ชุมชนต้นแบบจัดการตนเอง กับภารกิจพิทักษ์ทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม

ชุมชนต้นแบบจัดการตนเอง กับภารกิจพิทักษ์ทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม

ชุมชนจัดการตนเอง กับภารกิจดูแลรักษาป่า

ตำบลปลาบ่า อ.ภูเรือ จ.เลย ชุมชนที่อยู่ท่ามกลางผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน ส่วนหนึ่งยังคงทำมาหากินอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ซึ่งทำกินกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ มีการแผ้วทางเข้าไปทำกินในเขตรักษาพันธุ์เป็นบริเวณกว้าง ( ซึ่งเป็นการเข้าไปจับจองก่อนที่จะประกาศ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2557 )  ส่งผลทำให้เกิดปัญหาตามมา ทั้งน้ำป่า น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ปัญหาข้อพิพาทกับเจ้าหน้าที่รัฐ และสัวต์ป่าที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์ แนวคิดบริหารจัดการป่า  ชุมชน และสัตว์ป่า ให้สามารถอยู่ร่วมกัน ไม่เบียดเบียนและบุกรุกพื้นที่ของแต่ละฝ่ายจึงเกิดขึ้น มีเป้าหมายสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาให้จบสิ้น ทั้งคน สัตว์ และป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

20152808191654.jpg

นายเชิด  สิงห์คำป้อง กำนันตำบลปลาบ่า แกนนำในการคืนป่าโดยไม่ต้องทวง เปิดเผยว่า แนวคิดการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า เริ่มขึ้นเมื่อปี 2542 ซึ่งเป็นการร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้ามาแนะนำและหาแนวทางร่วมกันในการบริหารจัดการผืนป่า คืนผืนป่าที่บุรุกและเกินความสามารถในการทำกินให้แก่ภาครัฐ เริ่มแรกมีประชาชนที่มองเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นร่วมส่งมอบคืนจากหมู่ที่ 3 จำนวนกว่า 200 ไร่  หลังจากนั้นจึงเริ่มทำประชาคมหมู่บ้าน มีประชาชนร่วมคืนอีกกว่า 2,000 ไร่ มีการปลูกต้นไม้ขึ้นมาทดแทนที่หายไป ชุมชนเป็นผู้ดูแลให้กลับมาคืนเป็นผืนป่าเช่นเดิม ในต้นปี 2557 ตำบลปลาบ่ามีการทำประชาคมส่งมอบคืนผืนป่าเพิ่มเติมอีก 4 หมู่บ้าน จำนวนกว่า 4,500 ไร่

20152808191721.jpg

นายชัยณรงค์  ดูดดื่ม หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ป่าภูหลวง กล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่ จะต้องใช้ทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในการเข้าไปจัดการปัญหา ซึ่งจะลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านที่ทำมาหากินในพื้นที่ได้ ซึ่งการดำเนินการนพื้นที่นี้ ทางเจ้าหน้าเขตรักษาพันธุ์จะทำการสำรวจและตรวจสอบหลักฐานการครอบครองพื้นที่ของชาวบ้านจากการสืบทอดกันจากพ่อแม่ ที่มีบริเวณอยู่ในเขตรักษาพันธุ์ หากพบว่ามีการครอบครองพื้นที่เกินกว่าหลักฐานที่แสดง ให้แสดงความจำนงส่งมอบคืนให้กับเจ้าหน้าที่

จากแนวคิดดังกล่าว จะเป็นแนวทางการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ ป่าฟื้นคืน ประชาชนไม่เดือดร้อนและพร้อมที่จะช่วยเหลือกันในการดูแลรักษาป่าที่ชุมชนเป็นคนส่งมอบคืน ลดแรงเสียดทาน ขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน ให้สามารถมาทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

20152808191756.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ