ที่มา: เหมืองแร่เมืองเลย
เวลา 13.00 น. ของวันที่ 6 ธันวาคม 2556 นายสมัย ภักดิ์มี ได้รับจดหมายจดหมายลงทะเบียนที่ RG 4703 6746 9 TH จาก สภ.วังสะพุง จ.เลย
ภายในซองจดหมายเป็นกระดาษ A4 บนหัวกระดาษเป็นตราครุฑสีดำ และมีคำเตือนสีแดงกำกับอยู่ด้านขวามือว่า “คำเตือนไม่มาตามหมายเรียกเป็นเหตุให้ออกหมายจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๖๖”
ด้านซ้ายเขียนว่า “หมายเรียกผู้ต้องหา” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถานที่ออกหมายคือ สถานีตำรวจภูธรวังสะพุง จังหวัดเลย ออกหมายวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 ผู้กล่าวหาคือ บ.ทุ่งคำ จำกัด และ อบต. เขาหลวง ผู้ต้องหาคือ นายสมัย ภักดิ์มี ด้วยเหตุ “ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายฯกระทำการปิดกั้นทางหลวงหรือนำสิ่งใดมาขวางฯร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ฯ” โดยให้นายสมัย ภักดิ์มี ไปที่ สภ.วังสะพุง พบ พ.ต.อ.สมพงษ์ หงษ์ไพลิน ในวันที่ 6 เดือน ธันวาคม ๒๕๕๖ เวลา 09.00 น.
นายสมัย ภักดี ประธาน อบต.เขาหลวงซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ในฐานะผู้ถูกกล่าวหากล่าวว่า ตามหมายเรียกให้ไปหาเจ้าพนักงานวันนี้นั้น คงไปไม่ทัน เพราะเพิ่งได้หมายเรียกตอนบ่ายโมงวันนี้ และมีชาวบ้านอีก 21 คนที่ได้รับหมายเรียกเช่นกัน
“บางคนก็ไปทำงานในไร่นายังไงก็ไปไม่ได้เพราะเขาไม่รู้ ทางเราก็เลยปรึกษากันว่าจะขอเลื่อน ก็เลยโทรไปสอบถามพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอเลื่อน ทางพนักงานฯ ก็ตกลงให้เลื่อนไปวันที่ 20 ธันวาคม นี้ โดยให้ชาวบ้านมาให้ปากคำที่วัดป่านาหนองบง”
ตามข้อกล่าวหาที่ว่า ข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายฯ นั้น นายสมัยกล่าวว่า ตนเองไม่ได้ไปข่มขืนน้ำใจใคร เพียงแต่ชาวบ้านได้ร่วมกันทำกำแพงเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ (ซึ่งเป็นบริเวณสี่แยกที่ตัดกันเคยเกิดอุบัติเหตุรถชนกันมาแล้วสามครั้งที่รถยนต์ของเหมืองชนมอเตอร์ไซด์ชาวบ้าน) การขนสารเคมีอันตรายเข้ามาและก็ขนสินแร่จากพื้นที่อื่นๆ เข้ามาถลุงในพื้นที่ตรงนี้ ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ชาวบ้านขอ 5-6 ปีที่ผ่านมา และไม่เคยเห็นหน่วยงานรัฐใดเข้ามาสนใจแก้ไขปัญหา แต่พอบริษัททุ่งคำเข้าไปขอแจ้งความจับชาวบ้านก็ทำให้เลย อย่างนี้มันใช่ไม่ได้
“ส่วน อบต.มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรไม่สมควรที่จะทำแบบนี้ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งที่ภารกิจถ่ายโอนของ กพร. มาให้ อบต. ยกตัวอย่างบ่อสันเขื่อนไซยาไนด์แตกก็ไม่รับผิดชอบเลย แต่พอชาวบ้านลุกขึ้นป้องกันต้นเองก็เดือดร้อนเป็นปี่เป็นขลุ่ย มาฟ้องร้องชาวบ้านอย่างนี้ไม่ถูกต้อง”
“ผมอยากจะถามนายกว่า คุณมาจากประชาชนเลือกคุณมาไหม? หรือเหมืองทองเลือกคุณมา?”
นายสม้ยกล่าวว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นธรรมกับชุมชนเลย คือชาวบ้านไม่ได้ข่มขืนใจใคร ไม่ได้ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายใคร เราสร้างกำแพงขึ้นมาเป็นมติของ 6 หมู่บ้าน ไม่ใช่ว่าตนเป็นผู้นำหมู่บ้านแล้วจะบอกชาวบ้านให้สร้างกำแพง ปัญหาทุกอย่างถูกโยนเข้าไปในที่ประชุมของชุมชนและวิเคราะห์และตัดสินใจร่วมกัน
“การขู่ทำร้ายพนักงานของบริษัททุ่งคำนั้น ยืนยันว่า ไม่มี ไม่ใช่นิสัยของคนในชุมชน แต่ที่เราทำกำแพงก็เพื่อป้องกันความปลอดภัยให้กับชุมชนมากกว่า ในเมื่อ อบต. เปิดหน้าชกชุมชน เราก็ต้องเดินต่อในสิ่งที่ถูกต้อง เราใช้สิทธิชุมชนของเราสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุมชนของเรา ผมมองว่านายก อบต.เขาหลวง ชาวบ้านเลือกมาเพื่อจะมาพัฒนา และแก้ไขปัญหาของชุมชนแต่คุณกลับมาฟ้องเขาอย่างนี้มันใช่ไม่ได้”
นางสาวบุษยา แจ่มฟ้า เจ้าหน้าศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมกล่าว ถึงข้อกล่าวหาที่ชาวบ้านได้รับว่า ที่ว่าร่วมกันข่มขืนใจนั้น ข่มขืนใจเรื่องอะไร? ถ้าเป็นเรื่องบุกรุกหรือขัดขวางทางหลวงนั้นก็มีคดีฟ้องร้องกันอยู่แล้ว
คดีแบบนี้มันเป็นคดีหาเรื่อง ทำให้ชาวบ้านยุ่งยากและวุ่นวายมากขึ้น และที่น่าเป็นห่วงคือหน่วยงานรัฐร่วมกันกับเหมืองกล่าวหาชาวบ้าน แล้วแบบนี้ชาวบ้านจะไปพึ่งใคร? เหตุการเดิมๆซ้ำๆจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่หน่วยงานรัฐไม่เหลียวมองชาวบ้านผู้เดือดร้อน
สำหรับรายชื่อชาวบ้านที่ได้รับหมายเรียกทั้งสิ้นจำนวน 22 คน (โดยแยกเรียกเป็นรายบุคคล) ได้แก่
- นางอังศณา พวงไพวัน
- นายเภ่า พรหมหาราช
- นายบุบผา นาวงศรี
- นางระนอง กองแสน
- นางอาพร นินทรีย์
- นางสาวภัทราภรณ์ แก่งจำปา
- นายสุรพันธุ์ รุจิไชยวัฒน์
- นางวรรณิศา สุทธิ
- นายเสถียน สนม
- นายชุน ภักมี
- นายแสงชน วรีฤทธิ์
- นายธานิล ภักมี
- นางพัชรินทร์ บับพาน
- นายสมัย ภักมี
- นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์
- นายวัลลภ พวงไพวัน
- นางธุลิดา คุณนา
- นางมล คุณนา
- นางสุ่ม ศรีทอง
- นายเวิน เบ้าหล่อทอง
- นายพักโฮม พรมภักดี
- นางบุญฮอง ต้นพนม