กัญชาเสรี? ได้สิทธิ์ปลูกแต่(ยัง)ไม่ได้รับประโยชน์

กัญชาเสรี? ได้สิทธิ์ปลูกแต่(ยัง)ไม่ได้รับประโยชน์

หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการอาหารและยา ประกาศปลดล็อกกัญชา ให้บุคคลทั่วไปสามารถผลิตนำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองได้ ทำให้หลายคนมองว่าจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่จะสร้างรายได้ให้กับประชาชนในอนาคต แต่หากมองในมิติสุขภาพ การเปิดเสรีกัญชายังคงมีช่องว่างที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงกัญชาได้โดยง่าย เรื่องนี้ทีมงาน The Citizen ได้พูดคุยกับคุณสันติ โฉมยงค์ เภสัชกร ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการติดตาม ให้คำแนะนำและช่วยเหลือเกษตรกรในการปลูกพืชกัญชงและกัญชา

คุณสันติ โฉมยงค์ บอกว่า ตามโรดแมพกัญชา 5 ปีแรก ต้องใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น ปีนี้เป็นปีที่ 2 ตามโรดแมพ ซึ่งจะเห็นได้ว่ากัญชาไม่ได้ใช้เป็นพืชเศรษฐกิจอยู่แล้ว ตามโรดแมพของกระทรวงสาธารณสุข คนธรรมดาไม่สามารถขออนุญาตปลูกได้ จะขออนุญาตปลูกกัญชาได้ก็ในกรณีที่เป็นหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานทางการแพทย์ และสถาบันการศึกษา เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม เพื่องานวิจัย หรือเพื่อจัดการเรียนการสอน โดยอาจจะมีการทำ MOU กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ เป็นรายกรณีไป ซึ่งไม่ได้มีช่องทางที่ประชาชนจะขออนุญาตปลูกเองได้เลย และในส่วนการครอบครองใบอนุญาตปลูกกัญชา เขาก็อนุญาตให้เฉพาะหน่วยงานราชการ หน่วยงานทางการแพทย์ และสถาบันการศึกษาเท่านั้น ที่เป็นผู้ถือใบอนุญาต  ยกตัวอย่างตอนนี้ที่มีใบอนุญาตออกมาแล้ว ในจังหวัดอยุธยามี รพ.สต. 2 แห่ง ซึ่งทำ MOU กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ให้ดำเนินการปลูก ภายใต้โครงการของกรมแพทย์แผนไทย

ในขณะที่ภาพรวมมีการยื่นขอใบอนุญาตปลูกกัญชาไปแล้วเกือบสามร้อยแห่ง แต่ใบอนุญาตออกมาจริงๆ ยังไม่ถึงหลักร้อย และส่วนใหญ่เป็นการปลูกกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งกรมแพทย์แผนไทยเป็นผู้ทำโครงการ มีการเจรจา กับ ทาง อย. ว่ากรมแพทย์แผนไทยจะนำผลผลิตที่ได้ไปผลิตยา มีการวางแผนการปลูกร่วมกันระหว่างแพทย์แผนไทย กับ รพ.สต. ซึ่งมีนักการแพทย์แผนไทยประจำการ โดยใบอนุญาตจะออกในนาม ผอ.รพ.สต. โดยที่ รพ.สต.ต้องไปทำ MOU กับชาวบ้านที่เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อทำการปลูก และส่งผลผลิตให้กับกรมการแพทย์แผนไทย เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติหรือว่าในข้อเท็จจริงชาวบ้านไม่มีสิทธิได้รับใบอนุญาตในการปลูกกัญชาได้เอง

ปลูกกัญชาเสรียังเป็นความหวังลมแล้งๆ

คุณสันติ โฉมยงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับชาวบ้านกับการปลูกกัญชาเสรีมันเป็นความหวังเลย เพราะตอนนี้ในพื้นที่อยุธยามีสองวิสาหกิจชุมชน ที่เขาเข้าร่วมโครงการกับกรมแพทย์แผนไทย โดยทำ MOU กับรพ.สต. เพื่อปลูกกัญชาส่งให้กับกรมแพทย์แผนไทย แต่ประเด็นก็คือชาวบ้านมีการลงทุนไปแล้ว ในการปลูกกัญชา 1 แปลง มีจำนวน 50 ต้น เป็นการปลูกในโรงเรือน ซึ่งมีการลงทุนประมาณ 1-2 แสนบาท เพื่อให้ผ่านเกณฑ์การตรวจออกใบอนุญาตได้ ขณะที่ต้องมีค่าบำรุงรักษาอีกประมาณเดือนละ 4-5 พันบาทเป็นค่าน้ำค่าไฟ อันนี้คือต้นทุนที่กลุ่มวิสาหกิจต้องจ่าย พอกัญชามันโตขึ้นมา ก็มีปัญหาเรื่องโรคแมลงต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งมันไม่ได้ง่ายเลยสำหรับชาวบ้านในการผลิตกัญชา

ส่วนสำคัญคือผลผลิตจะออกมาแบบไหนก็ยังไม่มีใครรู้ แต่ว่ามันมีต้นทุนค่าใช้จ่ายไปแล้ว ขณะที่กรมแพทย์แผนไทยจะซื้อผลผลิตหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ และถ้าซื้อจะให้ราคาเท่าไหร่อันนี้ยิ่งไม่รู้ใหญ่เลย ครั้นจะนำส่วนกิ่ง ก้าน ใบ ออกไปจำหน่ายสร้างรายได้ ก็เกรงว่าจะผิดสัญญาโครงการ มันก็เลยทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ขออนุญาตอยู่ตอนนี้ ก็เหมือนตั้งความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าขออนุญาตปลูกได้แล้ว แล้วมันควรจะมีรายได้เข้ามา ทั้งที่จริงยังไม่มีรายได้เข้ามา

“ได้สิทธิ์ในการปลูก แต่ไม่ได้ประโยชน์ในการปลูก อันนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าตอนนี้เขายังไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการปลูกกัญชา”

ขณะที่ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องยามอร์ฟีนขาดตลาด ในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งหลายๆ คน หลายๆ เคส ไม่สามารถเข้าถึงมอร์ฟีน เพื่อเอามาใช้รักษาตัว หรือว่าทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิตได้ น้ำมันกัญชาใต้ดินจึงเป็นทางเลือกสำหรับคนจน ซึ่งหลายคนเลือกใช้น้ำมันกัญชา อาจจะซื้อแบบผิดกฎหมาย หรือซื้อราคาแพง แต่มันสามารถทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น กินข้าวได้ นอนหลับ บรรเทาอาการปวด สามารถใช้ชีวิตในวาระสุดท้ายได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น มันก็เลยกลายเป็นว่า คนที่จำเป็นต้องใช้ เช่น ผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้นกลับไม่มีโอกาสได้ปลูกกัญชา ภาพนี้มันชัดมากในสถานการณ์ตอนนี้

การขอให้นิรโทษกรรมให้ ผู้ครอบครองกัญชาเป็นยารักษาโรค

คุณสันติ โฉมยงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังสิ้นสุดช่วงเวลานิรโทษกรรมตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2562 โดย 3 เดือนหลังจากนั้น คนที่มีรายชื่อขอครอบครองตามนิรโทษกรรม ตอนนี้ก็จะกลายเป็นเป้าว่าเขาเคยครอบครอง เขายังไม่ได้ขออนุญาตการปลูกอย่างถูกกฎหมาย ถ้าเกิดตอนนี้เขาครอบครองอยู่มันพ้นกำหนดนิรโทษกรรมไปแล้ว เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีเนื่องจากครอบครองยาเสพติด และหรือปลูกยาเสพติดประเภท 5 กัญชา ซึ่งอัตราโทษค่อนข้างสูงเลย

ที่ผ่านมามีการนิรโทษกรรม โดยให้ไปแจ้งวัตถุประสงค์การครอบครองไว้ใช้ประโยชน์ เช่น ผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชาเพื่อรักษาตัว โดยคนที่ขอครอบครองก็ควรมีสิทธิที่จะได้รับการอนุญาตให้ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ แต่ปรากฎว่าคนกลุ่มนี้ แทบไม่มีใครมีโอกาสได้รับอนุญาตให้ปลูกเลยและบางรายถูกจับดำเนินคดีในข้อหาผลิตยาเสพติดประเภท 5 กัญชา

นอกจากผู้ป่วยมะเร็ง ยังมีผู้ป่วยมาขอครอบครองกัญชาเพื่อรักษาอาการปวด ปวดข้อ ปวดเกาต์ นอนไม่หลับ ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน หรือบางคนใช้ใบกัญชาชงกับน้ำร้อนและดื่มเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย ช่วยทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านใช้กันค่อนข้างแพร่หลาย อันนี้เป็นเรื่องที่เราพบเห็นได้บ่อย เพียงแต่คนพวกนี้ยังไม่อนุญาตให้ใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ฉะนั้นจึงเป็นการสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ต หรือว่าซื้อผ่านทางเครือข่ายที่รู้จักกัน เพราะทุกคนกลัวว่าตัวเองจะถูกดำเนินคดี

มีกรณีเคสคุณป้าแม่ค้าขายไก่ย่าง ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย และโรงพยาบาลที่อยุธยาส่งตัวไปรักษาที่สถาบันมะเร็งในกรุงเทพฯ และต้องเดินทางไปพบแพทย์ทุกอาทิตย์เพื่อประเมินสภาพร่างกาย เพื่อประเมินอาการของโรค ก่อนที่จะให้คีโม แต่ช่วงระหว่างเดินทางไปทุกสัปดาห์ เขาไม่ได้รับยาที่จะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น พวกยาแก้ปวด มอร์ฟิน หรือว่ายาต่างๆ  ผู้ป่วยรายนี้ต้องทุกข์ทรมานในชีวิตประจำวัน ความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เนื่องจากแกมีอาชีพขายไก่ย่าง พอเป็นมะเร็งเต้านมแกก็ประกอบอาชีพไม่ได้ ฐานะก็ยากจน มันประกอบกันหลายๆ อย่าง เราก็ไปพบเข้า เราจะปล่อยให้ผู้ป่วยทรมานแบบนี้ได้อย่างนั้นหรือ เราก็เลยประสานไปยังเครือข่าย ที่เขาใช้กัญชารักษาตัวอยู่ เขาก็แบ่งปันน้ำกัญชาให้ ก็ช่วยให้คุณป้าท่านนี้มีคุณภาพที่ดีขึ้นเริ่มจากนอนหลับ กินข้าวได้ ไม่ทรมานจากการปวด สุขภาพก็มีแนวโน้มดีขึ้น ตอนนี้คุณหมอก็เริ่มนัดทำคีโม จากก่อนที่เราจะไปเจอแทบจะไม่มีหวังแล้ว เรื่องแบบนี้เราพบเจอเยอะขึ้น บ่อยขึ้นในพื้นที่เรา

หรือเคสคุณลุงที่เป็นโรคสะเก็ดเงินลุงมาขอนิรโทษกรรมกัญชาเพราะว่าแกใช้มานานตั้งแต่ก่อนที่มันจะผิดกฎหมาย คือก่อนพ.ศ. 2522 คุณลุงทั้งปลูกกัญชา เอากัญชามาประกอบอาหาร พอกัญชามันผิดกฎหมายจึงต้องแอบใช้ลักลอบใช้ จนวันที่เขาประกาศนิรโทษกรรม คุณลุงก็มาขอนิรโทษกรรม เพื่อไว้ใช้ 1. น้ำมันกัญชาการรักษาตัว เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ 2.เสพกัญชาด้วย เนื่องจากอาการสะเก็ดเงินมันทำให้คัน ฉะนั้นการเสพก็ทำให้แกอยู่นิ่งไม่คัน ระงับอาการ พอลุงมาขอนิรโทษกรรมแล้วกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่พอหมดช่วงระยะนิรโทษกรรมพ้น 90 วันไป คุณลุงก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครองเข้าไปจับที่บ้านในข้อหาผลิตกัญชาซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างสู้คดีอยู่ ทางเราก็เข้าไปจะช่วยเหลือคุณลุงให้สามารถปลูกได้อย่างถูกต้อง แต่ลุงกลายเป็นมีประวัติอาชญากรรมเพราะว่าเงื่อนไขในการปลูกกัญชงกัญชา ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีประวัติอาชญากรรม เราจะเจอว่าเรื่องมันซับซ้อนและเรื่องมันไม่ได้ง่ายเลยสำหรับคนธรรมดาชาวบ้านที่จำเป็นต้องใช้ และปลูกใช้เอง มันก็เหมือนผลักให้ลุงไปอยู่ใต้ดินตลอด ไปอยู่กับกลุ่มที่ผิดกฎหมายตลอด

ข้อเสนอ หรือทางออก หลังมีการนิรโทษกรรมพ้น 90 วัน

คุณสันติ โฉมยงค์ บอกว่า ตอนนี้กัญชาเริ่มใช้ได้ในทางการแพทย์ชัดเจนเลย คือเรื่องของการนอนไม่หลับ หรือว่าน้ำมันกัญชาช่วยเรื่องของโรคพาร์กินสัน แล้วทางกระทรวงสาธารณสุขก็ออกประกาศไปแล้วว่า ต้น ใบ ราก มันไม่ได้ผิดกฎหมาย กัญชาเป็นยาเสพติดเฉพาะช่อดอก กับเมล็ด เท่านั้น เพราะฉะนั้นคนจำเป็นต้องใช้สามารถใช้เขาใช้ใบเอามาชงกับน้ำอุ่น รับประทานเพื่อรักษาตัวเองได้ ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นทางออกของเราก็คือ ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ ต้น ราก ใบ จริงๆ ไม่ต้องขออนุญาตปลูกก็ได้เพราะว่ามันยังไม่มีช่อดอก ไม่มีเมล็ด ในสามอย่างนี้มันไม่ได้ผิดกฎหมาย คุณก็ปลูกเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้ปกติ แต่ถ้ามันมีช่อดอกและเมล็ด อันนี้มันเป็นยาเสพติด คุณต้องไปขอครอบครองยาเสพติด หรือไม่ก็ขออนุญาตขายห้หน่วยงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอันนี้จะทำให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยการไปขออนุญาตก่อนมันต้องลงทุนลงเรือนประมาณแสนสองแสนบาทชาวบ้านเขาไม่มีศักยภาพในการลงทุน

ถ้าเรื่องของเมล็ดพันธุ์ ต้องไปขอจาก ปปส. อันนี้จะยิ่งยากเลย ขนาดที่เราประกาศว่าต้น ราก ใบ ไม่ผิดกฎหมาย พวกนี้มันเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้มันเอาไปตอนกิ่งปักชำขยายพันธุ์ได้โดยที่มันไม่ผิดกฎหมาย คือมันมีช่องทางอยู่ที่มันไม่ผิดกฎหมาย แต่ปรากฏว่ารัฐบาลกลับไม่ได้สนับสนุนส่งเสริมประเด็นแบบนี้ กลับไปโฆษณาว่าปลูกได้บ้านละ 6 ต้น ซึ่งบ้านละ 6 ต้น ต้องเป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจที่ไป MOU กับ รพ.สต. หรือกับหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุญาตมาก่อนแล้ว พอเป็นสมาชิกต้องไปทำเรื่องอนุญาตปลูกกับ อย. บ้านละ 6 ต้น ซึ่งขั้นตอนมันไม่ได้ง่ายเพราะว่าต้องตรวจสถานที่ ตรวจการรักษาความปลอดภัย ก็คือทำเหมือนขออนุญาตปลูกที่เป็นวิสาหกิจชุมชนที่ทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐเหมือนเดิมเลย เพราะฉะนั้นบุคคลทั่วไปทำไม่ได้แน่นอน

ในต่างประเทศ เปิดโอกาสประชาชนสามารถครอบครองส่วนที่เป็นยาเสพติดก็คือช่อดอกกับเมล็ดได้ โดยจำกัดปริมาณต่อคน เพื่อไว้เสพ สันทนาการ หรือว่าเพื่อรักษาตัว ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นทางออกที่มันเป็นไปได้และมันเอื้อกับผู้ป่วยว่าประชาชนที่จำเป็นต้องใช้ อย่างแรกเลยไม่ควรต้องมาตีกรอบว่าจะต้องมาขออนุญาตปลูก แต่ถ้ามียาเสพติดไว้ในครอบครองอันนี้ต้องขออนุญาตครอบครอง ขออนุญาตขาย ยกตัวอย่างในสถานพยาบาลปัจจุบันในคลีนิกแพทย์ปัจจุบัน แพทย์ก็จะมียาประเภทที่เป็นยาเสพติดเอาไว้ใช้ซึ่งแพทย์ก็ไม่ต้องขออนุญาตที่จะผลิตหรือปลูก แค่ขออนุญาตครอบครองหรือขอนุญาตขาย ซึ่งมันก็ควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกันว่า ถ้ามันจะเสรีอย่างแรกไม่ต้องขออนุญาตปลูกก็ได้ เพราะราก ต้น ใบ ไม่ผิดกฎหมาย คุณก็ปลูกด้วยการตอนกิ่งปักชำ แต่ถ้ามันออกดอกมันมีเมล็ดที่เป็นยาเสพติดถ้ามันเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดอันนี้ต้องไปขออนุญาตครอบครองยาเสพติด หรือขออนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้ถูกต้องตามกระบวนการซึ่งขั้นตอน อย.มีอยู่แล้ว ไม่ใช่กระบวนการใหม่เพียงแต่เราก็ไปแก้กฎระเบียบให้มันเข้ากับช่องทางปกติของมันแค่นั้นเอง

ในประเทศไทย การปลูกกัญชาให้ออกดอกช่อดอกไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะว่าเวลากัญชาออกช่อดอกมันจะมีกลิ่นหอม เพราะฉะนั้นพวกศัตรูพืชต่างๆ มันจะเข้ามา ยกตัวอย่างที่จังหวัดอยุธยาขนาดปลูกในโรงเรือนแบบกรีนเฮ้าส์ มีระบบรักษาความปลอดภัย นกบินเข้าไม่ได้ แต่เวลามันออกช่อดอกพวกเพลี้ยแป้ง หรือว่าไรแดง หรือว่าแมลงศัตรูพืชของกัญชามันก็จะเข้ามาเกาะกิน ซึ่งโอกาสที่จะได้ผลผลิตสมบูรณ์น้อยมาก กัญชาส่วนใหญ่ถ้าปลูกให้ได้ผลดีต้องปลูกในระบบปิดซึ่งต้องลงทุนสูงซึ่งอันนี้มันขัดกับวิธีชาวบ้านอยู่แล้ว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ