ชุมชนบ่อแก้ว : ขบวนการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในที่ดินอีสาน

ชุมชนบ่อแก้ว : ขบวนการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในที่ดินอีสาน

20161206043430.jpg

กรชนก แสนประเสริฐ

ที่ดิน เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน มนุษย์จำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากรที่ดินในการเป็นที่อยู่อาศัย การเป็นแหล่งทำมาหากินเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรที่ดินเป็นปัจจัยมีอยู่อย่างจำกัด แต่ความต้องการในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินนั้นนับวันยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการนำที่ดินไปใช้เป็นที่อยู่อาศัย ทำการเกษตร อุตสาหกรรม การค้าขาย หรือโครงการการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่น ถนน เขื่อน ซึ่งอีกนัยหนึ่งถือเป็นการทำลายป่าอย่างชอบธรรมโดยภาครัฐ ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรที่ดินของกลุ่มต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องที่ดินของกลุ่มต่าง ๆ ทั้งระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐ หรือความขัดแย้งในเรื่องที่ดินระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มนายทุนอยู่มากมาย

นอกจากปัญหาการขาดที่ดินทำกินแล้ว ประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่ต้องสูญเสียที่ดินโดยการแย่งชิงการถือครองที่ดินโดยภาครัฐ เช่น การประกาศเขตป่าทับที่ดินทำกินของประชาชน อย่างเช่นกรณี การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่านทับที่ดินทำกินของประชาชน 

ปัญหาการขาดแคลนที่ดินของประชาชนในภาคอีสาน ทำให้เกิดการออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในด้านที่ดินของชาวบ้านในภาคอีสานมีให้เห็นอยู่หลายต่อหลายครั้ง เช่น การต่อสู้กับโครงการจัดสรรที่ดินทำกินเพื่อราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าเสื่อมโทรม (คจก.) ของสมัชชาเกษตรกรรายย่อย (สกยอ.) ในปี พ.ศ. 2534 การออกมาเรียกร้องที่ดินทำกินของชาวบ้านกับสมัชชาคนจน (สคจ.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 และการออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) ในปี พ.ศ. 2554

20161206043500.jpg

ชุมชนบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ทำการเรียกร้องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในด้านที่ดินมาอย่างยาวนาน จนปัจจุบันการต่อสู้ของชุมชนบ่อแก้วได้พัฒนามาสู่การต่อสู้ด้วยยุทธวิธีการบุกยึดที่ดินในเขตป่าคืน ซึ่งชาวชุมชนบ่อแก้วเคยอยู่อาศัยทำมาหากินมาก่อน แต่ถูกรัฐประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติทับที่ดินทำกิน และบังคับไล่รื้อให้ชาวบ้านออกไปจากพื้นที่ แต่หลังจากต้องสูญเสียที่ดินทำกินอย่างไม่เป็นธรรม และสร้างผลกระทบให้กับการดำรงชีวิต ชาวบ้านจึงได้ตัดสินใจทำการบุกยึดที่ดินคืน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการผลิตทางการเกษตร เป็นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมและเป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมของชุมชน

จากการศึกษาปัญหาความไม่เป็นธรรมในด้านต่าง ๆ ของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กรณี ดังนี้ 

1. การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ภูซำผักหนาม ทับที่ดินทำกินของชุมชนในปี พ.ศ. 2516

การประกาศป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามทับที่ดินทำกินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว คือความไม่เป็นธรรมเชิงนโยบายจากภาครัฐที่กระทำต่อชาวบ้าน โดยการผ่านเป็นกฎหมายป่าไม้ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่แล้วดึงทรัพยากรที่ดินจากประชาชน โดยมิได้คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเลยแม้แต่น้อย ซึ่งกฎหมายและนโยบายในด้านป่าไม้และที่ดินส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ

กล่าวโดยสรุป คือนโยบายป่าไม้ที่ดินในสังคมไทยเป็นนโยบายที่เอื้อผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งได้สร้างผลกระทบให้กับประชาชนขึ้นมากมาย เช่นเดียวกันกับการประกาศเขตป่าสงวนแห่ชาติภูซำผักหนามทับที่ดินทำกินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว เนื่องจากเป็นนโยบายที่ออกมาจากภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวแล้วนำมาบังคับใช้กับชาวบ้าน โดยขาดการมีส่วนร่วม แม้ในปี พ.ศ. 2491 จะได้มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่ให้การรับรองปฏิญญา ฯ ฉบับนี้ 

ในปี พ.ศ. 2521 เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มดำเนินการไล่รื้อชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ การข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่บริเวณชุมชนไป การข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมายกับชาวบ้านที่กำลังทำไร่ทำนาในบริเวณนั้น ตามเงื่อนไขการสัมปทานทำไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามบริเวณพื้นที่ป่าเหล่าไฮ่ โดยการปลูกสร้างสวนป่าตามโครงการหมู่บ้านป่าไม้ เนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่ และในปีเดียวกันมีการดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร บังคับไล่รื้อชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วให้อพยพย้ายออกจากชุมชนไป 

นั่นถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 25 ว่า “ในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย…” รวมถึงที่ได้ระบุไว้ในข้อที่ 17 ว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตนเองและโดยร่วมกับผู้อื่น และไม่มีบุคคลใดจะถูกเอาทรัพย์สินไปจากตนตามอำเภอใจได้” 

โดยเฉพาะการบังคับไล่รื้อชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว โดยการข่มขู่คุกคามที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามที่ระบุไว้ในความเห็นทั่วไปในด้านสิทธิในที่อยู่อาศัยของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (International Convent on Economic, Social and Cultural Rights) ข้อที่ 4.8 (ก) ว่า “…ไม่ว่าการเป็นเจ้าของในรูปแบบใด ทุกคนต้องมีความมั่นคงในการเป็นเจ้าของระดับหนึ่ง ที่จะประกันความคุ้มครองทางกฎหมายในการที่จะไม่ถูกขับไล่รื้อถอน ขู่เข็ญหรือคุกคามใด ๆ …” ซึ่งข้อความดังกล่าวได้ระบุข้อความไว้อย่างชัดเจน ในการที่จะคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกบังคับไร่ลื้อจากที่อยู่อาศัย 

แม้กติการะหว่างประเทศฯ ดังกล่าว ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีเมื่อ 5 กันยายน 2542 มีผลใช้บังคับ 5 ธันวาคม 2542 ภายหลังจากเหตุการณ์ปลูกสร้างสวนป่าคอนสารแล้วบังคับไล่รื้อชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ แต่แสดงให้เห็นว่าการบังคับไล่รื้อด้วยการข่มขู่คุกคามชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่พิพาทเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกในสังคมที่ตระหนักถึงความสำคัญของหลักการสิทธิมนุษยชน 

2. การไม่จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านสมาชิกหมู่บ้านสวนป่า

ก่อนที่ชาวบ้านจะอพยพย้ายออกจากพื้นที่ทั้งหมด มีการชักชวนจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้ชาวบ้านเข้าเป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ โดยจะได้สิทธิทำงานเป็นลูกจ้างขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ที่ดินทำกินคนละ 5 ไร่ และที่อยู่อาศัยอีก 1 ไร่ โดยตามโครงการจะมีการดำเนินการจัดสรรที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยเป็นแปลง จำนวน 100 แปลง จำแนกผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิออกเป็นสองประเภท คือ เจ้าของที่ดินเดิมและคนทั่วไปที่เข้ามาอยู่เป็นลูกจ้าง โดยได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้แก่ โรงเรียนและวัด 

แต่ปรากฏว่า จากทั้งหมด 103 ครอบครัวที่ถูกไล่รื้อ มีเพียง 41 ครอบครัวเท่านั้นที่ได้รับที่ดินจำนวน 1 ไร่ เพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยในบริเวณที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จัดให้ หรือที่เรียกว่าหมู่บ้านสวนป่า และไม่มีผู้ใดได้รับที่ดินจำนวน 5 ไร่ สำหรับทำการเกษตรตามที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้ให้สัญญาไว้

ในปัจจุบันมีสมาชิกในชุมชน จำนวนประมาณ 130 ครัวเรือน ซึ่งขนาดของชุมชนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวขยายและคนจากพื้นที่อื่นที่หวังจะเข้ามาเป็นลูกจ้าง อ.อ.ป. อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานตามระบบโครงการหมู่บ้านป่าไม้ก็ยังไม่สามารถจัดสรรที่ทำกินให้กับสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ ได้จนกระทั่งปัจจุบัน จึงทำให้มีผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการไม่ได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ตามที่สัญญาเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากชาวบ้านที่ยินยอมเข้าเป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ ยังมีครอบครัวขยายและคนจากพื้นที่อื่นที่หวังจะเข้ามาเป็นลูกจ้าง หมายถึง คนเหล่านี้ทั้งหมดเป็นคนที่ไร้ที่ดินทำกิน

3. ศูนย์ธรรมรัศมี

การเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องที่ดินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินให้กับชาวบ้านแต่อย่างใด แต่ปรากฏว่า ได้มีการสร้างโครงการในพื้นที่ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มีมติมอบให้ชาวบ้าน 1,000 ไร่ ชื่อโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมขึ้นมาแทน โดยโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตดังกล่าวได้มีการใช้พื้นที่จริงในการดำเนินโครงการจำนวน 240 ไร่ ซึ่งในเวลาต่อมาพื้นที่ของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตนี้ได้กลายมาเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมชื่อว่า ศูนย์ธรรมรัศมี 

ศูนย์ธรรมรัศมีตั้งอยู่ในพื้นที่พิพาทโดยมีจำนวนที่ดินถึง 240 ไร่ โดยมิได้ถูกภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่ของภาครัฐดำเนินการทางกฎหมายแต่อย่างใด เพราะเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมที่มีคนร่ำรวยมีอำนาจไปทำบุญส่งเสริมเป็นจำนวนมาก ต่างกับชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ทำมาหากินมาก่อนที่ถูกไล่รื้อให้ออกจากพื้นที่อย่างไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้ง ๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่พิพาทที่เดียวกัน 

4. การไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

การเพิกเฉยต่อปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านจากเจ้าหน้าที่ ๆ มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือพนักงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งถือว่าเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว เพราะเป็นผู้ที่ดำเนินการบังคับไล่รื้อชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ถือเป็นการไม่รับผิดชอบที่ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่ชาวบ้านบางส่วนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปหางานทำในตัวเมืองใหญ่ และทั้งหมดไม่มีที่ดินทำกินเพราะการดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าทับที่ดินของชาวบ้านในครั้งนั้น

อีกทั้งภายหลังมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินในชุมชนบ่อแก้วถึง 10 ชุด ซึ่งมีคณะกรรมการหลายชุดที่ยืนยันว่ากรณีพิพาทดังกล่าวเป็นความผิดที่เกิดจากการประกาศเขตป่าทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือพนักงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ก็ไม่ได้มีความพยายามที่จะดำเนินการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านแต่อย่างใด แม้จะมีคำสั่งจากฝ่ายการเมืองหรือคณะรัฐมนตรีในการที่ให้ความช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบแต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานก็ยังคงนิ่งเฉยดูดายตลอดมา

5. การดำเนินคดีกับปฏิบัติการทวงคืนที่ดิน

การเคลื่อนไหวของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีสวนป่าคอนสารจึงได้เข้าทำการทวงคืนที่ดินและปักหลักอยู่ในบริเวณพื้นที่พิพาท โดยมีเป้าหมาย คือ การจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน มีข้อเรียกร้องทั้งสิ้น 4 ข้อ คือ 1.ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด 2.ให้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนในรูปแบบโฉนดชุมชน 

3.ในระหว่างการแก้ไขปัญหา ให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนจำนวนเนื้อที่ 1,500 ไร่ ตามมติประชาคมตำบลทุ่งพระ และ 4.พื้นที่ที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ให้ชาวบ้านและท้องถิ่นมีสิทธิในจัดการทรัพยากรในรูปแบบป่าชุมชน 

ปรากฏว่า วันที่ 27 สิงหาคม 2552 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้ฟ้องขับไล่ ชาวบ้านและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบุกยึดที่ดิน รวม 31 คน ออกจากพื้นที่พิพาท พร้อมการห้ามมิให้ขยายเขตพื้นที่ครอบครองออกจากพื้นที่เดิม

ปัญหาความไม่เป็นธรรมในด้านที่ดินที่ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วได้รับ คือ การถูกทำให้สูญเสียที่ดินโดยนโยบายและกฎหมายของภาครัฐที่ออกมาดำเนินการบังคับใช้โดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน เช่น การให้ที่ดินทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐโดยการออกพระราชบัญญัติป่าไม้ปี พ.ศ. 2484 มาบังคับใช้ การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามทับที่ดินทำกินของชาวบ้านในปี พ.ศ. 2516 อีกทั้งการดำเนินการใช้มาตรการบังคับไล่รื้อให้ชาวบ้านต้องอพยพย้ายออกจากพื้นที่ในช่วงปี พ.ศ. 2521-2530 ด้วยยุทธวิธีการข่มขู่คุกคาม การใช้กำลังประทุษร้าย จนถึงการใช้มาตรการทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับชาวบ้านอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วต้องออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมาโดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การปกป้องสิทธิในที่ดินของชุมชน

ดังนั้น การประกาศเขตป่าสงวนภูซำผักหนามทับที่ดินทำกินของชาวบ้านในปี พ.ศ. 2516 จึงเป็นการละเมิดสิทธิของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ที่อยู่อาศัยทำมาหากินในพื้นที่มาก่อน 

20161206043641.jpg

ข้อเสนอ เพื่อการจัดสรรที่ดินที่เป็นธรรมในเชิงรูปธรรมของการจัดการที่ดิน 

1.การจัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน 
โฉนดชุมชน เป็นลักษณะ การบริหารจัดการที่ดินโดยประชาชนในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า โฉนดชุมชน นั้น เป็นการจัดการที่ถูกเสนอขึ้นมาจากขบวนการภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวต่อสู้ในเรื่องที่ดินทำกิน อย่าง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีเจตนารมณ์ให้ชุมชนมีสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนของตนเอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 66 

– เพื่อป้องกันปัญหาที่ดินของเกษตรกรหลุดมือ
– เพื่อรักษาพื้นที่สำหรับทำการเกษตรกรรมหรืออาหาร รักษาความมั่นคงทางอาหาร
– เพื่อรักษาที่ดินไม่ให้ถูกคุกคามโดยนายทุนต่างชาติ
– เพื่อคืนอำนาจการจัดการสู่ประชาชน คืนประชาธิปไตยสู่ประชาชนระดับรากหญ้า

2.ระบบการผลิตเกษตรกรรมอินทรีย์ 
ระบบการผลิตเกษตรกรรมอินทรีย์ คือ ยุทธศาสตร์หนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมในด้านที่ดินของชุมชนบ่อแก้ว ในการที่จะสื่อสารกับสังคมภายนอกเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ขบวนการเคลื่อนไหว อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับขบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านบ่อแก้ว ในการเป็นเกษตรกรที่มีวิถีการผลิตโดยไม่ใช้สารเคมีไม่ทำลายธรรมชาติ

3. ป่าชุมชน
ป่าชุมชน รูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ให้สิทธิคนในชุมชนที่ต้องอาศัยป่าหรือที่ดินรอบ ๆ พื้นที่ป่ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่ออาศัยป่าเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งที่มาของอาหาร เป็นแหล่งเพื่อการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภค หาพืช สมุนไพร และประโยชน์เพื่อการใช้สอยอื่น ๆ โดยภายในชุมชนมีการกำหนดกฎระเบียบ กติกา การนำภูมิปัญญา จารีตประเพณี และวิถีชีวิตในท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาให้คงไว้ซึ่งการฟื้นฟูทรัพยากรในป่าชุมชนได้อย่างเหมาะสมและเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

4. โรงเรียนชาวนา
แม้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนบ่อแก้วที่ได้ทำการเคลื่อนไหวต่อสู้โดยยุทธวิธีบุกยึดที่ดินจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ทำนา แต่สิ่งสำคัญที่ชาวบ้านยังขาดเหลือสำหรับการต่อสู้ ก็คือ การขาดอุดมการณ์ชาวนา การขาดชุดวิเคราะห์ในการแยกมิตรแยกศัตรู ขาดชุดความรู้สำหรับวิเคราะห์เพื่อปรับใช้สำหรับขบวนการต่อสู้ในระยะยาว ด้วยเหตุผลนี้ จึงมีความสำคัญที่จะจัดตั้งโรงเรียนชาวนาสำหรับการต่อสู้ในชุมชนบ่อแก้วขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดตั้งทางความคิดทางการเมืองสำหรับการต่อสู้โดยเฉพาะ

5. ศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม
ขบวนการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในด้านที่ดินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ถูกตอบโต้ด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีหลายครั้ง จึงควรมีการจัดตั้งศูนย์กฎหมายเพื่อสังคมขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย อบรมกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้กับชาวบ้าน

20161206043629.jpg

000

บรรณานุกรม

กิตติศักดิ์ ปรกติ, สิทธิชุมชน, สำนักพิมพ์วิญญูชน, พ.ศ. 2550.
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง.. วิวัตนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า, กรุงเทพมหานคร:สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, พ.ศ.2534.
ประภาส ปิ่นตบแต่ง, การวิเคราะห์การเมืองแบบทฤษฎีขบวนการทางสังคม, โครงการผลิตตำราและเอกสารการสอน คณะรัฐศาสตร์ จุฬามหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2552.
ชลธิรา สัตยาวัฒนาและคณะ, สิทธิชุมชนท้องถิ่นอีสาน ในชุดโครงการสิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล พ.ศ. 2547.
เสน่ห์ จามริก, สิทธิมนุษยชนไทยในกระแสโลก, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2549.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

May 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

28
29
30
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
1

29 May 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ