Hello World, ฟังเสียงพลเมืองถึงผู้นำโลกที่รัก เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

Hello World, ฟังเสียงพลเมืองถึงผู้นำโลกที่รัก เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศผู้สร้างมลพิษรายใหญ่ แต่ก็จัดในอยู่ในกลุ่มประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ยิ่งโครงสร้างสังคมที่ความเหลื่อมล้ำพบเห็นได้เป็นการทั่วไป สภาพอากาศที่ผันผวน ปรวนแปรยิ่งสร้างความปั่นป่วนกับผู้คนและได้ผลกระทบแตกต่างกันไป ภายใต้คำใหญ่โตอย่าง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” คำกลาง ๆ ที่เสมือนเป็นเรื่องที่รับกันได้โดยปริยาย

เวที COP26 หรือการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ UN Climate Change Conference of the Parties (COP26) ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคมถึง 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ผ่านพ้นไปแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงดำเนินต่อไป 

ระหว่างการจัดเวที COP26 มีแคมเปญ Dear World Leaders หรือถึงผู้นำโลกยอดรัก ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เป็นกิจกรรมที่ชักชวนให้ผู้คนทั่วโลกได้ส่งเสียงถึงผู้นำ อันที่จริงก็คือการพูดกับทุกคนในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ให้มาเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์สร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นอีกความพยายามชวนพลเมืองทั่วโลกมาร่วมกันสื่อสารเพื่อประวิงเวลาของความโกลาหลให้ยืดยาวออกไป

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เราสามารถเลือกฟังเสียงของผู้คนจากถิ่นฐานตามผิวโลก ตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม กระทั่งเลือกโทนของมวลอารมณ์ที่ไหลวนอัดในเนื้อหานั้น

วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้ประสานงานรีคอฟแผนงานประเทศไทย (RECOFTC – Thailand) หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมชาวไทย เปล่งเสียงไว้ว่า ไทยเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ฤดูกาลเปลี่ยนผัน ฤดูฝนที่คาดการณ์ไม่ได้ทำให้เกิดฝนตกหนักในบางพื้นที่ และแห้งแล้งในพื้นที่อื่น ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย เป็นเหตุให้เกิดหนี้สินและภาวะไม่มั่นคงทางอาหารแก่เกษตรกรที่พึ่งพาฝนตามฤดูกาล เช่น ข้าวที่เป็นพืชอาหารหลัก เกิดไฟป่าบ่อยและกว้างขวางลามเข้าไปในอุทยานแห่งชาติสร้างวิกฤตทางอากาศ

การเปลี่ยนแปลงในนิเวศของป่าต่าง ๆ ทำให้ลดการเข้าถึงแหล่งน้ำและอาหาร ซึ่งเป็นที่พึ่งพิงของชาวบ้านในพื้นที่ ผู้นำโลกทุกท่าน ต้องรักษาคำมั่นสัญญาที่จะปกป้องป่าไม้ตามธรรมชาติที่คงเหลืออยู่ พร้อมทั้งฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อบรรลุผล คนในท้องถิ่นต้องมีความมั่นคงในที่ดิน เพื่อรักษาความมั่นคงในอนาคต ส่งเสริมให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของทางออกในการจัดการสภาพภูมิอากาศ

“เริ่มต้นตอนนี้ สนับสนุนและส่งเสริมการจัดการป่าของชุมชน และการแก้ปัญหาที่อิงกับธรรมชาติเป็นหลัก”

ฟังเสียงอื่น ๆ ได้ที่ Dear World Leaders

ปล. ในเวที COP26 มีญัตติสำคัญว่านานาประเทศควรจะยุติการใช้พลังงานถ่านหินหรือไม่ แต่ข้อสรุปจากเวทีนี้เหลือเพียงการลดการใช้ถ่านหินเท่านั้นนะครับ #พลังงานถ่านหินได้ไปต่อ ยังไม่พอแค่นี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ