อยู่ดีมีแฮง : เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำชี ตั้ง 6 ศูนย์ประสานงานรับมือน้ำท่วม

อยู่ดีมีแฮง : เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำชี ตั้ง 6 ศูนย์ประสานงานรับมือน้ำท่วม

ภาพ / ข่าว : รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

สถานการณ์น้ำในลำน้ำชีล้นตลิ่งจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “เตี้ยนหมู่”  ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำชี โดยเฉพาะในลุ่มน้ำชีตอนบน บริเวณจังหวัดชัยภูมิ ส่งผลให้ระดับน้ำที่เขื่อนชนบท จังหวัดขอนแก่นสูงกว่าตลิ่งในช่วงพื้นที่ลุ่มต่ำ และล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชี ในเขตอำเภอโคกโพธิ์ไชย อำเภอแวงใหญ่ อำเภอชนบท อำเภอมัญจาคีรี อำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮด และอำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น  ประกอบกับระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น สูงเกินเกณฑ์ระดับน้ำควบคุมสูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำลงลำน้ำพองและไหลไปรวมกับแม่น้ำชี ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงมากขึ้น

ข้อมูลจากชลประทานจังหวัดมหาสารคาม  สถานการณ์ในแม่น้ำชีที่ไหลผ่านจังหวัดมหาสารคาม ปัจจุบันมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากต้องรับน้ำเหนือจากจังหวัดชัยภูมิ และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่มีการปรับเพิ่มการระบายน้ำเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได  

สำหรับจังหวัดมหาสารคาม มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำชีไหลทะลักเข้าท่วม ในเขตพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโกสุมพิสัย 6 ตำบล ได้แก่ ต.โพนงาม เขวาไร่ หัวขวาง หนองบอน ยางท่าแจ้ง และตำบลเลิงใต้  อำเภอกันทรวิชัย 3 ตำบล ได้แก่ ต.เขวาใหญ่ ต.ท่าขอนยาง และตำบลมะค่า และอำเภอเมืองมหาสารคาม 4 ตำบล ได้แก่ ต.ท่าสองคอน ต.เกิ้ง ต.ลาดพัฒนา และตำบลท่าตูม

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดมหาสารคาม ได้หารือร่วมกับสภาฮักแพง เบิ่งแงง คนมหาสารคาม และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำชีตอนกลาง พื้นที่ 21  ตำบล และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ถึงสถานการณ์ ผลกระทบ และการรับมือภัยน้ำท่วม ในเบื้องต้นได้ร่วมมือกับหน่วยงานราชการ และเอกชน ร่วมดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ความเดือนร้อนให้พี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น จัดครัวกลาง มอบถุงยังชีพอุปโภคและบริโภคเพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ในเบื้องต้น  แต่ยังไม่เพียงพอเนื่องจากครัวเรือนที่เดือนร้อนมีปริมาณที่มาก จึงได้ร่วมกันพัฒนาศูนย์ประสานงานภัยพิบัติภาคประชาชน ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ต้นน้ำถึงปลายน้ำ บรรเทาความเดือนร้อนของพี่น้องในพื้นที่ และการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบบูรณาการอย่างเป็นระบบ ให้เกิดการวางระบบการจัดการภัยพิบัติสู่การบูรณาการสู่การพัฒนาในทุกมิติระดับพื้นที่ โดยจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติขึ้นมาจำนวน 6 ศูนย์ครอบคลุมพื้นที่ 21 ตำบล ตั้งแต่ต้นน้ำชีถึงปลายน้ำชีของจังหวัดมหาสารคาม และเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนจากทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งได้อนุมัติงบประมาณศูนย์ละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 300,000 บาท

นายสำลี สีมารักษ์ ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชนตำบลเขื่อน อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เล่าให้ฟังว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ศูนย์ที่ 1 ประกอบด้วย 3 พื้นที่ คือ 1. สภาองค์กรชุมชนตำบลเขื่อน 2. สภาองค์กรชุมชนตำบลยางท่าแจ้ง 3. สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองบัว เป็นพื้นที่ต้นน้ำชีของทางจังหวัดมหาสารคาม หลังจากพายุเตี๋ยนหมู่เข้ามาแล้วทำให้ผนังกั้นน้ำขาด สร้างความเสียหาย เฉพาะที่อำเภอโกสุมพิสัยพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 5 หมื่นไร่ ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนหนึ่งของตำบลเขื่อนแม้น้ำจะไม่ท่วมที่อยู่อาศัย จากการสำรวจข้อมูลของคณะผู้นำชุมชน 3 ชุมชน ทำทราบข้อมูลว่า มีพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบ 1,600 กว่าไร่

ในกรณีของตำบลยางท่าแจ้งนั้น มีพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมตำบลยางท่าแจ้งน้ำท่วม 4 หมู่บ้าน อย่างหมู่บ้านปลาปัด 126 ครัวเรือน น้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านก็ออกมาอาศัยที่เต้นท์ผู้อพยพ บางส่วนก็อยู่ในบ้าน ถนนตัดขาดรถสัญจรไม่ได้จะเข้าบ้านก็ต้องใช้เรือ บ้านท่วมเป็นบางหลัง ส่วนมากจะยกบ้านหนีน้ำขึ้นมา บ้านที่อยู่ด้านล่างสันโนนก็จะถูกน้ำท่วม   

ปัจจุบันน้ำยังคงท่วมขังอยู่ รอการสำรวจในรายละเอียดความเสียหายหลังน้ำลด ซึ่งผู้นำสภาองค์กรชุมชนตำบลจะทำการสำรวจข้อมูลเพื่อส่งไปยังหน่วยงานราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง สำหรับตำบลหนองบัว ลักษณะคล้ายกับตำบลเขื่อนที่พื้นที่อยู่อาศัยไม่ได้รับผลกระทบ จะท่วมในส่วนพื้นที่ดินทำกินโดยส่วนใหญ่

ส่วนของการวางแผนของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน 3 ตำบลนี้ ในฐานะที่เป็นผู้ประสานงาน ได้มีการปรึกษาหารือกับทางผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาภัยพิบัติร่วมกับส่วนราชการ ซึ่งยังมีส่วนที่ต้องสานต่อ หลังจากได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จำนวน 50,000 บาท หลังจากที่ปรึกษาหารือกันทั้ง 3 ตำบล แล้ว ได้จำแนกแบ่งงบประมาณออกเป็น การจัดซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค ศูนย์ละ 16,600 บาท โดยที่ตำบลเขื่อนได้จัดเป็น 210 ชุด ตามที่สำรวจข้อมูลมีจำนวน 210 ครัวเรือน

นายสำลี เล่าต่อว่า ในการสำรวจข้อมูลในช่วงนี้ยังสำรวจไม่ได้เพราะน้ำยังทรงตัว ไม่สามารถสำรวจความเสียหายได้ คาดว่าประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนจะสามารถทำการสำรวจได้ เมื่อได้ข้อมูลความเสียหายมาแล้วจะรวบรวมส่งต่อให้กับทางสภาฮักแพงเบิ่งแญงมหาสารคาม และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และส่งไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเยียวยาพี่น้อง ทางสภาองค์กรชุมชนจะสานต่อเพื่อให้ได้ข้อมูลแก้ไขเยียวยาในวันนี้ และเป็นฐานข้อมูลในการรับมือในวันข้างหน้าต่อไป  

นางวานิช กลั่นสุวรรณ สารวัตรกำนันตำบลหนองบัว บอกเล่าให้ฟังขณะพาไปดูสภาพหลังน้ำลด ระบุว่า ชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องห้องน้ำ บางหลังน้ำเข้าไปในบ้าน บ้านไหนมีเครื่องสูบน้ำสูบออก ส่วนหมู่1 กับหมู่บ้านที่เดือดร้อนน้ำท่วมบ้านเรือนกันเยอะ ความเสียหายที่ประสบปัญหาน้ำท่วมไร่นา 3,800 ไร่ ครัวเรือนน้ำท่วมจริงจากการสำรวจ หมู่ที่ 10 จำนวน 10 หลังคาเรือน หมู่ที่ 1 จำนวน 29 หลังคาเรือน หมู่ที่ 2 ประมาณ 20 หลังคาเรือน น้ำท่วมพื้นบ้าน บ้างไปอาศัยกับญาติ เบื้องต้นรายงานข้อมมูลให้ทางอำเภอรับทราบแล้ว  

ถัดลงไปทางทิศใต้ของแม่น้ำชี พื้นที่ ศูนย์ที่ 3 สภาองค์กรชุมชนตำบลเหล่า สภาองค์กรชุมชนตำบลแก้งแก ตำบลหัวขวาง และเทศบาลตำบลโกสุมพิสัย นายศักดา นามโยธา ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเหล่า ผู้ประสานงานศูนย์ภัยพิบัยเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนกลางฯ เล่าให้ฟังว่า ทำเครื่องอุปโภคบริโภคอาหารแห้ง ครัวกลาง ทำอาหารช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีผู้ประสบภัย 3 ตำบล ที่บ้านมั่นคงสะดืออีสาน ตำบลแก้งแก และตำบลเหล่า โดยได้เชิญนางรัตนา เลิศวิชากุล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลโกสุมพิสัย มาเป็นประธานในพิธีมอบถุงยังชีพ ซึ่งโอกาสต่อไปจะได้เชื่อมโยงการทำงานร่วม หลังจากนี้ทางศูนย์ 3 จะเก็บข้อมูลผู้ประสบภัยน้ำท่วมครัวเรือนเป็นใคร จำนวนเท่าไหร่ ได้รับผลกระทบ ความเสียหายอย่างไร และจะนำไปทำแผนการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตหลังน้ำลดต่อไป

ด้านประธานสหกรณ์เคหะสถานสะดืออีสาน จำกัด คุ้มกลางหมู่ 13 ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม นายจัน ศิริพันธะ ให้ข้อมูลว่า บ้านมั่นคงฯ มีเนื้อที่ 21 ไร่ 17 ตารางวา จัดทำบ้านมั่นคง 5 ไร่ 17 ตารางวา ตั้งสหกรณ์ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2559 ปัจจุบันได้ก่อสร้างบ้านมั่นคง เฟสที่ 1 จำนวน 15 ครัวเรือน เฟสที่ 2 จำนวน 29 ครัวเรือน ขณะนี้โดนภัยพิบัติน้ำท่วม จำนวน 10 ครัวเรือน และบ้านเรือนในชุมชน รวมแล้ว 54 ครัวเรือน  รวมทั้งศาลาที่ทำการถ็ถูกน้ำท่วมด้วย ซึ่งชาวบ้านก็ช่วยกันขนข้าวของ และแจกถุงยังชีพเบื้องต้น นอกนั้นก็มีการประสานกับหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทเอกชน ได้นำถุงยังชีพมาแจกจ่ายให้พี่น้อง อย่างวันนี้หน่วยงานเฉพาะกิจภัยพิบัติเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน 4 ตำบล ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนก็ให้งบประมาณมาจัดทำถุงยังชีพ    

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล ลุ่มแม่น้ำชีตอนกลาง จังหวัดมหาสารคาม 6 ศูนย์ ประกอบด้วย

ศูนย์ที่ 1 สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองบัว สภาองค์กรชุมชนตำบลยางท่าแจ้ง และสภาองค์กรชุมชนตำบลเขื่อน
ศูนย์ที่ 2 สภาองค์กรชุมชนตำบลเขวาไร่ สภาองค์กรชุมชนตำบลโพนงาม ตำบลแพง และสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองบอน
ศูนย์ที่ 3 สภาองค์กรชุมชนตำบลเหล่า สภาองค์กรชุมชนตำบลแก้งแก ตำบลหัวขวาง และเทศบาลตำบลโกสุมพิสัย
ศูนย์ที่ 4 สภาองค์กรชุมชนตำบลเลิงใต้ สภาองค์กรชุมชนตำบลเขวาใหญ่ สภาองค์กรชุมชนตำบลท่าสองคอน
ศูนย์ที่ 5 สภาองค์กรชุมชนตำบลขามเรียง สภาองค์กรชุมชนตำบลท่าขอนยาง สภาองค์กรชุมชนตำบลขามเฒ่าพัฒนา สภาองค์กรชุมชนตำบลมะค่า
ศูนย์ที่ 6 สภาองค์กรชุมชนตำบลเกิ้ง สภาองค์กรชุมชนตำบลลาดพัฒนา และสภาองค์กรชุมชนตำบลท่าตูม

ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน 2564 ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีปริมาณน้ำจากจังหวัดชัยภูมิ และเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ยังคงเพิ่มขึ้นจากสภาพฝนตกในช่วงระยะนี้  หากสถานการณ์กลับเป็นปกติ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล ลุ่มแม่น้ำชีตอนกลาง พื้นที่จังหวัดมหาสารคาม และสภาฮักแพง เบิ่งแงง คนมหาสารคาม จะเร่งสำรวจความเสียหายบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม จำนวนบ้านเรือน จำนวนผู้พักอาศัย ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ ความเสียหายจากผลกระทบน้ำท่วมต่อบ้านเรือนที่อยู่อาศัย จุดไหนบ้าง เสียหายอย่างไร ขนาดเท่าไร จำนวนเท่าไร ความต้องการวัสดุ สิ่งของ เพื่อการซ่อมแซมบ้านเรือนที่อยู่อาศัย สิ่งของ เครื่องใช้อื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้สามารถอยู่ได้ในชีวิตประจำวัน ในระหว่างการฟื้นฟูอาชีพ และบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เพื่อนำมาบูรณาการฟื้นฟูหลังน้ำลดต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ