ตุ๊กตุ๊กเกินอัตรา

ตุ๊กตุ๊กเกินอัตรา

รถโดยสารไม่ประจำทาง (ตุ๊กตุ๊ก) เป็นระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่ได้รับความนิยมในการใช้บริการมาอย่างยาวนาน อาจเรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทย  แต่ในระยะหลังมานั้นปรากฏว่าเกิดปัญหาการให้บริการมากขึ้น ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวรวมถึงการได้รับความเป็นธรรมของผู้ใช้บริการ ซึ่งปัญหาหนึ่งจากการให้บริการรถโดยสารไม่ประจำทาง(ตุ๊กตุ๊ก) คือ การเรียกเก็บค่าโดยสารที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้ผู้ใช้บริการถูกเอารัดเอาเปรียบ

หากลองวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวที่เกิดจากฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมาย จะเห็นได้ว่า มีความหละหลวมในการปฏิบัติหน้าที่  อีกทั้งมาตรการที่ใช้บังคับไม่ครอบคลุมถึงปัญหา ด้านฝ่ายผู้ให้บริการเอง บางส่วนมีพฤติกรรมที่อาจเป็นการหลีกเลี่ยง ไม่ให้ผู้บริโภคทราบถึงอัตราค่าบริการที่แท้จริง เช่น การไม่ติดป้ายอัตราค่าโดยสารหรือติดแต่เห็นไม่ชัดเจน ส่วนอีกปัญหาหนึ่งในด้านของผู้ให้บริการ ที่ทำให้เรียกเก็บค่าโดยสารเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดอาจเนื่องมาจากประสบปัญหาเศรษฐกิจ หรือการให้บริการในพื้นที่ที่มีค่าครองชีพสูง นอกจากนี้ปัญหาการเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดก็อาจเกิดจากปัจจัยในส่วนของผู้ใช้บริการเอง อาทิ การไม่ทราบถึงอัตราค่าโดยสารที่แท้จริง หรือทราบถึงอัตราค่าโดยสารแต่เมื่อถูกเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราผู้ใช้บริการไม่ทราบถึงวิธีร้องเรียนเพื่อรักษาสิทธิ และอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญ คือการที่ผู้ใช้บริการทราบถึงสิทธิของตนแต่เพิกเฉยในการเรียกร้องสิทธิของตน

วิธีหนึ่งที่จะช่วยรักษาสิทธิของผู้ใช้บริการเมื่อถูกเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดคือ การร้องเรียนพฤติกรรมของผู้ให้บริการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ประกอบการรถตุ๊กตุ๊กที่อยู่ในรูปของสหกรณ์รถตุ๊กตุ๊ก หรือบริษัทเอกชน และหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือสำนักงานขนส่งประจำจังหวัด โดยมีวิธีการร้องเรียนที่แตกต่างกันออกไป

สำหรับวิธีการร้องเรียนต่อผู้ประกอบการรถตุ๊กตุ๊ก สามารถติดต่อ ณ สำนักงานของผู้ประกอบการรถตุ๊กตุ๊กนั้นได้โดยตรง ด้านวิธีการร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐในส่วนของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค สามารถขอแบบฟอร์มคำร้องทุกข์ได้ ณ ที่ทำการของสำนักงาน หรือร้านสะดวกซื้อ 7-eleven ทุกสาขา หรือดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.ocpb.go.th และการร้องเรียนที่สำนักงานขนส่งประจำจังหวัด สามารถเข้าไปร้องเรียนได้ที่สำนักงาน หรือโทร 1584 ซึ่งเป็นสายด่วนของศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน โดยเป็นวิธีการร้องเรียนที่ง่ายและสะดวกต่อผู้ใช้บริการ ซึ่งสิ่งสำคัญสำหรับการร้องเรียนข้างต้นจะต้องแจ้ง วัน เวลา สถานที่เกิดเหตุ และป้ายทะเบียนรถให้ชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่

จากปัญหาการเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดข้างต้น แม้ผู้ใช้บริการส่วนหนึ่ง จะมองว่าเงินส่วนต่างจากการถูกเรียกเก็บเกินอัตรา เป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อย “10 บาทเอง” “ไม่เป็นไรหรอก” แต่หากลองตั้งสถานการณ์สมมติว่า วันหนึ่งมีผู้ใช้บริการรถตุ๊กตุ๊ก 1,000 ราย และใช้บริการรายละครั้งต่อวัน หากมีการเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราครั้งละ10บาท จะเป็นเงินถึง 10,000 บาทที่ผู้บริโภคเสียไปโดยใช่เหตุ แต่ 10 บาทในความรู้สึกของผู้ใช้บริการอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่เมื่อแลกกับความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทาง อย่างไรก็ตาม การละเลยเพิกเฉยยอมให้มีการละเมิดสิทธิ ทำให้ผู้ให้บริการใช้โอกาสนี้ในการเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดบ่อยครั้งมากขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ เมื่อคนในสังคมต่างละเลยถึงการทำผิดกฎหมายดังกล่าวมานี้ การแก้ปัญหาการเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราจึงไม่ถูกแก้ไขหรือแก้ไขได้ยาก ส่งผลให้การให้บริการมีภาพลักษณ์ในเชิงลบทั้งในแง่ของการท่องเที่ยวและการปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองของผู้ให้บริการ

หากต้องการให้ปัญหาเหล่านี้ลดลง ทั้งฝ่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีหน้าที่ที่จะคอยควบคุม ตรวจสอบ จะต้องมีขั้นตอนและกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด เด็ดขาด และมีความแน่นอน ส่วนผู้ให้บริการเองที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าว ก็มีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ประกอบอาชีพโดยสุจริต ที่สำคัญคือผู้ใช้บริการ ต้องตระหนักถึงสิทธิของตน ไม่เพิกเฉย เมื่อบุคคลในทั้งสามฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสุจริตและสมบูรณ์แล้ว ปัญหาการเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราจะหายไปอย่างแน่นอน

       นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในโครงการตุ๊กตุ๊กเกินอัตรา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ