ทำไมครูไทย (อยาก) ลาออก? คุยกับครูสายฝน จันบุตราช เครือข่ายก่อการครูกาฬสินธุ์

ทำไมครูไทย (อยาก) ลาออก? คุยกับครูสายฝน จันบุตราช เครือข่ายก่อการครูกาฬสินธุ์

หลังจากมีการพูดถึง ประเด็น “ทำไมครูไทย (อยาก) ลาออก” ในวง Clubhouse เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นอีกแรงกระเพื่อมที่ทำให้มีการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาของระบบราชการครู ว่าควรจะได้รับการแก้ไข ซึ่งมีเสียงสะท้อนในหลากหลายมุมมอง ทั้ง จากว่าที่คุณครู อดีตครู ครูผู้สอน และผู้ที่สนใจประเด็นเรื่องการศึกษาของไทย

ครูฝน-สายฝน จันบุตราช หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายก่อการครูกาฬสินธุ์ ผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนด้านการศึกษาในภาคอีสานที่ร่วมกับเครือข่ายครูพยายามลงแรงออกแบบ หวังสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการเรียนรู้ ที่หวังให้ครูได้ทำหน้าที่สอนและพัฒนาหลักหลักสูตรการเรียนเพื่อเชื่อมโยงวิถีชีวิตให้กับนักเรียนได้เรียนรู้เต็มที่ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งครูผู้สอน ที่โรงเรียนบ้านหนองแวงบ่อแก้ว อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์  คืออีกคนที่ผู้เขียนชวนสนทนาออนไลน์ เพื่อฟังมุมมองจากครูบ้านไกลเมื่อวัดระยะทางจากศูนย์กลางกรุงเทพมหานครให้ได้แลกเปลี่ยนมุมมองต่อประเด็นนี้ด้วยคน

“มันมีความรู้สึกบางช่วง ก็อยากจะลาออกเหมือนกัน พอมีประเด็นนี้ขึ้นมา เราเริ่มรู้สึกสนใจมากขึ้น ว่าทำไมคุณครูหลายคน ถึงมีความรู้สึกเหมือนเรา ทำไมมันเกิดอะไรขึ้น ก็พยายามติดตามอยู่เหมือนกัน เรามองว่าคุณครูคงเหนื่อยมาก ๆ” ครูฝน-สายฝน จันบุตราช เอ่ยถึงข้อสังเกตต่อกระแสคำถามนี้ที่เกิดขึ้นและได้รับความสนใจอย่างมาก

ชวนมอง แฮชแท็ก “ทำไมครูไทย (อยาก)ลาออก”

ครูฝน-สายฝน จันบุตราช เครือข่ายก่อการครูกาฬสินธุ์

“ก็พยายามติดตามอยู่เหมือนกัน เรามองว่าคุณครูคงเหนื่อยมาก ๆ ในมุมมองของพี่ฝน มีความรู้สึกเหนื่อยกับการเป็นครูในระบบการศึกษา พอมันเหนื่อยหลาย ๆ อย่าง มันไม่ใช่เพราะว่างานสอนอย่างเดียว มันมีทั้งหน้างานอื่น ที่ครูจะต้องรับผิดชอบ เราก็รู้กันอยู่ มีทั้งงานสอน สิ่งที่จะต้องไปอยู่กับเด็ก มองว่าคุณครูเขาเหนื่อย ก็เลยอยากจะลาออก อีกมุมหนึ่งเขาคงอยากจะสอน ถ้ามุมของพี่ฝน พี่ฝนอยากจะสอนแต่ไม่ได้สอน ด้วยระบบราชการ นโยบาย โครงสร้าง ผู้บริหารระดับสูง มันทำให้ครูเขาเหนื่อย

หนึ่ง-เหนื่อยกับงานที่เขาจะต้องรับผิดชอบนอกเหนือจากงานสอนไม่ว่าจะเป็นงานอื่น ๆ งานประเมิน เรารู้สึกว่ามันควรที่จะให้คนอื่นทำ ไม่ใช่ให้ครูเป็นคนทำหน้าที่นี้ ครูควรที่จะได้สอน มันเลยทำให้รู้สึกว่าครูเขาอยากจะลาออก มันมีฝ่ายที่เปิดรับสมัคร โดยเขตจัดสรรคมาให้ คือครูธุรการ จะทำหน้าที่เกี่ยวกับเอกสาร หนังสือ งานเอกสารต่าง ๆ ที่เป็นงานสารบัญ มีตำแหน่งเดียวที่เขตจ้างมา แล้วก็มีคนเดียวที่ไม่ได้สอน คือ ตำแหน่งครูธุรการ แต่ว่างานอื่น ๆ ที่ครูธุรการไม่ได้ทำ เช่น งานการเงิน งานพัสดุ งานเกี่ยวกับงบประมาณ งานวิชาการ ครูธุรการจะไม่ได้ทำ แต่จะเป็นครูข้าราชการ ครูสอนคณิตศาสตร์ ครูสอนภาษาไทย ฯลฯ ได้ทำงานพวกนี้ ไม่ใช่ครูธุรการเลย เราไม่เห็นด้วยกับครูในตำแหน่งผู้สอน มาทำงานเกี่ยวกับงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่งานสอน ซึ่งแต่ละงานค่อนข้างกินเวลาการทำงานของคุณครูไปเลย ไม่เห็นด้วยที่ให้ครูสละเวลาในการสอนไปทำงานอื่นที่ไม่ใช่งานสอน  มันควรจะเป็นไปได้ไหมที่ระบบราชการหน่วยงานส่งบุคลากรมาเลยให้เขาทำหน้าที่การเงิน การพัสดุไปเลย”

ปลุกความเป็นขบถของครูผู้สอน

“ในความคิดของเรามัน คือ คนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เรามองว่าความเป็นขบถมันมีตั้งแต่เราเป็นนักศึกษาฝึกสอน พอเราอยู่ในระบบของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนวิชาชีวิตให้กับเราขนาดนั้น เพื่อที่จะมาต่อสู้กับองค์กรภายในโรงเรียน เรามาต่อสู้กันหน้างาน คือ ตอนเป็นนักศึกษา เรามองว่าการทำงานที่ไม่มีเส้นทาง ที่ไม่พัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียนหรือไม่พัฒนาทักษะอะไรบางอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของนักเรียนในอนาคตได้ขนาดนั้น มันก็จะมีความเป็นขบถหลายอย่างมาก แล้วทำให้เรารู้สึกเจ็บตัวหลายรอบมากกับคำว่า ขบถ ยกตัวอย่าง เช่น การทำงานของครูที่อยู่ในโรงเรียน มันไม่ได้พัฒนานักเรียนเลยบางที เขาไม่ได้พัฒนาผู้เรียนให้เกิดคุณภาพ ทั้งความรู้ ทั้งทักษะชีวิต เราเลยลุกขึ้นมา ตอนนั้นบรรจุใหม่ ๆ ไฟเราลุกอยู่ เราเลยไปแอคชั่นอะไรบางอย่าง  ความหมายจริง ๆ คืออยากให้เด็กได้ความรู้ ได้ทักษะ ได้สิ่งที่ครูมอบให้จริง ๆ จนมีการปะทะหนักเหมือนกัน” 

ข้อเสนอปลดล็อกแก้ไขปัญหาระบบการทำงานของครูควรทำอย่างไร

“ถ้าเป็นห้องเรียนของพี่ฝนถ้าอยากจะให้มันเกิด ครูในโรงเรียน จะต้องมีบุคลากร ที่เพียงพอในการที่จะมาจัดการเรียนการสอน หรือว่าบริหารจัดการอะไรทุกอย่างในโรงเรียน บุคลากรจะต้องเพียงพอ สำหรับการจัดการโรงเรียน ถ้าจะต้องมีตำแหน่งคุณครู เจ้าหน้าที่สำหรับธุรการ เจ้าหน้าที่สำหรับที่จะต้องมาทำงานพัสดุ  งานการเงินเลย จะดีมาก ๆ แล้วครูก็จะปลดล็อก มันมีวาทกรรมหนึ่งที่มันครอบอยู่ในโรงเรียน คือ การเสียสละเพื่อองค์กร มันจะมีคำว่า ฉันสอนอยู่เหมือนกัน ฉันเองก็ต้องทำงานพิเศษ เป็นการเสียสละเพื่อองค์กร ทำให้ครูหลายคนมันถูกบิดเบี้ยว ถูกระบบราชการกลืนกินไปหมดแล้ว

ทำงานพิเศษเยอะ เท่ากับเสียสละ สอนเยอะไม่เท่ากับเสียสละ ระบบแบบนี้ทุกองค์กร ภาพฝัน คือ ครูไม่ต้องทำงานพิเศษให้เจ้าหน้าที่ทำเลย ครูทำหน้าที่ในการสอน ออกแบบการเรียนรู้ หน้าที่หลักมาตราฐานวิชาชีพครู วิเคราะห์หลักสูตร เขียนแผนการจัดการเรียนรู้ วิเคราะห์ผู้เรียนไปสู่ทักษะชีวิตความรู้ และเป้าหมายหลาย ๆ อย่าง ครูออกแบบการเรียนการสอนไปเลย ว่าแต่ละชั่วโมงจะออกแบบอย่างไร ให้เชื่อมโยงกับชีวิตหรือบริบทของเขาเสร็จแล้วครูเองต้องมีเวลาออกแบบ ต้องมีเวลาประเมิน มีเวลาแก้ไขปรับปรุงเนื้องงานของเขาให้ดีขึ้น

คิดว่าถ้าครูได้ลงลึกในเรื่องการออกแบบ เกี่ยวกับการเรียนรู้ สิ่งที่จะได้ คือ เด็กมีคุณภาพ เด็กได้ความรู้ เด็กได้ทักษะชีวิต ก็ขึ้นอยู่กับหลักสูตรแต่ละโรงเรียน เรามองว่าการศึกษาควรจะดีกว่านี้ เด็กเองที่อยู่ในชุมชน ที่เขาเรียนโรงเรียนขยายโอกาส คำว่า โอกาส ของเขามันควรที่จะดีกว่านี้ มันมีบางอย่างที่เราทำ พูด เรากระทำกับเด็ก แต่คนอื่นอาจจะมองว่าอะไรหนักหนา มันเลยมีเรื่องของเงิน อำนาจบางอย่าง ในโรงเรียนทำให้เราเจ็บตัว กดขี่ในเรื่องของเงินเดือน ผลประโยชน์ ในฐานะที่เราเป็นครูตัวเล็ก ๆ เราจะออกแบบการจัดการข้อเสนอแนะ พี่เป็นครูคงได้แค่ส่งเสียงออกมาพูดให้คนที่ยังไม่ส่งเสียงเห็นในมุมเป็นครูคนหนึ่งซึ่งทำงานพิเศษเกี่ยวกับระบบออนไลน์ค่อนข้างเยอะในโรงเรียน ถ้าเกิดว่ามีความเป็นไปได้ในเรื่องของโครงสร้าง นโยบาย การจัดการ คือ อะไรที่มันเป็นเรื่องเดียวกันเราทำครั้งเดียวได้ไหม ให้ระบบมันเชื่อมหากัน ถามว่าทำได้ไหม มันก็ทำได้ แต่มันซ้ำกัน แต่ละระบบครูจะต้องทำใหม่หมดเลย ทั้งการประเมิน ให้ลดภาระงานของครูออกไป ถ้าเกิดว่ามีความเป็นไปได้จริง  ๆ”

ครูฝนทิ้งท้ายบทสนทนาว่า “เรื่องของระบบการจัดการของกระทรวง มันมีคำพูดที่ว่าลดภาระงานครู  แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ลด ถ้าเกิดว่าลดไม่ได้ก็จ้างมาเลย ตั้งงบประมาณขึ้นมาจ้างบุคลากรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับงบประมาณพัสดุ การเงินไปปเลย เพื่อให้ครูได้ออกแบบการเรียนรู้ ในส่วนของครู ครูก็มีหน้าที่ที่จะออกแบบการเรียนรู้ เขาได้เรียนมาในระดับปริญญาตรี พี่ฝนเชื่อว่าถ้าครูที่ไม่ได้ทำงานตรงนี้ เขาคงจะมีเวลาที่ไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการออกแบบการเรียนรู้แบบใหม่ ในห้องเรียนมากขึ้น”

“ทำไมครูไทย (อยาก)ลาออก” ยังคงมีหลายมุมมองในระดับบุคคล ระดับองค์กร และนโยบายที่ยังต้องหาสาเหตุเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา แต่ในเฉพาะหน้านี้ เชื่อเหลือเกินว่าครูผู้สอนที่ทำหน้าที่อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยคือความปรารถนาสูงสุดของผู้เรียนและคุณครูเองเพื่อให้ห้องเรียนมีประสิทธิภาพมากที่สุด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ