13 พ.ค. 2558 วันที่ 4 สำหรับการอดอาหารประท้วงของนายสิทธิชัย หนูนวล และนายอัครเดช ฉากจินดา ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ที่หน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยมีประชาชน นักกิจกรรม ศิลปิน นักวิชาการที่ทราบข่าวทยอยเดินทางมาให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง สำหรับวันนี้ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เดินทางมาพบตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันฯ ในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือ
transbordernews รายงานว่า หลังการนั่งพูดคุยกันเป็นเวลานาน วัลลภกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ให้มาติดตามปัญหานี้ เนื่องจากนายกฯ อยากให้ทุกฝ่ายได้หันหน้ามาคุยกันต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องการให้มีการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ดังนั้นตนเองรับปากว่าจะนำข้อมูลและเอกสารที่รับมาในวันนี้ไปมอบให้นายกฯ รวมทั้งถ้าเป็นไปได้อยากจะเชิญผู้ประท้วงทั้งสองท่าน ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามัน และนักวิชาการที่มาในวันนี้ได้เข้าไปหารือกันในทำเนียบรัฐบาลด้วย
ด้าน ไทยพีบีเอส รายงานว่า วัลลภ ในฐานะตัวแทนรัฐบาล ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีห่วงใยเรื่องนี้ ส่วนจะมีคำสั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยุติการเปิดยื่นซองประกวดราคาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในวันที่ 22 ก.ค.นี้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะเปิดเวทีพูดคุยทุกภาคส่วนในเร็วๆ นี้เพื่อหาข้อสรุป
สำหรับเครือข่ายปกป้องอันดามันฯ ที่ร่วมอดอาหารคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มาแล้ว 4 วัน ยืนยัน จะอดอาหารต่อไปจนกว่ารัฐบาลจะมีคำสั่งยกเลิกโครงการนี้
รับภารกิจสำคัญ พบปะหารือพี่น้องชาวกระบี่ที่กำลังประท้วงต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินได้รับข้อเสนอมาหลายข้อประสานส่งถึง พณฯ นายกรัฐมนตรีแล้วหวังว่าจะมีการหารืออย่างเป็นทางการขึ้นเร็วๆ นี้
Posted by วัลลภ ครูหยุย ตังคณานุรักษ์ on Monday, July 13, 2015
ทั้งนี้ ต่อมาเวลาประมาณ 13.00 น. เครือข่ายปกป้องอันดามันฯ จัดแถลงข่าว ‘หยุดถ่านหินอันดามัน’ โดยตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อมฤต ศิริพรจุฑากุล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ อ.สัญชัย สูติพันธ์วิหาร คณะสิ่งแวดล้อม ม.มหิดล ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
อ่านแถลงการณ์เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินฉบับที่ 7 เรื่อง ข้อเสนอต่อการยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยระบุว่า จากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการเพื่อไปสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจังหวัดกระบี่ โดยการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ซึ่งงานศึกษาของคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาล (IPCC) ซึ่งสนับสนุนโดยสหประชาชาติ และงานวิจัยในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ออกมาชี้ว่าถ่านหินเป็นภัยต่อโลกทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
หลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่ใช้ถ่านหินมาก่อน ได้ประกาศยกเลิกและปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้วยเหตุผลทางด้านมลพิษที่เกินการควบคุมแก้ไข และไม่มีเทคโนโลยีใดจัดการกับมลพิษถ่านหินได้ หากนำถ่านหินมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในพื้นที่อันดามันจะเกิดผลกระทบอย่างมหาศาลต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ
จากงานวิจัยของเกาะลันตา จ.กระบี่ พบว่านักท่องเที่ยวร้อยละ 87 จะไม่กลับมาเที่ยวจังหวัดกระบี่อีกเลย ซึ่งเป็นการสำรวจจากนักท่องเที่ยว 37 ประเทศ จำนวน 624 คน ซึ่งจะกระทบการท่องเที่ยวทั้งอันดามันที่สร้างรายได้ให้ประเทศปีละกว่า 3 แสนล้านบาท และมีธุรกิจต่อเนื่องกว่า 100 ธุรกิจ สำหรับทางออกด้านความมั่นคงทางพลังงาน
การแถลงได้ระบุข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.หากภายใน 3 ปี จ.กระบี่ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้เงื่อนไขว่าหลังจากนี้รัฐบาลจะต้องสนับสนุนขยายระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนของ จ.กระบี่เข้าสู่สายส่งไฟฟ้าได้เป็นอันดับแรก รัฐบาลจึงค่อยพิจารณาเรื่องโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่นที่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
2.เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า ไฟฟ้าสามารถมีที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นโดยไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน และยังเป็นการพิสูจน์ว่าในภูมิภาคอันดามันและภาคใต้ทั้งหมดสามารถสร้างความมั่นคงไฟฟ้าได้ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้งนี้เฉพาะ จ.กระบี่มีโรงไฟฟ้าตัวอย่างที่ใช้นำเสียจากโรงงานปาล์มผลิตไฟฟ้า และในปัจจุบันสามารถขายไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งและศักยภาพการผลิตมีได้มากกว่า ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ก่อมลพิษจนเกิดผลกระทบ และเป็นการจัดการปัญหาน้ำเสียที่ไหลลงแหล่งน้ำสาธารณะ ทั้งเป็นการแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันที่มีปัญหาตลอดมา
เฉพาะที่ จ.กระบี่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานเคยประเมินศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดว่ามีนับพันเมกกะวัตต์ โดยปัจจุบันมีโรงงานปาล์ม 11 โรง ที่ผลิตไฟฟ้าได้แล้ว อีก 6 โรงกำลังดำเนินการ และ 15 โรงยังไม่ได้ผลิต
ดังนั้นการตัดสินใจเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าและบรรลุการรักษาสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามข้อเสนอข้างต้น จะเป็นการประกาศต่อชาวโลกว่า ว่าเราจะเป็น Andaman Goes Green ซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือน รวมทั้งสร้างและสร้างคุณค่าและมูลค่ามหาศาลต่อประเทศชาติ
transbordernews รายงานว่า ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า คำถามของสังคมตอนนี้ คือประเทศไทยควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่า ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว เช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ก็จำเป็นต้องใช้ต่อไป เพราะสร้างมาแล้ว แต่ควรพัฒนาทำให้ดีขึ้นไม่ให้เกิดผลกระทบไปกว่านี้ แต่ถ้าจะเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นใหม่ ก็ควรเลือกสถานที่ให้เหมาะสมหรือสร้างในพื้นที่ที่จะเกิดผลกระทบน้อยที่สุด
สำหรับ จ.กระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและเป็นแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญ ไม่ควรมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้น โดยเฉพาะยิ่งเป็นพลังงานจากถ่านหิน ส่วนการเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องอันดามัน โดยเฉพาะการมาประท้วงอดอาหารก็ควรได้รับความเคารพและกำลังใจจากสังคมด้วย
ด้าน ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ได้จัดทำประกาศและบังคับใช้แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555 – 2559 จนนำไปสู่การประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 17 มิ.ย. 2554 และออกกฎกระทรวงกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน พ.ศ.2558 ครอบคลุมพื้นที่ กระบี่ ตรัง พังงาน ภูเก็ต และสตูล เมื่อ 23 มี.ค. 2558 แล้วนั้น
กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องได้รับความคุ้มครองเมื่อพบว่ากำลังมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น จึงควรเร่งการบังคับใช้กฎหมายและเร่งให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ใช้อำนาจตามมาตรา 9(5) พ.ร.บ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อให้เกิดการสงวนหรือคุ้มครองแหล่งหรือสถานที่ท่องเที่ยวทั้ง จ.กระบี่และอันดามัน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสำคัญ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งอาศัยของพะยูน ให้ปราศจากถ่านหิน ภายใน 30 วันนับจากนี้
ในวันนี้จึงถือเป็นการส่งสัญญาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการอีก จะถือว่าเป็นการปฏิบัติขัดต่อกฎหมาย จากนั้นคงจะมีการดำเนินการฟ้องศาลปกครองต่อไป
ส่วน รศ.ดร.สัญชัย สูติพันธ์วิหาร คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จ.กระบี่ถือเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับประเทศ จึงไม่ควรมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะมองไม่เห็นความคุ้มค่าใดๆ เนื่องจากผลกระทบจากมลพิษที่เกิดจากถ่านหิน ฝุ่นละอองจะสะสมและกระทบต่อไปถึงรุ่นลูกหลานไปตลอด 30 ปี และประเทศไทยจะต้องมีภาระในการรักษาโรคที่เกิดขึ้นอีกมูลค่ามหาศาลโดยไม่จำเป็น
อีกทั้งรัฐควรเปิดเผยข้อมูลผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อประชาชนอย่างรอบด้าน ไม่จำเพาะข้อมูลด้านบวกเพียงอย่างเดียว เพราะขณะนี้ในพื้นที่กำลังได้รับข้อมูลที่ไม่เพียงพอต่อความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะเวทีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA มีการไม่อนุญาตให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยเข้าไปในเวที ทั้งที่ถือเป็นกระบวนการสำคัญในการตัดสินใจต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งขัดต่อหลักการมีส่วนร่วม
ด้าน อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้รัฐจะบอกว่ามีเทคโนโลยีที่สามารถควบคุมมลพิษหรือผลกระทบที่จะเกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ยังมีกังวลว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นจะเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับประเทศไทยหรือไม่ เพราะพื้นที่อันดามันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจนับแสนล้านบาท หากย่อยยับไปแล้วใครจะมาเที่ยวอันดามัน และการที่ประชาชนอันดามันลุกขึ้นมาปกป้องหวงแหนก็เพื่อให้ทุกคนยังคงรักษาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สมบูรณ์และยั่งยืนต่อไป
ที่มาภาพ: ฮาริ บัณฑิตา