โดมิโนธุรกิจท่องเที่ยว : คุยกับรองปธ.อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชียงใหม่ จากสถานการณ์ถึงทางออก

โดมิโนธุรกิจท่องเที่ยว : คุยกับรองปธ.อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชียงใหม่ จากสถานการณ์ถึงทางออก

ปลายเดือนมีนาคม 2564 เรามีโอกาสพูดคุยกับคุณ วสันต์ เดชะกัน รองประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตอนนั้นทุกฝ่ายกำลังผลักดันการท่องเที่ยวขึ้นอีกมาอีกครั้ง แคมเปญหลายอย่างผุดขึ้นมา เช่น “เที่ยวเชียงใหม่ 725 บาท” (ราคา ที่พัก สปา รถเช่า สินค้า ฯลฯ โดยอิงตัวเลขตามอายุเมืองเชียงใหม่ครบ 725 ปี) ซึ่งกำลังมีแนวโน้มจะได้รับการตอบรับที่ดี

แต่เพียงไม่กี่วันจากนั้น โควิด-19 ระลอกสามก็กลับมาและรุนแรงยิ่งกว่าทุกครั้ง

วันนี้เรามีโอกาสถามไถ่เขาอีกครั้งถึงสถานการณ์ของผู้ประกอบการภาคธุรกิจการท่องเที่ยวว่าเป็นอย่างไรและจะปรับตัวกันได้อย่างไร ซึ่งเขาได้เล่าให้ฟังด้วยถ้อยคำง่าย ๆ เหมือนเล่าสู่กันฟังถึง “สถานการณ์” และ “ทางออก”  ซึ่งการพูดคุยอาจไม่ได้ครอบคลุมทุกส่วนที่ได้รับผลกระทบและ “ทางออก” ในบทความนี้ อาจไม่ใช่คำตอบทุกกรณีของปัญหา เพียงแต่เป็นความพยายามเท่าที่จะหาทางกันได้ เท่าที่จะคิดออก เพื่อเป็นแนวทางและเป็นความหวังให้คนที่กำลังเผชิญปัญหาได้แง่มุมในการจะดำเนินการต่อไปได้ โดยเราขอลำดับประเด็นการพูดคุย ดังนี้

การท่องเที่ยว

“สถานการณ์”  แผนรณรงค์การท่องเที่ยวตอนนี้ต้องพับไว้ก่อน การมาของโควิด-19 ระลอกนี้ต้องยอมรับว่าทุกคนเหวอ เป๋ไปตามๆ กัน จะทำอะไรต่อยังนึกไม่ออก ตอนนี้ต้องดูแลสุขภาพ ดูแลตัวเองให้ดีที่สุดก่อน ก่อนนั้น สถานการณ์เชียงใหม่เว้นระยะห่างจากการไม่มีผู้ติดเชื้อมาราวสองเดือน ภาพโดยรวมของประเทศดูเหมือนดีขึ้น หลายส่วนกำลังจะขยับปรับแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ เชียงใหม่ผุดแคมเปญหลายอย่างเพื่อจะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่ตอนนี้ยอมรับทุกคนเหวอหมด

ต้องนิ่งๆ ก่อนครับ รอดูสถานการณ์ ช่วงนี้เชียงใหม่คนในจะออกคนนอกจะเข้าก็ยากอยู่แล้ว แต่บทสรุปปีกว่าๆ ที่ผ่านมาจนถึงเดี๋ยวนี้ทำให้เรารู้ว่า โอกาสที่เราจะกลับไปเป็นเหมือนมันคงอีกนาน ดังนั้น ต้องอยู่กับปัจจุบัน มาเริ่มต้นกับปัจจุบันว่าอะไรคือสิ่งที่เราจะทำได้

หมู่บ้านโอท็อปเชียงใหม่และกลุ่มสินค้าที่ระลึก

“สถานการณ์” บทบาทของผมจะดูแลส่วนของการท่องเที่ยวหมู่บ้านโอท็อปเป็นหลัก ไม่ว่าสันกำแพง บ้านถวาย เหมืองกุง วัวลาย ฯลฯ ซึ่งการมาของโควิดตั้งแต่ระลอกแรกระลอกสองเห็นได้ชัดเจนถึงรายได้ที่ลดลง ช่วงแรกแทบทุกร้านอาจยังมีออเดอร์ที่สั่งเข้ามาก่อนโควิด ทำให้สามสี่เดือนแรกยังไปกันได้ แต่หลังจากนั้นทุกอย่างเงียบลง นักท่องเที่ยวหาย ออเดอร์สินค้ามีน้อย ความเดือดร้อนของทุกคนต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ จนมาถึงระลอกสาม ถ้าเทียบยุครุ่งเรืองของทุกหมู่บ้านเคยทำรายได้เกรด A ตอนนี้ก็ D มันลำบากจริง ๆ

ถามว่าคาดว่าเราจะดีขึ้นตอนไหน มันบอกไม่ได้ เดาไม่ได้เลย เพราะอะไรก็เกิดขึ้น ดังนั้น ในระยะอันใกล้นี้ คงต้องติดตามสถานการณ์กันไปเรื่อยๆ
“ทางออก” ในส่วนของนักธุรกิจหรือผู้ผลิตสินค้า เราต้องเผชิญการขึ้น ๆ ลง ๆ  ซึ่งไม่ว่ายังไงที่สุดทุกคนก็ต้องดิ้น หาอะไรทำ พยายามคิดกันไป ขายออนไลน์ตอนนี้แทบทุกร้านทำกันอยู่

แต่โควิดรอบนี้โจทย์เรายากขึ้น เพราะกระทบทั้งประเทศ คนยากจนมีมากขึ้น เราจะทำอย่างไร ถ้าสิ้นหวัง คิดในแง่ลบ เราก็จะแย่เข้าไปอีก ลองสู้ ลองคิดหาทางใหม่ ๆ ผลิตสินค้าที่จำเป็น ต้องคิดหาไอเดียใหม่ ๆ เพื่อจะตอบโจทย์ในการใช้งานได้จริง เป็นประโยชน์จริง เพราะผู้ซื้อเขาจะไม่ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยอีกแล้ว อะไรที่ไม่จำเป็นเขาจะซื้อยากขึ้น เพราะทุกคนต้องประหยัด เขาจะซื้อสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ

อย่างงานไม้ของบ้านถวาย เราอาจต้องคิดหาไอเดียเก๋ๆ เพิ่มขึ้น ดูว่าอะไรที่เป็นสิ่งจำเป็นในขณะนี้ ลองทำกล่องไม้ใส่สเปรย์แอลกอฮอล์ไหม แทนที่จะเป็นกล่องทิชชูอย่างเดียว หรืออะไรอีก สินค้าอะไรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันตนเองจากโควิดไหม ลองหาไอเดียกันเพื่อผลิตสินค้าที่มันเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของคนทั่วไป ค่อยค้นหาวิธีการไปว่ามีอะไรที่เราโดดเด่น เรามี เขาไม่มี ในส่วนงานภาคบริการก็ดูว่ามีอะไรที่เราทำได้เพิ่มเติมอีกบ้างจากบริการเดิมที่เรามี

รู้ว่ามันยากขึ้น แต่เราก็ต้องปรับตัวเพื่อสู้ 

ธุรกิจที่พัก โรงแรม ปรับเป็นรพ.สนามโควิด-19 เอกชน

“สถานการณ์” – ธุรกิจโรงแรมที่พักของเชียงใหม่ โดนหนักมาตลอดปีกว่าๆ นี้ เพราะเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวพวกเขาโดนหนักก่อนแล้ว

“ทางออก” ตอนนี้บางแห่งเขาปรับเป็น รพ.สนามโควิด-19 เอกชน มีกลุ่มโรงแรมเข้าชื่อกันเพื่อประสานกับสาธารณสุขจังหวัดเพื่อเปิดเป็นโรงพยาบาลสนามเอกชน โดยทางสาธารณสุขเขาก็จะมีมาตรการ หรือกระบวนการต่างๆ ที่กำหนดให้สถานประกอบการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการของสาธารณสุข

คือ สำหรับคนที่มีเงินและต้องนอนโรงพยาบาลสนาม เขารู้สึกว่าโรงพยาบาลสนามไม่สะดวกนักต่อการรักษาหรือกักตัว เขาสามารถมีทางเลือกคือมาพักโรงแรมที่ปรับเป็นสถานพยาบาลสนาม โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนที่พัก ซึ่งตอนนี้มี 2 แห่งแล้วในเชียงใหม่ที่เริ่มทำแบบนี้ และกำลังมีโรงแรมอื่นๆ ที่กำลังจะมาร่วมลงชื่อ ก็เป็นทางออกหนึ่งในเวลานี้

ธุรกิจสปา

“สถานการณ์” สำหรับธุรกิจสปา อันนี้เจอปัญหาหนักและยากกว่าโรงแรมขึ้นไปอีก เพราะอาชีพของเขาต้องสัมผัสผู้คน มีความเสี่ยงสูง ทำให้คนที่อยู่ในธุรกิจนี้ต้องหาวิธีปรับตัว

“ทางออก” เขาพยายามทำลูกประคบขายออนไลน์บ้าง ผลิตสมุนไพรหอมต่างๆ บ้าง แต่สินค้าของเขายังไม่ครอบคลุมรายจ่ายของเขา แต่ก็พยายามทำกัน

ปางช้าง

“สถานการณ์” ว่าสปาหนักแล้ว แต่ปางช้างนี่คือหนักสุด เพราะรายจ่ายของช้างเกิดขึ้นทุกวัน  ช้างต้องกินวันหนึ่งหลายร้อยบาทเกือบพันบาทต่อตัว เพราะช้างกินอาหารประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาคือ มีการเทคโอเวอร์ของนอมินีจีน ที่ช้อนซื้อช้างในราคาถูกถึงครึ่งต่อครึ่ง หลายคนจำเป็นต้องขายช้าง เพราะถ้าไม่ขายก็ต้องแบกรับค่าอาหารช้าง

“ทางออก” ตอนนี้กลุ่มเจ้าของช้างหรือปางช้าง กำลังเสนอภาครัฐปรับสถานะช้างให้เป็นรูปพรรณ เพื่อที่จะสามารถขอนำเป็นหลักประกันสินเชื่อ ช้างเป็นพาหนะหนึ่ง  เอาช้างเป็นสินเชื่อได้ไหม ปีหนึ่งหรือสองปี เพราะช้างตัวหนึ่งราคาเป็นล้าน ถ้าสามารถฝากเป็นสินเชื่อได้ พวกเขาจะได้นำเงินนั้นมาเลี้ยงดูเยียวยากันทั้งคนทั้งช้างในช่วงโควิด-19 ระบาดนี้ ก็กำลังเสนอภาครัฐ ผลักดันกันอยู่

ธุรกิจรถเช่า

“สถานการณ์” อีกธุรกิจหนึ่งที่กระทบและรายได้แทบจะหายหมดคือ คือ กลุ่มของรถเช่า เมื่อก่อนเรามีทัวร์จีน ทัวร์จากต่างประเทศมา รถเช่าให้ขับหรือรถเช่าพร้อมคนขับมีโอกาสได้รับบริการนักท่องเที่ยว  มันเป็นธุรกิจที่โตตามจำนวนการท่องเที่ยว ธุรกิจรถเช่าก่อนนี้หลายรายเป็นรถใหม่ รถฟอร์จูนเนอร์ รถตู้วีไอพีที่วิ่งไปกับไกด์ พองานหมด ก็ลำบาก ยิ่งรถบัสทัวร์ยิ่งลำบาก เพราะตอนนี้หลายคนที่ผ่อนไม่หมดจะมีปัญหา รายได้ลดลงเกินครึ่ง
“ทางออก” เขาหาทางรอดโดยการหาของใส่รถขาย เร่ขายบ้าง บางคนขายไม่ออก ก็ขายรถไป ขายถูกเหมือนช้าง เพราะรายได้ไม่พอค่างวด ไฟแนนซ์ รายได้เมื่อก่อนพอจ่าย มีเงินเหลือเก็บ ตอนนี้มันหาย ที่ขายรถไปก็พอบรรเทาสักระยะเท่านั้น แต่ไม่พอสำหรับค่างวดต่างๆ นานา ตอนนี้เขารวมตัวกันเพื่อจะคุยกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย ลองรวมตัวกัน จะช่วยกันอย่างไรดี ในเชียงใหม่รวมตัวกันได้ประมาณ 70-80 ราย  แต่โควิดระลอกล่าสุดนี้ บางคนยอมขายรถแล้ว คนเหล่านี้เขาอึดมาระดับหนึ่ง เพราะคิดว่ามันน่าจะดี  ก่อนหน้านี้มีความหวังว่าหน้าร้อน คนจะเหมารถไปเที่ยวทะเล หรือเปิดเทอม จะขับรถรับ-ส่ง นักเรียน แต่พอโรงเรียนเลื่อนเปิด ก็คือเลื่อนเวลาที่เขาจะได้งานได้เงินออกไปอีก ตอนนี้ขอรัฐช่วยหน่อยได้ไหม ขอพักหนี้ได้ไหม พักจ่ายต้นจ่ายดอกได้ไหม ภาครัฐมีกองทุน 350,000 ล้าน ออกพรก.เยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มาช่วยหน่อยได้ไหม จะได้ประคองกันได้

พักจ่ายหนี้สักปีหนึ่งจะได้ตั้งสติตั้งหลักกัน เดี๋ยวโดยยึดทีละคันๆ มีคนช้อนซื้อ มีนอมินีคนจีนช้อนซื้ออีก ที่ขายๆ ไป รู้ไหม จากราคาเจ็ดแสน เขาขายสามแสนห้า จากที่เคยเป็นเจ้าของรถเอง เจ้าของรถต้องกลายเป็นคนรับจ้างขับ เราได้แค่ค่าน้ำมัน คนขับ  ถ้าภาครัฐช่วย จะมีโอกาสรอด แบงก์ชาติก็ว่าจะช่วยให้ถึงที่สุด แต่ยังไม่รู้ว่าจะอย่างไร

รถแดง รถเหลือง แท็กซี่ อูเบอร์ แกร็บ สามล้อ

“สถานการณ์” กระทบเหมือนกัน เพราะไม่มีคนมา แล้วเขาก็เหมือนรถสาธารณะ ตอนนี้เขาให้ผู้โดยสารขึ้นทีละคน รับทีละเยอะ ๆ ไม่ได้แล้ว  แล้วเท่าที่ถามคนขับแกร็บ อูเบอร์ คนลดลงไปเยอะ ตอนนี้ถ้าใครตกงานแล้วคิดจะมาขับแกร็บไม่ใช่คำตอบแล้ว มันไม่เหมือนเมื่อก่อน มันเปลี่ยนหมด
“ทางออก”  ก็มีหลายคนที่พักการขับรถไปเลย เพราะไม่มีคน แต่บางคนก็ยังขับกันอยู่  ดิ้นรนกัน ยังไงทุกคนก็ต้องดิ้น

ฝากกำลังใจให้ผู้ประกอบการ

สถานการณ์ตอนนี้มันหนัก หนักกว่าทุกครั้งไม่ว่าต้มยำกุ้ง เครื่องบินชนตึก เพราะครั้งนี้มันเป็นโรคระบาดที่โดนกันทั่วโลก แต่ไทยยังนับว่าโชคดี เรายังไม่ถึงขั้นรุนแรงเหมือนหลายประเทศ แต่ก็ภาวนาอย่าให้เรารุนแรงแบบนั้น อย่าให้ถึงวันนั้น ยังไงตอนนี้ต้องเอาสุขภาพตัวเราเองก่อน การ์ดอย่าตก รักษาระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก งดการเดินทาง ยังไงดูแลสุขภาพก่อน แล้วในส่วนของงาน ในส่วนของภาคสินค้า บริการ ก็ให้ตอบโจทย์กับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ เราจะได้มีแง่มุมด้านบวกผลักดันขึ้นไป อย่ารันทดหดหู่ ตั้งสติและสู้กับมัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ