วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เครือข่ายสลัม 4 ภาคและองค์กรภาคีนัดหมายรวมตัวยื่นหนังสือถึงรมว. พม. ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อคัดค้านแนวความคิดใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยสร้างแฟลตที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยโดยไม่สอบถามความคิดเห็นของประชาชน
เนื้อหาของเรียกร้องระบุว่า ตามที่มีการบันทึกความร่วมมือระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2564 และการแถลงข่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ซึ่งจะนำที่ดินของ รฟท. สร้างเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยกลุ่มต่าง ๆ นั้น
ทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายชุมชนคนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟ (ชมฟ.) และเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม ซึ่งมีสมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่ในที่ดินของ รฟท. มีความกังวลและไม่เห็นด้วยที่พม. จะมีนโยบายทางเดียวที่จะแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย
ภาพจากหมุด เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ ยื่นหนังสือผ่านจังหวัดคัดค้านนโยบายไล่ชุมชนขึ้นแฟลต
เนื่องด้วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทยมีความหลากหลาย ทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และรายได้ ที่แตกต่างกัน แต่ทาง พม. กำลังจะใช้การแก้ปัญหารูปแบบเดียวกับกลุ่มคนที่หลากหลาย ซึ่งเป็นวิธีคิดที่อันตราย
เนื้อหาตามข้อเรียกร้องระบุอีกว่า หากมีการย้ายกลุ่มคนเหล่านั้นขึ้นแฟลต แล้วไม่สามารถดำรงชีพได้ ทำมาหากินไม่เหมือนเดิม เรื่องเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในครั้งเมื่อ กคช. ดำเนินการสร้างแฟลตแก้ปัญหาชุมชนแออัดมาตั้งแต่ปี 2416 แต่ปัจจุบันยังคงมีชุมชนแออัดคงอยู่นั้นเป็นรูปธรรมแสดงให้เห็นที่ชัดเจนแล้วว่าการสร้างแฟลตแล้วนำเอาคนที่มีความหลากหลายทางวิถีชีวิตไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ขณะที่ 18 ปีที่ผ่านมา โครงการบ้านมั่นคงที่มีความยืดหยุ่นการสร้างที่อยู่อาศัยในรูปแบบต่าง ๆ ให้เหมาะสำหรับกลุ่มคนที่หลากหลาย โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในที่ดินของ รฟท. ที่ได้เช่าที่ดินอย่างถูกต้องแล้วสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ในแนวราบที่สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของชาวชุมชน และอาศัยอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
จากการสำรวจชุมชนในที่ดินของ รฟท. พบว่ามี 36 จังหวัด 397 ชุมชน 39,848 หลังคาเรือน (เฉพาะเป็นจำนวนชุมชนแออัดผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น) หากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงคมนาคม มีความจริงใจในการแก้ปัญหา และมีประชาชนเป็นที่ตั้ง ควรจะนำเอาโมเดลการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟฯที่ผ่านมาศึกษา รวมถึงควรมีการหารือรูปแบบการอยู่อาศัยกับประชาชนโดยตรง
สำหรับข้อเรียกร้องนั้นต่อกระทรวงคมมนาคม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ของเครือข่ายสลัม 4 ภาคและองค์กรภาคี ประกอบด้วย
- ต้องไม่ใช้แนวทางการสร้างแฟลตตามบันทึกข้อตกลง (8 ตุลาคม พ.ศ. 2564) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย และการเคหะแห่งชาติ มาเป็นแนวทางเดียวในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดบนที่ดินการรถไฟฯ
- ให้การรถไฟฯ นำมติคณะกรรมการรถไฟฯ วันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2543 ที่ใช้แก้ไขปัญหาชุมชนแออัดของเครือข่ายสลัม 4 ภาค มาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัดบนที่ดินการรถไฟทั่วประเทศ (39,848 หลังคาเรือน)
- ให้ใช้แนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับวิถีอาชีพ การดำรงชีวิตของชุมชนผู้มีรายได้น้อย โดยรูปแบบการอยู่อาศัยอาจเป็นรูปแบบบ้านมั่นคงแนวราบ บ้านแถว อาคารสูง หรืออาคารสูงผสมอาคารแนวราบ ทั้งนี้ต้องให้ชุมชนแออัดเจ้าของปัญหามีส่วนกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาและรูปแบบที่อาศัยด้วย โดยผ่านกลไกคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับการรถไฟฯ, กระทรวงคมนาคม รวมถึงกระทรวงพม. ในอนาคตด้วย
ภาพจากหมุด ชาวชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ยื่นหนังสือผ่านจังหวัด ค้านการขึ้นแฟลต