17 ปี ความรุนแรงจังหวัดชายแดนใต้ ผู้หญิงเป็นม่าย 3,132 คน เด็กกำพร้า 6,687 คน โควิดซ้ำปัญหาความรุนแรงในบ้านพุ่ง
วันที่ 25 พ.ย. – 10 ธ.ค. ของทุกปี เป็น 16 วันของการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ความรุนแรงที่ผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้ได้รับนั้นหนักหน่วงและกดทับกันหลายชั้นมาก ภายใต้บริบทพื้นที่ ที่สถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดอย่างหนัก ทำให้ประสบปัญหายากจนรุนแรง อีกทั้งสถานการณ์ความไม่สงบและ Hate Speech ในสื่อสังคมออนไลน์
“จน”เเละ”เจ็บ”
โซรยา จามจุรี ประธานศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) เล่าฟังว่า ก่อนโควิด สามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ชื่อว่า “จนมากแบบเรื้อรัง” ติดอันดับต้น ๆ ของประเทศมาหลายสิบปี พิษโควิดยิ่งทำให้ “จนลง” รายได้เฉลี่ยของคนในพื้นที่ย่อมดำดิ่ง ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยช่วงก่อนนี้ 5,000 บาท/คน/เดือน หนำซ้ำความเหลื่อมหล้ำก็คงถ่างกว้างขึ้นไปเรื่อย ๆ
ส่วนความรุนแรงของโรคระบาด ก็ติดอันดับต้น ๆ ของประเทศต่อเนื่องหลายเดือนมา คร่าชีวิตคนในพื้นที่ไปกว่า 1,000 คน การใช้ยาแรง ทั้งเคอร์ฟิว ล็อกดาว์น (บางแห่งถูกล็อกดาว์นต่อเนื่องเดือน เช่น ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ) เพื่อลดเจ็บ ลดตายจากโควิด แต่อีกด้านก็ส่งผลกระทบ ทำให้ผู้คนยิ่ง “จนลง” แถมเกิดคนจนกลุ่มใหม่ ๆ สมทบ
จากข้อมูล สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปัญหาความยากจนในภาคใต้ พบว่า มีปัญหารุนแรงขึ้นจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน (ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส) โดยปี 2563 คนจนใน 3 จังหวัดมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 48.8 ของคนยากจนในภาคใต้ และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23.5 โดยเฉพาะปัตตานี มีสัดส่วนคนจนติดอันดับสูงสุด 10 อันดับแรกมาตั้งแต่ปี 2547 ต่อเนื่องถึงปี 2563 หรือตลอดเวลา 17 ปี ขณะที่จังหวัดที่เหลือในภาคใต้มีจำนวนคนจนลดลงร้อยละ 10.12 (ที่มา : สศช.)
“ความรุนแรงในครอบครัว”
ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความเครียดและวิตกกังวลจากผลกระทบของทั้งความ “จน” และ “เจ็บ” ที่สูงมากกว่าพื้นที่อื่นและหากสมาชิกในครอบครัวควบคุมอารมณ์กันไม่ได้ โอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันโดยวาจา ไปจนถึงขั้นลงไม้ลงมือกัน โดยผู้หญิงรวมไปถึงเด็ก ๆ มักเป็นผู้ถูกกระทำ ก็ย่อมมีมากกว่าในสถานการณ์ปกติ
“บ้าน” ที่ควรจะเป็นที่ปลอดภัยที่สุด กลายเป็นที่ไม่ปลอดภัย
โซรยาบอกว่า ข้อมูลที่ระบุในรายงานสถานการณ์เด็ก เยาวชน และผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้ พบว่าก่อนโควิด พบว่าเกือบ 1 ใน 2 ของผู้หญิงฟ้องหย่าเพราะสามีติดยาเสพติด ที่มักพ่วงมากับการไม่ส่งเสียเลี้ยงดูและทำร้ายร่างกายและจิตใจยาวนานหลายปี มีผู้หญิงมากถึง 23 คน (ร้อยละ 10 ของผู้มาร้องเรียนที่ศูนย์ให้คำปรึกษาผู้หญิงเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส) ที่สามีต้องโทษจำคุกนาน 8-33 ปี และไม่สามารถดูแลครอบครัวได้
“ความรุนแรงจากสถานการณ์ไม่สงบ”
17 ปี ของไฟใต้ ทำให้ผู้หญิงต้องกลายเป็นม่ายไป 3,132 คน เด็กกำพร้า 6,687 คน มีผู้หญิงเสียชีวิตโดยตรงจากสถานการณ์ 655 คน เด็กต่ำกว่า 18 ปี เสียชีวิต 271 คน แม้ระยะหลัง สถานการณ์คลี่คลายไปมาก
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์เมื่อ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่มีผู้หญิงกับเด็กโดนลูกหลง ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์โจมตีจุดตรวจที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และความไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรในการพูดคุยสันติสุข ซึ่งจะเป็นหนทางของการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี ทำให้ยังไม่มีความหวังว่าจะเกิดความสุขสงบในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยปราศจากความรุนแรง
“ความรุนแรงจาก Hate Speech”
แกนนำผู้หญิง Civic Women เล่าให้ฟังว่า เป็นการแสดงออกถึงความเกลียดชังทางวาจาและการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ ในโลกสมัยใหม่ สื่อออนไลน์ได้กลายเป็นช่องทางการโจมตีด้วย Hate Speech ที่ไปได้เร็วและรุนแรง ความหวาดระแวงระหว่างคนสองวัฒนธรรม ทั้งชาวพุทธ – มุสลิม ที่เป็นผลพวงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ ทำให้มีการใช้ Hate Speech ระหว่างกันผ่านสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น
ผู้หญิง และเด็กหญิงมุสลิม ที่แสดงอัตลักษณ์ทางศาสนาชัดเจน โดยการคลุมฮิญาบ ยังคงถูกกีดกัน เลือกปฏิบัติในพื้นที่การทำงานและการศึกษา รวมทั้งเป็นเหยื่อของ Hate Speech และการสร้างความหวาดกลัว
แกนนำผู้หญิง Civic Women เล่าต่อว่า ส่วนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน Activist ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ที่กลายเป็นเหยื่อจากปฏิบัติการ IO และ Hate Speech ทางสื่อออนไลน์ ในขณะที่สังคมไทย Hate Speech อันเนื่องจากความเห็นต่างทางการเมือง แพร่กระจายผ่านทางสื่อโซเชียลอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการแบ่งข้าง กีดกัน และความสัมพันธ์ของผู้คนร้าวลึก
นอกจากนี้ แกนนำกลุ่มผู้หญิงภาคประชาสังคม ได้รวมตัวกันเข้าอบรมเป็นวิทยากรกระบวนการ เรื่องการรู้เท่าทัน Hate Speech ทางสื่อออนไลน์ และการรับมือ เพื่อขยายผลไปจัดอบรมต่อให้แกนนำผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้อีก 100 คน
แม้ผู้หญิงในชายแดนใต้ จะตกเป็นเหยื่อความรุนแรงอันหนักหน่วงในรูปแบบต่าง ๆ ตามที่กล่าวข้างต้น แต่ในอีกด้าน ก็เห็นความพยายามของกลุ่มผู้หญิงภาคประชาสังคม ที่ลุกขึ้นมาเป็น Active Actor หวังสร้างการเปลี่ยนแปลงเพราะผลกระทบที่เธอได้รับนั้นสาหัสสากรรจ์ เกินกว่าจะยอมจำนนและนิ่งเฉยอยู่ได้
สามารถติดตามกิจกรรมความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หญิงภาคประชาสังคมในพื้นที่ ในช่วงวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล 25 พ.ย. – 10 ธ.ค. ผ่านทางออนไลน์ จัดโดย Civic Women ศป.ดส. และ UN Women