state sponsored terrorism) แต่หลังจากกลุ่มอัลกออิดะห์เป็นต้นมา หนึ่งในนั้นรวมถึงกลุ่ม ISIS ด้วย พวกเขาสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงรัฐอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทุน, การจัดหายุทโธปกรณ์ ที่น่าสนใจคือ ขบวนการก่อการร้ายชุดใหม่จัดโครงสร้างเหมือนกับบริษัทเอกชน มีฝ่ายต่างๆที่ควบคุมปฏิบัติการเช่น ฝ่ายบุคคล ฝ่ายฝึกอบรม ฝ่ายข่าวกรอง ฝ่ายวางแผน ฝ่ายส่งกำลังบำรุง ฝ่ายการเงิน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายบริการ (ฝ่ายสุดท้ายนี้ถ้าเทียบกับการซื้อรถยนต์ก็เหมือนกับบริการหลังการขาย แต่ของกระบวนการก่อการร้ายนี้เป็นการให้บริการหลังปฏิบัติการ) นอกจากนี้กระบวนการก่อการร้ายในยุคก่อนๆมักไม่มีพื้นที่ของตัวเองชัดเจน แต่หลังจากที่มีกลุ่ม ISIS เกิดขึ้นมา จะเห็นว่ากลุ่ม ISIS สามารถเข้าไปครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือของอิรัก และพื้นที่บางส่วนของซีเรีย โดยมีเป้าประสงค์ต้องการจัดตั้งรัฐศาสนจักร มีข้อเสนอใหญ่ที่สุดคือยกเลิกเส้นเขตแดนที่มีอยู่ในตะวันออกกลาง นั่นหมายความว่ายกเลิกข้อตกลงที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกับอังกฤษทำร่วมกับบรรดาเจ้าผู้ครองรัฐอาหรับในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1(ยกเลิกมิติทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1) นอกจากนี้เป้าหมายการก่อการร้ายในปัจจุบันก็พุ่งเป้าไปที่ประชาชนทั่วไปมากขึ้น จึงกล่าวได้ว่าขบวนการก่อการร้ายมีความซับซ้อนและสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น สถานการณ์เช่นนี้จึงได้นำโจทย์ชุดใหม่มาสู่สังคมโลกทั้งในระดับการเมือง และระดับความมั่นคงของโลก เกิดการตั้งคำถามถึงสันติภาพที่เรามีอยู่ 

ปัจจุบันปัญหาความมั่นคงไม่ได้รวมศูนย์อย่างเก่า หากแต่มีความกระจัดกระจาย และมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ปัญหาความมั่นคงด้านสุขภาพ, ปัญหาในมิติของน้ำ(ภัยแล้ง), สภาพอากาศที่แปรปรวน เหล่านี้กลายเป็นโจทย์ของความมั่นคงอย่างหนึ่ง รวมไปถึงความซับซ้อนและคาดเดาไม่ได้ของกระบวนการก่อการร้าย ทำให้มิติของความมั่นคงมีความหลากหลาย และเกี่ยวข้องกับผู้คนที่หลากหลายมากขึ้น เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับโจทย์ความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงแบบนี้ รัฐและสังคมจะรับมือกับโจทย์ความมั่นคงชุดใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์อย่างไร

บันทึกจากวงเสวนาวิชาการ ทิศทางปัญหาความมั่นคงโลกและเอเชียในกระแส ISIS : ความท้าทายและผลกระทบ โดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ