ยางนา ถนนเชียงใหม่-ลำพูน จัดการอย่างไรให้ปลอดภัย ปชช. ถาม หน่วยงานตอบ จากสภาพลเมือง

ยางนา ถนนเชียงใหม่-ลำพูน จัดการอย่างไรให้ปลอดภัย ปชช. ถาม หน่วยงานตอบ จากสภาพลเมือง

หลังต้นยางนา ไม้หมายเมืองกว่า 10 ต้น บนถนนประวัติศาสตร์เชียงใหม่ – ลำพูน ล้มลงหลังเกิดเหตุพายุพัดรุนแรงเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 นำมาซึ่งคำถาม ความประหวั่นพรั่นพรึงต่อการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ การจัดการที่เหมาะสม รวมถึงการดูแลสวัสดิภาพของผู้คน บ้านเรือน ชุมชนริมสองฝั่งถนนหมายเลข 106 ที่ลากผ่านหลายพื้นที่ควบคุมและปกครอง

กระทั่งกลางเดือนตุลาคม สภาพลเมืองเชียงใหม่ จัดเวที เปิดเวทีเสวนา “วิกฤตยางนา ถนนเชียงใหม่-ลำพูน : จัดการอย่างไรให้ปลอดภัย” เป็นเวทีสภาพลเมืองนัดสำคัญ จัดกันที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่และถ่ายทอดสดผ่านออนไลน์ รวบรวมข้อสงสัย ความห่วงใยประชาชน-พลเมือง ได้ถามดัง ๆ ต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันตอบ และคิดกันต่อไปว่าจะจัดการกันอย่างไรให้เหมาะสม

TheCitizen.plus รวบรวมคำถามและข้อเสนอแนะของประชาชนและพลเมืองที่เข้าร่วมเวทีในวันนั้น ก่อนไปถึงวันที่เราได้ข้อสรุปทางเลือกและฉันทามติร่วมกันของสังคมในการจัดการ ต้นไม้ ถนน ชุมชน ชวนอ่านและชวนกันหาคำตอบร่วมสร้างความรู้ ทางเลือก ทางออกที่เหมาะสมต่อการออกแบบและจัดการต่อไป

การเยียวยาทรัพย์สิน

ถาม :

นายภัทรพงษ์  ลีลาภัทร์ ตัวแทนพรรคก้าวไกล ตั้งประเด็นสอบถามต่อ อบจ. เชียงใหม่ ใน 4 ประเด็น

  1. การเยียวยาเรื่องทรัพย์สิน เยียวยาเต็มจำนวนหรือไม่และต้องใช้ระยะเวลากี่วัน
  2. ขั้นตอนการเยียวยา ณ ปัจจุบัน ดำเนินการถึงขั้นตอนใด
  3. หากอาคารที่ได้รับความเสียหาย มีการสร้างก่อนการเกิดกฎหมายการขออนุญาตก่อสร้าง หรือได้มีการต่อเติม โดยไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้าง ในกรณีเช่นนี้ทาง อบจ. จะเยียวยาหรือไม่  และหากมีการเยียวยาทาง อบจ. จะมีแนวทางในการประเมินความเสียหายอย่างไร ในเมื่อไม่มีแบบ
  4. เรื่องทรัพย์สินที่เป็นยานพาหนะ อบจ. จะรับผิดชอบด้วยหรือไม่อย่างไร

นอกจากนั้น ตัวแทนพรรคก้าวไกล ยังสอบถามเรื่องการประเมินสุขภาพต้นไม้ต่อ อบจ. ใน 4 ประเด็นดังนี้

  1. ในช่วงที่รอเครื่องสแกนทาง อบจ. มีขั้นตอนกับต้นยางนาที่ทำการประเมินด้วยสายตาว่ามีความสุ่มเสี่ยงหรือลำต้นเอียง จะมีเสริมหรือการป้องกันในระยะเร่งด่วนอย่างไร
  2. หากได้เครื่องสแกนมาแล้ว ผลออกมาว่ารัศมีของรากไม่เพียงพอต่อการรับแรงหรือรากมีความทรุดโทรม ทางอบจ.จะมีแนวทางในการรับมืออย่างไร และจะมีการอนุมัติในเรื่องการตัดต้นที่ทรุดโทรมเร็วหรือช้าแค่ไหน
  3. หากมีเครื่องนั้นมาแล้ว ทางเจ้าหน้าที่มีความชำนาญในการปรับจูนเครื่องสแกนให้มีความละเอียดมากขึ้นจนสามารถหาเส้นผ่าศูนย์กลางของรากได้ และสามารถนำไปวิเคราะห์ความแข็งแรงของราก จากนั้นเมื่อนำไปวิเคราะห์ควบคู่กับคุณลักษณะของดิน จะสามารถวิเคราะห์หาค่า Up Root ของแรงลมที่ทำให้เกิดความอันตรายได้ ตรงนี้เราสามารถนำค่าวิบัติจาก Up Root จากแรงลมตรงนี้ไปใช้ร่วมกับการป้องกันการเตือนภัยหรือว่า ลมต้องมีความแรงเท่าไหร่เครื่องเตือนภัยถึงจะดัง และยังสามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินสุขภาพ
  4. ถาม นายกเทศมนตรีตำบลสารภี โครงสร้างหรืออาคารที่ชำรุดเสียหาย ต้องมีการสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งในการขอใบอนุญาตก่อสร้างนั้น ต้องมีลายเซ็นวิศวกรและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะอนุโลมค่าดำเนินการสำหรับกรณีผู้เสียหายประสบภัยจากภัยพิบัติ

ตอบ :

นายสมชาติ วัฒนากล้า ผอ.สำนักงานช่าง อบจ. เชียงใหม่ กล่าวว่า การเยียวยาของอาคาร ตอนนี้ได้ดูแลอยู่ประมาณ 7 หลังที่เสียหายที่สุดโดยดำเนินการทั้งหมด 2 ส่วน ส่วนแรก ดูแลในด้านกฎหมายสาธารณภัย เร่งรัดเบื้องต้นก่อน ส่วนที่นอกเหนือจากนั้น มันเกินอำนาจของกฎหมายปกครอง ในเรื่องการสอบละเมิด ตอนนี้รอหนังสือจากผู้ร้อง 7 ราย ซึ่งเอกสารยังมาไม่ถึง อบจ.

เบื้องต้นทาง อบจ. ได้ให้นิติกรลงไปพูดคุยกับผู้ได้รับความเสียหาย ให้คำแนะนำ โดยให้รวบรวมหนังสือเรื่องความเสียหายของอาคารทั้งหมดมายื่นที่ อบจ. ซึ่งการสอบละเมิดใช้เวลาทั้งหมดไม่เกินประมาณ 180 วัน และไม่เกิน 180 วันต้องทำการจ่ายค่าเสียหาย  โดยมีเคสตัวอย่างตั้งแต่ปี 2563 ทาง อบจ. ได้ทำการจ่ายหลายราย มีบางรายจ่ายถึง 7 แสน

การจัดการเบื้องต้นตอนนี้ ทางเขียวสวยหอมและสมาคมยางนาขี้เหล็กสยามของอาจารย์บรรจง ได้สำรวจต้นเสี่ยงจริง ๆ ประมาณ 30 ต้นในเขตสารภี ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการตัดไป น่าจะแล้วเสร็จในอีก 1 เดือน ดำเนินการไป 5 ต้น ส่วนใหญ่เป็นต้นที่ลำต้นเอียง ดูจากสายตา ต้นที่ทรงพุ่มไม่สมดุล ได้เขาไปตัดแต่งโดยใช้หลักรุขกรรม ได้ที่ปรึกษาคือ อาจารย์บรรจง เข้าไปดูแล

ส่วนที่ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ คือในกรณีที่ลำต้นเอียง มีการเสนอเรื่องการใช้ลวดสลิง เป็นการเร่งด่วน แต่การทำตรงนี้มันต้องมีการพูดคุยกันหลายฝ่าย เนื่องจากเป็นหลักทางด้านวิศวกรรม ยังไม่เคยทำต้องมีการคำนวณให้ดี มีการเสวนาไปในกลุ่มย่อยทางด้านวิศวกรรม ทาง อบจ. ก็พร้อมที่จะทำ

สำหรับเครื่องสแกน ต้องใช้เวลา เบื้องต้นในครั้งที่สั่งซื้อครั้งแรกมีปัญหาเรื่องกฎหมายใน มาตรา 89 ในการจัดซื้อทำให้เกิดความล่าช้า และตอนนี้ได้พูดคุยผู้นำเข้าที่เชี่ยวชาญได้ทำการสั่งซื้อและนำเข้ามา  อีกทั้งขณะนี้ได้ทางมหาวิทยาลัยลาดกระบังมีความเชี่ยวชาญทางด้านการแสกนสามารถมาสอน มีอาจารย์วรงค์ จากคณ สถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้ามาช่วยในเรื่องเครื่องสแกนรากกับต้นไม้

ด้านนายวรเดช เต็มดี นายกเทศมนตรีตำบลสารภี ตอบคำถามกรณีแบบแปลนบ้าน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากที่ถูกต้นไม้ทับนั้นไม่ต้องออกแบบหรือขออนุญาติใหม่สามารถซ่อมแซม โดยไม่ต้องขออนุญาต

ถาม :

โรงพยาบาลสารภี สอบถามผ่านทางเฟซบุ๊ก

  1. การชดเชยสินไหมเวลาที่เกิดเหตุต้นยางตกใส่บ้านเรือน ทาง อบจ. สามารถที่จะชดเชยได้ภายในกี่วัน
  2. เมื่อเกิดอุบัติและเกิดความเสียหายกับตัวอาคาร ต้องมีการก่อสร้างบ้านใหม่ เกิดค่าใช้จ่ายขึ้น ซึ่งตรงนั้นก็เหมือนกับว่าทางประชาชนก็ต้อง ออกเงินไปก่อสร้างไปก่อน อยากรู้ว่า เราจะได้เงินที่เราต้องซ่อมแซมบ้าน ใช้เวลากี่วัน

ด้านนายวรเดช เต็มดี นายกเทศมนตรีตำบลสารภี สอบถามว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ 7 หลังที่ยังไม่มีหนังสือส่งไปถึง อบจ. สามารถส่งเอกสารเองหรือให้เทศบาลเป็นคนรวบรวมส่งได้หรือไม่ นอกจากนี้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเสาไฟฟ้าล้มทับ หรือว่าสายไฟพาดเสียหาย ในกรณีของต้นยางล้มทับเสา สามารถทำเรื่องขอเงินเยียวยาจาก อบจ. ได้หรือไม่

ตอบ :

นายสมชาติ วัฒนากล้า  ผอ.สำนักงานช่าง อบจ. เชียงใหม่ กล่าวว่า สามารถส่งเอกสารได้เองหรือเทศบาลเป็นผู้รวบร่วมให้ได้

เจ้าหน้าที่ทสจ. กล่าวว่า ทางการไฟฟ้ามีกองทุนช่วยเหลือมนุษยธรรมเกี่ยวกับภัยพิบัติ สามารถประสานกับทางการไฟฟ้า ไปที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1(ภาคเหนือ) จังหวัดเชียงใหม่ แต่จะได้รับเงินชดเชยไม่เต็มจำนวนเหตุเนื่องจากเกิดจากการที่ต้นยางมันล้มทับเสาไฟเค้า หากเป็นเสาไฟฟ้าล้มทับเองสามารถรับผิดชอบได้ 100%

ถาม :

ผศ.ดร.เขมกร ไชยประสิทธิ์ สอบถามว่า เหตุใดกระบวนการเยียวยา ถึงได้มีกระบวนการยาวนานถึง 180 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน อีกทั้งในส่วนของอัตราการเยียวยาเหมาะสมในกับความเสียหายหรือไม่ และภาครัฐจะมีกระบวนการอย่างไรให้ประชาชนได้รับการเยียวยาให้เร็วหรือมีขั้นตอนในการลดระยะเวลาหรือไม่

ตอบ :

นายสมชาติ วัฒนากล้า  ผอ.สำนักงานช่าง อบจ. เชียงใหม่ กล่าวว่า กระบวนของ อบจ. ต้องมีการสอบละเมิด คือการสอบข้าราชการ หากมีความบกพร่องหรือไม่ถึงจะจ่ายเงินได้ และตั้งกรรมการและช่างเข้าไปประเมินค่าเสียหายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรืออาคาร กล่าวคือต้องประเมินตามจริงทุกอย่าง เบิกได้ทุกประการ แต่ทางราชการไม่สามารถจ่ายเงินก่อนได้เนื่องจากเป็นเงินหลวง

“หากเป็นกองทุนมันถึงจะมีอำนาจอิสระ อีกทั้งทางหน่วยงานไม่อยากให้ถึงขั้นของการที่ประชาชนไปฟ้องศาล ทำให้ระยะเวลานานกว่าเดิม และการใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ถือว่าเร็วที่สุดของระบบราชการ ทางภาครัฐเองก็ไม่อยากเห็นชาวบ้านเดือดร้อน ตามหลักคือ 180 วัน เราอาจจะให้สั้นกว่านั้นได้ อันนี้เป็นเรื่องของท่านนายกอบจ.ก็จะเร่งรัดให้ทางคณะกรรมการไปประเมิน และดำเนินการให้สั้นลงต่อไป

ถาม :

นายชัยโรจน์ โพธิ์เจริญ สอบถามว่า

  1. ต้นยางที่ยังมีชีวิตอยู่ อยากจะให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยจัดการตามหลักวิชาการให้เค้ามีชีวิตอยู่ได้นานที่สุด โดยที่ไม่ทำอันตรายต่อประชาชนที่อยู่แถวนั้น
  2. ต้นที่ตายไปแล้วจะด้วยเงื่อนไขโดนพายุหรืออุบัติเหตุ จะปลูกทดแทนขึ้นหรือไม่ เพื่อที่จะได้มีถนนต้นยางอยู่ต่อไป
  3. เป็นไปได้หรือไม่ที่เจ้าของบ้านหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำประกันกลุ่ม เช่น ประเมินความเสี่ยง หรือจัดทำ ประกันภัยรถยนต์ ประกันชั้นหนึ่งต้นไม้ล้มทับ ค่าชดเชยค่ารักษาพยาบาล ทรัพย์สินที่เสียหาย บ้านที่อยู่ใกล้ ๆ มีความเสี่ยงในทิศทางที่ต้นไม้จะล้ม อาจจะเสียเบี้ยประกันแพงลดหลั่นตามความเสี่ยง 2,000-3,000 ต่อปี ต้นที่หักบ้านที่ห่างอาจจะมีการลดเบี้ยประกันลง หรือความเสี่ยงน้อย หรือทางราชการอาจจะมีการร่วมทำประกันภัยหมู่ เพื่อเป็นการช่วยชดเชยความเสียหายที่จะเกิดขึ้น  เพราะตนอยากจะเห็นถนนต้นยางมีต้นยางอยู่ต่อไป ให้ลูกหลานได้เห็นได้สืบทอดต่อไป

ตอบ :

นายเลอยศ พิทักษ์ชิโณรสกุล นายอำเภอสารภี กล่าวว่า ส่วนราชการ ก็เห็นช่องโหว่วของระบบราชการ เลยได้หารือกับกำนันทุกตำบล และนายกเทศบาลทั้ง 12 แห่ง จึงคิดจัดตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณะภัย ก็จะเงินส่วนนี้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางราชการเอาไปมอบให้เค้าก่อน อย่างน้อยก็ได้ดำเนินการช่วยเหลือ

หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาการป่าไม้ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ตอบคำถาม ข้อที่ 1 โครงสร้างของระบบของต้นไม้ มันจะมีทั้งระบบเรือนยอดและระบบราก เพราะฉะนั้นการจัดการต้องทำควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน หากบำรุงเฉพาะระบบรากอย่างเดียวแล้วไม่ดูแลระบบเรือนยอด ก็จะเกิดความเสียหายอย่างที่เห็นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม  โดยที่ว่าการบำรุงระบบรากที่สำคัญต้องบำรุงให้เกิดรากแขนงซึ่งจะเป็นรากค้ำยันต้นไม้ให้มันคงทนก่อน 

ตามหลักวิชาการจะให้เกิดรากแขนงได้จะต้องบำรุงระยะห่างจากโคนต้นอย่างน้อย 1 เมตร ซึ่งที่เคยปฏิบัติกันจะใช้ระบบการฝังท่อลงไปเพื่อที่จะให้ยางนาเกิดรากแขนงขึ้นมา  เมื่อเกิดรากแขนงที่สามารถค้ำยันลำต้นแล้ว ค่อยมาบำรุงรากฝอยที่ระบบโคนต้น  ซึ่งระบบรากฝอยจะช่วยหาอาหาร เพื่อที่จะไปบำรุงเรือนยอด  แล้วจะต้องมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อลดแรงปะทะของลม ระวังไม่ให้เกิดเรือนยอดที่แน่นทึบ

ส่วนคำถามข้อ 2 เมื่อปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่รับผิดชอบทำเรื่องไปที่สำนักบริหารการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ขอดำเนินการตัด 5 ต้น  ซึ่งทางกรมป่าไม้ก็อนุญาตให้ดำเนินการตัดออก ตรงนี้คือเราสามารถทำได้ คือมีการสำรวจร่วมกันแล้วก็เข้าไปดำเนินการ 

ถาม :

นายเลอยศ พิทักษ์ชิโณรสกุล นายอำเภอสารภี สอบถามว่า หากบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย  ต้องการที่จะซ่อมที่พักอาศัยไปก่อน สามารถทำไปก่อนแล้วนำใบเสร็จมาเบิกหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบได้หรือไม่

เช่นเดียวกับ นายวรเดช เต็มดี นายกเทศมนตรีตำบลสารภี สอบถามว่า บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย สามารถสร้างเองก่อนได้หรือไม่ ต้องรอให้ อบจ. เข้าไปประเมินความเสียหาย และประเมินค่าใช้จ่ายก่อนหรือไม่ หากประเมินเรียบร้อยแล้วสามารถทำสัญญาเพื่อเป็นลายลักษณ์อักษรได้หรือไม่

ส่วนผู้เข้าร่วมสภาพลเมืองผ่านระบบออนไลน์ สอบถามว่า กรณีส่งบัญชีที่ได้รับความเสียหายให้ อบจ. ยื่นด้วยตัวเองไม่ได้ สามารถส่งทางไปรษณีย์ได้หรือไม่ 

ตอบ :

นายสมชาติ วัฒนากล้า  ผอ.สำนักงานช่าง อบจ. เชียงใหม่ ตอบว่า ได้มีการปรึกษาทางฝ่ายกฎหมาย อบจ. ส่วนแรก ถ้าช่วยเหลือสาธารณภัยที่ไม่เกิน 50,000 บาท น่าจะช่วยไปได้ในส่วนของอำเภอและจังหวัด  ถ้ามันเกินก็มาที่ละเมิดของ อบจ.  การซ่อมสามารถซ่อมได้เลย เก็บหลักฐานตั้งแต่ก่อนซ่อม ระหว่างซ่อม หลังซ่อม เก็บเอกสารให้ละเอียด  หากต้องสอบละเมิดมีปัญหาช้าเพราะว่าจะเถียงกันว่า ถูก-แพงอย่างไร ก็ต้องเอาตามสภาพเดิม  อันนี้สามารถจัดการได้เลยครับ

ขณะนี้ได้ให้ทางนิติกรกับช่างเข้าไปประกบกับพื้นที่หลัก ที่ล่าช้า 6 เดือน เพราะเอกสาร นี่เช็คไปที่กรมอุตุนิยมวิทยาว่าเป็นภัยพิบัติลมแรงขนาดไหน  ทางหน่วยงานรับผิดชอบต้องเก็บข้อมูล คือตอนนี้ถ้ามันไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าที่อื่นไม่เห็นล้มเลยก็คงเป็นเรื่องละเมิดไป  ถ้ามันเป็นภัยพิบัติแบบล้มทั้งหมด ก็จ่ายไม่ได้ เป็นลักษณะว่าสุดวิสัยช่วยไม่ได้แล้ว นี่เป็นเรื่องข้อกฎหมาย

ส่วนการส่งบัญชีที่ได้รับความเสียหายนั้น สามารถส่งเอกสารผ่านไปรษณีย์ พร้อมแนบจดหมายหรือบันทึกข้อความ ระบุความเสียหาย พร้อมแนบเอกสารทั้งหมด ส่งมาที่ อบจ.

ถาม :

นายเลอยศ พิทักษ์ชิโณรสกุล นายอำเภอสารภี สอบถามทิ้งท้ายเวทีสภาพลเมืองครั้งนี้ว่า การออกกฎหมาย พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีกองทุนสิ่งแวดล้อม ภารกิจหลักอาจจะดูรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กำหนดให้ใช้เงินไปรักษาคุณภาพ  แต่ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบคือต้นยางนา ลมฝนต้นยางนาล้มทับบ้านเรือนราษฎร จะสามารถใช้กองทุนนี้ไปช่วยเหลือเยียวยาได้หรือไม่

ตอบ :

นายสุรเดช สมใจหมาย กองทุนสิ่งแวดล้อม ระบุว่า กระบวนการนี้ถ้าเป็นค่าชดเชยหรือเยียวยา ทางกองทุนสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้มีข้อกำหนดให้สนับสนุนงบประมาณทางด้านนี้ อย่างไรก็ตามตอนนี้ในเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ ทางกองทุนจึงต้องเร่งดำเนินการในเรื่องข้อมูล แต่ในเรื่องการสนับสนุนการเยียวยานี้ยังไม่มีในปัจจุบัน

ต้นยางนาในพื้นที่อื่นจะจัดการอย่างไร

ถาม :

นายปรีชา พิบูรณ์ราช กรรมการวัดเมืองกาย ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ถามว่า ต้องการให้วัดเมืองกาย ทั้งหมด 15 ต้น อยู่ในเรื่องการจัดการพื้นที่ยางนาของเทศบาลนครเชียงใหม่หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่

ตัวแทนจากวัดเมืองกายอีกรายหนึ่ง สอบถามว่าต่อ อบจ. หรือเทศบาลนครเชียงใหม่ถึง กรณีต้นยาง 15 ต้นของวัดเมืองกาย ควรจะต้องจัดการอย่างไร ซึ่งไม่อยู่ในพื้นที่คุ้มครองฯ และในระยะยาว ต้นยางนาทั้ง 15 ต้นต้องอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด

ตอบ :

นางสาวสุรีรัตน์  ตรีมรรคา ประธานสภาพลเมืองเชียงใหม่ ชี้แจงว่า หน่วยงานของท่านสามารถทำหนังสือถึงหน่วยงานที่ท่านคิดว่าจะช่วยดูแลตรงนี้ได้ อย่างไรก็ตามกองเลขานุการสภาพลเมืองจำทำการบันทึกสิ่งที่ท่านพูดและเสนอ จัดทำข้อเสนอนี้ เสนอต่อหน่วยงานต่าง ๆ เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อทางหน่วยงานจะได้ติดตามหรือตอบคำถามหรือว่าแนะนำต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ