ดร.มาลี ศูนย์ศึกษาชาติพันธ์ุ มช.ให้ความเห็น กรณีจะยุบรวมคณะกรรมการสิทธิ

ดร.มาลี ศูนย์ศึกษาชาติพันธ์ุ มช.ให้ความเห็น กรณีจะยุบรวมคณะกรรมการสิทธิ

หลังจากจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ และยุบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนรวมเข้ากับสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันตอนนี้ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ทีมข่าวพลเมืองได้สอบถามความคิดเห็นของ อาจารย์ ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ศึกษาชาติพันธ์ุและการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนี้

+ ทบบาทที่ผ่านมาของคณะกรรมการสิทธิ เป็นยังไงบ้าง?

ถ้าตามบทบาทหน้าที่ก็เป็นองค์กรที่ช่วยคุ้มครองสิทธินะ แล้วก็พยายามที่จะส่งเสริม รักษาสิทธิมนุษยชน ทีนี้บทบาทที่ผ่านมา เราก็จะเห็นว่าเป็นองค์กรหนึ่ง ที่ทำให้กลุ่มต่างๆ ที่ถูกละเมิดสิทธิ ได้มีพื้นที่ในการยื่น หรือเป็นพื้นที่ที่ทำให้พวกเขาได้บอกถึงปัญหาความเดือดร้อนเหล่านี้ ผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ก็สามารถที่จะเรียกองค์กรที่เกี่ยวข้องมาไต่สวน มาให้ข้อเท็จจริง คิดว่ากรณีแบบนี้ มันก็เป็นส่วนดีทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายผู้ที่เดือดร้อนเอง และฝ่ายผู้ที่ทำให้มีการละเมิดสิทธิ ได้มาให้ข้อคิดเห็น ได้มาให้ข้อมูลร่วมกัน และคณะกรรมการสิทธิ ก็เสนอปัญหาเหล่านี้ ต่อรัฐบาล เพื่อให้เกิดการแก้ไข

ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิ สามารถแก้ไขหรือนำเสนอปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนได้มากน้อยขนาดไหน?

รัฐธรรมนูญปี 2540 คณะกรรมการสิทธิ ไม่มีบทบาทในการฟ้องร้อง มีแค่บทบาทในการยื่นข้อเสนอ ให้กับรัฐบาล รัฐบาลก็เข้าไปแก้ไข แต่เข้าใจว่า ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้พูดถึงว่าคณะกรรมการสิทธิมีบทบาทหน้าที่ในการฟ้องร้องด้วย หรือเปล่า แต่ปัญหาการละเมิดสิทธิในด้านต่างๆยังมีอยู่มาก ได้รับการแก้ไขไปบ้าง บางส่วนก็รอการแก้ไขอยู่เป็นจำนวนมาก 

+ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีส่วนช่วยศูนย์ศึกษาชาติพันธ์ ยังไงบ้าง?

จริงๆศูนย์ศึกษาชาติพันธ์เราทำหน้าที่ประสานงาน เราเป็นหน่วยงานทางวิชาการ เราก็ทำงานวิจัย ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ก็ให้ทางศูนย์ศึกษาชาติพันธ์ทำงานวิจัย เพื่อที่จะนำผลงานวิจัยไปเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาล เช่น โครงการวิจัยที่กำลังทำอยู่ก็เป็นทางเลือกเชิงนโยบาย ในการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง เป็นการเสนอทางเลือกเชิงนโยบาย 

เพิ่งลงไปแก่งกระจานมา ตอนนี้ที่นั่นเป็นยังไงบ้าง? 

กรณีแก่งกระจานเราอาจจะต้องแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือ กรณีที่บิลลี่หายตัวไป บิลลี่เองก็ทำหน้าที่ในการช่วยเหลือชุมชน เรียกได้ว่าเป็นนักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่ง แต่ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย กรณีที่มากกว่านั้นก็คือว่า คนที่อยู่บ้านบางกลอย คนเหล่านี้ถูกอพยพลงมา แล้วไม่ให้สิทธิที่ดินทำกินกับเขา ตามที่ได้ให้สัญญาไว้ จริงๆแล้วต้องกลับไปดูว่าสิทธิชุมชนซึ่งบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 จะถูกนำมาใช้ในกรณีของบ้านบางกลอยได้อย่างไร ดิฉันไปสัมภาษณ์ เขาก็อยู่ข้างบนนั้นตั้งแต่รุ่นทวด คนเหล่านี้เป็นกลุ่มชาติพันธ์ เป็นคนที่อยู่ในท้องถิ่นดั้งเดิม รัฐธรรมนูญน่าจะสามารถคุ้มครอง ปกป้องสิทธิ ในการดำรงชีวิต อย่างน้อยให้เขาอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี การอพยพเอาเขาลงมา ก็ทำให้คนเหล่านี้ไม่มีที่ดิน ในการทำมาหากิน ที่เหมาะสมตามสิทธิมนุษยชนที่พึงจะเป็นไปได้ 

อันดับที่สองคือว่า วัฒนธรรมของพวกเขา เมื่อถูกอพยพลงมาพวกเขา วัฒนธรรมในการหาอยู่หากิน หรือวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต เหล่านี้มันก็ถูกเปลี่ยนแปลงไป 

+ ถ้าคณะกรรมการสิทธิฯยุบรวมกับสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินจริง จะมีผลกับแก่งกระจานและสังคมเราอย่างไร?

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนถูกยุบรวมหรือเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ไป สาระมันอยู่ที่บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิฯ ที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ และความเป็นอิสระ บทบาทหน้าที่ยังสามารถคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิ แล้วรวมไปถึงสามารถที่จะมีกระบวนการฟ้องร้องคนที่ละเมิดสิทธิได้ อันที่สองก็คือ แล้วองค์กรที่จะมาทำงานเป็นองค์กรอิสระ ไม่ขึ้นกับกำกับของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หรือไม่ขึ้นกับกำกับของรัฐมนตรีหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ไม่ว่าเปลี่ยนเป็นชื่ออะไร องค์กรนั้นก็จะยังสามารถคุ้มครองและส่งเสริม รวมทั้งรักษาสนับสนุนสิทธิของคนที่กำลังถูกละเมิดสิทธิอยู่ได้ 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ