ประชาชนไปต่อ : “เครือข่ายบ้านไร้เสียง” ไม่ไร้รัก เบิ่งแยงกันยามเมือบ้าน

ประชาชนไปต่อ : “เครือข่ายบ้านไร้เสียง” ไม่ไร้รัก เบิ่งแยงกันยามเมือบ้าน

นาทีนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โควิด-19 แทรกซึมระบาดอยู่ทุกพื้นที่ ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ต่างพยายามช่วยกันเต็มที่ แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งอยู่ในวิกฤตเตียงโควิด-19 ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมไปถึงอีกหลายจังหวัดที่มีคลัสเตอร์การระบาดและกำลังเผชิญกับภาวะนี้ นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมชุมชนจึงต้องตั้งรับและพร้อมจะโอบอุ้มผู้คนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อรักษาตัวที่คนในชุมชนเองก็รู้ว่า “เสี่ยงแต่คงต้องขอลอง”

“เสียงนี้เป็นเสียงประชาสัมพันธ์จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าเมือง มาประชาสัมพันธ์วันนี้เกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิดที่กำลังระบาดอยู่นะคะ”

ความห่วงใยตามสายลมจากโทรโข่งบนรถซาเล้งของคนกันเองแบบบ้าน ๆ  เสียงดังฟังชัด ด้วยภาษาอีสานบ้านเฮาที่ทุกคนฟังแล้วเข้าใจง่าย พูดไปนั่งไปบนรถซาเล้ง โดยทีมเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ท่าเมือง อสม. ชาวบ้าน และน้อง ๆ เยาวชนที่อาสา เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารและคำแนะนำในการดูแลป้องกันโควิด-19 ให้กับไทบ้าน เพราะที่ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี ที่นี่ก็เป็นอีกพื้นที่ที่ก็มีคนเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อมารักษาตัวเช่นเดียวกับหลายพื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ  พรพิมล  แก้ววงค์ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ท่าเมือง จ.อุบลราชธานี เล่าถึงปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสาร ให้คำแนะนำ ร่วมถึงสร้างความเข้าใจของคนในชุมชนและผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับภูมิลำเนา

“ก็จะประชาสัมพันธ์ในส่วนของสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดการระบาดอยู่ตอนนี้เพื่อให้ชาวชุมชนได้มีแรงผลักดันในการมีมาตรการในการป้องกันของตนเองให้มากขึ้น และให้ชาวชุมชนรับรู้ว่าที่ ตำบลท่าเมือง ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อและกักตัวกี่คน ให้ได้ทราบข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนมีการป้องกันตัวเอง และได้เห็นว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง รวมถึงให้เข้าใจผู้ที่ติดเชื้อแล้วเดินทางกลับภูมิลำเนา ไม่ให้มีการรังเกียจหรือพูดจาไม่ดีต่อกัน ก็เป็นการสร้างสัมพันธ์ในชุมชน เพื่อช่วยกันป้องกันสถานการณ์โควิด ณ ตอนนี้”

งานเชิงรุกก็ต้องเร่ง เชิงรับก็ต้องพร้อม

นอกจากชุมชนต้องเตรียมรับมือ ทั้งด้านการดูแลรักษา การทำความเข้าใจกับชุมชนเรื่องการป้องกันและการดูแลกันในชุมชนแล้ว ยังมีการจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อรอเตียง 1 แห่ง ที่ สนามกีฬาของ อบต. และชุมชนทุกหมู่บ้านจัดให้มีสถานที่กักตัวของผู้มาจากพื้นที่เสี่ยง รวมถึงจัดให้มีสถานที่พักฟื้น สำหรับผู้ป่วยที่รับการรักษาแล้วอีก 14 วันด้วย

โดยมี อสม.ทุกหมู่บ้าน ดูแลติดตามอาการ และผู้นำชุมชน ครอบครัว จิตอาสาช่วยกันดูแลส่งข้าวส่งน้ำ สอบถามอาการ  ตรวจวัดไข้ทุกวัน ส่วนการประชาสัมพันธ์สถานการณ์ทั่วไป การดูแลสุขภาพ จะทำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ชาวสมาชิกสวนสมุนไพรหนองสิม ยังใช้พื้นที่ (วัดบ้านยางกระเดา) อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี ช่วยกันปักชำเพาะปลูกพืชสมุนไพรเพื่อเป็นทางเลือกดูแลสุขภาพของชุมชน  โดยได้รับความร่วมมือ จากเจ้าหน้าที่ รพ.สต ท่าเมือง  แผนกแพทย์แผนไทยเข้ามาให้ความรู้ และจะทำเป็นแคปซูลยาสมุนไพรอย่างถูกวิธีต่อไป

โควิด-19ก็ต้องสู้ ปากท้องก็ต้องรอด

ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คนในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างมีรายได้ลดน้อยลง แต่ทุกคนยังพยายามหาทางรับมือสร้างพื้นที่กลางเพื่อให้พวกเขามีแหล่งอาหารที่มั่นคงเอาไว้กินและต่อยอดสร้างอาชีพ หลังจากโควิด -19 ส่งผลให้พวกเขาไม่มีงาน ไม่มีรายได้  โดยชาวบ้านได้รวมกันเช่าพื้นที่ว่างเปล่ามาทำแปลงปลูกผักสวนครัวและขุดบ่อเลี้ยงปลาไว้แบ่งกันปันกัน เพื่อลดรายจ่าย และป้องกันการออกไปพื้นที่แออัดในสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้

“ก็ช่วงนี้ก็เป็นช่วงระบาดของโรคโควิด-19 ก็ทำให้เราคิดว่า ถ้าไม่อยากออกไปข้างนอกพื้นที่เสี่ยง ก็เลยคิดอยากปลูกผักสวนครัว ใช้เอง กินเอง เผื่อเพื่อบ้าน แลกเปลี่ยนกัน ก็ปลูกผักกินได้ ปลูกผักสวนครัว มีข่า ตะไคร้ ถั่วฝักยาว แตงกวา มีต้นกล้วยและอีกหลายชนิด”

ประเสริฐ บัลลังก์วิกรม แกนนำชุมชนหาดวัดใต้เครือข่ายคนจนเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้ย้ำถึงว่าแต่ก่อนมันจะเป็นป่าพอได้งบลงมาเราก็พลิกผืนป่า ที่สภาพเดิมจะเป็นเฉพาะต้นกล้วย นอกนั้นจะเป็นพืชใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโหระพา ตะไคร้ ข่า กล้วย บางส่วนก็ได้เอามาขยายพันธุ์ ก็มีขุดบ่อปลา ลง 1,000 ตัว ตอนนี้มีปลาที่รอดอยู่ประมาณ 800 ที่พร้อมเอามาทำอาหารได้แล้ว

ไม่ใช่แค่โควิด-19 แต่พวกเขายังต้องหาทางรับมือ โดยการปลูกพืชผักสมุนไพร สร้างพื้นที่อาหารในชุมชนร่วมกัน ปลูกช่วยกัน กินด้วยกัน ที่เครือข่ายชุมชนในกลุ่มบ้านไร้เสียง อำเภอเมือง และ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ช่วยกันออกแบบการแผนรับมือวิกฤติโควิด-19 เรียนรู้การทำเกษตรในพื้นที่จำกัด เพื่อให้มีอาหารไว้กินในครัวเรือน เพราะบางคนก็ถูกลดการทำงาน รายได้ก็น้อยลง แต่รายจ่ายประจำยังคงอยู่ ทำให้อาจชักหน้าไม่ถึงหลัง ซึ่งการมีพื้นที่อาหารในชุมชนแบบนี้ ก็ทำให้ไม่ต้องไปเดินตลาดลดความเสี่ยงจากภายนอกชุมชนได้ด้วย

ทุกชุมชนต้องรอด ทุกปากท้องต้องอิ่ม ทุกคนต้องปลอดภัย

เมื่อบ้านไร้เสียง ต้องไม่ไร้สิทธิ ความคาดหวังเบื้องต้นเหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์หรือปาฏิหาริย์ แต่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทุกคนร่วมแรง ร่วมใจ ลงมือทำเพื่อดูแลกัน เวลาเกือบ 2 ปี ที่เครือข่ายชุมชนบ้านไร้เสียงในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ต้องยกระดับปรับตัว นอกจากขบวนการต่อสู้เรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิที่ทำกินและการเข้าถึงรัฐสวัสดิการที่ยังมีความเดือดร้อนที่รอดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย ด้านหนึ่งวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 กลับเป็นสิ่งเร้าที่พวกเขาทุกคนไม่สามารถนิ่งรอความช่วยเหลือได้ หากแต่จำเป็นต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนตามกำลังคนธรรมดาที่ต่างเปราะบาง ให้ใช้โอกาสนี้ฝึกฝืนและฝึกฝนที่จะดูแลกัน โดยใช้ความเข้าอกเข้าใจและเรียนรู้ท่ามกลางวิกฤตความยากลำบาก เพื่อหวังจะผ่านเรื่องราวเหล่านี้ไปด้วยกัน เพราะเชื่อเหลือเกินว่า “เครือข่ายบ้านไร้เสียง” ไม่ไร้รัก และยังเบิ่งแยงกันยามเมือบ้าน คือสิ่งที่ผู้เขียนได้เห็นชัดตลอดการทำงานร่วมกันที่ผ่านมา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ