“รับผ้า…ปิ้งปลา ไหมคะลูกค้า นำไปใช้ปูพื้นนั่งปิ้งปลาได้นะคะ”
สายตาทั้งสองคู่นั้น เปล่งประกายผ่านหน้าจอมือถือด้วยแสงของหลอดไฟนีออนกลมรับกับทรงผมหน้าม้าฝาแฝดสองพี่น้อง ส่งเสียงเจื้อยแจ้ว ท่าทางเขินอาย คนพี่คอยบรรยาย คนน้องคอยเสริมชื่อผ้า บ้างผิด บ้างถูก สลับกันพูดถึงความโดดเด่นของผ้าฝ้ายแต่ละผืน ท่ามกลางเสียงหัวเราะครึกครื้นของแม่ ๆ ป้า ๆ ที่คอยให้กำลังใจอยู่หลังกล้องไม่ห่าง…
จาก ผ้าปูแคมป์ปิ้ง กลายเป็น ผ้าปิ้งปลา ไปแล้ว
ที่ บานาน่าแลนด์ แห่งนี้ มีแม่ค้าตัวน้อย ๆ สองพี่น้องเสียงหวาน ขวัญใจของคนในชุมชนที่มาคอยช่วยขายทุกครั้งเมื่อมีไลฟ์สด ภาพเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ เย็นวันเสาร์ พร้อมกับรอยยิ้มท่าทางเขินอาย ความน่ารักของสองที่น้องที่คอยสลับกันบรรยายพูดถึงรายละเอียด ชื่อของผ้าแต่ละผืน มีผิดบ้างถูกบ้าง แถมเสียงหัวเราะกันอย่างครึกครื้นของแม่ ๆ ป้า ๆ ที่คอยให้กำลังใจอยู่ด้านหลัง รวมทั้ง “บั้ม” สาววัยกลางคนที่มีจิตใจและสายเลือดเป็นนักอาสา
หลังจากที่เรียนจบ “บั้ม”ตัดสินใจมุ่งหน้ามาที่บ้านเกิดเพราะอยากให้บ้านของตนเอง ได้พัฒนามากกว่าเดิม จึงได้เกิดเป็นพื้นที่ที่ชื่อว่า “บานาน่าแลนด์” อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย แห่งนี้
บั้มเล่าว่าตอนเด็ก ๆ พ่อของเธอชอบช่วยเหลือ ชอบออกไปเป็นจิตอาสาช่วยเหลือ ผู้คนมากมาย ทุกครั้งที่พ่อไปทำงานอาสาพ่อก็จะพา บั้ม ไปด้วยเสมอ จนปัจจุบัน บั้ม ได้พร้อมที่จะช่วยชุมชน พัฒนาชุมของตนเองให้ดีขึ้น มีรายได้ดีขึ้น โดยเริ่มจากการเปิดพื้นที่ของตัวเองให้เป็นสถานที่เรียนรู้ฝึกวิชาชีพของคนในชุมชนที่อยากจะมาเรียนรู้ อยากจะพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มากกว่าเดิม
“บานาน่าแลนด์ ดินแดนกล้วย ๆ อาจไม่ใช่พื้นที่ที่มีแต่กล้วย แต่เป็นกล้วย ๆ ที่หมายความว่าอยู่อย่างเรียบง่ายของคนในชุมชน”
ที่บานาน่าแลนด์แห่งนี้เป็นพื้นที่เปิดให้คนในชุมชนทุกคนและเยาวชนที่สนใจอยากเข้ามาเรียนรู้งานด้านที่ตัวเองถนัดหรืออยากเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มากขึ้น เช่น ทอผ้าฝ้าย การทำผ้า Eco print การจัก(ร)หยัง และอีกมากมาย สถานที่นี้พร้อมเปิดให้ทุกคนมาสร้างงานอย่างสร้างสรรค์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนเกิดเป็นรายได้
“คิดลบอย่ามาม่องนี้ ต้องคิดบวก ทำให้ได้ เพราะที่นี่อยากส่งเสริมทางบวกให้กับทุกคนที่อยากพัฒนาตนเอง”
จากคำพูดของ “บั้ม” ผู้ที่อยากให้คนในชุมชนคิดบวกเมื่อเข้ามาที่บานาน่าแลนด์แห่งนี้เพราะสถานการณ์ปัจจุบันไม่ว่าจะโรคระบาด Covid-19 ก็ถือว่าเป็นลบแล้ว และการสร้างรายได้ของชุมชนตอนนี้ก็คือช่องทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ โดยการไลฟ์สดขายผลิตภัณฑ์ ต่าง ๆ ที่ทุกคนทำขึ้นมา นับได้ว่ารายได้ที่ชุมชนได้รับนั้น 10,000 – 20,000 บาทต่อเดือนเลย
จากยอดรายได้ที่ได้รับถือว่าเป็นอีกกำลังใจที่ทำให้พวกเขามีแรงอยากจะพัฒนางานของตนเองให้ดีมากยิ่งขึ้น
“เฮาบ่แม่นทุกสิ่งอย่าง ที่เฮาจะเปลี่ยนแปลงได้ บ่แม่นฮีโร่ที่เป็นได้ทุกอย่าง คนในชุมชนเฮาต่างหากที่จะช่วยให้เปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น”
กำลังใจที่ทำให้ บั้ม อยากทำพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกเลยก็คือ คนในชุมชน
การได้เห็นคนในชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้น การได้เห็นเยาวชนรุ่นใหม่หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ของชุมชนมากขึ้น ที่สำคัญเลยก็คือ คุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน
“การที่เฮ็ดอีหยังครั้งแรก มันยากเสมอ อยู่ที่ว่าเฮามีความเชื่อเรื่องนั้นแล้วหรือยัง ถ้าเฮามีความเชื่อเฮาก็ลุยไปเลย”