เรื่องราวจากชุมชม จะยกระดับให้สากลได้อย่างไร?

เรื่องราวจากชุมชม จะยกระดับให้สากลได้อย่างไร?

ประเด็นของชุมชนจะทะลุทะลวงใจคนนอกพื้นที่ และยกระดับสากลได้อย่างไร? เก็บประเด็นจากวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้จาก #ผู้หนุนเสริมเนื้อหาจากชุมชน เนื้อหาหนึ่งจากงานเสวนาประจำปี คน-ชุมชนและสื่อ ศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชน มหาวิทยาลัยพะเยา

ทำไมข้อมูลข่าวสารจากชุมชนยังสำคัญกับโลกสมัยใหม่

สุรชัย เงินคำคง ฝ่ายรายการ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ภาคเหนือ

“เนื้อหาของท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างมากต่อกรมประชาสัมพันธ์ เพราะเราเป็นสื่อของภูมิภาค ชุมชนมีความคิดความรู้ความเชื่อม เชื่อมโยงกับความเป็น NBT ภาคเหนือ ที่ถูกหยิบยกมานำเสนอผ่านข่าวสาร รายการโทรทัศน์ สารคดี คลิปต่าง ๆ ล้วนต้องพึ่งพาเนื้อหาจากชุมชนที่มีความหลากหลาย ที่สำคัญคือการนำมาเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐ”

หลายคนมักจะคิดว่าเอ็นบีทีเป็นสื่อของรัฐ ดังนั้นก็จะนำเสนอแต่เรื่องของภาครัฐหรือไม่ ขอตอบว่าไม่จริง เพราะก็ยังนำเสนอเรื่องเล็ก ผ่านวิธีการเชื่อมโยงกับนโยบายรัฐ เช่น คนที่การตัดหญ้า เป็นจิตอาสา จิตสาธารณะ ก็จะนำเสนอว่าพอคนทำความดีแล้วรู้สึกกับชุมชนอย่างไร หรือนำเอาอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ภาษา อาหาร การแต่งกายนำเสนอเชื่อมโยง เช่น โยงกับเรื่องฝุ่นควัน หรือสิ่งที่สามารถทำประโยชน์ของท้องถิ่น

ชัยวัฒน์ จันธิมา บรรณาธิการ พะเยาทีวี 

“ถ้าสื่อมีความต่อเนื่องและตอบสนองกับชุมชนได้ คงไม่ต้องมีพะเยาทีวี บางทีสื่อสาธารณะระดับประเทศก็ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนได้ทั้งเนื้อหาและรูปแบบ แม้ไทยพีบีเอสและช่อง 11 จะมีความตั้งใจที่ดีก็ตาม”

ดังนั้นสื่อชุมชนจึงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั้งก่อนโควิดและหลังโควิด ยกตัวอย่างหลังโควิด พบว่าข้อจำกัดในการย้ายที่ย้ายถิ่นของมนุษย์ทำให้สื่อชุมชนมีความจำเป็นมากขึ้น มีตัวตนและมีคนติดตามเยอะขึ้น กรณีพะเยาทีวี ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เป็นคนพะเยา ที่เหลือเป็นคนที่อยู่กทม.และต่างประเทศ

ความสำคัญของสื่อชุมชนมีความสำคัญต่อคนในชุมชนอย่างมากโดยเฉพาะในสถานการณ์ภัยพิบัติหรือโรคระบาด หรือกระทั่งความขัดแย้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน ในอนาคตสื่อชุมชนจะมีอยู่ 3 ระดับ ได้แก่ หนึ่ง ระดับนโยบาย ช่วยให้เกิดการพัฒนาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา เช่น สื่อชุมชนเปิดหน้าขายของให้กับชุมชนที่มีธุรกิจ ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานระดับชุมชน สอง ระดับสังคมสามารถระดมทุนในท้องถิ่น สาม ระดับบุคคล คือเรื่องการส่งเสริมอาชีพ คือทำให้เกิดการจ้างงานและลดความเสี่ยงในการใช้ชีวิต สื่อชุมชนสามารถตอบสนองกับคนในท้องถิ่นได้ เช่น ชี้จุดเสี่ยงระดับชุมชน หรือไทม์ไลน์ที่มีรายละเอียดย่อยซึ่งหาไม่ได้จากสื่ออื่น ๆ 

“สื่อชุมชนมีพื้นที่และเวลาเฉพาะของตัวเอง ในสองสามปีที่ผ่านมามีเพจระดับจังหวัดและระดับอำเภอที่กลายเป็นที่พึ่งพิงและมีการโต้ตอบอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีดราม่าอยู่บ้างแต่ก็มีกระบวนการที่จะควบคุมไม่ยกระดับไปมากกว่านั้นได้” 

บรรณาธิการ พะเยาทีวี เล่าอีกว่า จากประสบการของพะเยาทีวีพบว่าสื่อชุมชน ทำหน้าที่ในหลายลักษณะ หนึ่ง เป็นคลังบันทึกข้อมูลความเคลื่อนไหวในพื้นที่ สอง เป็นตะแกรงตรวจสอบข่าวสารจากภายนอกที่ไหลเข้ามาก สาม สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ที่ถูกต้อง ซึ่งระยะหลังมีความสนใจในแง่นี้มากขึ้น มันมากกว่าอ่านคำสั่งของผู้ว่า หรือเชื่อตามที่แอดมินเขียนฝ่ายเดียว แต่มันมีกระบวนการตรวจสอบร่วมกันของผู้ใช้อยู่ด้วย สิ่งที่น่าสนใจคือสื่อชุมชนเกิดความไว้วางใจ เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ มันไม่ใช่แค่การทำข่าวเพื่อไลก์ แชร์เฉย ๆ แต่เป็นสิ่งที่มีการตรวจสอบ ช่วยเหลือกันได้

มเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส 

“ผมเห็นด้วยว่าการสื่อสารพัดออกจากสื่อหลักมาสู่คนธรรมดาสามัญ ในยุคก่อนการนำเรื่องของชาวบ้านมาออกอากาศจะถูกสอบทานเยอะมาก ว่า mass คนจำนวนจะดูเรื่อง “บ้านๆ” หรือไม่ แต่ทุกวันนี้แทบจะหมดคำถามนี้ไปแล้ว เพราะคนสามารถนำเสนอได้เองบนพื้นที่ออนไลน์ เพราะตัวสื่อบุคคลเป็นผู้ให้คุณค่ากับเนื้อหา เป็นผู้ผลิตและกระจายเนื้อหาในตัวเอง ตอนนี้เกิดกระแสของการกลับไปหาคุณค่าที่สังคมสมัยใหม่ลืมเลือนหรือปฏิเสธไป หรือกล่าวได้ว่าศูนย์กลางการผูกขาดการให้คุณค่าที่เคยผูกขาดจากส่วนกลาง หรือในกลุ่มคนจำนวนไม่มาก ได้กระจายไปสู่คนในสังคมหรือทั่วโลก

แล้วเนื้อหาที่ชุมชนมีอยู่มีความเป็นสากลหรือไม่ พบว่า ชุมชนท้องถิ่นมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ ไม่ได้อยู่นิ่งหรือตั้งรับ แต่ปรับตัวเปลี่ยนแปลงเสมอ และนิยามของชุมชนไม่ได้อยู่กับที่ อาจจะมีอัตลักษณ์ร่วมแต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เดียวกัน ความเป็นสากลจึงถูกจัดการผ่านตัวคนที่เป็นปัจเจก และเนื้อหายังสอดรับ/ปะทะสังสรรค์กับโลกาภิวัฒน์ แต่สิ่งที่ผมพบกับการสื่อสาร คือคนส่วนหนึ่งยังย้อนกลับไปค้นหารากของตัวเอง มีงานชิ้นหนึ่งที่นำเสนอเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว คนตกปลาโดยไม่ใช้เบ็ด มันยังมีคนสนใจงานชิ้นหนึ่ง ตกปลาของชาวลาหู่ จากที่เข้าไปดูคอมเม้นท์ 5-6 หมื่น พบว่าพอสื่อนำเนื้อหาจากชุมชนมานำเสนอ มันมาตอบสนองความโหยหาราก หรือสร้างประสบการณ์ใหม่ให้เขาพบว่ายังมีชีวิตอื่น หรือโจทย์อื่นว่าการมีชีวิตอยู่อาจจะไม่ได้ความว่าต้องอยู่ในเมือง

https://fb.watch/9pnWOlu1lr/

เนื้อหาจากชุมชนในส่วนที่ให้ประสบการณ์กับผู้ใช้ ได้รับความนิยมและถูกตอบรับดีมาก อย่างในเพจอยู่ดีมีแฮง เพจองศาเหนือ เพจแลต๊ะแลใต้ก็เป็นเนื้อหาของคนในท้องถิ่นเป็นคนผลิต ต้องเป็นคนข้างในหรืออย่างน้อยที่สุดเขาต้องเป็นคนออกแบบ และตอบโจทย์คนในพื้นที่ ไม่ใช่ตอบโจทย์คนทำ และยังพบว่าคนที่เข้าถึงเนื้อหาเหล่านี้ยังผลิตเนื้อหาต่อเนื่องหรือสร้างเนื้อหาใหม่ ๆ ต่อยอดจากสิ่งนำเสนอไปด้วย ดังนั้นเนื้อหาของชุมชนมันจึงไปต่อด้วยความที่มันมีชีวิต

“เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้เรียนรู้จากเรื่องภัยพิบัติมีน้ำท่วมที่จ.อุบลราชธานี แม้จะมีสื่อกระแสหลักลงไปทำงานจำนวนมาก แต่สื่อที่ประสบความสำเร็จทางการสื่อสารนอกจากสื่อสร้างสุข ยังมีสื่อระดับอำเภออย่าง วารินชำราบบ้านเรา มีผู้ติดตามกว่าล้านคน ขณะที่เพจนี้มีคนทำงานเพียง 2 คน ตัวเพจกลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ ให้ข้อมูลสถานการณ์ ประสาน จัดการความช่วยเหลือ แม้สื่อหลักจะเหมือนกันก็อาจจะใช้คนจำนวนมาก แต่ที่สื่อในท้องถิ่นทำแบบนี้ได้ เพราะเขามองว่ามันเป็นชีวิต เป็นเรื่องสำคัญของเขา”

“เนื้อหาของชุมชนท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญ อย่างน้อยมันเป็นเนื้อหาและเชื่อมโลกกับตัวชุมชน มากกว่าคนตรงกลาง”

Contents ชุมชนในดิจิทัลทีวี ประสบการณ์นักข่าวอาสา PPTV

พุทธิฉัตร จินดาวงศ์ หัวหน้ากองบรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี  

“เดิมเราแทบไม่เชื่อว่าคอนเทนต์อย่างนักข่าวอาสาจะไปอยู่บนสื่อพาณิชย์ได้ แต่มันเกิดขึ้นได้เพราะมีปัจจัยว่าเจ้าของสื่ออยากจะเห็นเนื้อหาแบบนี้ก่อน” 

โจทย์ของฝ่ายบริหารพีพีทีวี คือ ทำอย่างไรให้ข่าวของเราเป็นข่าวที่คนต้องดู ไม่ใช่แค่ข่าวตามกระแสหรือข่าวที่คนอยากดูอย่างเดียว และพีพีทีวีจะเป็นพื้นที่รายงานข่าวจากทั่วทุกมุมโลก ผ่านเครือข่ายการรายงานข่าวและเล่าโดยเจ้าของเรื่องเจ้าของคอนเทนต์ หรือรายงานข่าวจากคนทั่วประเทศไม่ใช่สตริงเกอร์ ที่มักจะมีเนื้อหาและภาพไม่ต่างกับช่องอื่น ๆ นำเสนอ 

เมื่อตั้งโจทย์แบบนี้ฝ่ายข่าวก็ต้องออกแบบและจัดการ ตัวเรตติ้งในช่วงคอนเทนต์จากชุมชน หรือนักข่าวอาสามันกลายเป็นหลุม หรือจุดที่เป็นช่องโหว่ และพบว่าต้องใช้กระบวนการทางเทคนิคทำอย่างไรจะทำให้ความยาวมีความเหมาะสม รูปแบบการรายงานจากภาพที่ดี และจังหวะที่ดีของประเด็นที่สอดคล้องกับความสนใจของสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ เราก็พัฒนามีกระบวนการการเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบคอนเทนต์กับเครือข่ายนักข่าวอาสา ซึ่งเครือข่ายนี้ก็ขึ้นตามธรรมชาติ และมีทีมจากฝ่ายข่าวคอยช่วยแนะนำว่าถ้าจะรายงานสิ่งที่เขาสนใจจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง

หทัยรัตน์ พหลทัพ The Isaan Record

“คนก่อตั้งอีสานเรคเคอร์ 2 คน ไม่ใช่คนไทยแต่เป็นคนอเมริกันที่เห็นว่าวัฒนธรรมของอีสานแทบไม่ปรากฏในโลกภาษาอังกฤษ หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นคอนเทนต์ท้องถิ่นที่มองผ่านสายตาคนต่างชาติ และชาวต่างชาติที่มาเขียนเรื่องราวของคนอีสาน แต่เมื่อเริ่มทำภาษาไทยก็เริ่มมีลูกอีสานมาเขียน หรือมีฟรีแลนซ์ มีนักวิชาการ มีนักข่าวช่วยทำเป็นรายชิ้นมันก็ยังไม่เพียงพอกับเนื้อหาที่มีอยู่มากมายในภาคอีสาน”

ตอนที่เริ่มทำงาน The Isaan Record เมื่อสองปีที่แล้วเอากางแผนที่ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนตรงไหนมากที่สุด ก็พบว่าเป็นบ้านของตัวเองที่บ้านดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา มีแกนนำถูกฆ่าตาย 4 คน โดยที่เราไม่รู้มาก่อนเลยในสมัยที่เป็นนักข่าวที่กรุงเทพ พอได้ขุดคุ้ยนำเสนอการต่อสู้ของชาวบ้าน สื่อในพื้นที่สื่อสาร ส่งเสียงออกไป ก็ช่วยทำให้ชาวบ้านมีความเข้มแข็งมากขึ้น สื่อส่วนกลางก็ให้ความสนใจ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การปิดเหมืองฟื้นฟู และดีเอสไอก็ลงมาติดตามตรวจสอบการฆาตกรรมเหล่านั้น

“การทำข่าวที่มีคนในทำออกไป มันจะส่งเสียงดังกว่าคนนอกที่เข้ามาเพียงแค่ 2-3 ชั่วโมง มันไม่มีทางที่จะเข้าใจความเจ็บปวดของคนที่ดงมะไฟได้หรอก”

ปีที่ผ่านมาอีสานเรคเคอร์เห็นยอดวิว ปรากฏว่าคนที่ดูเราเป็นคนในเมือง คนกรุงเทพประมาณ 60% นอกนั้นเป็นคนตามหัวเมืองใหญ่

หทัยรัตน์ เล่าว่า มียอดวิวที่น่าสนใจจากซีรีส์ 1 ทศวรรษเลือด 53 เป็นปรากฏการณ์แรก ๆ ที่มียอดดูเป็นล้าน ซึ่งก็ทำให้ทีมงานเกิดความสงสัย เพราะในตอนนั้นมียอดติดตาม 1 แสนกว่า ๆ เท่านั้น แต่หลังจากนั้นพอผลิตซีรีส์เรื่องเมียฝรั่งอีสาน เป็นชุดงานที่นำเสนอประวัติศาสตร์ นโยบาย การเปิดประเทศ นโยบายการสร้างไนต์คลับในหัวเมือง มันสร้างปรากฏการณ์และผลกระทบทิ้งไว้ จนนำมาสู่ข้อกล่าวหาว่า “ผู้หญิงอีสานต้องการขุดทองเลยต้องการแค่จะมีผัวฝรั่ง” บางคลิปมีคนดูถึง 10 ล้านวิว หลังจากนั้นมา จึงพบว่าเนื้อหาจากชุมชนหรือที่มาจากพื้นที่ก็สามารถสร้างปรากฏการณ์ทางสังคม และมีความคาดหวังกลับมายังคำถามกับมาถึงอีสานเรคคอร์ด ว่าจะสร้างความเข้าใจให้กับชาติพันธุ์ลาว หรือคนที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พอทำสื่อที่มีลักษณะเป็นภูมิภาคนิยมก็จะเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้มากขึ้น หลัง ๆ มาพยายามจะทำในเรื่องราวประวัติศาสตร์ของความอยุติธรรม การไม่กระจายอำนาจ เพราะคนถกเถียงกันในประเด็นเหล่านี้ มักจะถามหาว่าคนอีสานเผชิญกับสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมประวัติศาสตร์ของผู้คนเหล่านี้จึงถูกกลบ และพอทำเรื่องนี้ก็จะมีสื่อส่วนกลางมาติดต่อของแหล่งข่าว

สื่อสารแบบไหน เนื้อหาจากชุมชน จะต๊าช/touch กับสากล โดนใจคนนอกวัฒนธรรม

สมเกียรติ ไทยพีบีเอส

ขอบเขตของการสื่อสารในทุกวันนี้ไม่ได้จำกัดที่เส้นแบ่งของรัฐชาติหรือประเทศอีกต่อไปแล้ว แต่ปัญหาอาจจะอยู่ที่การสื่อสารข้ามเจนเนอเรชันมากกว่า แต่ในเชิงเรื่องราวมันยังมีความเป็นสากลร่วมกันอยู่ คำว่า super local content ที่ใช้เมื่อ 2-3 ปีก่อน มันก็คือภาพสะท้อนของเนื้อหาชุมชนท้องถิ่นทุกวันนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์อีสานมันมีความสอดคล้องกับคนอินเดียนแดง คนเมารี หรือคนที่โดนกระทำและมีคนจำนวนคอยบอกว่าอะไรสำคัญหรือไม่ แต่ทุกวันนี้ทุกคนมีสิทธิที่จะกำหนดว่าอะไรมีความสำคัญ และยิ่งปัจเจกชนเมื่อมีการรวมหมู่เป็น crowdsourcing จึงทำให้ความร่วมสมัยและความเป็นสากลไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกันอย่างเดียว แต่เป็นกลุ่มที่มีความสนใจในช่วงเวลาหนึ่ง สลายตัวและเกิดขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลา นี่เป็นความเลื่อนไหล ซึ่งเนื้อหาที่เกิดขึ้นตามมาจึงถูกทดสอบว่ามีความเป็นสากลต่อกลุ่มเป้าหมายหรือไม่

ทุกวันนี้เรามีเนื้อหาของท้องถิ่นมากมาย แต่เราจะหาเจอเนื้อหาเหล่านั้นได้หรือไม่ภายใต้โลกไซเบอร์สเปซ มันจึงจำเป็นที่จะต้องมีแพลตฟอร์มเฉพาะที่จะสะท้อนอัตลักษณ์ของตัวเนื้อหา และจำเป็นที่ต้องทดสอบจากคนที่นอกกลุ่ม ที่ไม่ได้เชื่อตั้งแต่ต้น ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นสากลในอีกความหมายหนึ่งเช่นกัน

เนื้อหาของท้องถิ่น มันสามารถยกระดับเชิงคุณภาพได้ภายใต้การลงมือทำในเรื่องที่คนเพียงคนเดียวทำไม่ได้ เช่น เรื่องฝุ่น pm2.5 ถ้าคนในชุมชนไม่อยากจะเชื่อเครื่องวัดของหน่วยงานที่มาติดตั้ง แต่อยากนำเสนอมีประสบการณ์ร่วมของคนในชุมชนแห่งนั้น ๆ  เราจะมีเครื่องมือหรือวิธีการชวนคนในพื้นที่นั้นสื่อสารได้ในลักษณะ crowdsourcing ผ่านเครื่องมือหรือนำเสนอความรู้ของชุมชนได้อย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล หรือการร่วมอธิบายข้อมูลนั้นจากคน ทำให้ข้อมูลแข็ง ๆ กลายเป็นเรื่องที่มีชีวิต และเป็นเรื่องปัญญารวมหมู่ของคนในพื้นที่นั้น ๆ 

เราเริ่มเห็นความรู้ชุดนี้ และต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย แต่ฐานหลักอยู่ที่ชุมชน และไม่ได้อยู่ที่การสื่อสารแต่มองเรื่องของการเปลี่ยนแปลงและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบโดยตรงที่อยู่กับคนตรงนั้น เช่น คนทางใต้อยากจะเอาเศรษฐกิจเกื้อกูลไม่เอาเศรษฐกิจจากโครงการขนาดใหญ่ สิ่งที่ต้องผลักดันคือตัวความรู้หรือข้อมูลที่อยู่หลังความคิดเหล่านี้ ทำอย่างไรจะให้มันปรากฏและถูกสื่อสารออกมา นี่คือความเป็นสากลที่เชื่อว่าจะเห็นในอนาคตอันใกล้และเป็นเป้าหมายที่ต้องช่วยกันผลักดัน

พุทธิฉัตร พีพีทีวี

นักข่าวอาสา พีพีทีวี เป็นโครงการที่หลายส่วนพยายามพัฒนาทั้งมาร์เก็ตติง พีอาร์ ปัจจุบันเรามีฐานคนดูในกรุงเทพฯ แต่ไม่มีฐานคนต่างจังหวัดมากเท่าไหร่ เราเชื่อว่าคอนเทนต์ของชุมชนมันต้องใช้เวลาสะสมอยู่บ้าง คนทำสื่อเป็นเพียงตัวเชื่อม พยายามทำให้สมดุลกับในแง่ธุรกิจก็คิดว่าจะไปด้วยกัน 

ทุกวันนี้คนในชุมชนมีแพลตฟอร์มของตัวเอง ถ้าเนื้อหาดีและถูกจังหวะกับความสนใจของสังคม มันก็จะกลายเป็นคอนเทนต์ร่วมของสังคม เพราะคอนเทนต์ที่ดีไม่ได้รับประกันว่าจะปังเสมอไป แต่ต้องอยู่ในรูปแบบและแพลตฟอร์มที่เหมาะสมและจังหวะของมัน เช่น คอนเทนต์ที่มีคนล้อเลียนถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ เหมือนว่าเราอยู่บนดวงจันทร์ แต่ถนนพังที่ไหนก็ตามแล้วถูกนักข่าวอาสานำเสนอผ่านพีพีทีวีก็จะถูกซ่อมในเวลาไม่กี่วัน แต่ทีมที่อยู่ตรงกลางก็ต้องพิจารณาว่าจะนำเสนอในช่วงเวลาไหนที่เหมาะสม หรือวิถีชีวิตชาวนา มาในจังหวะที่มีม็อบชาวนา เนื้อหามันก็ไปได้

“นักข่าวอาสาสะท้อนพื้นที่ กองบรรณาธิการสะท้อนภาพรวมหรือภาพส่วนกลาง ส่วนตัวผมเชื่อว่าคอนเทนต์ระดับชุมชนถ้ามาในจังหวะที่ถูกต้อง มันก็เป็นสากลในความหมายว่าเป็นที่สนใจในสังคมวงกว้างได้”

หทัยรัตน์ The Isaan Record

อีสานเรคคอร์ทำทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษแต่เนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากคือภาษาไทย การแปลเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษก็จะเลือกว่าเรื่องนั้นเข้ากับความสนใจของชาวต่างชาติหรือไม่ เช่น กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ มันไม่ใช่สิ่งที่คล้าย แต่เป็นสิ่งที่ควรส่งผ่านออกไปให้คนรับรู้มากที่สุด

สุรชัย NBT

แนวทางการทำสื่อของแต่ละสำนักก็ขึ้นอยู่ว่าเป้าหมายของสื่อนั้น ๆ เป็นอย่างไร ส่วนที่ NBT ทำได้ คือการนำเสนอสิ่งที่ดี และให้คนในชุมชนเข้ามาอยู่ในเนื้อหา สะท้อนความเป็นชุมชนและตัวของเขาออกไป เช่น วิกฤตโควิดศิลปินล้านนาไม่มีงานทำ ก็ผันมาไลฟ์ขายของและก็ร้องเพลงไปด้วยจนมีคนติดตามจำนวนมากและขายของได้ด้วย

“การทำงานสื่อสมัยนี้คนต้องการความเรียล ความจริงใจ ไม่ต้องปรุงแต่งมาก จนสื่ออาชีพต้องมาทำเลียนแบบคนสื่อชุมชนเหมือนกัน สื่ออาชีพอาจจะมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ครบครันก็อาจจะเปิดพื้นที่ให้สื่อชุมชนและสื่ออาชีพเรียนรู้ใช้พื้นที่และทรัพยากรร่วมกันได้อนาคต”

ชัยวัฒน์ พะเยาทีวี

ความเป็นสากลจะหมายถึงอะไร เป็นที่นิยม การให้การยอมรับ หรือการให้คุณค่า ซึ่งส่วนตัวผมเน้นที่ตัวคุณค่า ทุกสื่อล้วนมีคุณค่าต่างกันตามพื้นที่และเวลาในการใช้ประโยชน์ แต่ความเป็นสากลสำหรับผมคือการให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน ไม่ว่าจะมีจำนวนมากน้อยต่างกันแค่ไหน เป็นการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราจะทำให้สื่อคนเป็นหมื่นเป็นแสนคน หรือคน 5 คนก็ควรถูกให้ความสำคัญเท่ากัน

ผมยังมั่นใจว่าโลกที่เราอยู่จริง หรือโลกของท้องถิ่นมีคุณค่ากว่าโลกเสมือน ตัวสื่อก็เหมือนกับตลาด มันมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะของตนเองตามพื้นที่และเวลานั้น ๆ เนื้อหาของสื่อชุมชนมีความเป็นสากลอยู่แล้ว อาจต่างกันที่เครื่องมือ อุปกรณ์และเทคนิคการตัดต่อที่ต้องพัฒนา ถ้าหากจะทำให้เป็นสากลในความหมายของเพิ่มยอดรับชม เป็นที่นิยมหรือไปได้ทางธุรกิจ 

“แต่สื่อชุมชนจะไปรบกับสากลทำไม เมื่อสิ่งที่ทำมีคุณค่าในตัวมันเองอยู่แล้ว และสื่อทุกอย่างมันมีอายุของมัน แต่สิ่งที่น่าคิดว่าสื่อชุมชน เจ้าของยังเป็นชุมชนอยู่หรือไม่ เพราะมีหลายองค์กร หลายสื่อพยายามเข้ามาทำสื่อชุมชน ซึ่งก็ต้องถามว่าคนในชุมชนทำสื่อชุมชนไปเพื่ออะไร …สื่อชุมชนต้องกลับมาทบทวนและคิดกันเองว่าให้คุณค่าและความหมายและความเป็นสากลนั้นอย่างไร”


อนึ่ง เรียบเรียงเนื้อหาจากเวทีเสวนา “เนื้อหาจากชุมชน” ยกระดับให้ “สากล” ได้หรือไม่? ร่วมวงโดย

  • นายสมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส 
  • น.ส.หทัยรัตน์ พหลทัพ จาก The Isaan Record
  • นายพุทธิฉัตร จินดาวงศ์ หัวหน้ากองบรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี   
  • นายชัยวัฒน์ จันธิมา บรรณาธิการ พะเยาทีวี 
  • นาย สุรชัย เงินคำคง ฝ่ายรายการ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ภาคเหนือ 
  • ดำเนินรายการโดย ดร. สมัชชา นิลปัทม์  อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ลิงก์รับชมย้อนหลัง

https://fb.watch/9pnIacZvmE/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ