ระบอบอะไรในการรัฐประหาร

ระบอบอะไรในการรัฐประหาร

MustDelight_forweb

คอลัมน์ : สามัญสำลัก เรื่อง : สันติสุข กาญจนประกร ภาพ: ณฐพัชญ์ อาชวรังสรรค์

ช่วงที่มีกระแสต่อต้าน ซีพี บนสังคมโซเชี่ยล ด้วยการรณรงค์ไม่เข้าร้านสะดวกซื้อในเครือบริษัทนี้ ผมทำได้เพียงเฝ้ามองปรากฎการณ์ดังกล่าวอยู่เงียบๆ ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ และสามารถเลือกได้ ผมก็จะซื้อข้าวซื้อของหรือเครื่องดื่มจากที่อื่นแทน

อาจคล้ายอย่างที่คนอื่นๆ เป็น ผมเองก็ชอบบรรยากาศของการจับจ่ายที่หลากหลาย ได้พูดได้คุยสนทนากับพ่อค้าแม่ค้าบ้างตามสมควร กระทั่ง ได้ชิมรสชาติอาหารที่เป็นต้นตำรับ และเอาเข้าจริง ผมแอบฝันว่าลึกๆ แล้วคงไม่มีใครใจจืดใจดำอยากสนับสนุนทุนใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับคนตัวเล็กตัวน้อยหรอก

“ก็เราอยู่ในโลกทุนนิยมไม่ใช่หรือ” เสียงอีกเสียงแว่วอยู่ในหูผมเสมอๆ เมื่อต้องตรึกตรองเรื่องราวทำนองนี้

การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่ออะไรบางอย่างน่ะเข้าใจ เราเชื่ออย่างไรเราก็ทำอย่างนั้นไม่เห็นต้องแคร์ว่าจะเป็นการสู้กับยักษ์ที่ตัวใหญ่เกินไปหรือเปล่านั่นก็ทราบ ปัญหามันจึงอยู่ที่ ผมไม่รู้จะจัดวางทีท่าของตัวเองกับเรื่องนี้อย่างไรมากกว่า

วันหนึ่ง ในวงประชุมเล็กๆ ของทีมงานเว็บไซต์ AfterShake เว็บที่เชื่อในการค่อยๆ เขย่าบางสิ่งเพื่อนำไปสู่อีกสิ่ง มากกว่าการคิดเปลี่ยนแปลงอะไรชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งมีข้อตกลงกันไว้หลวมๆ ว่า เราน่าจะเชื้อเชิญครูบาอาจารย์ นักวิชาการ รวมถึงใครต่อใครที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาช่วยเพิ่มรอยหยักในสมองให้ทีมอย่างน้อยๆ เดือนละ 1 ครั้ง เราได้ข้อสรุปว่าอยากทำความรู้จักซีพีให้มากกว่าที่เคยรู้

หลังถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นกันพอท้วมๆ ว่าควรพลิกเหลี่ยมมุมไหนขึ้นมาพูดคุย สุดท้ายเราคิดกันถึงการกลับไปสู่จุดเริ่มต้นง่ายๆ ว่า ซีพีนั้นทำงานอย่างไรกับระบบสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อยู่รอดมาได้อย่างไรในทุกยุคทุกสมัย รวมถึงหากหยิบบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ออกไปจาก 3 ระบบดังกล่าว ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับสภาวะเช่นไร

บนข้อสัญญากับตัวเองก่อนว่า ไม่มีเจตนาจะกล่าวโทษหรือจับผิด เพียงแต่เราต้องการเรียนรู้สังคมไทยผ่านการทำงานของซีพี เพราะหากเราเชื่อว่ามีความไม่ปกติเกิดขึ้นจริง นั่นย่อมหมายถึงชุดความรู้ดังกล่าว ย่อมฉายให้เห็นถึงความบกพร่องของโครงสร้าง ที่ไม่มากก็น้อยเราสามารถนำไปเป็นบทเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ต่อไป

พูดอีกแบบ มันคือการดึงเอาบางสิ่งที่ดูเหมือนคลุมเครืออยู่ในเงามืด ออกมาตากแดดในที่แจ้งให้มากที่สุด แน่นอน ผลที่ได้รับอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่มันคือความเป็นจริงอีกชุดที่เราปฏิเสธได้ยาก พูดก็พูด รวมไปถึงความจริงอีกอย่างที่ผมได้เรียนรู้ อันเกี่ยวเนื่องไปถึงการรัฐประหารที่เวียนมาครบ 1 ปี ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558

ยังไม่ต้องไปพูดถึงสิ่งที่ อาจารย์ผาสุก  พงษ์ไพจิตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับการคอรัปชั่นในไทยมานานกว่า 25 ปี ระบุว่า การทำรัฐประหารไม่ช่วยลดการทุจริตแต่อย่างใด พร้อมเปิดผลวิจัยที่ชี้ว่า รัฐบาลเผด็จการมีแนวโน้มการคอรัปชั่นมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะขาดระบบการตรวจสอบจากภาคประชาชน และองค์กรต่างๆ

รวมถึงที่อาจารย์ให้ความเห็นว่า สังคมไทยต้องไม่กลัวการคอรัปชั่น จนต้องใช้อำนาจนอกระบบมาจัดการปัญหานี้ เพราะประเทศที่พัฒนาแล้ว ถึงอย่างไรต้องเผชิญหน้ากับการคอรัปชั่น ทางออกเดียวคือต้องค่อยๆ พัฒนาระบบตรวจสอบกันในกติกา

ยังไม่ต้องไปพูดถึงสิ่งที่ อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ให้ทัศนะว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มุ่งที่จะเอาอำนาจออกจากประชาชนคนส่วนใหญ่ ที่ถูกมองว่าเป็นผู้โง่งก ที่ส่งพวกอัปรีย์ชนเข้าสภา และสู่อำนาจทางการเมือง อาจารย์ใช้คำว่าพวกผู้ดีทั้งหลายจึงต้องออกแบบเกมให้เสียงและอำนาจของคนเหล่านี้น้อยลง

โดยสรุปไว้น่าคิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสถาปนาได้การเมืองแบบชนชั้นนำ เพิ่มอำนาจผู้ดี ลดอำนาจประชาชน และจะนำไปสู่ความขัดแย้งแบบกว้างขวางในไม่ช้า เพราะความสัมพันธ์ทางอำนาจเช่นนี้ไปทำลายพื้นที่ชีวิตสังคมการเมืองที่จำเป็นของผู้คนที่เคยสร้างจรรโลงกันมา (นิตยสาร WAY)

รวมทั้งยังไม่ต้องพูดถึงชาวบ้านที่โดนผลกระทบเต็มๆ จากการโดนไล่รื้อที่อยู่ที่ทำกิน ด้วยทหารใช้อำนาจจากสถานการณ์พิเศษที่ไม่อาจเดินขบวนหรือชุมนุมต่อรอง

นักการเมืองโกง เป็นคนไม่ดี นั่นเข้าใจ แต่คำถามที่ผมไม่อาจหาคำตอบให้แก่ตัวเองได้ก็คือ แล้วทำไมเราถึงไว้วางใจคนอีกกลุ่มให้เข้ามาบริหารประเทศ คิดว่าอยู่ข้างเดียวกัน เป็นคนดี และจะสามารถจัดการความซับซ้อนของประเทศโดยไม่มีการคอรัปชั่น

ผมชอบที่ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธี พูดในวงคุยเล็กๆ ที่มีโอกาสไปร่วมนั่งฟัง อาจารย์บอกว่า สิ่งที่น่าห่วงที่สุดของการทำรัฐประหาร คือการคิดจะย้อนเวลากลับไปสู่สังคมราชการ เหมือนในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยการเพิ่มบทบาททหารและราชการ ในยุคสมัยที่โลกมีแต่ก้าวเดินไปข้างหน้า

อาจารย์ยกตัวอย่างประสบการณ์ส่วนตัวว่า ตัวเองเกิดในระบอบการรัฐประหาร เข้าใจดีถึงความต้องการการจัดการที่เด็ดขาดด้วยตำราอำนาจนิยม ประเภทเมื่อไหร่ที่บ้านเมืองสับสน เป็นต้องนึกถึงชื่อจอมพลสฤษดิ์อยู่ร่ำไป แต่คนรุ่นใหม่ไม่ใช่อีกแล้ว พวกเขาไม่ได้เกิดมาในโลกใบเดิมที่ถูกหล่อหลอมด้วยค่านิยม 12 ประการแบบนั้น

สิทธิ เสรีภาพ คนเท่ากัน อยากเรียกอะไรก็เรียกไปเถอะ ใจความสำคัญที่สุดคือ สิ่งใดจะเกิดขึ้นเมื่อมีคนบางกลุ่มไม่ยอมปรับตัว และยอมรับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เราจะอยู่กันอย่างไรกับความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายขนาดนี้

รัฐประหารครั้งนี้จะเสียของไหม เรื่องนั้นผมไม่ทราบจริงๆ แต่กว่าที่บ้านเมืองจะดำเนินมาถึงจุดนี้ คงไม่ต้องเสียเวลาสาธยายอีกแล้วกระมังว่า เราต้องผ่านความบอบช้ำอะไรมาบ้าง เมื่อใจร้อนอยากใช้ทางลัด

ไม่ใช่แค่ระบอบทักษิณหรือระบอบซีพีเท่านั้นหรอก ผมคิดว่ามันมีอะไรซับซ้อนกว่านั้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ