การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบไปในวงกว้าง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจปากท้องและปัญหาด้านการศึกษาที่หลายโรงเรียนพยายามปรับการเรียนการสอนต่าง ๆ ห้องเรียนชุมชนจึงเป็นอีกทางเลือกในการจัดการเรียนรู้ อย่างในจังหวัดสกลนคร “นักศึกษาอาสาสอน” และผู้ปกครองร่วมกันออกแบบห้องเรียนชุมชนในบ้านของพวกเขาเป็น ครั้งที่ 4
“เราจะไม่เน้นเรียนรู้เยอะ เราจะเน้นกิจกรรมมากกว่า มีการสลับจับคู่กันระหว่างเด็กที่ได้ กับเด็กที่ไม่ได้ เพราะว่าถ้าเราจะไปเน้นแต่เด็กที่อ่านออกเขียนได้เหมือนการที่เราทอดทิ้งเขาไปเลย เพราะว่าเขาก็มีการพัฒนาการมาเรื่อย ๆ ถึงแม้จะมีพัฒนาไม่ได้เร็ว แต่อย่างน้อยเราก็ให้เขาได้เรียนรู้”
ณัฐวดี สอนสมนึก หรือที่เด็ก ๆ ในชุมชน เรียกว่าครูพี่พลอย เธอเป็นหนึ่งใน “นักศึกษาอาสาสอนเด็กพิเศษ”มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ที่เพิ่งจบการศึกษาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์โควิด- 19 หลังจากที่ฝึกสอนเสร็จ จึงใช้ช่องทาง กิจกรรมอาสาสอน เพื่อดูแลเด็กในชุมชนของเธอ
“เราอยากหากิจกรรมให้เด็ก ๆ ทำ ในเวลาว่าง เพื่อสร้างพัฒนาการของเขา อยากให้เด็กรักถิ่นฐานตัวเอง เรียนรู้ภูมิปัญญาของตนเอง ไม่อยากให้เด็กเล่นโทรศัพท์มากเกินไป ให้เขาเรียนรู้วัฒนธรรม ถ้าเราไม่สอนเด็ก เด็กเขาจะไม่รู้ว่าวัฒนธรรมในถิ่นเขาคืออะไร เลยคิดสร้างสรรค์ คือเอากิจกรรมการเรียนรู้วิชาการ แล้วก็กิจกรรมในท้องถิ่นมาบูรณาการร่วมกัน”
กิจกรรมครั้งนี้ยังช่วยให้ทุกคนได้รู้จัก Inclusive education หรือการเรียนรวมของน้อง ๆ ในชุมชนร่วมกับเด็กพิเศษหรือเด็กที่เป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ เพื่อลดความแตกต่างและช่องว่างระหว่างกัน โดยมีครอบครัวและชุมชนร่วมออกแบบ
“นักศึกษานำความรู้ของตนเองลงไปสู่ชุมชน เราได้เข้าไปในชุมชนเราพบว่าความรู้บางอย่างมันตายไป ไม่สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์จริงกับชุมชนเราได้ปรับเปลี่ยนความรู้เข้าไปสอนน้อง ๆ”เวฟ ธเนศวร์ ศิลจักร นักศึกษาอาสาสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครที่ใช้กิจกรรมการเรียนรู้ควบคู่กับวิชาการ 8 กลุ่มสาระ เช่น การสังเกตลักษณะเมฆฝน การทำแผนที่ชุมชน และวาดภาพระบายสีเพื่อจดบันทึก เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้น้อง ๆ ที่มีความต่างสามารถเรียนรู้ร่วมกัน
ไม่ว่าจะปิดหรือเปิดโรงเรียน แต่การเรียนรู้ต้องไม่หยุดนิ่ง เพราะการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในห้อง “นักศึกษาอาสาสอน” จึงทำทุกที่ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ จากนักศึกษา 20 คน ที่กระจายตัวในพื้นที่ สกลนคร และนครพนม ที่มาจากหลากหลายสาขา ทั้ง สาขาพละศึกษา สาขาคณิตศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการศึกษาพิเศษ ทั้งศิษย์เก่า ร่วมทำให้ชุมชนของตนเอง เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้เด็ก ๆ ที่เขากำลังเติบโต ได้เข้าใจและสามารถออกมาเผชิญกับสังคมรอบนอกได้
“อย่างแรกเลย ผมรู้สึกว่าเขาได้เรียนรู้เรื่องของการทำงานแบบจิตอาสาจริง ๆ ผมรู้สึกว่ามันทำให้เขาเห็นว่าเขามีส่วนร่วมแล้วเขาสามารถทำได้ผมคิดว่าเขาเรียนรู้หนึ่งอย่าง คือ เรียนรู้คุณค่าของตัวเอง ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่ชุมชนกำลังเผชิญอยู่” ดร.พสุธา โกมลมาลย์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
“อย่างแรกเลยเขาได้เรียนรู้ในศักยภาพของเขาก่อน ว่าเขามีศักยภาพเขาสามารถทำอะไรได้ สามารถจัดการได้ อันนี้คือการที่เขาสามารถเรียนรู้ศักยภาพของตัวเอง ซึ่งมันมีเวทีที่น้อยมากที่ทำให้เด็ก ฉันมีพลังพอที่จะกลายเป็นกลไกเล็ก ๆ ในการปรับเปลี่ยนทางสังคม อันนี้ทำให้เขาแสดงพลังของเขาอย่างแท้จริง ให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเองอย่างแท้จริง
อันที่สอง ผมรู้สึกว่านอกจากเขาเห็นคุณค่าในตัวของเขาเองแล้ว มันยังทำให้เด็ก ๆ ในชุมชนได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของการมีพี่ ๆ อยู่ในชุมชน เพราะในอดีตที่มันผ่านมา พี่ก็อยู่ส่วนพี่ น้องก็อยู่ส่วนน้อง การเอาวัฒนธรรมพี่เลี้ยงน้องกลับเข้าไปในชุมชนอีกครั้ง มันทำให้เด็กไม่ได้รู้สึกเปล่าเปลี่ยว เด็กยังมีพี่ ๆ สำคัญ คือ ได้เรียนรู้ความสำคัญของตนเอง และเด็ก ๆ ได้เรียนรู้ว่าพี่เป็นตัวอย่างที่ดี เหมือนพี่กลายมาเป็นไอดอลของเด็ก ๆ อย่างนี้คือ สิ่งที่ชุมชนชมเชย สังคมเห็น มันกลายเป็นกำหนดวิถีให้เด็ก แทนที่จะไปเป็นเด็กเกเร ไปแข่งรถ อย่างนี้ คือ ทางเดินที่ถูกอันนี้ก็มีคนที่ชม”
ดร.พสุธา โกมลมาลย์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครเล่าต่อถึงการเปิดพื้นที่ สร้างการเรียนรู้ ช่วยเหลือเด็ก ๆ ชุมชน
“เราเปิดพื้นที่ไปยังกลุ่มของเด็กพิเศษมันเกิดจากการตั้งคำถามกับกิจกรรมของเราเอง จากการที่เราได้เรียนรู้การทำกิจกรรมทางสังคมมาเรื่อย ๆ เราไปเรียนรู้คำ ๆ นึงก็ คือ คำว่า inclusive มันเอาทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ผมไปเรียนรู้เรื่อง Inclusive City แล้วพอกลับเข้ามาตั้งคำถามกับตัวเราเอง แล้วก็มีสถานการณ์ที่มันผ่านมา จากสถานการณ์รุ่นที่ 2 ก็ คือ ในสถานการณ์รุ่นที่ 2 มีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยด้วยกันบอกว่าข้างบ้าน เขาเป็นเด็กพิเศษ แล้วพอจะมีกิจกรรมอะไรบ้างไหม หรือมีอะไรบ้างไหม ที่ไปดูแลเขาได้ เราก็เลยตั้งคำถามกับตัวเราเอง เพราะตอนนั้นเรายังไม่พร้อม
เราก็เริ่มเห็นเราว่าเราหลงลืมอะไรไปบางอย่างหรือเปล่า โดยเฉพาะกลุ่มเด็กพิเศษที่มีปัญหาเรื่องการปิดเทอมเช่นเดียวกัน แล้วต้องการการดูแลที่เป็นพิเศษ โดยปกติมีโรงเรียนก็เป็นโรงเรียนพิเศษอยู่แล้วแล้วพอโรงเรียนปิดอย่างนี้เด็กกลุ่มนี้จะอยู่ตรงไหน มันเป็นคำถามที่คาใจ โดยตัวเราก็เริ่มเรียนรู้แล้วว่า ถ้าเราเข้าไปจัดการเรียนรู้กับกลุ่มเด็กพิเศษ ภายใต้โครงการอาสาสอน เราจะทำอย่างไร ความโชคดีของเราเราได้หุ้นส่วนที่เป็นอาจารย์สาขาการศึกษาพิเศษ ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านนี้ เข้ามาร่วมด้วย เราก็เลยสามารถสร้างสรรค์กิจกรรม หรือเด็กที่มีองค์ประกอบเหมาะสม ในการเข้าไปจัดการเรียนรู้กับเด็กพิเศษกลุ่มนี้ ซึ่งผลปรากฏว่าชุมชนเขามีความสุข เพราะว่าชุมชนเขาบอกว่าจะมีใครสักคน ที่เข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้ นอกจากจะเป็นผู้ปกครองของเด็กพิเศษ
เพราะโดยปกติ คนที่เข้ามาจากการเรียนรู้นอกห้องเรียน สำหรับเด็กพิเศษ ก็คือผู้ปกครองของเด็กพิเศษ แต่ไม่มีคนในชุมชน ที่เข้าไปจัดการเรียนให้กับเด็กพิเศษ เพราะประเด็นเราอาจจะมองว่าเด็กพิเศษ คือคนที่จะต้องได้รับการจัดการเรียนพิเศษหรือเปล่า เราอาจจะต้องคำถามกับตัวเราเองว่าเรามอบอำนาจหน้าที่บทบาทให้กับโรงเรียน ดูแลเด็กพิเศษมากเกินไปหรือเปล่าโดยที่เราหลงลืมว่าเราก็ควรจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะช่วยเหลือดูแล จัดการระบบเรียนของเด็กในชุมชน
ผมรู้สึกว่าการที่เอาเด็กอาสาสอนลงเข้าไปจัดการ มันคือการทำให้ชุมชนเริ่มหันมามอง ฉันก็ทำได้เด็ก ๆ ในชุมชนก็รู้สึกว่าสามารถเล่นด้วยกันได้ ทำกิจกรรมด้วยกันได้ ฉันก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการจัดการเรียนรู้กับเด็กพิเศษได้ ไม่ใช่ต้องยกเด็กพิเศษให้กับโรงเรียน หรือสถานที่เขาเชี่ยวชาญโดยตรง”
เราเห็นจุดเริ่มต้นของโควิด-19 แต่ยากที่จะคาดเดาจุดสิ้นสุด แม้วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 คือ วันที่กำหนดเปิดภาคเรียนเทอม 2 ซึ่งดูเหมือนเป็นความหวังการกลับไปเรียนในห้องเรียนอีกครั้ง แต่นั่นไม่อาจรับประกันได้ว่า การเรียนรู้จะกลับมาเหมือนเดิมได้เมื่อไรตราบที่โควิด-19 ยังมีอยู่ และห้องเรียนยังเปิดไม่ได้ทั้งหมด “นักศึกษาอาสาสอน” ที่อยู่ในชุมชนกับความร่วมมือในการลุกขึ้นมาเปิดพื้นที่จัดการเรียนรู้ เติมเต็มพลัง สร้างความสุข และรอยยิ้ม เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง จึงเป็นอีกโอกาสคืนว่าที่บัณฑิตให้ชุมชนโดยไม่ต้องรอวันจบการศึกษา และช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ ให้มีห้องเรียนรวมชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน