“เดปอถู่” รวมกลุ่มสร้างแบรนด์สินค้าชุมชนที่แม่แดด

“เดปอถู่” รวมกลุ่มสร้างแบรนด์สินค้าชุมชนที่แม่แดด

ไกลออกไปจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปทางทิศตะวันตก กว่า 116 กิโลเมตร คือ ชุมชนกะเหรี่ยง ปกาเกอะญอ ที่ตั้งอยู่กลางหุบเขา เส้นทางระหว่าง อ.สะเมิง- อ.กัลยาณิวัฒนา  หมู่บ้านนี้มีชื่อเรียกว่า “แม่แดด”

แม่แดดเป็นชุมชนปกาเกอะญอ มีอาชีพทำไร่ ทำสวน รับจ้าง และอื่น ๆ ด้วยเหตุและปัจจัยหลายอย่างทำให้ชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลง หลายคนปรับตัวโดยการเข้าเมืองทำงานหาเงิน หลายคนยังยืดยัดอยู่ในชุมชน ทั้งนี้เพื่อหาทางสู้ ทางรอดกับระบบเศรษฐกิจครอบครัว หลายต่อหลายคนสมหวังในอาชีพใหม่ แต่ไม่น้อยที่ต้องผิดหวัง นำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ ในครอบครัว

ปัญหาความยากจน ที่มาของความเครียด และนำไปสู่การฆ่าตัวตายโดยมีสถิติสูงถึง 10 คน ภายใน 1 ปี ส่งผลให้สตรีเกือบ 50 คนต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว

หนทางอันมืดมน เริ่มมีแสงสว่างส่องเข้ามา เมื่อ อานันต์ศรี แก้วเลิศตระกูล หรือแม่หลวงเปิ้ล ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่แดดน้อย อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ตั้งต้นและรวมกลุ่มสตรีสร้างอาชีพเป็นวิสาหกิจชุมชน ภายใต้ชื่อแบรนด์ “เดปอถู่” แบรนด์  “เดปอถู่” เป็นการรวมกลุ่มของสตรีด้อยโอกาส ปัญหาความยากจน โรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย  การฆ่าตัวตายเยอะมาก ภายใน 1 ปี เกือบ 10 คน เลยคิดขึ้นมาว่า เราต้องทำอะไรสักอย่าง  จิตวิญญาณของกะเหรี่ยงคือ เดปอถู่ เกิดมาปุ๊บก็ต้องเอารกไปผูกกับต้นไม้ แล้วดูแล เติบโตไปพร้อมกับต้นไม้ที่ดูแล แม่หลวงเปิ้ลกล่าว

เดปอถู่

อวรวรรณ สมดุลย์คณาสิน หนึ่งในสมาชิกวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่แดด เล่าให้ฟังว่า ตอนที่ลูกฉันยังเล็ก อยู่แต่บ้านทำอะไรไม่ได้เลย ไม่ได้เจอเพื่อนเพราะต้องเลี้ยงลูก พอเราเข้ากลุ่มเราได้มาเจอเพื่อนอีกหลายคน รู้สึกสุขใจได้มาพบมาเห็นหน้ากันได้แลกเปลี่ยนพุดคุยกัน ตอนนี้ก็มีรายได้ขึ้นมา ถ้าว่างก็นั่งทอผ้าทีละเล็ก ทีละน้อย  พอสร้างรายได้บ้าง

สำหรับผลิตภัณฑ์นั้นมาจากภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอ  เดิมทีชาวบ้านใช้ในวิถีชีวิตอยู่แล้ว ต่อมาถูกพัฒนาและต่อยอดบวกกับการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสังคมในปัจจุบัน

อิดือ แก้วเลิศตระกูล หนึ่งในสมาชิกวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่แดด เล่าให้ฟังขณะนั่งทอยามกระเป๋าใบสีฟ้าของเธอด้วยภาษาปกาเกอะญอ แปลความได้ว่า การทอผ้ามีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ก็ทำกันมาเรื่อย ๆ  เมื่อก่อนไม่มีใครซื้อขายกัน เราทอเพื่อสวมใส่ แต่ตอนนี้เราทอเพื่อขาย สร้างรายได้ให้กับเราด้วย จากนั้นเธอก็ก้มหน้าทอย่ามผืนนั้นต่อ

ในขณะที่การตลาดเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน  บัวบาน ยอดยิ่งชนชีพ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่แดด ผู้ที่ถูกพุดถึงว่าเป็นผู้ที่มีความชำนาญด้านสื่อออนไลน์ในกลุ่ม เรามีโอกาสได้พุดคุยถึงวิธีการขาย เธอเล่าว่า เวลาจะขายผ้า เราไม่มีเพจหรือช่องทางสื่อสาร เราต้องส่งของไปกับรถโดยสาร ใช้เวลา 3 วันกว่าจะถึง จะติดต่อกับลูกค้าก็ยาก กว่าลูกค้าจะได้รับอีก ทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามาเยอะ ทำให้รู้สึกว่าเราต้อง Update ตัวเอง ผ้าพันคือหรือเสื้อผ้าที่เราจะขายเราจะโพสต์ลงเพจว่า เรามีผ้าหลายชิ้นที่เราจะขาย ใครสนใจทักมาในเพจนี้หรือติดต่อมาทางเบอร์โทรนี้ค่ะ

สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำการตลาด ที่แตกต่างไปจากรูปแบบเดิม และนี่อาจเป็นช่องทางใหม่ โอกาสใหม่ สำหรับการเรียนรู้ และใช้ทักษะออนไลน์เพื่อขายสินค้า และการเพิ่มยอดขายให้วิสาหกิจชุมชนได้อีกช่องทางหนึ่ง

การรวมกลุ่มของสตรีผู้ด้วยโอกาส เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ พัฒนา และต่อยอดบนฐานวัฒนธรรมชุมชน ขณะเดียวกันยังสร้างรายได้ให้กับสมาชิก นอกจากนี้ยังมีการวางแผนถึงอนาคตเพื่อเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจ หรือคนรุ่นใหม่ที่จะกลับบ้านที่ต้องผิดหวังจากระบบอุตสาหกรรมในเมือง ตกงานกลับบ้าน ที่นี่ยังเปิดโอกาสสำหรับทุกคน และ สวัสดิการชุมชน คือ เป้าหมายใหญ่ที่กำลังเริ่มก่อตัว โดยเรื่องนี้ อานันต์ศรี แก้วเลิศตระกูล หรือแม่หลวงเปิ้ล เล่าให้ฟังว่า สมมติว่าขายได้ 25 บาท ก็ออม 1 บาท และมีอีกอย่างคือ การออมเดือนละ 100 บาท  ตอนนี้เราออมได้สามแสนกว่าบาท สมาชิกของเรา น้อง ๆ ที่ไม่ได้เรียนหนังสือก็มี จบปริญญาตรีแล้วไม่เรียนต่อ หรือจบ ม.6 แล้วไม่ได้เรียนต่อ เราจะทำตรงนี้เริ่มตั้งแต่อนุบาลเลย อนาคต ตอนนี้เราวางแผนแล้วว่า แม้แต่คนตกงานและคนอื่น ๆ มีอะไรเล็ก ๆ มาขาย เราจัดสถานที่ให้ขาย ขายเสร็จแล้วก็ออม ออมด้วยชุมชน สร้างด้วยชุมชน ส่งเสริมด้วยชุมชน แล้วในอนาคตน้อง ๆ นักศึกษาที่จะไปเรียน เราก็มีทุนให้เขา

เดปอถู่

“เดปอถู่”แบรนด์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่แดด เป็นมากกว่าแค่ผลิตภัณฑ์ หากแต่เป็นเรื่องราว เป็นตัวแทน ของสตรีผู้ด้อยโอกาส ที่สร้างได้ทั้งมูลค่าและคุณค่า เพื่อแก้ปัญหาให้กับคนในชุมชน และออกไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ นับว่าเป็นความพยายามเรียนรู้ ปรับตัว เพื่ออยูรอดในสภาวะการณ์ที่เป็นอยู่ที่มา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ