เปิดประสบการณ์ชุมชนทำสื่อ : ทำไมต้องรู้ ทำไมต้องทำ ?

เปิดประสบการณ์ชุมชนทำสื่อ : ทำไมต้องรู้ ทำไมต้องทำ ?

เมื่อคนในชุมชนทำสื่อ และคนในอาชีพสื่อได้มาคลุกคลีถ่ายทอดทักษะการผลิตสื่อให้ชุมชน พวกเขาค้นพบอะไร ?   

 ได้ถ่ายทอดไว้ในเวทีเสวนาออนไลน์ “สื่อสารชุมชน : ทำไมต้องรู้ ทำไมต้องทำ  ภาคถอดประสบการณ์ หนึ่งในเวทีเสวนาออนไลน์ที่ศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชน ม.พะเยา จัดขึ้น  

วิทยากร 

ดร.นภดล สุดสม โรงพยาบาลบ้านหลวง จังหวัดน่าน ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟสบุ๊คเมืองสวดชาแนล   / 

คุณไมตรี จรรยา   ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นสมาชิกกลุ่มคนรักป่าตุ้ม  อ.แม่ปืม จ.พะเยา     

กุลพัฒน์  จันทร์ไกรลาส  โปรดิวเซอร์ศูนย์ Thai PBS World 

สุรพงษ์ พรรณวงษ์  ทีมสื่อพลเมืองจาก สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส    

 รศ.ดร.ภัทรา  บุรารักษ์  หัวหน้าศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชน มหาวิทยาลัยพะเยา   

ดำเนินรายการโดย อัจฉราวดี บัวคลี่  ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายนักสื่อสารพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส 

“เมื่อผมทำสื่อ  ผมเหมือนเป็นตัวแทนหมู่บ้าน” 

ดร.นภดล สุดสม  ที่ใครๆ เรียกว่า หมอแบงก์ จากโรงพยาบาลบ้านหลวง จังหวัดน่าน ผู้ก่อตั้งเมืองสวดชาแนล เปิดการสนทนาด้วยข้อค้นพบของเขา 

“เราอยากให้กลุ่มของเราเป็นกลุ่มที่สื่อสารให้กับคนในหมู่บ้านเดียวกันทำให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด เราก็ต้องอยู่บนความคาดหวังของชุมชนเรา เป็นตัวแทน เราจะทำอะไรเราก็ต้องอยู่บนความรับผิดชอบของสิ่งที่เรานำเสนอไป  

ปัจจุบันพบว่าในชุมชนอำเภอบ้านหลวง หรือชุมชนอื่น ๆ ทุกคนสามารถเข้าถึงการสื่อสารได้ง่ายกว่าเดิมในหลายหลายช่องทาง เราก็มองว่าในข้อดีก็จะมีข้อเสียเกิดขึ้นคือมันเกิดภาวะที่เรียกว่าข้อมูลท่วมท้นไปหมดแต่ไม่สามารถนำมาใช้จริงไม่ได้หรือ โดยเฉพาะในกรณีของปัจจุบันโรคโควิด-19 นี้ภาพชัดเจนเลยว่ามันมีปัญหา เราเลยมีความตั้งใจว่า เราจะมาทำสื่อเพื่อ จะสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันในชุมชนในระดับอำเภอของเรา เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ให้มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในชุมชนมากขึ้น อันนี้ก็เป็นเป้าหมายของเราที่จะพยายามสื่อสาร โดยเป็นตัวกลางในการเชื่อมระหว่างชุมชน กับหน่วยงาน ก็คิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มที่ดีที่ชุมชนจะได้มีสื่อท้องถิ่นที่ไว้วางใจขึ้นมาสักสื่อหนึ่ง   

เมืองสวดชาแนลถือเป็นผลผลิตของศูนย์สื่อชุมชน ม.พะเยาก็ว่าได้ เราตัดสินใจมาทำ เรามีความมั่นใจในเรื่องของเครือข่ายและก็หน่วยงานที่พร้อมที่จะเดินหน้าหรือสนับสนุนเราก็เกิดเป็นเพจเมืองสวดชาแนลขึ้นมา ตอนนี้เราก็รวมกลุ่มกันผลิตสื่อใช้ช่องทางเฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการเผยแพร่หลักเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเกี่ยวกับโควิด-19 ในส่วนของอุปสรรคมันก็น่าจะเหมือนกับทั่วไปแต่ว่าแน่นอนว่าเราได้ผ่านการอบรมมาแล้วมันก็ต้องการเตรียมว่าในเป้าหมายที่เราจะสื่อสารคือใคร เรื่องที่เราจะนำเสนอประเด็นไหนแล้วก็ เป็นการสร้างสรรค์ผลงานต้องมีการเตรียมความพร้อมอะไรบ้าง หลังจากได้ประยุกต์ใช้หลักการต่าง ๆ ก็ทำให้ปัญหาอุปสรรคที่เราเจอระหว่างสื่อสารเราสามารถจัดการได้ ส่วนอุปสรรคด้านอื่นมีไม่มาก เพราะว่าเราเป็นสื่อสมัครเล่น เราไม่ได้มีทุน ไม่มีการลงทุนจำนวนมาก ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นที่เราจะต้องกังวลไม่มีค่าจ้างให้สำหรับทีมงานอย่างอื่น  

และก็ประเด็นที่เรานำเสนอส่วนใหญ่เป็นประเด็นเชิงบวก  ฉะนั้นความกังวลต่าง ๆ ก็เลยไม่มี   

“ประเด็นที่เรารู้สึกประทับใจและภูมิใจ “ จะเป็นในตอนที่เราได้มีโอกาสได้ มีส่วนร่วมในการรับส่งผู้ป่วยโควิดกลับบ้าน เป็นโครงการของ จ.น่าน รับคนน่านที่ติดเชื้อจากกรุงเทพ ก็คือเขาไม่สามารถเข้าถึงเตียงหรือรักสถานรักษาพยาบาลได้ ในขั้นตอนต่าง ๆ มันช่องทางการสื่อสารที่น้อยมาก เราก็ได้มีโอกาสเป็นสื่อหนึ่งที่ทำคลิปวิดีโอสั้น สำเสอนขั้นตอนการเดินทางเข้า จ.น่าน จะต้องมีขั้นตอนยังไงบ้าง ซึ่งก็ได้รับการแพร่หลายไปทั้งจังหวัดเหมือนกันทำให้เรารู้สึก ว่ามันเราได้มีส่วนช่วยเหลือครับผู้ป่วย ข้อมูลหรือความช่วยเหลืออะไรบ้างการได้มีส่วนหนึ่งที่เราสามารถนำเสนอตรงนี้มันเราคิดว่าเป็นสิ่งที่เราภูมิใจ  

สิ่งที่เมืองสวดชาแนลคาดหวังในอนาคต เราคืออยากจะพัฒนาตัวเองจากที่เป็น สื่อชุมชนยกระดับเป็นชุมชน อยากจะให้ทุกคนมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการของการสร้างสื่อที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเรา สิ่งที่พวกเราคิดว่าจะทำต่อก็คือก็   

1.การสร้างเครือข่ายให้ทุกคนมีส่วนร่วมมากขึ้น   

2 เพิ่มความหลากหลายของเนื้อหาหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ให้มากขึ้น   

3.ขยายหรือพัฒนารูปแบบในการนำเสนอให้หลากหลายมากขึ้น อาจจะมีแค่ในคลิปวิดีโอที่ตัดต่อเป็นเรื่องเป็นราวแล้วในส่วนของการนำเสนอแบบ ลงพื้นที่จริงไลฟ์สดบ้าง จะมีสตูดิโอเล็กๆของเรา ตอนนี้ก็มีผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการในศูนย์สื่อชุมชน มีอุปกรณ์ สัปดาห์หน้าก็จะเริ่มต้นต้องทดลองงานสตูดิโอ เราคาดหวังว่าในอนาคตเราก็อาจจะผันตัวเองเป็นผู้นำสร้างสื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับ สื่อในชุมชน   

ส่วนสิ่งที่ต้องการสนับสนุนก็น่าจะเป็นอยู่สองประเด็นใหญ่ครับ อย่างที่ก็เป็นเรื่องของ ชุดความรู้นะว่าจะเป็นหลักการด้านการทำสื่อหรือเทคโนโลยีต่างๆ ก็คงต้องอาศัยจากสถาบันการศึกษา เช่นมหาวิทยาลัยพะเยาที่ศูนย์สื่อชุมชน และที่ต้องการอีกอย่างก็คือในเรื่องของ การสนับสนุนในช่องทางในการนำเสนอจาก สื่อกระแสหลักต่างๆในบางประเด็นที่มีความสำคัญมาก มาช่วยนะครับช่วยจุดประเด็นให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ในพื้นที่ไม่สามารถทำเองได้  

คุณไมตรี จรรยา ตัวแทนผู้เคยร่วมอบรมทุกหลักสูตรของศูนย์การเรียนรู้สื่อชุมชน 

“เมื่อทำสื่อก็ได้พัฒนาตัวเอง ได้พัฒนาสื่อ” 

ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นเชฟอยู่ที่ประเทศจีน เขาจะปิดกั้นการสื่อสารประมาณหนึ่ง อย่างเฟซบุ๊ก ยูทูป ทุกอย่าง เรามีอินเทอร์เน็ตแต่เราไม่สามารถดูได้ นอกจากซื้อวีพีเอ็น ซึ่งราคาค่อนข้างแพง และเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ผมคือคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากไวรัสที่เมืองอู่ฮั่นจึงกลับมาอยู่ที่บ้านตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มใช้ชีวิตในบ้านเรา   นักสื่อสารชุมชนที่ได้รู้จักศูนย์สื่ชุมชนเป็นครั้งแรกเริ่มจากประทับใจ แล้วก็มีจุดเริ่มต้นที่ว่ามีอาจารย์แนนเป็นไอดอล ก็คือเริ่มเข้ามาฝึกอบรม  ครั้งแรกทำสื่อที่ว่าเทคนิคการใช้โทรศัทพ์มือถือในการตัดต่อ ขนาดของภาพในการถ่ายวิดีโอ กว้าง กลาง แคบ เป็นยังไง ก็เริ่มใช้งานมาเรื่อย ๆ ได้ปฏิบัติจริงนอกพื้นที่ แล้วก็มีคลิปหนึ่งที่ทางศูนย์สื่อชุมชนมาสัมภาษณ์ผม ทำให้ประทับใจและก็มีคนรู้จักมากที่มากขึ้นจากการสัมภาษณ์เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรม รู้สึกคลิปนี้เป็นคลิปที่มีคนติดตามเยอะที่สุด จนทำให้เพื่อนฝูงมาแซวบ้างครับ 

หลักจากที่กลับมาจากที่ว่าเราไม่ได้อยู่ใช้ชีวิตในบ้าน เราก็เริ่มกลับมาเริ่มต้นใหม่ คือข้อดีอย่างหนึ่งก็คือเอาประสบการณ์มาใช้ครับ เริ่มต้นจากการเน้นหนักของการเกษตรบ้านเรา คือทำจริงแล้วก็ปฏิบัติจริงคนในชุมชนสามารถมาดูได้ มาศึกษาเองได้บอกสามารถสื่อสารพาณิชย์กลุ่มเพราะว่าตอนนี้ก็ในหมู่บ้านก็มีกลุ่มป่าตุมอยู่ แล้วก็หลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ส่วนตัวก็ทำการเกษตรแล้วก็นำเนื้อหาของการทำเกษตรไปใช้เผยแพร่ทำเป็นคลิปอธิบาย  

กุลพัฒน์  จันทร์ไกรลาส วิทยากรฝึกอบรมร่วมกับศูนย์สื่อชุมชน ม.พะเยา 

“เมื่อเห็นชุมชนลุกขึ้นมาทำสื่อ สำหรับผมอยากให้ชุมชนเป็น soft power ของประเทศไทย” 

กุลพัฒน์  จันทร์ไกรลาส วิทยากรฝึกอบรมร่วมกับศูนย์สื่อชุมชน ม.พะเยา 

เมื่อชุมชนได้ลุกขึ้นมาสื่อสารด้วยตนเอง ในความรู้สึกค่อนข้างดีใจที่ภาคส่วนของชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ แต่จริง ๆ ก่อนหน้าได้มีโอกาสลงไปร่วมทำสื่อให้กับชุมชน ตัวเองอยู่ในสื่อกระแสหลักมาก่อน โดยเฉพาะงานด้านโทรทัศน์ สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อจำกัดคือ สื่อกระแสหลักในยุคก่อนเป็นสื่อที่อยู่ในวงแคบ คนที่อยู่ในวงการนี้จะต้องเป้นผู้ที่เรียนมาด้านนี้โดยเฉพาะ จากนั้นเป็นเรื่องอุปกรณ์ที่มีราคาแพง ดังนั้นสื่อกระแสหลักในยุคก่อนจึงมีข้อจำกัดนี้ จุดนี้ในมุมหนึ่งเป็นข้อดีในการพัฒนาเรื่องให้น่าสนใจ ข้อเสียคือความจำกัดคนที่ไม่ได้มีความรู้เข้ามาในวงการนี้ ซึ่งแน่นอนว่าคนที่อยู่ในชุมชนคนต้นเรื่อง หรือคนในพื้นที่จริง ๆ จะเข้าถึงสื่อค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่เราจะได้ยินว่าคนที่ทำสื่อกระแสหลักจะต้องหาข้อมูลหรือเอาความรู้จากคนในชุมชน ซึ่งเป็นแบบนี้มานานตั้งแต่ยุคของการเกิดสื่อ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เกิดความเคยชิน ของคนที่ไม่รู้ หรือคนที่อยู่ในชุมชน แต่เมื่อยุคสมัยและเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น ยุคอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้ทุกอย่างพลิกผัน แทนที่คนในชุมชนจะกลายเป็นผู้ให้ข้อมูลสื่อเพียงอย่างเดียวกลับเป็นคนที่ลุกขึ้นมาทำสื่อด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ดีและน่าสนใจมาก ด้วยอย่างที่บอกว่าตนเองมาจากสื่อกระแสหลักมาก่อน ทำให้เห็นโลกอีกใบชุมชนมีข้อมูลเยอะมาก และมีวัฒนธรรมเรื่องราวต่าง ๆ ได้เยอะมาก เมื่อเราลงไปทำจริงได้เรียนรู้สิ่งที่เราไม่เคยมองเห็น ฉะนั้นเมื่อเราได้เห็นข้อมูลหรือเทคโนโลยีที่มีมากขึ้นมันทำให้เราเกิดการตั้งคำถาม ว่าถ้าชุมชนสามารถใช้และเล่าเรื่องเองจะมีพลังมากกว่าไหม จากนั้นจึงได้เห็นพลังของชุมชนที่ลุกขึ่นมาสื่อสารเองเล่าเรื่องด้วยตัวเองจะทำให้เรื่องราวน่าสนใจมากขึ้น แต่จุดอ่อนคือเขาขาดทักษะไม่ได้เป็นความผิดของชุมชนแต่เป็นเพราะวิชาชีพถูกจำกัด ฉะนั้นมีเรื่องของสื่อชุมชนมาเราให้ความรู้ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนเข้าไปประกอบกับความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน ประกอบกันเป็นหลังการสื่อสารจากชุมชน   

ความรู้สึกตอนครั้งแรกที่ได้ลงไปชุมชน ต้องบอกก่อนว่าตนได้มีโอกาสไปทำทีวีชุมชนอันดามันมั่นคง ก่อนไปเราตั้งคำถามกับตนและมีความตั้งใจที่อยากจะรู้ว่า ชุมชนจะสามารถทำสื่อได้ด้วยตัวเองหรือไม่ เพราะเราอยู่กับสื่อหลักมาทั้งชีวิต แต่เมื่อชุมชนเล่าสิ่งต่าง ๆ ที่อยากสื่อสารในชุมชนตรงนั้นทำให้เรามองว่าตัวเขาเองสามารถสื่อสารได้ เป็นภาพชัด จุดของเราคือแค่ขาดเครื่องมือและวิธีการถ่ายทอดเท่านั้นเอง เมื่อคลุกคลีกับชุมชนทดลองลงมือทำได้ 2 ปี ตนรู้สึกว่ามีบางส่วนสำหรับชุมชนที่ตั้งใจเขาสามารถลุกขึ้นมาทำสื่อได้ แน่นอนว่าคุณภาพอาจะไม่ได้เท่าสื่อกระแสกหลัก แต่เนื้อหา และวิธีการเล่าของเขาไม่แพ้กับสื่อกระแสหลัก เพราะเนื้อหาวิธีการเล่าเป็นธรรมชาติและความเข้าใจของตัวชุมชนเองซึ่งทำไปทำมากลับกลายเป็นเสน่ห์ เพราะในสื่อมืออาชีพมีกรอบของความเป็นมืออาชีพที่ครอบอยู่  

เมื่อเข้าไปสัมผัสว่าทำไมชุมชนเขาต้องลุกขึ้นมาสื่อสาร ตัวเองเคยถามกับชุมชนอยากทำสื่อเพราะอยากเป็นนักข่าหรือเปล่า เขาตอบว่าไม่ได้อยากเป็นสายอาชีพนี้ แต่เขาอยากเล่าเรื่องราวที่แท้จริงในชุมชนของตนเอง เขาได้เล่าเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเรื่องปัญหาอุทกภัยที่พังงา ตะกั่วป่า เขาต้องการเสนอด้านปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งคนในชุมชนและคนภายนอกได้รับรู้ เหตุผลคือเวลาเกิดน้ำท่วมฉับพลันในชุมชนเขาไม่รู้จะสื่อสารหรือพึ่งสื่อได้ที่ไหน มานำเสนอเรื่องราวได้ ถ้าจะรอสื่อกลางมาก็ช้า เพราะกระทบในหลายมิติทั้ง มิติชุมชน ปากท้อง เขาเป็นสื่อชุมชนที่จะสามารถลุกขึ้นมาสื่อสารเองได้ทันทีและได้รับการแก้ไขโดยเร็วอย่างทันท่วงทีนั่นคือสิ่งที่ชุมชนคิดว่าอยากเป็นสื่อ ดังนั้นนี่คือหัวใจของการสื่อสารของชุมชน  

เมื่อมองก้าวต่อไปของคนในวิชาชีพสื่อ ในเรื่องของความหวังเราอยากมีทีวีชุมชนในโลกดิจิตอล ช่วงนั้นเป็นช่วงแห่งความหวังว่าจะมีสื่อชุมชนในระดับชาติขึ้นมา เราจะผลักดันกันอย่างไรก็ไม่เกิดขึ้นในความเป็นจริง แต่เมื่อยุคมันเปลี่ยนไปเทคโนโลยี หลาย ๆ ส่วนที่ช่วยกันขับเคลื่อน เป็นสิ่งสำคัญที่่ช่วยกันขับเคลื่อนเช่นมหาวิทยาลัยพะเยา และคิดว่าหลาย ๆ มหาลัยและหลาย ๆ ภาคส่วนอาจจะต้องลุกขึ้นมา หรือชุมชนในแต่ละที่ที่พอจะมีความเข้มแข็งลุกขึ้นมาทำสื่อกันเอง และมหาลัยหลาย ๆ มหาลัยเป็นตัวหนุนเสริม เพราะมีทั้งทุน และอุปกรณ์สถานที่ สำคัญตรงที่ชุมชนในแต่ละพื้นที่รวมถึงเอกชนเราต้องลุกขึ้นช่วยกันจับมือว่าเราอยากจะทำสื่อในระดับพื้นที่ ความรู้และอุปกรณ์ในการทำหาได้ง่ายมากขึ้น หากเกิดจุดนี้ขึ้นสื่อชุมชนจะสามารถประกอบสร้างขึ้นมาได้ และค่อนข้างมั่นใจว่าปัจเจกบุคคลในพื้นที่ต่าง ๆ มีความพร้อมและมีความรู้ในการเล่าเรื่องของตนเอง เพียงแต่ว่าเราต้องเข้าไปช่วยหนุนเสริมคนเหล่านั้นมากขึ้น  

ทำไมถึงรู้สึกว่าอยากให้สื่อชุมชน เป็น soft power เกิดจากการมองเห็นอย่างเช่นที่ญี่ปุ่น เกาหลี มี soft power เข้าไปแทรกซึมในประเทศอื่น ๆ ได้ขนาดนั้น ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเรื่องของการสอดแทรก ศิลปวัฒนธรรม เข้ามาใส่ถ้าเรามีสื่อกระแสหลักอยู่ถ้าเขานำเสนอเรื่องราวที่เป็นเชิงการตลาดและ Mass มาก ๆ สื่อชุมชนเองน่าจะเหมาะกับ soft power เพราะสื่อชุมชนอยู่ในแต่ภูมภาคของตนเอง มีขนบและวัฒนธรรมความรู้ของตนเอง ถ้าหากมีสื่อชุมชนขึ้นมาและนำแนวคิด soft power ขยายเข้าไปจากพื้นที่หนึ่งเช่นจากภาคเหนือขยายไปภาคกลางให้คนได้ซึบซับมีเรื่องราวน่าสนใจให้ภาคอื่น ๆ เข้าใจได้มากขึ้น แทนที่คนเหนือจะเข้าใจและภูมิใจของตนเองกันเอง มันกลับกลายเป็นโอกาศที่จะใช้  soft power ให้คนในพื้นที่ภูมิภาคอื่น ๆ ได้ เข้าใจกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงหลายเรื่องที่มีความขัดแย้งกัน จะลดทอนลงมาก และจะเกิดความสวยงามที่จะมีความเข้าใจเรื่องพหุนิยมมากขึ้น และเป็นโอกาศของสื่อชุมชน แต่ท้ายที่สุดพอเราเป็นสื่อเราต้องการเวลา พลัง และต้องการความทุ่มเท เมื่อชุมชนทำไรเรื่อย ๆ บางทีพลังอาจจะหายได้ เพราะมีเรื่องปากท้องถ้ามีอะไรมาสนับสนุนมาได้เรื่องนี้ก็อาจจะเกิดความยั่งยืนมากขึ้น 

สุรพงษ์  พรรณ์วงษ์ เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส   

“เมื่อเห็นชุมชนลุกขึ้นมาทำสื่อ ทั้งหวัง ทั้งห่วง หลายอารมณ์” 

จากการได้ลงมือทำและแลกเปลี่ยนในชุมชน แรกเริ่มย้อนกลับไปอยู่ในช่วงปลายของการเรียนรู้ในมหาลัย และได้ฝึกงานกับสำนักเดิมที่ชื่อว่าสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่เข้ามาสัมผัสและช่วงนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ ปี 54 ซึ่งการเล่าเรื่องแบบสื่อพลเมืองมันยากมาก เพราะ กระบวนการหรือเชิงเทคนิคไม่ได้เป็นปัญหาหรือยาก สำหรับเรา แต่เมื่อเราอยู่ในพื้นที่หนึ่งที่ตนเองไม่ได้มีเรื่องเล่าหรือไม่ได้เป็นคนในพื้นที่ ยากตรงการหยิบเรื่องนั้นมาสื่อสารแต่เมื่อเราไปเจอกับนักข่าวพลเมืองหรือนักสื่อสารชุมชนแล้ว กลับกันความง่ายสำหรับเขาคือการเล่าเรื่องบอกเรื่องราวกับเรา แต่เรื่องเทคนิคการตัดต่อเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นเรื่องใหม่สำหรับชุมชน แต่เมื่อผ่านมา 1 ปี ในช่วงเดือนแรกของการทำงานเราไม่เชื่อเลยว่าสื่อพลเมืองจะสามารถสื่อสารได้ ในเชิงเทคนิคเราเรียนมาตั้ง 4 ปี แต่อบรมมา 1-2 วัน เราไม่เชื่อเลยว่าเขาจะสามารถทำได้ ครั้งนั้นเป็นการอบรมเชิงการเล่าแบบสารคดีเราได้เดินดูหลาย ๆ กลุ่มมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ เมื่อจบการอบรบระยะเวลาผ่านไป 1-2 เดือน กลับมาเจอกันปรากฏว่าต่างจากสิ่งที่เราคิดเป็นเรื่องราว ซึ่งอารมณ์ในตอนนั้นมีทั้ง ความหวัง ห่วง และเราไม่สามารถรุ้ได้เลยว่าหน้าตาของสิ่งที่เราคาดหวังจะออกมาเป็นแบบไหน และผ่านจุดนั้นมานำงานคนที่เป็นนักสื่อสารชุมชน นำงานเชิงประจักรที่เห็นมาสื่อสาร หลังจากนั้นเราก็เชื่อเป็นต้นมา  

เมื่อเราเริ่มเห็นการเล่าเรื่องจากชุมชน สัมผัสได้ว่าทำไมเขาถึงอยากจะเล่าหรือสื่อสาร จริง ๆ ความต้องการของคนในพื้นที่ที่อยากจะสื่อสาร หลาย ๆ อย่างสิ่งที่เราอยากสื่อสารเราต้องการอธิบายสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเราพื้นที่เราชุมชนเรา ไม่ใช่เขาอยากเป็นนักสื่อมวลชนมืออาชีพ ฉะนั้นบางสิ่งบางอย่างที่สังคมกำลังเข้าใจอยู่อาจคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงในพื้นที่ สิ่งนี้คือสิ่งที่ชุมชนอยากจะลุกขึ้นมาสื่อสาร และอธิบายบ่อย ๆ เช่น เยาวชนนักสื่อสารในพื้นที่รุ่นแรก ๆ ที่ตนได้เข้าไปอบรมเกิดเหตุน้ำท่วม สิ่งที่เขาต้องการเล่าและอธิบายคือ มุมด้านความเข้มแข็งของชุมชน พยายามรักษาเมล็ดพันธุ์พืชของตนและชุมชนเองไว้ เหตุการณ์ช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 54 ระบบล้มแทบจะทั้งหมดแม้กระทั้งพืชพรรณเสียหายทั้งหมด แต่ชุมชนของเขายังเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูกหลังน้ำลด เป็นการเริ่มต้นใหม่ของชุมชน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เขาพยายามอธิบายและบอกต่อสังคม ว่าชุมชนของเขาำยายามรักษาเมล็ดพันธุ์และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนไว้ สามารถเริ่มต้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว หรืออีกคนคือพี่พฤ นักข่าวพลเมืองชาวกะเหรี่ยง ที่อยู่ในพื้นที่เชียงใหม่ คำสำคัญของเขาคือ เมื่อเราได้พูดคุยกันหรือสื่อสารกันจะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น เพราะยุคก่อนมีความเข้าใจในข้อมูลการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน ระหว่างคนที่อยู่บนพื้นที่สูง และคนในเมือง ทั้งเรื่องความเข้าใจกันเรื่องการทำลายป่า หมอกควัน ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นในมุมการสื่อสารของเขาว่าทำไมเขาต้องอยู่แบบนั้น และสิ่งที่พยายามอธิบายมาความสำคัญของเขาคืออะไร หรือแม้กระทั้งปัจจุบันที่ร่วมทำงานกับศูนย์สื่อชุมชน พอลงมาเจอกลุ่มพี่ไมตรี รู้ความลับอีกอย่างคือกำลังทำกลุ่มสื่อสารกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะฉะนั้นเราก็เข้าใจได้ว่าเมื่อแวดวงของสื่อแคบลง สื่อสารภาพใหญ่ยังคงเป็นเรื่องจำเป็น แต่สื่อสารในกลุ่มหรือเฉพาะกลุ่มก็มีความจำเป็น และตอบสนองคนในพื้นที่ได้เช่นกัน ความสำคัญของสื่อท้องถิ่นคือต้องการเป็นที่พึงให้กับคนในพื้นที่ ในชุมชน งั้นก็เป็นคำถามสำหรับเราว่าแล้วสื่อมีตั้งมากมายไม่สามารถสร้างความไว้วางใจให้กับคนในพื้นที่ได้หรือ หรืออีกมุมคนบ้านเดียวกันเราอาจจะมั่นใจ และเชื่อมากขึ้นไหมมากกว่าคนนอกเล่าเรื่องบ้านเราให้เราฟัง 

ความหวัง หน้าที่และสิ่งที่เราห่วงและหวังไปในตัวคือ การรวมกลุ่มกันและการเชื่อมกันในกลุ่ม พอเกิดการรวม เพื่อให้เกิดพลัง เมื่อเกิดการรวม พลังและจะอย่างไรต่อ ในส่วนของการช่วยเติมเต็ม ช่องว่างทางการสื่อสาร เช่นอย่างสื่อกระแสหลักไม่ได้ใส่ใจหรือสนใจ เราจะทำอย่างไรให้ช่องว่างเหล่านี้ ที่บางเรื่องพื้นที่เล็ก ๆ ฝากความหวังให้สื่อกระแสหลัก การมีสื่อชุมชนอาจเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ได้บ้าง หน้าที่ของสื่อกระแสหลักไม่ได้มองว่าลงพื้นที่ไปนำเรื่องของเขามาเล่าแล้วแต่เรามองไปถึงการทำงานร่วมกัน และการ Empower ช่วยเชื่อมและเติมกำลังกันเพื่อให้บางเรื่องยกระดับและเชื่อมเนื้อหากันได้ด้วยที่มีบางเรื่องที่ยกระดับเฉพาะพื้นที่ได้ด้วย  

ความห่วงอีกอย่างคือเรื่องของการยืนระยะ ทุกคนมาด้วยใจ มาด้วยพลังบางอย่าง จะทำอย่างไรให้การยืนระยะของเขาไม่ได้หมดกำลังระหว่างทาง เมื่อเราสวมหมวกอีกใบในการเป็นสื่อแล้วก็จะมีเรื่องของความคาดหวังที่ตามมา สิ่งนี้เป็นความห่วงใยที่จะต้องแบกรับความคาดหวัง เราจะจัดการความสัมพันธ์ในพื้นที่อย่างไร แต่ในเรื่องของความหวังในเรื่องของ เรื่อง หรือการเล่าเรื่องในพื้นที่ไม่น่าห่วง เพราะเขาเองเป็นคนในพื้นที่มีความเข้าใจเรื่องอยู่แล้ว ความกังวลจะตามมาคือบางครั้งเราเป็นคนในพื้นที่การเล่าเรื่องของเขาเองอาจจะไม่ได้มีคนเข้าใจเรื่องของเขาเสมอ สิ่งนี้เราต้องมีมุมมองที่มากกว่าแค่การเล่าเรื่องจากพื้นที่เราเข้าใจกันเอง สิ่งนี้ก็เป็นหน้าที่ของสื่อกระแสหลักอย่างเราที่จะเข้าไปสนับสนุนเติมในมุมนี้เหมือนเราไปเป็นตัวเชื่อมข้อต่อหนึ่งขยายเรื่องราวของเขาเป็นสื่อสารสาธารณะมากขึ้นหรือไม่  

รศ.ดร.ภัทรา บุรารักษ์ หัวหน้าศูนย์การเรียนรู้สื่อชุมชน ม.พะเยา  

“เมื่อฉันเห็นสื่อหลายระดับ ทำงานร่วมกับสื่อชุมชน ฉันเหมือนตัวกลาง และกรรมการในเวลาเดียวกัน” 

ย้อนหลังสักประมาณ 10 ปีถ้าเกิดเรามองก็คือจริงๆแล้วมันต้องมองคู่ไปกับการเปลี่ยนผ่านหรือว่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้วย เราเห็นว่าถ้าเกิดพัฒนาในยุคแรก มันจะเป็นยุคเหมือน ที่เขาต้องการสื่อสาร แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้หรอกเพราะในยุคนั้นว่าเขาต้องการการสื่อสาร แต่ว่าเขาพยายามที่จะเอาตัวเองเข้าในสื่อกระแสหลักเช่นการเป็นแหล่งข่าว  ซึ่งอำนาจการต่อรองในการบอกประเด็นมาทำเรื่องนี้สิมาทำเรื่องนั้นสิถ้าเป็นไปไม่ได้เพราะมันมาจากสื่อกระแสหลักซึ่งการที่เขาเข้าไปเป็นแหล่งข่าวเพราะเขาต้องการที่จะบอกเล่าทำให้เห็นว่าความพยายามที่อยากจะเล่าเรื่องของตัวเองไม่ว่าจะยุคไหนมันมีอยู่เสมอ แต่ ด้วยข้อจำกัด หรืออะไรก็แต่ทำให้ไม่เหมือนปัจจุบัน 

ต่อมา เป็นยุคที่เขาสร้างเรื่องเล่าของตนเองไม่ได้รอ เป็นแหล่งข่าวแต่ยังรอสื่อกระเเสหลักที่จะเข้ามาทำมากขึ้น การมีส่วนร่วมมากขึ้น เขากำหนด แหล่งข่าวเองว่าจะสัมภาษณ์ ใคร อันนี้คือยุคที่สอง 

ต่อมายุคที่สาม เป็นยุคเขามีเรื่องเล่าและเขาเล่าเรื่องเองบนพื้นที่สื่อของเขา เช่นคลิปวีดีโอ พาวเวอร์ฟอยในที่ประชุม หรือ มีเเพลตฟอร์มของตัวเอง เช่น โซเซี่ยลมีเดีย  ต่อมา เป็นยุคทึ่ ที่โซเชียลมีเดียมีเยอะมากมีช่องทางของตนเองเป็นยุคที่จะต้องมีการจัดความรู้ เป็นยุคที่งานของนักข่าวพลเมืองสื่อพลเมืองมีมากขึ้น  เป็นยุคที่มีการยอมรับ ความเป็นนอกกรุงเทพฯ ยุคนี้เป็นยุคที่ต้องจัดการกับช่องทาง เเต่เขายังยึดอยู่กับช่องทางที่ตัวเองเคยใช้เช่นเคยโพสต์ Facebook ก็จะสื่อสารผ่าน Facebook อย่างเดียว 

ยุคต่อมาเป็นยุคที่พูดถึงเรื่องแบรนด์ดิ้งเป็นของพื้นที่การสื่อสารของตัวเองที่ไปผูกอยู่กับชุมชนทั้งชุมชนออนไลน์ทั้งชุมชนทางกายภาพหมู่บ้านตำบลรวมถึงชุมชนเชิงประเด็นซึ่งมันก็จะมีเรื่องที่ทับซ้อนกันอยู่ ยกตัวอย่างเช่นเมืองสวดชาแนล ก็branding ตนเองแต่ยังอยู่ในกายภาพ ถ้าสนใจเรื่องสาธารณะสุข ก็สนใจในเชิงประเด็น ซึ่งก็ซ้อนอยู่ในกายภาพ หรือชุมชนบ้านลี้ ก็สร้างแบรด์ของตัวเองขึ้น  

ต่อมาก็จะมีการขยายตัวของประเด็นของตัวเองในการขยายการรับรู้เพิ่มขึ้น 

หากดูพัฒนาการตั้งแต่ช่วงแรกจนถึงปัจจุบัน มีพัฒนาการการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆท่าทีของสื่อกระแสหลักที่เคยเคร่งขรึม ก็คลี่คลายลง หันมาเพื่อที่จะพยายามทำงานร่วม จนมาพบจุดกึ่งกลาง 

จุดการเชื่อมการทำงานร่วมกับสื่อกระแสหลัก ก็มีการเชื่อมมีการทำงานร่วมกัน แต่บางครั้งเขาก็อาจจะบอกว่าสื่อกระแสหลักไม่มาก็ไม่เป็นไร อยากดูพัฒนาการจากช่วงแรกถ้าสื่อกระแสหลักไม่มาก็จะกังวลว่าเรื่องของตัวเองไม่ได้ถูกสื่อสารแต่มาถึงปัจจุบันสื่อกระแสหลักมาไม่ได้ก็ไม่เป็นไรมาได้ก็ดีทำให้เรื่องถูกขยายเพราะฉะนั้นปัจจุบันถ้าสื่อกระแสหลักจะเอาไปใช้งานก็ต้องเอาไปขยายต่อ สิ่งที่เราจะต้องเติมเราจะทำอย่างไรให้สื่อกระแสหลักและสื่อชุมชนที่ทำงานร่วมกันเราจะช่วยกันเติมเต็มอย่างไร ระหว่าง วาระของสื่อกระแสหลักและวาระของสื่อชุมชนเราจะสร้างจุดสมดุลทั้งสองได้อย่างไร  

สำหรับอนาคตของสื่อชุมชน แน่นอนว่าแนวคิดเรื่องสื่อชุมชนหรือว่านักข่าวพลเมืองหรือสื่อภาคพลเมืองเมื่อก่อนเขาเรียกว่าแนวคิดเป็นสื่อทางเลือก หรือ Alternative media และก็มีสื่อกระเเสหลัก มันก็จะมีลักษณะเหมือน 2 ขั้ว  

เราจะต้องเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างความรู้กับความไม่รู้ของชุมชน เราจะอยู่ตรงกลางระหว่างความรู้และความไม่รู้เพื่อที่จะเอามาให้เขารู้ และเราก็เป็นตัวกลางที่อยู่ ระหว่างความกลัว หรือความระแวง เช่นสื่อกระแสหลักที่ช่วงแรกอาจจะกลัวว่าใครจะมาแย่งอาชีพหรือเปล่าหรือแม้กระทั่งชุมชนก็มีความกลัวที่จะลงมือทำไม่กล้าที่จะทำเราก็ต้องพาเขาทำ หรือทำให้ดู และอยู่ตรงกลางระหว่างความไม่เชื่อ ไม่ใช่เฉพาะสื่อกระแสหลักแต่ยังมีวงการวิชาการที่อาจจะมีบางส่วนที่ไม่เชื่อหรือคนภายนอก ทั้งหมดก็มีพัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ 

และเป็นตัวกลางระหว่างมืออาชีพกับมือสมัครใจ เพื่อที่จะลงมือทำไปด้วยกัน 

และเป็นตัวกลางในการทำความเข้าใจอย่างเช่นการเขียนบทความเพื่อที่จะอธิบาย ในเมื่อเขาไม่รู้ก็ต้องทำให้เขารู้หน้าที่ของเราคือเป็นทั้งตัวกลางแล้วก็กรรมการ พยายามที่จัดสมดุลทั้งสองฝ่ายให้มาเจอกัน //// 

พาร์ทประกอบ 

  

ศูนย์การเรียนรู้สื่อชุมชน มหาวิทยาลัยพะเยา  ก่อตั้งขึ้นเพื่อต้องการเพิ่มศักยภาพประชาชนด้านการสื่อสาร เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเครื่องมือและเทคโนโลยีการสื่อสารดิจิทัลให้มากที่สุด ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ประชาชน หรือชุมชนควรเป็นผู้กำหนดการสื่อสาร กำหนดวาระของพวกเขา เพื่อแสดงออกถึงความต้องการและการมีอยู่ของพวกเขาให้ปรากฏในสังคมและสาธารณะได้เข้าใจได้ด้วยตัวพวกเขาเอง 

ผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี(2564) มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการจำนวน 21 ครั้ง สามารถให้บริการได้กับกลุ่มคนจำนวน 8 กลุ่ม คน รวมทั้งสิ้น 350 คน โดยหัวข้อมการฝึกอบรมบ่อยครั้งคือหัวข้อดังต่อไปนี้ 

• เทคนิคการใช้กล้อง อุปกรณ์การถ่ายภาพวิดีโอและการจัดองค์ประกอบภาพ 

• การถ่ายภาพนิ่งและภาพวิดีโอ 

• การสร้างสรรค์เรื่องเล่า 

• วิธีการเล่าเรื่องของชุมชน 

• การค้นหาประเด็นหรือวิธีการเลือกจุดสนใจเพื่อการเล่าเรื่อง 

• การเขียนบทเพื่อการผลิตอย่างง่าย 

• อุปกรณ์ต่อพ่วงเพื่อเพิ่มความสามารถของมือถือในการผลิต 

• การตัดต่อภาพและเสียงด้วยแอปพลิเคชันสำเร็จรูป 

• การส่งออกข้อมูลภาพและเสียงเพื่อเผยแพร่บนสื่อประเภทต่าง ๆ 

• การรู้เท่าทันสื่อและโทรศัพท์มือถือ 

• การลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติการผลิตสื่อชุมชน 

จากข้อมูลข้าง แสดงให้เห็นว่าคนในชุมชน ต้องการพัฒนาความรู้และทักษะด้านการสื่อสาร ในด้านการเป็นผู้ผลิตเนื้อหาใกล้ตัวด้วยเครื่องมือที่ใกล้ชิดคุ้นชิน ที่สามารถจัดการควบคุมได้ง่าย อย่างเข้าใจและใช้สื่ออย่างรู้เท่าทัน ส่วนความรู้และทักษะด้านอื่น ๆ เช่นการใช้ช่องทางการสื่อสารดิจิทัล หรือการผลิตสื่อในฐานะเป็นกลุ่มหรือสื่อชุมชน เป็นประเด็นที่คนในชุมชนต้องไปไม่ถึงและไม่สะท้อนออกมาในการเสนอความต้องการให้กับเรา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนในชุมชนยังต้องการพัฒนาความรู้และทักษะพื้นฐานในการเล่าเรื่องเป็นถ่ายคลิปเองได้ก่อน ดังนั้นเราจึงยังมองเห็นโอกาสที่จะการบ่มเพาะและพัฒนาผู้คนให้ไปถึงการเป็นเจ้าของช่องทางการสื่อสารที่พวกเขาสามารถบริหารและจัดการได้เองต่อไป 

ศูนย์สื่อชุมชนจะได้มีการจัดตั้งและให้บริการสตูดิโอชุมชน โดยสตูดิโอชุมชนศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชน จัดตั้งขึ้นบนฐานคิดว่า สตูดิโอคือเครื่องมือสำคัญสำหรับการเพิ่มศักยภาพด้านความรู้ความเข้าใจด้านสื่อ ที่สามารถเพิ่มพลังเสียง เรื่องเล่า หรือการแสดงออกของคนในชุมชนให้กับสังคมได้รับรู้และยอมรับการมีอยู่ของพวกเขา ใช้ วิธีการบริหารจัดการที่ เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงและเข้ามาใช้ประโยชน์ (Public Access Studio) สำหรับผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรมจากศูนย์เรียนรู้ฯ สามารถยืมอุปกรณ์และเข้าใช้งานสตูดิโอชุมชน เพื่อผลิตหรือการฝึกฝนต่อยอดองค์ความรู้ในด้านการผลิตสื่อเพื่อการพัฒนาชุมชน โดยศูนย์ฯ ได้จัดเตรียมพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการผลิต วิธีการใช้เครื่องมือทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ระบบการเชื่อมต่อรวมถึงการใช้โปรแกรมทางด้านภาพและเสียงที่ทันสมัยเป็นปัจจุบัน  สำหรับแนวทางการพัฒนาต่อยอดสตูดิโอชุมชนในอนาคต เราตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริม พัฒนาเครื่องมือการผลิตสื่อที่ทันสมัยและเพิ่มเติมความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่องและใช้ผลงานการผลิตสื่อหรือเรื่องเล่าของของคนในชุมชนเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างชุมชนกับผู้คนเพิ่มมากขึ้น  รายละเอียดเพิ่มเติม ติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/CMLCUP 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ