การบรรยายโดยผศ.ดร. พรรษาสิริ กุหลาบ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ Keynote Speaker ในงานเสวนาออนไลน์ “คน-ชุมชนและสื่อ”ครั้งที่ 1 เวทีแห่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักวิชาการ นักวิชาชีพสื่อทั้งระดับชาติ สื่อดิจิทัล ร่วมกับสื่อชุมชนและนักสื่อสารชุมชนในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสื่อชุมชน จัดโดยศูนย์การเรียนรู้สื่อชุมชนมหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 20 พฤจิกายน 2565
ก่อนอื่นดิฉันขอกล่าวถึงภาพรวมภูมิทัศน์ และนิเวศน์การสื่อสารบนพื้นที่ออนไลน์ และโอกาสที่เอื้อต่อการเสริมสร้างอำนาจต่อรองให้กับภาคประชาชน โดยขอนิยามความหมายของสื่อพลเมืองหรือการสื่อสารภาคพลเมือง ในที่นี้ คือ ประชาชนที่ใช้สิทธิการสื่อสารสู่สาธารระ ซึ่งค่อนข้างกว้าง เนื่องจากการขยับขยายของช่องการการสื่อสารโดยเฉพาะทางออนไลน์ ทำให้ผู้สื่อสารไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มก้อนเดียวหรือว่าสามารถระบุกลุ่มคนได้อย่างชัดเจนเหมือนก่อน ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะมีจุดร่วมเดียวกันก็คือการใช้เสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น แต่ก็จะมีแนวทางในการนำเสนอเนื้อหา การดำเนินงานและบทบาทที่แตกต่างหลากหลายกันไป และก็มีเป้าหมายในการสื่อสารที่แตกต่างกันด้วย เพราะว่าบางคนอาจจะใช้ในการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ บางคนอาจจะสื่อสารเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเองสนใจ วัฒนธรรมย่อย อัตลักษณ์ของกลุ่ม หรือว่าเป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่ บางคนอาจจะใช้เพื่อการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือแม้กระทั่งบางคนอาจจะใช้เพื่อการสื่อสารข้อมูลเท็จ ข้อมูลบิดเบือน สร้างความเกลียดชังซึ่งก็เป็นสิ่งที่แตกต่างกันไป ดังนั้นในบางทีมันจะยากเหมือนกันที่จะอธิบายว่า ใครเป็นคือสื่อพลเมืองกันแน่
ในเชิงวิชาการ อาจนำแนวคิดเรื่องความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยหรือว่าแนวคิดด้านประชาสังคมมาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งว่าต้องเป็นเนื้อหาที่ตอบสนองต่อประโยชน์ของสาธารณะหรือประโยชน์ชุมชน หรือเป็นการผลิตที่ไม่หวังกำไรเท่านั้นถึงจะเรียกว่าเป็นสื่อพลเมืองได้ แต่ถ้าเรากำหนดแบบนี้ อาจจะทำให้เราไม่เห็นภูมิทัศน์ที่กว้างขวางและผู้เล่นที่หลากหลาย จะทำให้มองไม่เห็นปฏิสัมพันธ์ของผู้เล่นเหล่านี้เพราะว่าในการสื่อสารซึ่งมีมีพลวัตก็มีความลื่นไหลไปเรื่อยๆตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเมืองอย่างเช่น กลุ่มคนที่เดิมอาจจะสื่อสารกันเรื่องของอัตลักษณ์กลุ่มหรือว่าเรื่องของวัฒนธรรมย่อย ต่อมาก็กลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารเพื่อระดมคนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น
การพูดถึงสื่อพลเมืองในที่นี้ก็เลยจะพูดถึงประเด็นที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการสื่อสารของประชาชนในภาพรวม ไม่เฉพาะสื่อชุมชน และรวมถึงผู้ผลิตสื่อในระดับต่างๆ ด้วย เพราะภูมิทัศน์สื่อปัจจุบันจะมีหลากหลายกลุ่ม ซึ่งเราจะเห็นว่ามีการสื่อสารเฉพาะพื้นที่ เฉพาะประเด็น แนวทางการเล่าเรื่อง และบทบาทที่แตกต่างกันไปด้วย
แต่เมื่อมองทิศทางการสื่อสารของผู้เล่นต่าง ๆ ใน ภูมิทัศน์นี้ เราก็จะพบว่า ผู้เล่นรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลักหรือว่าองค์กรสื่อขนาดใหญ่ที่เรามักจะเรียกกันว่าสถาบันทางสังคมและทางการเมืองอื่น ๆ ก็ยังคงมีอิทธิพลในการกำหนดวาระข่าวสารอยู่ เพราะมีทรัพยากรการสื่อสารสาธารณะมากอยู่ แต่บางช่วงเวลาหรือบางประเด็นที่ผู้เล่นขนาดเล็ก เครือข่ายของภาคประชาชนก็สามารถที่จะผลักดันวาระขึ้นไปเพื่อให้ผู้เล่นรายใหญ่นำไปสื่อสารต่อยอดหรือแม้กระทั่งบางทีก็ท้าทายวาระข่าวสารหลักที่สังคมสนใจหรือว่ามีการกำหนดมาจากผู้มีอำนาจรัฐในสังคมบ้างเหมือนกัน
ขอยกตัวอย่างกรณีการสื่อสารเรื่องสิทธิชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย เมื่อช่วงต้นปีซึ่งเป็นประเด็นที่กำลังกำลังศึกษาอยู่ ก็จะเปรียบเทียบให้เห็นเพจ Facebook กับบัญชีทวิตเตอร์ที่สร้าง engagement ในสื่อสารประเด็นบางกลอยมากที่สุด 10 บัญชี
ด้านบนส่วนใหญ่ก็จะเป็นบัญชีขององค์กรสื่อมวลชนหรือว่า influencer ที่มีผู้ติดตามจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันถ้าลงมาดูในตัวบัญชีทวิตเตอร์ 10 บัญชีที่มีคนติดตามสูง เราจะพบว่าส่วนใหญ่เป็น account ของนักกิจกรรมและประชาชนซึ่งบางท่านอาจจะอยู่ในที่นี้ด้วย ทำให้เห็นว่าช่องทางการสื่อสารในปัจจุบันเพื่อให้ประชาชนที่เดิมอาจจะไม่ได้อิทธิพลเท่ากับองค์กรสื่อสามารถที่จะสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมได้รับรู้ประเด็นสาธารณะได้
หรืออีกกรณีในภาวะวิกฤติโควิด19 หรือว่าเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้น การสื่อสารกับคนในพื้นที่ก็ชี้ให้เห็นสภาพปัญหาที่ชุมชน หรือว่าที่คนในพื้นที่ตรงนั้น ซึ่งภาครัฐแล้วก็สังคมในวงกว้างอาจจะมองไม่เห็นหรือว่าละเลยไป นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นศักยภาพของชุมชนแล้วก็เครือข่ายภาคประชาชนในการที่จะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วก็ยังชี้ให้เห็นข้อมูลภาครัฐจะต้องจัดการด้วย
จากกรณีตัวอย่างเหล่านี้มันสะท้อนว่าอำนาจการสื่อสารซึ่งเดิมอยู่ในมือผู้เล่นรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางสังคมทางการเมืองที่มีทรัพยากรมีต้นทุนมีอำนาจอยู่แล้ว หรือว่า สื่อมวลชนถูกกระจายมายังประชาชนมากขึ้นแล้วก็เพื่อให้ประชาชนประชาชนที่มีอัตลักษณ์มีความต้องการมีความสนใจที่หลากหลาย สามารถจะสื่อสารประเด็นของตัวเองแล้วก็ต่อรองกับความหมายที่เคยถูกกำหนดนิยามโดยผู้เล่นรายใหญ่ได้มากขึ้น และอีกประเด็นคือการสื่อสารสร้างเเรงกระเพื่อมและขยายประเด็นเป็นกว้างใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่เป็นการประสานกันระหว่างสิ่งต่างๆไม่ว่าจะเป็นภาคสังคม นักวิชาการ สื่อมวลชน สื่อสาธารณะ หรือว่าประชาชนที่มีความสนใจหรือได้รับผลกระทบในเรื่องเดียวกันแต่อยู่คนละพื้นที่ ซึ่งในการประสานเครือข่าย นอกจากจะช่วยทำให้เสียงของประชาชนดังขึ้นแล้ว ยังทำให้เห็นความเชื่อมโยงของประเด็นการสื่อสารที่ก่อนหน้านี้อาจจะถูกสื่อสารและขับเคลื่อน ๆ ด้วยตัวเอง ไม่ได้นำมาเชื่อมโยงกับประเด็นอื่น เช่ นเรื่องของการกระจายอำนาจ การจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นที่ชุมชน หรือว่าการจัดการโรคระบาด การจัดการภัยพิบัติและความมั่นคงทางอาหารเป็นต้น ทุกอย่างสามารถเชื่อมโยงใหเห็นต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางโอกาสแล้วก็การขยายตัวของของภูมิทัศน์สื่อแล้วก็ปฏิสัมพันธ์ที่ที่หลากหลายของการสื่อสารที่เกิดจากภาคประชาชน ก็ยังมีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ทำให้ภาคประชาชนยังไม่สามารถที่จะสื่อสารได้อย่างคล่องตัวแล้วก็เป็นอิสระ
ประเด็นความท้าทายภายใน
ประเด็นแรก เป็นความท้าทายที่สื่อพลเมืองมักจะถูกมองว่าเป็นมือสมัครเล่นที่ไม่มีความน่าเชื่อถือเท่าไหร่เหมือนสื่อมืออาชีพ
เงื่อนไขที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาว่าคือ มือสมัครเล่น คือการไม่มีกรอบจริยธรรมวิชาชีพหรือว่าแนวปฏิบัติหรือว่า Code of conduct ที่ชัดเจน ดังนั้นก็เลยไม่สามารถจะเรียกคนกลุ่มนี้่ว่าเป็นสื่อได้ ทั้งที่ก็มีคำถามว่าสื่อมวลชนหรือสื่อมืออาชีพเขาปฏิบัติตามกรอบจริยธรรมวิชาชีพมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป
ต่อมาในส่วนของระบบธุรกิจของแพลตฟอร์มที่ที่ส่วนใหญ่สื่อพลเมืองพึ่งพิง ก็จะเน้นเรื่องของความถี่แล้วก็ตัวยอด engagement ของเนื้อหาทำให้ประชาชนที่สื่อสารหรือผลิตเนื้อหาบางส่วน ก็เน้นการนำเสนอเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจ แต่ก็อาจจะไปละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิมนุษยชน หรือว่าสื่อสารเนื้อหาที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
หรือขณะเดียวกัน ผู้ใช้สื่อบางกลุ่มเองก็มุ่งที่จะนำเสนอข้อมูลเท็จ ข้อมูลบิดเบือนด้วยวัตถุประสงค์บางประการเหมือนกัน โดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง จนบางทีแทนที่จะทำให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันด้วยข้อมูลอย่างมีอารยะในสังคม ก็อาจยิ่งนำไปสู่ความขัดแย้งแบ่งขั้วได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามการนำเสนอเนื้อหาในเชิงที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและคุณภาพของพื้นที่การสื่อสารกลับกลายเป็นภาพที่ทางผู้บริหารประเทศและเจ้าหน้าที่รัฐรวมถึงอาจจะมีภาคส่วนอื่นในสังคมด้วย เอามาใช้เหมารวมว่าสื่อพลเมืองเป็นอันตรายต่อศีลธรรมอันดี หรือบางทีตีความว่าการนำเสนอเนื้อหาที่ตั้งคำถามหรือวิพากษ์สถาบันที่มีอิทธิพลต่างๆของสื่อพลเมืองกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือว่าความสงบเรียบร้อยในสังคม เช่น มุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐต่อสื่อพลเมืองที่ไปรายงานการชุมนุมที่แยกดินแดง หรือว่านโยบายและมาตรการทางกฎหมายของรัฐบาลที่อ้างว่ามาปราบปรามข้อมูลเท็จหรือเฟคนิวส์ เป็นต้น
จริง ๆ แล้ว สื่อพลเมือง Influencer บางท่านก็ได้รับการยอมรับว่าสามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่มีความซับซ้อนได้ นำเสนอข้อเท็จจริงแล้วก็มีอิทธิพลในการที่จะกำหนดวาระข่าวสารทางสังคมพอสมควร แต่การจะสร้างความน่าเชื่อถือ การได้รับการยอมรับในความไว้วางใจ บางทีมันก็เลยถูกผลักให้เป็นเรื่องของส่วนบุคคลที่ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้หรือจะทำอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นๆ ซึ่งบางทีก็อาจจะขึ้นอยู่กับความเข้าใจแล้วก็ประสบการณ์ของผู้ผลิตแต่ละคนว่าจะทำยังไงให้ระดับความน่าเชื่อถือความไว้วางใจ หรือบางครั้งก็มองว่าการมียอด engagement สูง ๆ เป็นสิ่งเดียวที่กับการได้รับความน่าเชื่อถือแล้ว
ประเด็นก็คือการจัดการของปัจเจกหรือว่าการมาตรการคว่ำบาตรทางสังคมมีเวลาที่เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิของสื่อพลเมืองขึ้นบางทีอาจจะไม่ช่วยสร้างกระบวนการทางสังคมที่จะพัฒนาคุณภาพของสื่อพลเมืองและพื้นที่การสื่อสารมากนัก แล้วก็ยิ่งจะทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐมากขึ้นด้วย ซึ่งในปัจจุบันก็ก็ต้องยอมรับกัน ว่าไม่ได้เป็นหลักประกันในการที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากอยู่แล้ว
ดังนั้นในสภาวะที่สื่อพลเมืองยัง ไม่ได้รับการยอมรับหรือว่าถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นพิษเป็นภัย ก็ไม่เป็นผลดีนักต่อการการสร้างภูมิทัศน์และนิเวศทางการสื่อสารที่มีคุณภาพแล้วก็ส่งเสริมสิทธิทางการสื่อสารของประชาชน แต่ในเมื่อภูมิทัศน์สื่อกว้างขวางแล้วก็ซับซ้อนมันก็จะเป็นไปได้ยากเหมือนกันกับการที่จะมีเพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่งมากำกับดูแลเนื้อหาแล้วก็แนวทางการทำงานของผู้ใช้สื่อหรือประชาชนทั่วไป ยังไม่นับว่าจะใช้กรอบแนวคิดหรือว่าเกณฑ์แบบไหนที่จะมากำกับดูแล นอกจากนี้เรื่องของสิทธิทางการสื่อสารก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนพลเมืองอยู่แล้ว ดังนั้นแนวปฏิบัติของสื่อพลเมืองก็ไม่ใช่เรื่องของวิชาชีพ
ดังนั้นจะให้องค์กรวิชาชีพมากำกับดูแลก็ไม่น่าจะสอดคล้องกับพลวัตแล้วก็ความหลากหลายในการสื่อสารของสื่อพลเมืองเท่าไหร่ส่วนองค์กรกำกับดูแลของรัฐเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ ว่ากลายเป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิทางการสื่อหรือว่าสิทธิของผู้บริโภค
ดังนั้นในเมื่อการกำกับดูแลโดยรัฐหรือว่าการกำกับดูแลร่วม ไม่น่าจะตอบโจทย์ภูมิทัศน์การสื่อสารของภาคประชาชนที่ขยับขยายอย่างรวดเร็วได้ แล้วก็ไม่สามารถที่จะรับประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนได้จริง หนทางหนึ่งในการที่จะทำให้พื้นที่การสื่อสารของภาคประชาชนเชื่อถือได้ เป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้ทดลองสร้างสรรค์การสื่อสารรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงอาจจะเป็นเวทีในการอภิปรายแลกเปลี่ยนของสังคมอย่างเป็นอิสระและเท่าเทียมกันโดยไม่สร้างอันตรายต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจจะเป็นการพัฒนาพื้นที่การพัฒนาวัฒนธรรมในการที่จะใช้พื้นที่สื่อสารร่วมกันของผู้ใช้สื่อเอง โดยอาจจะยึดถือในคุณค่าหรือว่าฐานคิดบางประการร่วมกัน แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้แนวปฏิบัติชุดเดียวกันก็ได้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ที่คนจำนวนมหาศาล จะมาตกลงกันได้ว่าจะทำอย่างไรจะทำให้ยั่งยืนต่อไปได้อย่างไร แต่ว่าเครือข่ายที่เข้มแข็งอยู่แล้วยังเป็นผู้ได้ทดลองเริ่มต้น แล้วก็ร่วมกันปรับปรุงแนวปฏิบัติหรือว่าแนวทางกติกาการใช้พื้นที่สื่อร่วมกันไปได้เรื่อยๆก็อาจจะนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวปฏิบัติในการสื่อสารสู่สาธารณะอีกชุดนึงที่ถูกริเริ่มโดยภาคประชาชนแล้วก็กำหนดไปภาคประชาชนได้
ข้อดีอีกประการหนึ่งนอกจากการสร้างการมีส่วนร่วม การใช้พื้นที่สื่อสารแล้วอันนี้ยังเป็นการแสดให้สถาบันที่มีอำนาจ และผู้เล่นรายใหญ่ๆในพื้นที่สื่อสารให้เห็นว่าภูมิทัศน์แล้วก็นิเวศการสื่อสารที่ขับเคลื่อนโดยประชาชน มันไม่ใช่พื้นที่ที่ไม่มีขื่อมีแปว่าใครจะทำอะไรก็ได้ เพราะมีสิทธิ์ เสรีหรือว่ามีเพียงแรงจูงใจทางธุรกิจหรือว่าเจตนาที่จะมุ่งให้ร้ายกับคนอื่น อย่างเดียวอย่างที่เหมารวมกัน แต่ว่าพื้นที่นี้ยังมีศักยภาพในการเป็นพื้นที่ประชาชนสามารถจะใช้สิทธิทางการสื่อสารของตัวเอง ใช้เสรีภาพของตนเองควบคู่ไปกับการสร้างสังคมประชาธิปไตย ที่ผู้คนมาแชร์เรื่องราวข้อมูล เพื่อนำไปสู่การจรรโลงจิตใจ หรือว่าการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมก็ได้
มีตัวอย่างความพยายามสร้างแนวปฏิบัติแล้วก็มาตรฐานจริยธรรมของวิทยุชุมชน งานวิจัยที่ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต
เคยทำเอาไว้ ซึ่งมีข้อเสนอแนะจากการพูดคุยกับผู้ปฏิบัติงานในวิทยุชุมชนว่า แนวทางในการกำกับดูแลการ น่าจะเป็นเรื่องของการกำกับดูแลร่วมระหว่างผู้ปฏิบัติงานชุมชน กับองค์กรกำกับดูแล เพราะว่า เป็นเรื่องของการใช้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรสาธารณะดังนั้นการกำกับดูแลร่วมน่าจะเป็นโมเดลที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามผู้ดำเนินงานวิทยุชุมชน ก็เห็นว่าองค์กรกำกับดูแลไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือว่าองค์กรกำกับดูแลตนเองของชุมชน น่าจะเป็นเพียงหน่วยสนับสนุนเท่านั้น ต้องไม่แทรกแซงความเป็นอิสระ และอัตลักษณ์ที่หลากหลายของวิทยุชุมชน แนวทางการกำกับดูแลก็ควรจะถูกกำหนดถูกเริ่มโดยผู้ปฏิบัติงานแล้วก็สมาชิกในชุมชนเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานจริง แล้วก็มีเป้าหมายเพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของการสื่อสารมากกว่าที่จะจำกัดควบคุม
ถ้าหันมาดูในพื้นที่ออนไลน์บ้าง อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจอย่างเช่นในช่วงแรกๆ ของ พื้นที่การสื่อสารทางออนไลน์เริ่มคึกคักเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว มีการเสนอแนวคิดเรื่องของมารยาทในการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อให้ผู้ใช้สื่อเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน หรือว่าอย่างเช่นการพัฒนาแนวปฏิบัติชุมชนของวิกิพีเดียที่ ให้ผู้ที่เอาข้อมูลมานำเสนอ มีอิสระในการนำเสนอข้อมูลได้ แต่ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ท่านอื่นๆมาตรวจสอบแล้วก็ปรับแก้ไขได้ เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องแล้วก็ครบถ้วน รวมทั้งมีกลไกในการยุติข้อขัดแย้งด้วยถ้าเกิดมีความไม่ลงรอยกันขึ้น หรือปัจจุบันกระแสการเรียกร้องให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต้องพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานชุมชนและกลไกการตรวจสอบเนื้อหาที่มีประสิทธิภาพ ก็กดดันให้บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากขึ้น ถึงแม้จะขยับไปอย่างช้าก็ตาม ทั้งนี้เพื่อจะได้รับประกันเสรีภาพในการใช้ในการพูดในการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้สื่อ
แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่การสนทนาที่ไม่สร้างความสับสนหรือว่าร้ายกับคนอื่นกับคนอื่นด้วย แม้ตัวอย่างที่ยกมาเหล่านี้อาจจะค่อนข้างเก่าแล้วก็บางอันก็ยังไม่มีประสิทธิภาพหรือว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ ว่ายังไม่ลงตัว ไม่นิ่งและไม่มีประสิทธิภาพจริงแต่อย่างน้อยก็น่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นช่องทางในการมีส่วนร่วมของผู้ใช้สื่อของภาคประชาชนในการที่จะมาร่วมการพัฒนาแนวปฏิบัติในการสื่อสารของพลเมืองที่ควรจะเป็นไปได้ซึ่งอาจจะเป็นแรงผลักดันในการทำให้เกิดการริเริ่มและปรับปรุงต่อไปได้
ประเด็นที่สอง ที่เป็นความท้าทายภายในตัวภูมิทัศน์แล้วก็การสื่อสารของภาคประชาชน นอกจากเรื่องของการสร้างความน่าเชื่อถือและความท้าทายประการหนึ่งก็คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนเห็นว่าผู้ผลิตสื่อมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้วก็การมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมืองของพวกเขาพอที่จะให้การสนับสนุน ไม่ให้ผู้ผลิตสื่อล้มหายตายจากไปได้ ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ทางองค์กรสื่อทั้งเชิงพาณิชย์แล้วก็องค์กรไม่หวังกำไร เริ่มให้ความสำคัญกันมากขึ้นก็คือการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้รับสารในรูปแบบต่าง ๆ โดยมีหน่วยที่รับผิดชอบในการผลิตเนื้อหาแล้วก็สร้างกิจกรรมเพื่อสร้างความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์กับผู้รับสาร และมีการระดมทุนด้วย หน่วยงานนี้ไม่เพียงแต่วิเคราะห์สถิติข้อมูลหลังบ้านของแพลทฟอร์มที่ใช้เท่านั้นแต่ว่าจะนำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาต่อยอดเพื่อจะผลิตเนื้อหาที่จะทำให้ผู้รับสารได้ประโยชน์จากการติดตามองค์กรมากขึ้นแล้วก็จะนำไปสู่การที่ประชาชนเห็นความสำคัญแล้วก็ไว้วางใจองค์กร
ในช่วงการระบาดของ covid 19 ที่สื่อท้องถิ่นหลายแห่ง ในประเทศตะวันตกได้รับเงินสนับสนุนค่าสมาชิกกับคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้นเพราะว่าเกาะติดประเด็นที่เป็นปัญหาหรือว่าข้อมูลที่คนในพื้นที่ต้องการทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำอย่างนี้ได้ก็เพราะว่ากองบรรณาธิการหรือผู้ผลิตสื่อหรือก็เป็นคนในพื้นที่แล้วก็ประสบปัญหาด้วยเช่นกัน ก็จะทราบว่าคนในพื้นที่กังวลและต้องการรู้อะไรและนำเสนอประเด็นที่จำเป็นจริงๆ
เมื่อประชาชนเห็นว่าองค์กรสื่อมีความสำคัญก็จะยินดีจ่ายเงินสนับสนุนแล้วก็ขับเคลื่อนเพื่อให้องค์กรอยู่รอด
แต่อย่างไรก็ตามสุดท้าย บอกไว้นิดนึงก่อนว่าตอนจบของเรื่องนี้จริงๆก็ไม่ค่อยสวยงาม เพราะว่าแรงสนับสนุนจากประชาชนไม่ใช่สิ่งที่อยู่คงทนถาวร แล้วก็การดำเนินงานของสื่อก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่นที่จะกล่าวถึงต่อไปด้วย ดังนั้นท้ายที่สุดแล้วสื่อท้องถิ่นจำนวนไม่น้อย ก็ต้องปิดตัวลงเหมือนกันเพราะว่าไม่สามารถจะสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่องได้
ประเด็นการสร้างชุมผู้รับสารที่จะนำไปสู่การสร้างความไว้วางใจกับประชาชนให้เขามาสนับสนุนการทำงานขององค์กรสื่อ ไม่ว่าจะเป็นระดับใดก็ตาม คงไม่สามารถจะใช้กลยุทธ์ทางการสื่อสารในรูปแบบการสื่อสารที่น่าสนใจได้อย่างเดียว แต่ว่าจำเป็นจะต้องปรับวิธีคิด ของผู้ผลิตสื่อที่มีต่อผู้รับสารด้วย
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยีจะเอื้อให้ผู้ผลิตสื่อสามารถจะนำข้อมูลผู้รับสารมาใช้ประกอบการพิจารณา ในการกำหนดนโยบายหรือแนวทางผลิตเนื้อหาที่เฉพาะเจาะจงตามสนใจของผู้รับสารในช่วงใดช่วงหนึ่งได้ แต่ว่าวัฒนธรรมการทำงาน และมุมมองขององค์กรสื่อต่อผู้รับสารตามขนบเดิม มักจะเป็นมุมมองแบบบนลงล่าง เห็นว่าประชาชนเป็นผู้บริโภค ดังนั้นจะทำอย่างไรให้การผลิตเนื้อหาตอบสนองความสนใจของผู้บริโภคในขณะใดขณะหนึ่ งเพื่อที่เนื้อหานั้นจะได้ถูกเข้าถึงแล้วก็มีปฏิสัมพันธ์หรือ สร้าง engagementได้
การนำข้อมูลเหล่านี้มาเพื่อผลิตเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานขององค์กรเองมากกว่า ไม่ใช่เรื่องผิด แต่การจะสร้างความไว้วางใจในระยะยาวอาจจะยากนิดนึง เพราะว่าถึงแม้ว่าการให้ความสำคัญกับความสนใจของผู้รับสารในขณะใดขณะหนึ่งมันเป็นเรื่องสำคัญ แต่ปริมาณไม่น่าจะเป็นปัจจัยเดียว ในการกำหนดเป้าหมายการสื่อสาร เพราะมุมมองนี้ทำให้มองประชาชนเป็นเบี้ย ถ้าจะสร้างชุมชนผู้รับสารที่เหนียวแน่นที่มีความไว้วางใจผู้ผลิตสื่อไม่ว่าจะระดับใดก็ตาม น่าจะต้องเปลี่ยนมุมมองจากการมองประชาชนผู้รับสารโดยพิจารณาว่าประชาชน เขาเป็นหุ้นส่วนในการสร้างนิเวศสื่อที่มีคุณภาพได้ ดังนั้นผู้ผลิตจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากคนที่คอยป้อนข้อมูล เป็นผู้รู้ เป็นผู้ให้ อยู่ฝ่ายเดียว เหมือนอย่างที่ผ่านมา แต่ควรพิจารณาว่าจะเป็นคนที่จะคอยช่วยสร้างบทสนทนาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ พื้นที่การสื่อสาร แล้วก็มีอำนาจมีศักยภาพที่จะสื่อสารเรื่องของตนเองได้อย่างไร ควบคู่กันไปกับบทบาทเดิมก็คือการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ ที่น่าเชื่อถือเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคมทางการเมืองของประชาชนได้
ซึ่งจริงๆแล้วประเด็นนี้สื่อพลเมืองหรือ เครือข่ายหลายท่านอาจยิ้ม บางท่านอาจจะเป็นนักกิจกรรมหรือว่าองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานกับชุมชนอยู่แล้ว ดังนั้นอันนี้เป็น Concept ที่ท่านใช้อยู่แล้วในการทำงานกับชุมชน ดังนั้นความท้าทายจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนคนอื่นๆ ที่ยังไม่ตระหนักในอำนาจการสื่อสาร เห็นความสำคัญและพลังของการสื่อสาร และการเพิ่มศักยภาพในการสื่อสารให้เขาเชียวชาญมากขึ้น รวมถึงการที่จะทำให้เขาเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการผลิตสื่อในการสื่อสารในระดับต่างๆ โดยไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้ให้ข้อมูล ผู้ร่วมผลิต หรือว่าผู้กำหนดนโยบายการทำงานของสื่อพลเมืองเอง อันนี้จะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนของตัวสื่อพลเมืองได้
ความท้าทายภายในน่าเป็นโจทย์ที่ทางการสื่อสารของภาคประชาชนอาจจะลองคิดต่อว่า ถ้าจะทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือได้รับการยอมรับได้รับการไว้วางใจจะทำอย่างไรต่อไป แต่ว่าถึงแม้ผู้ผลิตสื่อการจัดการกับปัจจัยเหล่านี้ได้ ก็ยังมีปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อการทำงานแล้วก็กำหนดทิศทางของสื่อพลเมืองเช่นกัน
ปัจจัยภายนอกประการแรก ก็คือการสร้างเงื่อนไขและข้อจำกัดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม แม้ว่าตัวแพลตฟอร์ม จะช่วยขยายภูมิทัศน์และนิเวศการสื่อสารของประชาชน แต่ว่าทั้งผู้ผลิตสื่อรายใหญ่แล้วก็ภาคพลเมืองเองต้องรับมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เขาก็จะเปลี่ยนทั้งอัลกอริทึม หรือตัวระบบหรือแม้กระทั่งตัวนโยบายอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งบางเรื่องอาจจะไม่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้วก็ไม่ได้ช่วยสร้างพื้นที่สาธารณะนิเวศการสื่อสารที่มีคุณภาพด้วย
ในช่วงประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมาทางผู้ให้บริการออนไลน์แล้วก็ Social Media เผิชญกับกระแสการเรียกร้องไห้ต้องปกป้อง คุ้มครองสิทธิของประชาชนมากขึ้นเพราะว่ามันมีหลายกรณีที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำการที่ประโยชน์ของทางธุรกิจขององค์กรมากกว่าประโยชน์ของผู้ใช้สื่ออย่างที่กล่าวอ้างรวมถึงไม่ได้ช่วยสร้างพื้นที่ทางการสื่อสารที่สร้างเสริมให้ประชาชนเข้าใจความหลากหลายในสังคมประชาธิปไตยด้วย
เหตุผลนี้ผู้ผลิตสื่อทั้งในระดับองค์กรแล้วก็สื่อพลเมืองจึงควรจะทำความเข้าใจกับการทำงานของแพลตฟอร์มแล้วก็ทิศทางการบริหารของบริษัทเหล่านี้ โดยไม่พิจารณาเพียงในเชิงเทคนิคว่าจะใช้แพลทฟอร์มเพื่อสื่อสารเนื้อหาของตัวเองให้เข้าถึงผู้รับสารหรือว่าจะหารายได้ได้อย่างไร ควรจะเข้าใจตัวนโยบายแล้วก็กลไกที่ขับเคลื่อนเเพลตฟอร์ม ว่าปกป้องคุ้มครองสิทธิทางการสื่อสารของประชาชนสิทธิผู้บริโภคของประชาชนหรือเปล่า เพื่อที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงกดดันหรือว่าต่อรองกับบริษัทเหล่านี้ที่นับวันก็มีอิทธิพลในการกําหนดภูมิทัศน์การสื่อสารมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อความอยู่รอดของตัวเองเท่านั้นว่าฉันจะได้มีพื้นที่ในการสื่อสารต่อได้แต่ว่าจะได้ช่วยกันรับประกันสิทธิทางการสื่อสารของประชาชน แล้วก็จะได้ช่วยกันสร้างพื้นที่ทางการสื่อสารในพื้นที่ในการสนทนาที่มีคุณภาพสำหรับประชาชนและสังคมประชาธิปไตยในระยะยาวได้
ข้อท้าทายสุดท้ายเป็นปัจจัยภายนอกเพราะว่าดูเหมือนว่าจะจัดการไม่ได้แต่ว่ามีอิทธิพลมากในการกำหนดภูมิทัศน์และนิเวศการสื่อสารในภาพรวมไม่ว่าจะในระดับใดก็ตาม ก็คือหากระบอบการเมืองภาพรวมทั้งในประเทศและทางโลก ถ้ายังจำกัดสิทธิทางการสื่อสารมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอยู่ นอกจากนี้ยังทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจก็เป็นไปอย่างกระจุกตัวมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น รวมทั้งยังเป็นการบริหารงานที่ยังรวมศูนย์ ยังไม่ส่งเสริมการกระจายอำนาจ โอกาสที่ สื่อมวลชน สื่อพลเมืองหรือประชาชนทั่วไปจะได้สื่อสารกันอย่างเสรีเสมอภาคก็น่าจะมีน้อยตามด้วย
ตั้งเเต่หลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ระดับเสรีภาพของสื่อ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและก็พื้นที่ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นสถิติที่องค์กรระหว่างประเทศแล้วก็ภาคสังคมในประเทศไทยติดตามอยู่ ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการทางกฎหมายแล้วก็ปฏิบัติการด้านอื่นๆของทางภาครัฐแล้วก็กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆที่จะใช้ในการจำกัดสิทธิทางการสื่อสารและเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ การชุมนุมทางการเมืองซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิทางการสื่อสาร การรายงานข้อเท็จจริงของสื่อ แล้วก็การตั้งคำถามหรือการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่างๆ ที่มีอำนาจไม่ได้รวมถึงแค่สถาบันทางการเมืองเท่านั้น
ข้อสังเกตอีกประกาศหนึ่งก็คือการที่ตัวรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรทางการสื่อสารที่สำคัญถูกโยกมาอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ แทนที่จะเป็นหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหมือนอย่างในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เราอาจจะพอทราบกันว่าเป็นผลมากจากการขับเคลื่อนของประชาชน
สิ่งที่น่าสนใจในมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็คือ ระบุบว่าการใช้คลื่นความถี่ตามรัฐธรรมนูญนี้ ประชาชนไม่ใช่เป้าหมายเดียวที่จะต้องคำนึงถึงในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เหมือนอย่างรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่เป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศและประโยชน์สาธารณะด้วย ซึ่งก็ต้องมานิยามกันอีกว่าหมายถึงอะไร แตก็เป็นข้อสังเกตส่วนตัวว่าจากฐานคิดนี้ก็เป็นไปได้หรือเปล่าที่ว่า เราก็เลยเห็นการจัดสรรคลื่นความถี่ทีวีดิจิทัล หรือว่าการดำเนินงานในวิทยุชุมชนที่เผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่ตลอดและก็เป็นอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ จะต้องขบคิดกันต่อ
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเราจะได้สื่อที่มีคุณภาพ เราอาจจะมีเทคโนโลยีทางการสื่อสารที่ทันสมัยประชาชนเข้าถึงได้ หรือว่าการได้รับการการจัดสรรคลื่นความถี่ ก็ตามแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่มีความหมายเลยถ้าประชาชน ไม่สามารถที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองได้ตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ เพราะเขาจะไม่เห็นว่าทำไมฉันจะต้องสื่อสาร ทำไมจะต้องได้รับข้อมูลข่าวสารมากมาย แต่ฉันไม่มีอำนาจที่จะเข้านำข้อมูลเหล่านี้เข้าไปกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองหรือว่าเข้าไปกำหนดนโยบายสาธารณะได้
ดังนั้นสื่อมวลชนและสื่อพลเมืองถึงต้องเป็นแนวร่วมในการที่จะต้องคุ้มครอง ปกป้องสิทธิเสรีภาพ เหล่านี้ให้กับประชาชน อันนี้ไม่ใช่การเข้าข้างข้อเรียกร้องของผู้เรียกร้องกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ว่ามันเป็นการยึดมั่นในหลักปรัชญาพื้นฐานของการสื่อสาร ซึ่ง จะมีผลต่อการดำรงอยู่ของสื่อ ไม่ว่าจะโดยใครหรือว่าประเภทใดก็ตาม แน่นอนว่าในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในอาจจะแตกต่างกันไปบางกลุ่มอาจจะใช้การดำเนินงานผ่านช่องทางการเมืองปกติ บางกลุ่มอาจจะใช้ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงหรือบางกลุ่มอาจจะใช้การเคลื่อนไหวทางสังคมหรือแบบอื่น แต่ที่สำคัญคือต้องเห็นตรงกันว่า เสรีภาพแสดงความคิดเห็นเป็นเสาหลักหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยก่อน