เล่าสู่กัน…กัญชาเสรี

เล่าสู่กัน…กัญชาเสรี

สำหรับชาวบ้านธรรมดาที่ฝันจะปลูกกัญชาเสรียังคงรอกันต่อไป

หลังจากกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ 26 พฤศจิกายน 2564 และพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ 9 ธันวาคม 2564


นับเป็นความก้าวหน้าล่าสุดของนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ที่เปิดโอกาสให้ บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ ภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของผู้รับอนุญาตผลิตยา หรือผู้รับอนุญาตผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้

ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมที่ผู้ขออนุญาตเป็นหน่วยงานรัฐ แต่ไปทำข้อตกลงกับผู้ปลูกซึ่งต้องเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

ทั้งนี้กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวกำหนดให้ผู้ที่จะขออนุญาตปลูกกัญชาต้องยื่นเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

  • ปลูกในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถยื่นขอเปิดสิทธิ์ได้ที่  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  • ปลูกต่างจังหวัดสามารถติดต่อขอเปิดสิทธิ์ได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นั้นๆ

โดยภาพรวมขั้นตอนการขออนุญาตปลูกกัญชายังคงต้องผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย


การขอเปิดสิทธิ์ใช้งานระบบ

คงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชาวบ้านธรรมดา หรือเกษตรกรบ้านอก แต่ก็เชื่อว่าทุกคนจะสามารถเรียนรู้และพัฒนาต่อไปได้ ยิ่งถ้าได้เจ้าหน้าที่ อย./สสจ. ที่มีหัวใจรับใช้ประชาชน ก็น่าจะทำเรื่องยากให้ง่ายลงได้แน่นอน

ยื่นคำขอผ่านระบบ e-submission

ทั้งนี้เอกสารจะต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วน เจ้าหน้าที่ อย./สสจ. จึงจะรับคำขอเพื่อดำเนินการตรวจสถานที่และประชุมกรรมการจังหวัด
สำหรับขั้นตอนนี้มีข้อสังเกตเรื่องเอกสารการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ซึ่งแนวทางปฏิบัติยังไม่ชัดเจนว่าประชาชนทั่วไปสามารถขอตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของตนเองเพื่อไปขออนุญาตปลูกกัญชาได้ด้วยตนเองหรือไม่ บางพื้นที่เจอตำรวจไทยใจดีก็ทำให้ แต่บางพื้นที่อาจจะขอหนังสือนำส่งซึ่งก็มีหลากหลายรูปแบบ บางครั้งต้องออกจากหน่วยงานสาธารณสุข แต่หลายครั้งออกจากโรงเรียน โรงงาน หรือองค์กรเอกชนก็ใช้ได้เหมือนกัน
เรื่องสถานที่ปลูกกัญชาก็ต้องเตรียมให้เสร็จก่อนยื่นเอกสารขออนุญาต ต้องมีรั้วรอบขอบชิด แข็งแรง มั่นคง มีการควบคุมคนเข้าออก มีระบบรักษาความปลอดภัย เช่น กล้องวงจรปิด ระบบสแกนลายนิ้วมือ(กรณีขอปลูกเกิน 50 ต้น)

การประชุมขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการระดับจังหวัด

ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน, ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด, ปปส.ภาค, เกษตรจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นเลขานุการ นั้น

ขั้นตอนนี้ก็ไม่ง่าย เพราะในแต่ละจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัดจะมอบหมายรองผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน ซึ่งก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะมอบหมายรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ดูแลด้านสาธารณสุข หรือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ดูแลด้านความมั่นคง ส่งผลให้ติดขัดเรื่องระบบหนังสือราชการ และระเบียบต่าง ๆ บ่อยครั้ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ ปปส. ภาค เป็นหน่วยงานภายนอกจังหวัดซึ่งก็อาจจะทำให้การนัดหมายประชุมไม่ได้สะดวกรวดเร็วเหมือนหน่วยงานอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน

ดังนั้นการที่กฎกระทรวงกำหนดให้การขออนุญาตปลูก สกัด ครอบครอง หรือจำหน่ายกัญชา ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการจังหวัดเสียก่อนทุกครั้ง ก็ยิ่งเพิ่มขั้นตอนต่างๆ ให้ล่าช้าออกไป ตั้งแต่การขออนุมัติการประชุม ไปจนถึงการรับรองรายงานการประชุม ก่อนที่จะส่งเรื่องให้ อย.ดำเนินการเพื่อออกใบอนุญาตตามขั้นตอนต่อไป

การดำเนินการออกใบอนุญาตของ อย.

สำหรับการขอปลูกกัญชานั้น จะมีคณะอนุกรรมการพิจารณา ก่อนส่งให้คณะกรรมการยาเสพติดชาติให้ความเห็นชอบ และเสนอเลขาธิการ อย. พิจารณาออกใบอนุญาต ซึ่งต้องใช้เวลาในการเตรียมประชุม อาจจะมีการขอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม หรือแก้ไขเอกสารต่าง ๆ เช่น แผนการผลิตที่ช่วงเวลาไม่ตรงเนื่องจากการประชุมล่าช้า เป็นต้น

โรงปลูกกัญชาแบบ green house สำหรับปลูกกัญชา 50 ต้น ใช้เงินลงทุนกว่าหนึ่งแสนบาท


นอกจากขั้นตอนการขออนุญาตการปลูกกัญชาที่ยุ่งยากแล้ว การปลูกกัญชาให้ได้สารสำคัญอย่าง CBD (cannabidioI) ยังเป็นเรื่องที่ยาก และไม่มีผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญในการปลูกตัวจริงเสียงจริง

ภายใต้มาตรการคุมเข้มด้านสถานที่ เมล็ดพันธุ์ การตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อน การแจ้งเก็บเกี่ยว การขนส่ง ตลอดจนการทำบัญชีรับจ่ายและรายงานต่างๆ ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาทางการแพทย์หลายรายยังมองไม่เห็นว่าอะไรคือความคุ้มค่า ความสำเร็จจากการลงทุนปลูกกัญชา


นี่คือความก้าวหน้าล่าสุดของนโยบายกัญชาเสรีที่พี่น้องชาวสายเขียวรอคอย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ