วิกฤติน้ำท่วมในภาคอีสาน ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งด้านวิถีชีวิตและด้านการเกษตร ที่ ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ได้รับผลกระทบจากการไหลหลากของต้นน้ำลำปะทาว ที่ทำลายฝายชะลอน้ำชุมชนรวมถึงสะพานข้ามไปมาระหว่าง 2 หมู่บ้าน คือ บ้านกุดโง้ง และ บ้านใหม่ท่าเจริญ
สะพานนี้เดิมทีเป็นสะพานปูนที่ทางหน่วยงานท้องถิ่นสร้างไว้เพื่อให้ชาวบ้านรวมถึงนักเรียนได้ข้ามไปมาเพื่อลดระยะการเดินทาง ทั้งการสัญจร การไปโรงเรียนกุดโง้งดงสวรรค์ และพระใช้เส้นทางไปบิณฑบาต ซึ่งหากไม่มีสะพานจุดนี้ ชาวบ้านต้องอ้อมไปใช้อีกเส้นทางจากเดิม 1 กิโลเมตร ต้องเพิ่มเป็น 3-4 กิโลเมตร และทำให้เพิ่มระยะเวลามากขึ้น
ช่วงวันที่ 8-9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พระสงฆ์จากวัดเอราวัณ (วัดป่าสุคะโต), เจ้าคณะตำบลท่ามะไฟหวาน ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันสร้างสะพานไม้เพื่อให้เส้นทางเดิมกลับมาใช้ได้ โดยรวบรวมวัสดุอุปกรณ์กันเอง เนื่องจากช่วงต้นเดือนเป็นช่วงเปิดเทอมใหม่ เด็กนักเรียนจากบ้านใหม่ท่าเจริญบางคนต้องเดินทางด้วยเท้าไปโรงเรียน ซึ่งหากไม่มีสะพานไม้ตรงนี้ นักเรียนจะต้องเดินอ้อมไปเป็นระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร
“ถ้ามีสะพานไม้ตรงนี้ คนจากบ้านใหม่ท่าเจริญก็จะไปที่บ้านกุดโง้งได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องอ้อมไป พระที่ไปบิณฑบาตก็เดินไปได้ ไม่ต้องเปียกน้ำ เดินลุยน้ำ เด็กนักเรียนก็มีเครื่องแบบนักเรียนเขาก็จะได้ไม่ต้องเปียก เดินไปได้เลย”
พระประสิทธิ์ จิตตคุโณ พระวัดเอราวัณ (วัดป่าสุคะโต) ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ที่มาร่วมลงแรงกันในวันนี้ เอ่ยในขณะที่ยังสร้างสะพานไปด้วย ท่านบอกเพิ่มเติมว่าปกติพระสงฆ์จากวัดก็ไปบิณฑบาตที่บ้านกุดโง้งและหมู่บ้านฝั่งทางนั้นอยู่บ่อย ๆ แต่พอสะพานเดิมตรงนี้ขาดไป ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้อีกเส้นทาง การมาร่วมสร้างสะพานวันนี้เลยถือเป็นการที่ช่วยให้พระอีกหลายรูปได้ใช้ประโยชน์ไปด้วย
ในส่วนของนักเรียนที่ต้องเดินทางมาโรงเรียนกุดโง้งดงสวรรค์ การใช้เส้นทางนี้ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางไปได้ และลดภาระการมารับมาส่งของผู้ปกครอง เนื่องจากพอใช้เส้นทางที้ยาวขึ้น ผู้ปกครองต้องไปรับ-ส่งทุกครั้ง
“ตอนนี้โรงเรียนเปิดเรียน On site ปกตินักเรียนเขาก็ใช้เส้นทางลัดนี้ตลอด เพราะใกล้ แต่ช่วงที่สะพานมันขาดไปหลายคนก็ไม่ได้ใช้ ช่วงปิดเทอมอาจจะไม่เห็นผลเท่าไร แต่พอเปิดเทอม เด็กนักเรียนต้องมาเรียนแล้วต้องอ้อมไปอีกทาง บางทีผู้ปกครองก็ต้องมาส่งเอง พ่อแม่หลายคนที่นี่ทำอาชีพกรีดยาง ก็ต้องตื่นตีสี่ตีห้าไปกรีดยางและเข้ามาบ้านเพื่อเตรียมมาส่งลูกไปเรียน มันก็เพิ่มภาระให้ครอบครัวมากขึ้น หรือไม่ก็ต้องจ้างรถรับส่งไปส่งลูกแทน สะพานนี้ถ้าสร้างเสร็จมันก็จะช่วยผ่อนแรงผู้ปกครองไปได้บ้าง”
ครูสรณัฐ เทศารินทร์ ครูโรงเรียนกุดโง้งดงสวรรค์ กล่าวเสริมหลังได้ข่าวว่ากำลังมีการก่อสร้างสะพานไม้เพื่อให้นักเรียนสามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น
ปัจจุบันนี้สะพานไม้สามารถใช้งานได้แล้ว แต่ใช้ได้ในส่วนของผู้ที่เดินทางเท้าหรือจักรยาน ถ้าเป็นรถขนาดใหญ่ต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่น ถือเป็นสะพานไม้ชั่วคราว ระหว่างรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการทำสะพานที่มีความมั่นคงแข็งแรงอีกครั้ง
ขอบคุณภาพและเรื่องราวจากชมรมเด็กรักนก