คุยกับคนทำงาน ด้านกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดอยุธยา เฝ้าระวังสารพิษปนเปื้อนอาหาร

คุยกับคนทำงาน ด้านกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดอยุธยา เฝ้าระวังสารพิษปนเปื้อนอาหาร

“อยุธยา” เป็นจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครฯ หลายคนน่าจะรู้จักดีเพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวอย่างวัดเก่าแก่โบราณสถานทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง รวมถึงที่นี่ยังมีกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้นที่ทำงานร่วมกันในเรื่องการเฝ้าระวังอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล และที่ผ่านมาโดยคุณสันติ โฉมยงค์ เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พยายามสื่อสารกับสังคม ปักหมุดเรื่องราวเหล่านี้ผ่านแอปพลิเคชัน C-Site หวังจะให้เห็นความสำคัญในการเลือกบริโภค และลดการแพร่กระจายของสารปนเปื้อนที่มากับอาหาร

กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทีมงาน C-Site ได้พูดคุยกับคุณสันติ เพื่อขยายภาพในเห็นกลไกการทำงานด้านอาหารปลอดภัยเชื่อมโยงกับชุมชน ตั้งแต่ค้นหาแหล่งผลิตอาหารอินทรีย์หรืออาหารปลอดภัย – แหล่งจำหน่ายเพื่อส่งไปให้โรงพยาบาล

คุณสันติ โฉมยงค์ เภสัชกรชำนาญการ บอกว่า จากหมุดเรื่องเฝ้าระวังอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล เป็นหนึ่งในนโยบายสาธารณสุขที่ดำเนินการมาแล้ว 3-4 ปี ตนเองทำงานภาครัฐ และมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย แต่ว่าเราจะมีส่วนของเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เราก็เลยวางแผนกันว่า อย่างนั้นเราทำเรื่องของการเฝ้าระวังความปลอดทางด้านอาหารในอยุธยาด้วยเลย ซึ่งตนเองมีทีมงานเป็นนักวิทยาศาสตร์หน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยทางด้านอาหาร เราก็จะเชื่อมกันทั้งตัวภาคประชาชน เกษตรกร หรือเกษตรกรตามโรงพยาบาลต่างๆ ช่วยในการเฝ้าระวังความปลอดภัยทางด้านอาหาร

จังหวัดอยุธยามี 16 อำเภอ และมีเครือข่าย 16 โรงพยาบาล รวมถึงเครือข่ายที่เป็นชาวบ้าน ทำเรื่องผักปลอดสารพิษ ทำเรื่องที่ไปขายของตามบ้าน เป็นลักษณะมอเตอร์ไซต์พุ่มพวง วิ่งขายตามบ้าน หรือเอาไปขายตามหน้าโรงพยาบาลก็จะเห็นมอเตอร์ไซค์พวกนี้จอดขายอยู่ และแม่ครัวก็จะซื้อผักกับคนเหล่านี้หรือซื้อจากที่เป็นแม่ค้าประจำที่รับซื้อผักมาจากชุมชน หรือรับซื้อมาจากอ่างทอง หรือว่าตลาดไท พวกผัก พวกเนื้อสัตว์ เราก็จะประสานงานกับกลุ่มที่เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายเภสัชฯ ที่เขาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เขาก็จะดูแลเรื่องโภชนาการหรือดูแลเรื่องของความปลอดภัยของโรงพยาบาล เวลาเราจะดำเนินการอะไรก็จะสื่อสารกับทางโรงพยาบาลก่อนเสมอ

ใน 1 ครั้งที่เราลงไปในพื้นที่ อย่างล่าสุดเราไปอำเภอบางซ้าย เราจะไปเริ่มที่โรงพยาบาลก่อน ไปดูการผลิต เช่น โรงพยาบาลทำเมนูอะไรให้กับคนไข้ ในเมนูนั้นประกอบด้วยวัตถุดิบอะไรบ้าง อย่างเช่น มีผัก เราก็จะตรวจพวกสารปนเปื้อนในผัก เช่น ยาฆ่าแมลง ถ้าของผักดองก็เป็นพวกสารกันรา สารบอแรกซ์ หรือผักที่มันสีขาวๆ ออกน้ำตาลๆ จะมีชุดทดสอบเบื้องต้นที่เราจะทดสอบได้

“เมื่อ 2563 ปีที่แล้ว เราเจออุบัติการณ์คือ พบสารบอแรกซ์ในเนื้อสัตว์เยอะเลย โดยเฉพาะหมูหมัก หมูบด และประมาณ 80% มีการนำเอามาประกอบอาหารในโรงพยาบาล ถ้าเจอแบบนี้เราก็จะรายงานข้อมูลในกับทางคณะกรรมการโรงพยาบาลทราบเพื่อค่อยเฝ้าระวัง”

รวมถึงเรื่องความสะอาดของภาชนะ จานจาม แก้วช้อน ที่เอาไปเสิร์ฟให้คนไข้เราจะมีชุดทดสอบโคลิฟอร์มแบคทีเรีย เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงท้องเสีย ตอนนี้สถานการณ์โรคอันดับหนึ่งเลย คือโรคท้องร่วงท้องเสีย เกิดจากพวกเชื้อไวรัส หรือว่าอาหารเป็นพิษ อันนี้สถานการณ์เป็นภาพรวมประเทศหรือว่าภาพรวมของอยุธยาเองก็จะเป็นโรคอันดับหนึ่งเลยที่มักเกิดขึ้น และเราก็มีการทดสอบชุดทดสอบโคลิฟอร์มแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการท้องเสียในน้ำแข็ง น้ำเปล่า

ตอนนี้มีสองพื้นที่ที่เรามีความมั่นใจได้ว่าสามารถที่จะบริโภคผักปลอดสารพิษสารเคมี ปลอดสารปนเปื้อน คือที่โรงพยาบาลลาดบัวหลวง กับโรงพยาบาลบ้านแพรก เพราะทั้งสองที่นี้ ปลูกแบบปลอดสารเคมีในโรงพยาบาล และเขามีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เครือข่ายเกษตรกรที่เขาทำอาหารปลอดภัย หรือว่าทำเกษตรปลอดภัย อย่างเช่น เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลาเอง ซึ่งเขาก็จะเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ เราก็จะตามไปดูแบบเดียวกัน ไปดูเรื่องสารที่จะปนเปื้อน ความสะอาด หรือว่าความพร้อมของเกษตรกร ซึ่งมันก็จะเชื่อมโยงกันตั้งแต่แหล่งผลิต แหล่งจำหน่าย จนมาถึงโรงพยาบาลที่เป็นแหล่งปรุงอาหารทำเมนูให้กับคนไข้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ซึ่งเราก็จะมีโมเดลอยู่สองที่นี้

รถโมบายเคลื่อนที่เฝ้าระวังอาหารปลอดภัยกระจายอีก 8  จังหวัดภาคกลาง

คุณสันติ โฉมยงค์ เภสัชกรชำนาญการ เล่าเพิ่มเติมว่า ตัวรถโมบายจะมีการทำแผนรวมกันระหว่าง 8 จังหวัด ตั้งแต่จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา นครนายก สระบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี และอ่างทอง ว่าในแต่ละวันจะไปลงพื้นที่ตรงไหน ตอนนี้ช่วงสถานการณ์โควิด บางจังหวัดเขาเป็นพื้นที่สีแดง เขาจะไม่ให้เข้าไป แต่โดยภาพรวมอยุธยาทำเข้มข้น จะเห็นแนวโน้มว่าวัตถุดิบตัวไหน หรือว่าอาหารประเภทไหนที่มันมีความเสี่ยง อย่างปีที่แล้วอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดอยุธยา เราเจอสารบอแรกซ์ในหมูบดทุกร้านเลย และเราก็ได้ข้อมูลว่า ซื้อมาจากตลาดสี่มุมเมือง จึงมีการประสานงานกับทางจังหวัดปทุมธานี เพื่อเข้าไปตรวจและเก็บตัวอย่าง ช่วยแก้ปัญหา ตลอดจนดำเนินคดี

พอตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 พบสารบอแรกซ์เริ่มซาแล้วหลังจากเราเจอกว่า 80% เลย  หรืออย่างในสถานการณ์ยาฆ่าแมลง เช่น ผลไม้ประเภทส้ม หรือว่าในกล้วยหอม เพราะฉะนั้น เราตรวจพบสถานการณ์แบบนี้เราจะมีหนังสือเวียนไปทุกสาธารณสุขอำเภอ หรือทุกโรงพยาบาล มันก็นำไปสู่การให้ความรู้เกษตรกร เพราะเกษตรกรบางคนไม่ทราบจริงๆ ว่า ตัวปุ๋ยหรือว่าที่เขาเอาไปฉีดมันผสมด้วยสารเคมี หรือผักไฮโดรโปนิกส์ หลายคนคิดว่ามันปลอดภัย แต่จริงๆ แล้วมันมีสารเคมีผสมไปกับสูตรน้ำที่เขาทำ อย่างของโรงพยาบาลบ้านแพรก แก้ปัญหาตัวนี้ด้วยการทำแปลงผักไฮโดรโปนิกส์ที่โรงพยาบาลเองเลย ก็คือปลูกผักสลัด ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ให้กับคนไข้หรือว่าเจ้าหน้าที่ได้รับประทาน

ตัวรถโมบายก็จะเป็นตัวสรุปภาพรวมแนวโน้มในแต่ละปีเช่น ปีนี้อยุธยา เก็บไปเท่าไหร่  จังหวัดอื่นเก็บไปเท่าไหร่ หรือว่าอาหารประเภทไหนที่มีแนวโน้มจะเจอสารปนเปื้อน อย่างยาฆ่าแมลง บอแรกซ์ ฟอร์มาลีนในอาหารประเภทปลาหมึกกรอบ เล็บมือนาง ตีนไก่ และก็เครื่องในประเภทผ้าขี้ริ้ว มีการแช่ฟอร์มาลีนเพื่อทำให้มันกรอบ

การทำงาน VS แหล่งทุนใหญ่

คุณสันติ บอกต่อว่าในจังหวัดอยุธยา ตอนนี้เป็นประเด็นที่คนสนใจค่อยข้างเยอะ คือมันทำให้เกิดรูปธรรม แต่ถ้าเป็นจังหวัดอื่นๆ ก็มีความยากอยู่ อาจจะไม่ได้ทำงานในรูปแบบของเครือข่ายแบบอยุธยา เช่น เวลาไปตลาดนัด ก็มีปัญหากับผู้ประกอบการบ้าง โดยเฉพาะเรื่องเนื้อสัตว์ที่เจอปัญหาเยอะ หมูใส่สารบอแรกซ์ หรือว่าไก่ ใช้ยาปฏิชีวนะ เราก็จะเจอปัญหาแบบนี้เยอะ

โดยเฉพาะเรื่องไก่ เรื่องปลา เพราะว่าสุดท้ายมันจะไปเชื่อมโยงกับแหล่งทุนใหญ่ที่สนับสนุนเกษตรพันธสัญญา  หรือแหล่งทุนใหญ่ที่ผลิตยาปฏิชีวนะขึ้นมาและก็เอามาใช้ในไก่  อย่างมีบริษัทนึงเขาทำไก่ฟาร์ม แต่ว่าเขาก็ผลิตวิตามินตัวนึงซึ่งผสมยาปฏิชีวนะ เวลาชาวบ้านเขาเลี้ยงไก่เอง เขาก็ต้องซื้อตัววิตามินตัวนี้เอาไปผสมน้ำให้เป็นสีแดงๆ ให้ไก่กินเพื่อไม่ให้ไก่เป็นโรค ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ค่อยข้างอ่อนไหวในพื้นที่  หรืออย่างเราเจอในเคสนึงที่ไก่เราเจอมียาปฏิชีวนะตัวนี้อยู่ ทั้งกรมปศุสัตว์ก็ลงไปจับลงไปดำเนินคดีกับคนขาย ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการบางรายเขารู้สึกว่าไม่เป็นมิตรกับเราเท่าที่ควร เพราะทำให้จำหน่ายยากขึ้น หรือทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างเรา กับผู้ประกอบการพอสมควร

4 อันดับเจอสารปนเปื้อนในอาหาร

อันดับหนึ่ง คือ สารฟอร์มาลีนในพวกปลาหมึกกรอบ  เล็บมือนาง เจอเกือบ 90%

อับดับสอง ยาฆ่าแมลง จะเจอประเภทผลไม้นำเข้ามา อย่างล่าสุด พุทราเหลืองๆ น้ำตาลๆ เราตรวจเจอยาฆ่าแมลงเยอะเลย มันไม่ได้เจอตลอด แต่จะมาเป็นเทรนเป็นช่วงๆ

อันดับสาม สารบอแรกซ์ ในหมูหมัก หมูบด ทับทิมกรอบ และเคยเจอในลอดช่องด้วย

อันดับสี่ เจอแบบประปราย สารกันราในของดอง ผลไม้ดอง

ส่วนอื่น เช่นเรื่องของความสะอาด มือ ช้อน ภาชนะ มีโอกาสเจอได้อยู่แล้ว แต่เราสามารถแก้พฤติกรรมได้ เช่น สอนเรื่องการล้างมือ ล้างทำความสะอาดภาชนะ ยิ่งตอนนี้ทางสาธารณสุขเองออกข้อกำหนดผู้สัมผัสอาหารมันก็ทำให้เราเข้าไปช่วยแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น

คุณสันติ แนะนำว่า การจะบริโภคอะไรก็ตามควรจะต้องล้างก่อน ถ้าเป็นกรณีเจอสารฟอร์มาลีนในปลาหมึกกรอบ ในผ้าขี้ริ้ว สไบนาง  เล็บมือนาง เราเจอมานานมากแล้ว แต่ที่ผ่านมา เราลองทดสอบ แช่น้ำด้วยการล้างบ่อยๆ อย่างปลาหมึกกรอบเย็นตาโฟ เราตรวจเจอ 100 % ถ้าเราล้างความเข้มข้มมันจะน้อยลง ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มนี้กลุ่มเสี่ยงเราจะแนะนำให้ล้างเลย

แต่ถ้าเป็นกลุ่มอย่างหมูบด แนะนำให้หยุดหรือเลิกซื้อ ส่วนหนึ่งที่เขาใส่เพราะว่ามันขายไม่ออก กันเน่าเสีย เขาก็เลยต้องใส่ตัวบอแรกซ์เข้าไป ยิ่งสถานการณ์โควิดร้านอาหารแนวญี่ปุ่นเกาหลี หรือว่าร้านหมูกระทะ มันขายได้น้อยลง หรือเราก็พยายามสื่อสารกับท้องถิ่น กับพื้นที่อาจจะมีเสียงตามสายให้ประชาชนทราบว่า  ณ ปัจจุบันมันมีความเสี่ยงว่ามันจะมีการใส่สารบอแรกซ์เพื่อไม่ให้เนื้อเน่าเสีย  รวมถึงการลงไปในความรู้กับกลุ่ม อสม. ผู้สูงอายุ และนักเรียนตามโรงเรียน เพื่อเป็นทักษะเบื้องต้นในการสังเกตเขาได้ระวังตัว

ลักษณะหากอาหารที่ใส่สารบอแรกซ์ เช่น ทอดมัน นุ่ม เหนียวๆ กรอบ ตอนแรกเราก็ไม่คิดว่าทอดมันจะใส่ด้วย พอเรามีเครือข่ายจากพวกร้านอาหาร  เราเก็บตัวอย่างไปตรวจพบว่าบางร้านที่เขารับมา มันจะมาแบบบดเป็นถุง เขาก็แค่เอามาทอดเฉยๆ โอกาสเจอเยอะมากเพราะไม่รู้แหล่งที่มา และใครผลิต ก็ต้องคุยกับผู้ประกอบการว่า อาจจะต้องเปลี่ยนเจ้า แต่ถ้าเป็นร้านอาหารประเภทซิกเนเจอร์ของอยุธยา เขาก็จะทำเองปลอดภัย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ