เครือข่าย อช.ปภ.อุบลราชธานี เตรียมพร้อมศูนย์พักพิงน้ำท่วมภายใต้โจทย์โควิด-19

เครือข่าย อช.ปภ.อุบลราชธานี เตรียมพร้อมศูนย์พักพิงน้ำท่วมภายใต้โจทย์โควิด-19

อยู่ดีมีแฮงโสเหล่ออนไลน์ เปิดวงคุย พื้นที่ปลายน้ำเมืองอุบลฯ  “เตรียมอพยพน้ำท่วมอย่างไร จึงจะห่างไกลโควิด -19”  เมื่อวันที่ 30 กันยายน 64 เวลา 18:00 น. ร่วมกับเครือข่ายสื่อท้องถิ่น Ubon connect  VR Cable  วารินชำราบบ้านเฮา และ ThaiPBS โดยมีผู้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยน ได้แก่ คุณวิศิษฐ์ ผลดก พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานี คุณพิทักษ์พงษ์ จันทร์แดง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี คุณธรธรรม์ ชินโกมุท รองนายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี คุณจำนงค์ จิตรนิรัตน์ มูลนิธิชุมชนไทย คุณจำปี มรดก เครือข่าย อช.ปภ.อุบลราชธานี และ คุณไขแสง ศักดิ์ดา ผู้จัดการมูลนิธิไทยพีบีเอส เพื่อหารือแนวทางเตรียมความพร้อมเนื่องจากอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ปลายน้ำ ลุ่มแม่น้ำมูลจุดสุดท้ายในภาคอีสานก่อนที่น้ำจะไหลออกสู่แม่น้ำโขง ซึ่งหลายชุมชนริมแม่น้ำมูลมีความเปราะบางเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก

“ตอนนี้ ทางชุมชนเรามีการเตรียมวางแผนร่วมกับเทศบาลวารินชำราบ มีจุดคัดกรอง มีคนย้ายขึ้นมาบนที่ปลอดภัยแถวบ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาล แต่ยังมีความกังวลเรื่องการจัดระบบความปลอดภัย ยังกังวลว่าทั้งเรื่องน้ำท่วม ทั้งเรื่องความปลอดภัยโควิด-19 ตอนนี้ยังไม่เป็นระบบ เรากังวลว่ามีคนเยอะ ตอนนี้เราอยากให้มีความเป็นระบบมากขึ้น และอยากให้มีการจัดโซนแต่ละชุมชน เช่น แยกกันว่านี่คือชุมชนเกตุแก้ว ชุมชนท่าบ้งมั่ง เพื่อให้จัดการได้ง่าย” จำปี มรดก เครือข่าย อช.ปภ.อุบลราชธานี ชาวบ้านชุมชนเกตุแก้วหนึ่งในเครือข่ายชุมชน อช.ปภ. เล่าถึงความกังวลใจ และข้อเสนอในการจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราว หลังจากตอนนี้เริ่มมีชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มต่ำอพยพขึ้นมาพักพิงในพื้นที่สูงชั่วคราว

นอกจากความปลอดภัยจากน้ำท่วมแล้ว การป้องกันโควิด-19 ยังเป็นโจทย์ซ้อนทับวิกฤตน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะอุบลราชธานียังคงมีผู้ติดเชื้อรายวันและพบคลัสเตอร์การระบาดในพื้นที่ใกล้สถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง

“การจัดการต้องดูว่าศูนย์พักพิงที่ตั้ง มีมาตรฐานพอไหมที่จะรองรับคุณภาพชีวิต และเห็นด้วยว่าต้องมีการออกแบบวางผัง เพราะจะอยู่รวมกันแบบแต่ก่อนไม่ได้ นี่คือช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทีนี้ที่เทศบาลนครอุบลก็มีของชุมชนห้วยม่วงเป็นศูนย์พักพิงแรกที่เราคุยกัน โดยสิ่งสำคัญคือ ต้อง “รู้คน รู้ที่ รู้ระบบ” มีการทำงานร่วมกัน ทางสาธารณสุขก็จะไปสุ่มตรวจ และถ้าเต็นท์ไหนที่มีการพบปะคนข้างนอกบ่อยก็ต้องมีการคุยกันเรื่องการจัดการ และคนที่ต้องเฝ้าระวง คือ กลุ่มสูงอายุ คนพิการ เด็กเล็ก และในที่พักพิงก็ต้องมีสัญลักษณ์บ่งบอก จุดไหนมีคนเปราะบาง ซึ่งเป็นเรื่องของการวางระบบร่วมกัน ซึ่งตอนนี้มีความร่วมมือที่ทหารดูแลโครงสร้าง เทศบาลรู้คน พมจ. วางระบบ แล้วถ้าเจอผู้ติดเชื้อก็จะเชื่อมไปยังศูนย์กักตัวอีกที” วิศิษฐ์ ผลดก พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานี  อธิบายข้อคำนึงถึงการจัดการในศูนย์พักพิง ก่อนจะย้ำเรื่องการเฝ้าระวังโควิด-19 อย่างเคร่งครัดที่ต้องทำควบคู่กัน

“ยังมีสิ่งที่ต้องจัดการ คือ เรื่องการ Swap ATK และการจัดการทั้งหมด ต้องมีความร่วมมือกัน และความเข้าใจกัน เพราะในศูนย์พักพิงเมื่ออยู่นาน ๆ ก็จะมีความเครียด ก็อาจมีความเสี่ยงเรื่องกิจกรรมรวมกลุ่มกัน แต่ถ้าต้องวางกฎเกณฑ์เยอะ ๆ ก็เป็นห่วงว่าจะมีความเครียด อันนี้ก็ต้องเข้าใจกัน”

เช่นเดียวกับ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี พิทักษ์พงษ์ จันทร์แดง ย้ำถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 ในศูนย์พักพิงว่าต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย “เมื่อมีน้ำท่วมตอนที่มีการระบาดของโควิด-19 ถ้ามีคลัสเตอร์จากศูนย์พักพิงก็อาจจะต้องมาช่วยกัน ตอนนี้ทาง สสจ. มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะไปดูแลคนในศูนย์พักพิง ซึ่งมีการคัดกรองทั้งหมด ยังมีเรื่องทะเบียน และการอยู่ในศูนย์พักพิงก็จะมีกลุ่มเปราะบาง ซึ่งอาจจะเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้น้อย และยังมีเรื่องการจัดการสุขาภิบาล ขยะ การจัดการระบบรับของบริจาคก็สำคัญ  

ทางสาธารณสุข โดยกรมอนามัยก็มีมาตรการสำคัญ 2 อย่าง คือจัดการสุขลักษณะ สุขอนามัย การลดความแออัด ต้องมีการลงทะเบียน การติดตาม ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 มีการลงพื้นที่ติดตามทั้งเชิงรุก เชิงรับ และอีกเรื่องที่ต้องช่วยกัน คือ เรื่องการฉีดวัคซีนเชิงรุกในศูนย์พักพิง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และนอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ต้องป้องกันหลาย ๆ ส่วน

จริง ๆ เวลาเกิดกลุ่มเสี่ยงขึ้นมา ต้องมีการกักกันด้วย ถ้าเจ็บป่วยเราสามารถเติมใน รพ.สนามได้ แต่ยังต้องมีการวางระบบว่า ถ้ามีกลุ่มเสี่ยงเยอะจะทำอย่างไร หรืออาจจะใช้รูปแบบบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal)เหมือนในโรงงานหรือไม่”

จากประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2562 นั่นทำให้อุบลราชธานี มีความตื่นตัวเตรียมความพร้อมอย่างมาก โดยเบื้องต้นมีการจัดตั้งศูนย์พักพิงในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานีของชุมชนวังแดง (ห้วยม่วง) อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่ง ธรธรรม์ ชินโกมุท รองนายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี ร่วมแลกเปลี่ยนถึงระบบการจัดการที่จำเป็นต้องร่วมมือกันทั้งหน่วยงานและประชาชนในศูนย์

“วันนี้ คุณหมอทวีศิลป์ไปเยี่ยมที่ศูนย์พักพิงห้วยม่วง เทศบาลนครอุบลราชธานี ซึ่งมีชาวบ้านหลายคนยังไม่ฉีดวัคซีนจึงจะมีความร่วมมือกันจะฉีดวัคซีนเชิงรุกให้กับคนในศูนย์พักพิง และยังมีเรื่องการจัดการอื่น ๆ ตอนนี้เรามีจุดพักพิง 8 จุดแล้ว เพื่อเตรียมรับมือ และเจ้าหน้าที่กำลังเก็บข้อมูลโดยละเอียด ตอนนี้มีหลายอย่างที่เกินอำนาจการทำงานของอยากให้ทุกคนมาช่วยกัน ทั้งเอกชนด้วยจะดีมาก และชาวบ้านก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางช่วยกัน”

และเพื่อให้เตรียมพร้อมมากที่สุด เพื่อรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น จำนงค์ จิตรนิรัตน์ มีข้อเสนอให้มีการจัดตั้งอาสาสมัครป้องกันน้ำท่วมและโควิด-19 โดยความร่วมมือของชุมชน และหน่วยงานทั้ง 2 เทศบาล คือ เทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศบาลวารินชำราบ

“น่าจะเป็นปีแรกที่จะมีอาสาสมัครร่วมมือในสถานการณ์น้ำท่วมกับโควิด-19 โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งสองเทศบาลคอยเป็นพี่เลี้ยงได้ครับ เพื่อให้เป็นรูปธรรมเมื่อเจอ 2 วิกฤตพร้อมกัน เราต้องร่วมมือกันเป็น 2 อย่าง ตอนที่ผมลงไปเมื่อ 1-2 วันที่ผ่านมาก็มีการอพยพกันแล้ว เพราะน้ำขึ้นล้นตลิ่งมาแล้ว และชุมชนอยู่ในพื้นที่ลุ่ม บางชุมชนก็เริ่มท่วมกันไปแล้ว ก็ต้องมีการอพยพกัน เรียกว่าเป็นการอพยพเล็ก ๆ เพราะว่าอยู่ในที่ลุ่ม เช่นที่ชุมชนท่าบ้งมั้ง ชุมชนเกตุแก้วล่าง ชุมชนหาดสวนยา ชุมชนหาดสวนสุข พื้นที่ละ 4-5 หลังคาเรือน

ประเด็นหลักของหาดสวนสุขตอนนี้ไม่ใช่เรื่องน้ำท่วม แต่คือมีพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ติดโควิด-19 จำนวน 2 กลุ่ม และมีน้ำล้อมแล้ว ซึ่งผมคิดว่าก็ดีเหมือนกันที่เราจะได้คิดเป็นโมเดลเลยว่าเป็นจุดเล็ก ๆ แบบนี้ ไม่ต้องอพยพมาอยู่ในศูนย์พักพิง เขาต้องพักพิงในบ้านตัวเองเพราะว่าถูกกักตัว ทีนี้รูปแบบศูนย์พักพิงศูนย์อพยพ จะไม่ใช่ต้องย้ายไปอยู่ที่สูง ๆ แบบเดิมอย่างเดียวแล้ว แต่มันอยู่ในที่เดิมแต่ว่าติดโควิด-19 และมีน้ำกำลังจะท่วม อย่างตอนนี้น้ำอยู่ที่ 29 ซม. แต่ถ้าขึ้นมาอีก 15-20 ซม. มันก็จะท่วมถึงจุดนี้

ตอนนี้ผมประเมินว่าถ้าขึ้นมาอีกก็จะท่วมขยายออกไป ซึ่งถ้าไม่มีคนติดโควิด-19 เพิ่มมันก็จะมีศูนย์พักพิงขึ้นไปอยู่ข้างบนกัน แรงบวกจากเหตุการณ์น้ำท่วมปกติ เราต้องตื่นตัว และต้องการความร่วมมือที่มากขึ้น 2 เท่า เราจะต้องไม่ใจเย็นเหมือนปี 2562 และอยากให้ทั้ง 2 เทศบาลต้องมีผังไว้ว่ามีชาวบ้านไปพักพิงอยู่จุดไหนบ้าง ซึ่งจะต้องออกแบบและทำก่อนที่จะมีปัญหาเกิดขึ้น เพื่อให้การจัดการง่ายป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา”

นอกจากความร่วมมือในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ทั้ง หน่วยงานในพื้นที่และภาคประชาสังคม ไขแสง ศักดิ์ดา ผู้จัดการมูลนิธิไทยพีบีเอส ยังร่วมแลกเปลี่ยน และเสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อเตรียมพร้อมรับมือทั้งสถานการณ์โควิด-19 และน้ำท่วม “ฟังและเห็นจุดร่วมของทุกคนค่ะ และรู้สึกว่ามันเป็นโมเดลที่ดีนะคะ อย่างน้ำท่วมปีที่แล้วที่อุบลราชธานี มูลนิธิไทยพีบีเอสก็ได้เข้าไปช่วย แต่เราก็ไม่เคยเจอสถานการณ์ที่จะต้อง พยายามป้องกันไม่ให้เกิดคลัสเตอร์การระบาดของโควิด-19 และหลังจากที่ออกแคมเปญไปทั้ง 2 เรื่อง ทั้งที่เราทำเรื่องการป้องกันโควิด-19 อยู่แล้ว และตอนนี้เราก็ทำเรื่องความช่วยเหลือตอนน้ำท่วม และจากที่ฟังดูแล้ว ในด้านอุปกรณ์หลาย ๆ อย่าง มูลนิธิพร้อมสำหรับการทำศูนย์พักพิง และเตรียมความพร้อมสำหรับการคัดกรอง ถ้าเกิดมีกรณีคลัสเตอร์การระบาด

ส่วนนี้ มูลนิธิไทยพีบีเอสสามารถเข้าไปให้การสนับสนุน เติมเต็มความต้องการของพื้นที่ ที่ต้องการความช่วยเหลือ และหากมีกรณีที่ย้ายเข้ามาอยู่ในศูนย์พักพิงแล้วขาดเหลืออะไร ก็น่าจะระดมทุน ระดมทรัพยากร ระดมสิ่งของได้ค่ะ อย่างไรก็จะสามารถไปหนุนเสริม จะไปช่วยในจุดที่มีความกังวล หรือ ยังขาดทรัพยากรอะไรที่เร่งด้วนก็แจ้งมาทางเครือข่ายสื่อพลเมืองได้เลยค่ะ เพราะจริง ๆ ตอนนี้เตรียมไว้แล้วหลังจากทราบปัญหา และสิ่งที่คิดว่าเรามีเราสามารถส่งมอบให้ได้เลยในวันพรุ่งนี้ และถ้ามีการติดเชื้อยังไง เรามีอุปกรณ์ที่จะแยกเขา ทั้งการเตรียมการของ สสจ. หรือหน่วยงานอื่น ๆ  เราจะสามารถช่วยเรื่องเหล่านี้ได้ และตอนนี้เรามองว่าเรื่องทำอย่างไรมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังจากที่เข้ามาอยู่ในศูนย์พักพิงไม่น่าห่วง

แต่ห่วงเรื่องที่จะระมัดระวังอย่างไรไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ ซึ่งจริง ๆ ทางภาครัฐและประชาชนสามารถที่จะสรุปข้อมูลมาว่าต้องการอะไร และขาดเหลืออะไร ส่งมาให้เราแล้วเราจะจัดหาให้และจัดส่งให้เร็วที่สุดค่ะ และเรียนว่าตอนที่เราทำแคมเปญช่วยโควิด-19 เราก็ยังพอมีทรัพยากรที่เหลืออยู่ และตอนนี้เราเริ่มแคมเปญช่วยเหลือน้ำท่วม เพราะฉะนั้นเราสามารถใช้ 2 แคมเปญนี้ในการช่วยเหลือ เพื่อศูนย์พักพิงสามารถป้องกันได้ทั้งโควิด-19 และสามารถทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามที่ทางภาครัฐและภาคประชาชนเป็นห่วง ถ้าเราทำได้เราจะช่วยเต็มที่ค่ะ”

แม้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อีสานตอนบน ใน จ.ชัยภูมิ จะเริ่มคลี่คลาย หลายพื้นที่น้ำเริ่มลดระดับลง แต่พื้นที่ปลายน้ำอย่าง จ.อุบลราชธานีที่รองรับน้ำจากลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่กับมูลนิธิไทยพีบีเอสที่ธนาคารกรุงไทย  เลขบัญชี 071-601-3916

ชมบันทึกเสวนา อยู่ดีมีแฮงโสเหล่ออนไลน์ เปิดวงคุย พื้นที่ปลายน้ำเมืองอุบลฯ  “เตรียมอพยพน้ำท่วมอย่างไร จึงจะห่างไกลโควิด -19”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ