จะเรียกว่า “หลังโควิด” ก็พูดไม่ได้เต็มปาก เพราะการระบาดยังไม่สิ้นสุดเบ็ดเสร็จ แต่ไทยกำลังจะเปิดประเทศ 1 พ.ย.64 นี้ และท่องเที่ยวคือความหวังว่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ
แต่ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องฉุกคิด เมื่อพบกับข้อความนี้
“หลายอย่างจะไม่เหมือนเดิม อะไรที่คล้ายๆ ของเดิม ก็จะไม่ใช่อะไรที่สร้างความมั่งคั่งให้อย่างเดิม”
นี่คือข้อค้นพบ จากการศึกษาว่าหลังจากโควิด-19 ท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปอย่างไรและศึกษายุทธศาสตร์สำหรับอนาคตของทีมวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยนำโดย ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ
ที่ว่าจะไม่เหมือนเดิมคืออะไร ? แล้วทางหนีทีไล่ให้รอด ที่คนในแวดวงท่องเที่ยวต้องรู้คืออะไรบ้าง ?
“เราจะมานอนชิล ชิล เป็นวาฬบรูดา รอให้นกและปลาตกมาใส่ปากไม่ได้แล้ว …….ท่องเที่ยวไทยทั้งอุตสาหกรรม หรือกระทั่งภาควิชาการจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการจัดการสินค้าและบริการ การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนนโยบายสาธารณะ เพื่อรองรับอนาคตที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือ” ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ย้ำ
และนี่คือ 15 ข้อค้นพบ ที่คนอยากรอดในอนาตตการท่องเที่ยวต้องตั้งสติค่อย ๆ อ่าน
ข้อค้นพบ 1 หลักคิดเดิมทำให้เกิดสนิมในโครงสร้าง
หลักคิดเดิมคือการมองว่าท่องเที่ยวเป็นทางลัดไปสู่ความมั่งคั่ง น้ำขึ้นให้รีบตัก ขอนักท่องเที่ยวมามาก ๆ ก่อนส่วนปัญหาไปแก้ทีหลัง
ข้อค้นพบ 2 กระเทาะสนิมในโครงสร้าง
เราต้องเคาะสนิมนี้ออกไป เพราะการพัฒนาที่ผ่านมา นำความเสื่อมโทรมทั้งความแออัดมาสู่เมือง เป็นการพัฒนาแบบ demand push ไม่ใช่แบบ supply pull การไม่กระจายอำนาจแต่กระจายขยะจากการท่องเที่ยวไปทั่ว อานิสงส์จากการท่องเที่ยวกระจุกตัวเป็นจุด ๆ ทั้งยังพึ่งพาชาวต่างชาติทั้งที่เป็นลูกค้าและพนักงานมาก และไม่ได้คำนึงถึงโอกาสที่จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหาโลกร้อน/การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ไม่ได้คิดจะบรรเทา
“ในวงวิชาการเชื่อกันว่าเมื่อปัญหาโลกร้อนมาถึงมันจะยิ่งใหญ่กว่าโควิด-19″
ข้อค้นพบ 3 นักท่องเที่ยว 4.0 vs การท่องเที่ยวแบบ 3.0
นักท่องเที่ยวก้าวหน้าเกินกว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวเป็น 4.0 แต่อุตสาหกรรมยัง 3.0 นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่มีชีวิตแบบหลังยุคอุตสาหกรรมที่ยืดหยุ่นและลื่นไหล เป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่มีตารางเวลาแบบเดิมที่ตื่น 6 โมงเช้า กินข้าวตอน 8 โมง คนเหล่านี้เขาจะเลือกการเดินทางเองเพราะโควิด-19 ทำให้เป็นมนุษย์แพลตฟอร์มกันมากขึ้น แต่ซัพพลายท่องเที่ยวไทยยังเป็นอุตสาหกรรม 3.0 เรายังคิดว่าจะเอาบัสทัวร์กลับมาได้อย่างไร ยังเสนอแพ็กเกจแบบเดิม ๆ อาศัยทุนประเดิมทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวรูปแบบเก่าจะกลับมา มันก็จะอยู่ไม่นานและจะเลือนหายไป นอกจากนี้ยังขาดการเสริมแต่งด้วยความรู้และนวัตกรรม ใช้แต่ภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่ไม่ต่อยอดด้วยความรู้และดีไซน์ใหม่
“ใช้แต่ภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่ไม่ต่อยอดด้วยความรู้ใหม่ที่เรามี หรือดีไซน์ใหม่”
ข้อค้นพบ 4 คู่แข่งใหม่ที่มาจากไหนก็ไม่รู้
ไอ่โม่ง คู่แข่งใหม่ที่มาจากไหนไม่รู้แต่จะทำให้ความมั่งคั่งที่มีแบบเดิม ๆ หายไป นั่นคือการจากธุรกิจใหม่ที่เข้ามาแข่งขันบรรจบกันของอุตสาหกรรมที่เราไม่รู้จักมาก่อน เช่น บ้านกับการขายออนไลน์กลายเป็น Airbnb ขึ้นมาแข่งกับโรงแรม หรืออย่าง Grab มาแข่งกับแท็กซี่ และจะมีอื่น ๆ อีกที่ยังไม่รู้ในตอนนี้ เกิดคู่แข่งใหม่อาจเป็น ร้านสะดวกซื้อหรือไปรษณีย์เข้ามาขายแพ็กเก็จท่องเที่ยว ที่สำคัญที่สุดอาจจะมีผู้เล่นรายใหญ่เข้ามากินรวบ เช่น ที่เคยเห็นมาก่อนหน้านี้อย่างนักท่องเที่ยวจีนซื้อทุกอยู่ล่วงหน้าผ่านแพลตฟอร์มและเข้ามาเที่ยวในไทยโดยที่เราไม่รับส่วนแบ่งกำไร
“ไม่นานมานี้มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในวงการธุรกิจ พบว่าธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งประกาศปรับยานแม่เดิมให้เป็นส่วนหนึ่งในองค์กรใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปเป็นฟินเทคขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถที่จะแข่งขันทุกรูปแบบอย่างเต็มที่ ลักษณะแบบนี้ที่เป็นการบรรจบกันของธุรกิจต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ คำถามมีว่าแล้วเราจะอยู่กันอย่างไร เมื่อเราไม่รู้ว่าคู่แข่งหรือคนที่ต้องพึ่งพากันนั้นเป็นใคร มาจากไหน และเราจะได้อะไร”
ข้อค้นพบ 5 เปลี่ยนมุมมองพัฒนาจาก 2 มิติ เป็น 3 มิติ
ต้องเปลี่ยนมุมมองของเราให้เป็นเชิงระบบมากขึ้น จากเดิมที่มองแบบเพียงจุดการท่องเที่ยว เส้นทางท่องเที่ยว แต่ต้องมองในลักษณะของระบบและระนาบด้วย
“กรณีของโควิด-19 จะเห็นชัดว่า เราจะจัดการท่องเที่ยวไม่ได้ จะทำได้ ก็ต่อเมื่อเทศบาลหรือจังหวัดลุกขั้นมาใช้ระบบทั้งหมดในการจัดการ”
ข้อค้นพบ 6 เศรษฐกิจฐานแคบ
เราต้องไม่ปล่อยให้เศรษฐกิจของเราฐานแคบ และลงลึกแต่ไม่แตกไลน์กลายเป็นเศรษฐกิจเสาเดี่ยวและเสาเดียวซึ่งอันตรายมาก
ข้อค้นพบ 7 นโยบายสาธารณะเน้นผู้ประกอบการเป็นหลัก
ขาดการมองผ่านมุมมองของบุคลักษณ์ persona ของผู้ที่มาท่องเที่ยว และประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคและเจ้าของทรัพยากร
“เราสนใจแต่นโยบายท่องเที่ยวแต่ไม่สนใจนโยบายอื่น ๆ ที่จะมาช่วยทำให้ได้รับผลประโยชน์ที่ดีจากการท่องเที่ยว เช่น นโยบายของเมือง เป็นต้น”
ข้อค้นพบ 8 หลังโควิด-19
เรื่องของดีมาน ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะนักท่องเที่ยวจะกลับมาอย่างแน่นอน มีความต้องการที่อั้นไว้มาก แต่นักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป จะชอบความเป็นส่วนตัวมากขึ้น สนใจสุขภาพและความปลอดภัยมากขึ้น”
แต่การฟื้นตัวนี้ต้องใช้เวลาอีกระยะ ถ้าอยากให้กลับไปเหมือนปี 2562 ก็ต้องอาศัยเวลาถึงปี 2568 ประเด็นใหญ่ของไทยน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน เพราะจีนใช้นโยบายโควิด-19 เป็นศูนย์ ขณะที่ไทยใช้นโยบายอยู่กับโควิด เขาคงอาจไม่ยอมส่งนักท่องเที่ยวมา จึงอาจต้องมีการเจรจาทางการทูตระหว่างกัน นอกจากนี้เราพบว่าเราไม่จำเป็นต้องเพิ่มวันหยุดสำหรับวันฟันหลอ เพราะเขาจะลากันเอง แต่เราต้องให้กระจายไประหว่างปี
ข้อค้นพบ 9 Now and New normal วิถีปกติใหม่
อะไรที่ Now normal จะเป็นนิวนอร์มอล วิถีปกติใหม่ ได้แก่ เศรษฐกิจว่าด้วยความน่าเชื่อถือ trust economy สะอาดปลอดภัย ทำธุรกรรมหรือศรษฐกิจไร้เงินสด เศรษฐกิจไร้สัมผัส เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจแบ่งปันที่อาจจะซึมลงในช่วงโควิด-19 แต่ที่สุดก็จะกลับมา
ข้อค้นพบ 10 New normal –> Digital first
สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับ New Normal ทุกอย่างจะมากับ digital technology ที่บอกว่าจะเป็นไอ้โม่งที่ขโมยความมั่งคั่งจากแบบเดิม ๆ ก็จะมาจากผลพวงของเทคโนโลยีดิจิทัล เราต้องเปลี่ยนสินค้าของเราที่เคยขายครั้งเดียวจบ one time product ไปเป็นสินค้าขายตลอด all time product จาก in Thailand only เป็น anytime anywhere ขายทุกที่ทุกเวลา หรือขายบนออนไลน์ได้ตลอดเวลา และไม่ใช่แค่การพึ่งเฟซบุ๊กเพียงอย่างเดียว เราต้องมีตัวเลือกของเราด้วย
ข้อค้นพบ 11 ท่องเที่ยวชุมชนต้องขายตรง ขายพ่วง
ยกตัวอย่าง ท่องเที่ยวชุมชนของเราสามารถทำให้น่าสนใจเช่นเดียวกับ วิดีโอของ Li Zhi Qi คือ เธอมีคลิปวีดิโอที่ไม่พูดเลยแต่เสนอวิถีชุมชน จุดนี้เป็นโอกาสที่สร้างยูทูบเบอร์ซึ่งอาจจะเป็นมัคกุเทศก์ซึ่งตอนนนี้ไม่มีงานทำอยู่แล้ว พัฒนาตัวเองเป็นคนเชื่อมร้อยท่องเที่ยวชุมชนเหล่านี้กับแพลตฟอร์มยูทูบ เพราะสามารถพูดเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาอะไรก็ได้ แต่การขายท่องเที่ยวออนไลน์แบบนี้ต้องขายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ยอดคนดูตกและจะไม่สนใจเราในที่สุด
นอกจากนั้นยังต้องเพิ่มห่วงโซ่อุปทานสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจฐานรากและอื่น ๆ เพิ่มขายตรง พร้อมขายพ่วง ไม่ได้ขายเฉพาะอาหารที่ปรุงสุกแล้ว อาจจะขายสูตร ของแปรรูป ขายอุปกรณ์ทำอาหาร ขายไปพร้อมกับการท่องเที่ยว
“การท่องเที่ยวจะไม่ขายบริการอย่างเดียวอีกต่อไปเท่านั้น แต่ขายบริการพ่วงกับสินค้าอื่น ๆ”
ข้อค้นพบ 12 ท่องเที่ยวชุมชน ต้องขายพ่วง
ท่องเที่ยวชุมชนต้องสร้างมิตรภาพตลอดชีวิต เช่น เราขายช้างเราก็ต้องขายลูกช้าง ให้เขารู้สึกอยากเป็นพ่อแม่อุปภัมม์ลูกช้าง หรือขายสินค้าพื้นถิ่นที่ไม่มีการดัดแปลงหรือต่อยอดเลยอาจจะไม่พอหรืออาจขายได้ยากมากขึ้น เพราะวัฒนธรรมการใช้งานของคนแต่ละที่ไม่เหมือนกัน การที่ทำเมืองเรียนรู้ learning city คือการคิดต่อยอด ต้องขายสินค้าฟิวชัน หรืออาจจะขายคอร์สทำอาหารออนไลน์ที่สัมพันธ์กับวัตถุดิบท้องถิ่น ซึ่งเราก็สามารถขายวัตถุดิบ/สมุนไพรเหล่านั้นให้เขาได้ หรือขายออนไลน์ข้ามปี ไม่ขายเฉพาะที่นักท่องเที่ยวมาเท่านั้น
ข้อค้นพบ 13 เมืองท่องเที่ยวต้องหาตัวช่วยหรือตัวนำใหม่
ต้องหาเอกลักษณ์เด่น หรือจุดยืนอย่างไร เช่น เมืองแห่งกีฬามวย เมืองแห่ง cryptocurrency เมืองดอกไม้ ที่ต้องมีฐานผลิตจริงในพื้นที่ ไม่ใช่ซื้อจากที่อื่นมาพาเหรด เมืองเก่าเล่าเรื่อง หรือเมืองหุ่นยนต์ แต่เมืองทั้งหมดนี้ต้องเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ไม่ใช่ไปดูมวยแล้วก็กลับ แต่ดูแล้วเขาเข้าใจความหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นต่อไปอีก 4-5 เรื่อง เราต้องคิดการณ์ใหญ่และใช้ความรู้
ข้อค้นพบ 14 มวยไทย ต้องขายพ่วง ขายทั้งปี ขายออนไลน์
ยกตัวอย่างขายรายไทย Super Muay Thai ออนไลน์ ขายกันตลอดทั้งปี สร้างแฟนคลับ ค่ายมวยมีดีวิชั่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เสื้อดีไซน์สำหรับนักมวย ขายน้ำมันมวย ลูกประคบ สมุนไพร หรือกระทั่งข้าววิตามินนักมวยสูตรที่บัวขาวกิน หรือสูตรอาหารที่เขากินแล้วชกทุกคนคว่ำไปเลย และมีเรียลลิตี้โชว์นักมวยที่ลูกค้าของเราสนใจ
ข้อค้นพบ 15 Long term and Robust Strategy
สิ่งที่เสนอคือยุทธศาสตร์ที่รับได้กับทุกสถานการณ์ Long term and robust strategy แม้จะเป็นเรื่องระยะยาวก็จริงแต่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ได้แก่ การปรับโครงสร้างและกระจายผลประโยชน์
ข้อเสนอคือ เราต้องปรับปรุงตัวเองขนานใหญ่ ปรับตลาด เปลี่ยนกิจกรรม สร้างบรรยากาศใหม่
บรรยากาศที่สวยงามที่เราเมีอยู่แล้ว แต่บางเวลาต้องปรุงแต่งด้วยพราะคู่แข่งเขาก็มีเหมือนกันกับเรา เช่น อะไรที่น่านมีแตกต่างจากเชียงใหม่อย่างไร หรือตอนนี้เราอาจจะทำทัวร์ต้นทุนต่ำ เซฟต้นทุน ต่อไปเราอาจจะเปลี่ยนไปทำทัวร์ไฮโซ ทัวร์ประชุม เพราะมาร์จิ้นดีกว่า ถ้าคนในที่ทำงานเชี่ยวชาญเทคโนโลยีเราอาจจะเปลี่ยนไปทำเป็น travel tech เหรือสตาร์ทอัพ ถ้าเราเป็นร้านอาหารเป็นสปา เราอาจจะใช้ virtual technology มาช่วยขายบรรยากาศย้อนยุค อยู่ในวิวทิวทัศน์ เป็นต้น
“เราจะมานอนชิล ชิล เป็นวาฬบรูดา รอให้นกและปลาตกมาใส่ปากไม่ได้แล้ว …….ท่องเที่ยวไทยทั้งอุตสาหกรรม หรือกระทั่งภาควิชาการจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการจัดการสินค้าและบริการ การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนนโยบายสาธารณะ เพื่อรองรับอนาคตที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือ” ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ย้ำ
เนื้อหาบางส่วนจากวงเสวนาออนไลน์กิจกรรมเรียนรู้เพื่อพัฒนาเมือง CMLC Mini Forum : “ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชียงใหม่ ความพร้อม? หลังโควิด” ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ โครงการยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาสำหรับการท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 โดย มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ร่วมกับ โครงการ Chiang Mai Learning City เมืองเชียงใหม่นครแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเมือง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว (CTRD) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่