มาเฟียสยามและความไม่รุนแรงของ ไมเคิล เค

มาเฟียสยามและความไม่รุนแรงของ ไมเคิล เค

unnamed

คอลัมน์: สามัญสำลัก          เรื่อง: สันติสุข กาญจนประกร         Illustration: สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ

1.

เป็นธรรมดาของคนมีหัวจิตหัวใจ ผมรับรู้ข่าวการจับกุม นายวีระพัน อินทะวง หรือที่สื่อมวลชนเรียกเขาว่า มาเฟียสยาม ด้วยความโกรธ

แน่นอน, เมื่อโกรธมากๆ เข้า ก็กลายเป็นเกลียด

การรายงานของสื่อโทรทัศน์ ฉายให้เห็นถึงพฤติกรรมต่างๆ ของเขา ไม่ว่าจะเป็นการขว้างปาข้าวของใส่ผู้หญิง การทำร้ายร่างกาย การพูดจาข่มขู่ ราวกับว่ากฎหมายในบ้านเมืองนี้ไม่มีความหมาย ทำให้ผมรู้สึกสงสารหญิงสาวที่ถูกกระทำเป็นอย่างมาก

สงสารและอยากให้เขาถูกดำเนินคดีหนักๆ เสียให้เข็ดหลาบ

ต่อเมื่อได้ดูตำรวจแถลงข่าวการจับกุม รวมถึงคลิปวิดีโอที่ตัดต่อเป็นเพลงซึ่งแพร่หลายอยู่บนโลกโซเชี่ยล ทำให้ผมต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองเงียบๆ

เอาล่ะ ผมจะไม่พูดถึงสิ่งที่แพทย์บางคนออกมาบอกว่า พฤติกรรมอันธพาลแบบนี้ เข้าข่ายเป็นโรคจิตอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Antisocial หรือ โรคต่อต้านสังคม ชอบก้าวร้าวทำร้ายคนอื่น ชอบละเมิดสิทธิผู้อื่น ไม่รู้สึกผิด ไม่มีความรับผิดชอบใดๆ โรคนี้เป็นโรคทางจิต

รวมถึงจะไม่พาดพิงถึงบางความเห็นที่บอกว่า คนป่วยนั้นสมควรได้รับการเยียวยา เพราะนั่นเป็นเรื่องทางเทคนิค และเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญควรแสดงความคิดความเห็น

โอเค ผมเข้าใจดีถึงอารมณ์แค้นของหญิงสาวคนนั้น เป็นใครใครก็แค้น ผมจึงไม่อาจกล่าวโทษเธอได้ แต่สิ่งที่ผมสงสัยโดยส่วนตัว คือการปล่อยให้เกิดเหตุทำร้ายผู้ต้องหาถึง 3 ครั้งในการแถลงข่าว พร้อมรอยยิ้มของตำรวจที่ปรากฏหราหน้าจอโทรทัศน์นั่นต่างหาก

กฎหมายควรทำหน้าที่ของมัน และอาการแบบนี้คือโรคที่น่ากลัวชนิดหนึ่งของสังคม ซึ่งผมยืนยันเลยว่า มันไม่ดีแน่ๆ ถ้าปล่อยให้ผู้คนอยู่กันด้วยกติกาเช่นนี้

2.

ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับมิตรสหายซึ่งเป็นนักเขียนสาว ถึงหนังสือบางเล่มที่มีชื่อว่า Life & Times of Micheal K หรือในชื่อภาษาไทยคือ ชั่วชีวิตพลเมืองชั้นสอง ประพันธ์โดย เจ.เอ็ม.คุตซี นักเขียนรางวัลโนเบล ประจำปี 2003

51CADWVQ0JL

เนื้อหาโดยย่อๆ เป็นเรื่องราวของ ไมเคิล เค ชาวพื้นเมืองผิวสีผู้พิการปากแหว่งแต่เกิด เขาเป็นคนระดับล่างสุดของสังคมที่ดูต้อยต่ำ และโง่เขลา คือชาติพันธุ์เจ้าของประเทศแต่ดั้งเดิม ซึ่งถูกชนผิวขาวเข้ายึดครอง รวมถึงปกครองมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม กลายเป็นพลเมืองชั้นสองชั้นสามในประเทศของตัวเอง

เคประกอบรถเข็นอย่างง่ายๆ เพื่อพาแม่ซึ่งกำลังป่วยหนักลี้ภัยสงครามในเมืองใหญ่กลับไปยังเมืองเล็กๆ ในชนบทที่สงบเงียบ ตั้งใจใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่โชคร้ายที่แม่สิ้นใจกลางทาง

กระนั้น เคก็ยังเดินทางตามลำพังด้วยสองเท้า ใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ จากสายตาเจ้าหน้าที่รัฐ ซุกหัวนอนในท่อระบายน้ำ ในถ้ำบนภูเขา บางช่วงถูกจับเข้าค่ายแรงงาน นับเป็นผลงานของนักเขียนผิวขาวชาวแอฟริกาใต้หนึ่งในจำนวนไม่กี่คน ที่ตั้งใจหยิบยกปัญหาของชนพื้นเมืองเจ้าของประเทศที่แท้จริงมาตีแผ่ แสดงภาพชีวิตของผู้คน สภาพบ้านเมือง เศรษฐกิจ และการปกครองของประเทศแอฟริกาใต้ ในห้วงปี 1970 ซึ่งปัจจุบันคือสาธารณรัฐแอฟริกาใต้

ด้วยความเรียบลื่นและบทบรรยายที่กัดกร่อนใจอย่างช้าๆ การที่เคเลือกหลบหนีออกจากปัญหา เป็นความชาญฉลาดของผู้เขียน เพราะมันสั่นสะเทือนอำนาจการจัดการพลเมืองผิวสีหรือชนพื้นเมือง ของรัฐบาลผิวขาว ยิ่งเรามีความรู้สึกร่วมไปกับตัวละครมากเท่าใด ยิ่งทำให้เราสมเพชตัวเองมากขึ้นเท่านั้น เพราะคนแบบเคก็อยู่รอบๆ ตัวเรา

เหนืออื่นใด ผู้เขียนไม่ได้เล่าให้เราสงสารเค ไม่ฟูมฟาย เขาแค่ทำตัวเป็นเสมือนสายตาของเคเท่านั้นเอง

 3.

เดือนนี้เมื่อ 14 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์ 11 กันยา ที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก ผมบอกไม่ได้หรอกว่าใครอยู่เบื้องหลังวินาศกรรมครั้งนั้น สิ่งที่พอจะพูดได้คือ แม้ไม่เต็มใจ แต่ก็ดูคล้ายโลกกำลังเริ่มต้นประกาศสงครามกับการก่อการร้ายอย่างเต็มรูปแบบ แน่นอน นำโดยประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอมริกา

ในอีกด้าน เราก็ได้เรียนรู้ว่า หากคนตัวเล็กกว่ารู้สึกว่าตัวเองถูกเบียดเบียน เมื่อคิดจะสู้ พวกเขาเลือกวิธีการแบบไหน

มาปีนี้ ผมนั่งอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งวิเคราะห์รูปแบบการก่อการร้ายสมัยใหม่ไว้น่าสนใจว่า  ความรุนแรงสมัยก่อนอาจเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง แต่ในปัจจุบัน เราเห็นได้ว่า การใช้ความรุนแรง ใช้ระเบิด หรือการยิงกราด เกิดขึ้นในเขตเมืองค่อนข้างมาก

การใช้ความรุนแรงในลักษณะดังกล่าว ได้ย้ายจากรอบเมืองเข้ามาอยู่ในเขตตัวเมือง ซึ่งแต่ก่อนเราคิดกันว่าเป็นที่ปลอดภัย เพราะเป็นศูนย์กลางของกำลังตำรวจและทหาร แต่มันไม่ใช่อีกแล้ว การใช้ความรุนแรงในรูปแบบใหม่ๆ จะเกิดมากขึ้น ที่สำคัญคือไม่ได้เกิดจากขบวนการ ทว่าเป็นแค่กลุ่มคนเพียงไม่กี่คน

ไม่ว่าการระเบิดที่ราชประสงค์และท่าเรือสาทรจะเป็นการก่อการร้ายหรือไม่ แต่อย่างน้อยๆ มันได้สร้างรอยขีดข่วนในความรู้สึกของคนเมืองไปเรียบร้อยแล้ว

4.

อย่างที่กล่าวไปแต่ต้น การปล่อยให้เกิดเหตุทำร้ายผู้ต้องหาถึง 3 ครั้งในการแถลงข่าวจับกุมนายวีระพัน อินทะวง เป็นอาการของโรคที่น่ากลัวชนิดหนึ่ง ซึ่งผมขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ ถ้าปล่อยให้ผู้คนอยู่กันด้วยกติกาเช่นนี้

ผมไม่รู้ว่าควรเรียกมันว่าอะไร อดทน อดกลั้น หรือสังคมที่มีอารยะ แต่พลังบางอย่างเหมือนที่คนเขียน ชั่วชีวิตพลเมืองชั้นสอง แสดงให้เราประจักษ์นั้น ก็เปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างได้

เหนืออื่นใด หากเราเลือกใช้กติกาอย่างที่ผมว่า กติกาที่เขียนไว้ให้เรากำจัดสิ่งเลวๆ ในความรู้สึกได้ตามอำเภอใจ สิ่งที่ได้รับกลับมาแน่ๆ คือกติกาแบบเดียวกันจากคนอีกฝั่ง

ขอบคุณบทสนทนาดีๆ จากนักเขียนสาว กันต์ธร อักษรนำ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ