วันนี้ (16 ก.พ. 2558) นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีมอบประทานบัตรเหมืองแร่โปแตช ให้แก่ บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) และจัดแถลงข่าวเรื่อง “ประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชใบแรกของไทย 30 ปีที่รอคอย โดยจากใบเชิญร่วมทำข่าว ในการประชุมมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ และนายจักกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานประธานคณะกรรมการบริษัทเหมืองแร่โปรแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมด้วย
ประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชดังกล่าว มีพื้นที่ 9,000 ไร่ อยู่ใน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ อายุประทานบัตรในการอนุญาตทำเหมืองนาน 25 ปี โดยเหมืองแห่งนี้เป็นเหมืองใต้ดิน มีลักษณะเป็นเหมืองปิด ใช้เงินลงทุน 40,000 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยผ่านสื่อมวลชน (คลิกอ่านข่าว) ถึงการดำเนินกิจการเหมืองแร่ดังกล่าวว่า เอกชนจะต้องมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลชาวบ้านโดยให้แบ่งเงินเข้ากองทุนตามสัดส่วนการผลิตในเปอร์เซ็นต์ที่เหมาะสม สำหรับการจ่ายเงินแก่ภาครัฐนั้น เอกชนผู้รับสัมปทานจะต้องทยอยจ่ายเงินผลประโยชน์พิเศษและจ่ายค่าภาคหลวงตามระยะเวลาที่กำหนด โดยค่าภาคหลวงประมาณ 60% เป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอีก 40% จะเก็บเงินเข้าส่วนกลาง
นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ยังมีเหมืองแร่โปแตชที่ได้อาชญาบัตรแล้วและกำลังดำเนินการเพื่อขอประทานบัตรค้างอยู่อีก 1-2 ราย ได้แก่ เหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา พื้นที่ประมาณ 9,000 ไร่ ซึ่งคาดว่าน่าจะผ่านการตรวจด้านเทคนิคในเดือน มี.ค.นี้ และของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD จ.อุดรธานี ที่ยังติดปัญหาเรื่องความไม่ไว้วางใจจากชาวบ้านในพื้นที่
จากกระแสข่าวทิศทางความคืบหน้าของอุตสาหกรรมเหมืองโปแตชในประเทศไทยดังกล่าว ส่งผลให้ราคาหุ้นของ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ในตลาดหลักทรัพย์ถีบตัวสูงขึ้น รวมทั้งหุ้นของบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC ซึ่งมีบริษัทย่อย คือ TRC International Limited ที่เข้าถือหุ้น 4.48% ในบริษัทเหมืองแร่โปแตช อาเซียน จำกัด (มหาชน) หรือ APMC ผู้รับประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชใบแรกของไทย ซึ่งในส่วนของงานก่อสร้างเห็นว่า TRC มีโอกาสสูงที่จะได้รับงานนี้ เพราะมีประสบการณ์ในการก่อสร้างและเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการนี้ด้วย (คลิกอ่านข้อมูล)
เส้นทาง 30 ปี แห่งการรอคอยนี้ ข้อมูลโดย กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา จากจดหมายข่าวชุมชนคนฮักถิ่น (คลิกอ่าน) ได้บันทึก เส้นทางโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.ชัยภูมิ ไว้ดังนี้
กันยายน 2516 กรมทรัพยากรธรณีเริ่มเจาะสำรวจแร่โปรแตช
กุมภาพันธ์ 2522 กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้พื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นพื้นที่เพื่อการสำรวจ ทดลอง ศึกษา และวิจัยเกี่ยวกับแร่ ตามมาตรา 6 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510
ปี 2525 กรมทรัพยากรธรณีเริ่มก่อสร้างอุโมงค์ที่ 1 เข้าสู่ชั้นแร่
มีนาคม 2532 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้โครงการทำเหมืองแร่โปแตช ที่เภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน แทนโครงการอุตสาหกรรม ผลิตเกลือหินและโซดาแอช ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
กันยายน 2533 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ กระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้งองค์กรผู้ถือหุ้นของฝ่ายไทยเข้าร่วมทุนจัดตั้งบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (บริษัท APMC) และให้บริษัทดังกล่าวเข้าไปดำเนินการในเขตพื้นที่โครงการได้ในฐานะตัวแทนของกรมทรัพยากรธรณี
ปี 2541 – 2542 บริษัท APMC พัฒนาการทำเหมือง จนถึงชั้นแร่ ที่ระดับความลึก 180 เมตร จากผิวดิน
ตุลาคม 2545 – 2547 บริษัท APMC ประกาศเชิญชวนผู้ร่วมลงทุนและดำเนินการ (Strategic Investor)
28 คุลาคม 2547 บริษัท APMC ยื่นคำขอประทานบัตรในการดำเนินโครงการฯ ในเขตท้องที่ ต.บ้านตาล ต.บ้านเพชร และ ต. ห้วยทะเล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ จำนวน 1 แปลง เนื้อที่จำนวน 9,708 ไร่
กระทรวงอุตสาหกรรมขอความร่วมมือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดพื้นที่ ตามมาตรา 6 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.แร่ 2510 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา
เดิมโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และอนุญาตให้ยื่นคำขอเปิดพื้นที่ตามมาตรา 6 ทวิ จำนวน 2,500 ไร่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 แต่บริษัทได้ขออุทธรณ์ขยายพื้นที่เป็น 10,000 ไร่ พร้อมส่วนขยายอีก 6,000 ไร่ ซึ่งตามกฎหมายแล้วบริษัทต้องขอมาทั้งหมด 16,000 ไร่
ปี 2550 บริษัทได้ทบทวนพื้นที่ แล้วทำหนังสือไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อขอเสนอการประกาศเปิดพื้นที่ทั้งหมด 40,000 ไร่ โดยครอบคลุมเป็นพื้นที่ทำเหมืองเดิม และขยายขอบเขตการประกาศให้ควบคุมพื้นผิวดินที่สมบูรณ์ โดยระบุพื้นที่ทำเหมืองใต้ดินจริงแล้ว 10,000 ไร่ นับรวมพื้นที่กองหางแร่จำนวน 6,000 ไร่ เข้าไปด้วย ซึ่งการทำเหมืองจะมีท่อส่งหางแร่จากจุดที่ทำเหมืองห่างออกไป 7 กิโลเมตร ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีกภายหลัง บริษัทจึงตีกรอบพื้นที่ที่มีการทำเหมือง ท่อส่งหางแร่ และพื้นที่เก็บหางแร่ออกเป็น 4 เหลี่ยม คิดเป็นพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมด 40,000 ไร่ อย่างไรก็ตามบริษัทมีปัญหาเรื่องภาวะการเงินแย่ โดยได้ขอกู้มาจากธนาคารออมสิน 20 ล้านบาทเมื่อกลางปี 2549 และใกล้จะหมดแล้ว
ต่อมาบริษัทต่างๆ เร่งขอเปิดพื้นที่ทำเหมืองแร่ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยมี นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ในขณะนั้น) ตั้งคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติเปิดพื้นที่สำรวจเหมืองแร่ มาตรา 6 ทวิ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาอนุญาตให้เปิดพื้นที่สำหรับสำรวจ ทดลอง ศึกษา หรือวิจัยเกี่ยวกับแร่ ให้กับเอกชนเข้ามาขออาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรในพื้นที่ดังกล่าวได้เป็นกรณีพิเศษ โดยมีนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน ทำหน้าที่ในการพิจารณาและเสนอเรื่องให้นายเกษม พิจารณาและลงนามอนุมัติอีกครั้ง หากมีการอนุมัติจะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สถานการณ์ปัจจุบันของอีสาน นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน กล่าวให้ข้อมูลว่า จากการติดตามข้อมูลโครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน พบว่ามีการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อทำการสำรวจแหล่งแร่ และขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่โปแตช ไปแล้ว 11 จังหวัด 16 พื้นที่ ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น จ.ชัยภูมิ จ.สกลนคร จ.อุดรธานี จ.มหาสารคาม จ.หนองคาย จ.นครพนม จ.ยโสธร จ.กาฬสินธุ์ และจ.บึงกาฬ คิดเป็นเนื้อที่รวมกว่า 1,700,000 ไร่ ซึ่งหากเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้นจริงก็จะส่งผลกระทบต่อคนอีสานทั้งภาคอย่างแน่นอน