ชีวิตหลังปลดประจำการของ “ทหารเด็ก” ในพม่า

ชีวิตหลังปลดประจำการของ “ทหารเด็ก” ในพม่า

เด็กหนุ่มในชุดเสื้อเชิ้ตสีขาวโสร่งสีเขียวหลายสิบคนหลั่งไหลกันลงมาที่บันไดของค่ายทหารและบริเวณโดยรอบ โดยมีพ่อแม่ต่างจูงแขนลูกหลานเดินไปยังรถบัสที่จอดเรียงรายเป็นแถวอยู่ด้านนอกรั้วลวดหนาม เมื่อนั่งประจำที่กันเรียบร้อยแล้ว รถบัสจึงเคลื่อนตัวออกไป เด็กหนุ่มเหล่านั้นมองออกไปผ่านหน้าต่างที่ติดฟิล์มกรองแสง บ้างก็มีสีหน้าไร้ความรู้สึก ในขณะที่คนอื่นๆ บ้างก็ยิ้มแย้มและโบกมือให้กับอาคารไม้สีเทาที่ค่อยๆ ห่างออกไปทีละน้อย

เด็กชายจำนวน 108 คนเหล่านี้ ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในกองทัพอย่างผิดกฎหมาย พวกเขากำลังเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัวหลังจากได้รับการปลดประจำการจากกองทัพพม่า บางคนก็เพิ่งกลับมาจากทำหน้าที่ บางคนก็ออกมาจากที่ซ่อนตัว หรือได้รับการปล่อยตัวจากคุกหลังจากได้รับโทษในข้อหาแอบหลบหนีออกจากค่ายทหาร

“ผมดีใจมาก” หม่องหม่อง หนึ่งในบรรดาทหารเด็กที่ได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ กล่าว “ตอนนนี้ผมสามารถอยู่อย่างอิสระได้ ผมได้อิสรภาพคืนแล้ว”

หม่องหม่องถูกบังคับเกณฑ์ไปเป็นทหารตั้งแต่อายุ 14 ปี เขาเข้ารับการฝึกภาคสนามเป็นเวลา 5 เดือนก่อนที่จะหนีกลับบ้านในเวลาต่อมา หลังจากได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขาได้รับเงินจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากนักและบัตรประชาชน นั่นหมายความว่า เขาสามารถไปสมัครงานได้ ทว่า ก็ยังมีความไม่แน่นอนที่รออยู่เบื้องหน้า

ตอนนี้เขาอายุได้ 18 ปีแล้ว และเป็นพี่คนโต ซึ่งต้องช่วยเหลือครอบครัว การศึกษาและความรู้ที่ต่ำทำให้อนาคตจะต้องลำบาก “อาชีพและการศึกษาเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะว่า (ผม) อายุมากเกินไปแล้ว ผมไม่สามารถเรียนได้แล้ว”

ไม่มีใครทราบว่ามีเด็กอยู่ในกองทัพพม่า หรือที่เรียกว่า ตั๊ดมะดอว์ เป็นจำนวนเท่าใด

Steve Marshall เจ้าหน้าที่ประสานงานขององค์กรแรงงานสากล หรือ ILO ระบุว่า “หลักฐานทุกอย่างบ่งบอกว่าเป็นปัญหาใหญ่” เป็นเวลาหลายปีที่ องค์การสหประชาชาติได้จัดอันดับให้พม่าเป็นประเทศที่มีการละเมิดสิทธิเด็กแบบถาวร เพราะกองทัพพม่ามีการใช้ทหารเด็กในหารสู้รบ เช่นเดียวกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีการเกณฑ์ทหารเด็กเช่นกัน

นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2010 ประชาธิปไตยที่เพิ่งเริ่มต้นได้เข้ามาแทนที่การปกครองระบบเผด็จการทหาร การปฏิรูปได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองเป็นวงกว้าง ความพยายามทำให้กองทัพมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น อีกทั้งหลีกเลี่ยงเสียงประนามจากนานาชาติ รัฐบาลพม่าได้ลงนามในแผนปฏิบัติการณ์กับองค์การสหประชาชาติในปี 2012 เพื่อปลดประจำการทหารเด็กทั้งหมดและยุติการเกณฑ์ทหารเด็ก จนกระทั่งตอนนี้ มีเด็กได้รับการปล่อยตัวจากกองทัพไปแล้วอย่างเป็นทางการจำนวน 472 คน คณะตรวจสอบจากนานาชาติได้เข้าเยี่ยมกองพันทหารต่างๆ เพื่อตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติตามข้อตกลงหรือไม่ ในขณะที่มีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่มีข้อความว่า การเกณฑ์ทหารเด็กเป็นสิ่งที่ผิดกฏหมายผุดขึ้นมาตามข้างถนนทั่วเมือง

“เป็นการแสดงความมุ่งมั่นที่ชัดเจนจากตั๊ดมะดอว์ที่จะเป็นกองทัพที่ปราศจากทหารเด็ก” Bertrand Bainvel ผู้แทนจากยูนิเซฟในพม่าและประธานร่วมของสภาในยูเอ็นในตรวจสอบการละเมิดสิทธิเด็กในพม่า กล่าว

ความพยายามหยุดยั้งวิกฤติทหารเด็กนั้นล้มเหลวแล้ว ยังคงมีเด็กเข้าไปในกองทัพอยู่เรื่อยๆ

อ่องมิ้นท์อายุได้ 15 ปีตอนที่ถูกทหารจับตัวพร้อมกับเพื่อนที่สถานีรถไฟเย็นวันหนึ่ง “ผมถามว่า จับผมทำไม” เขาบอกว่า “ผมบอกพวกเขาว่าผมทำงานให้คณะกรรมการพัฒนาเมืองย่างกุ้ง” แต่พวกเขาบอกว่า “เราไม่สนว่าคุณเป็นใคร”

เขาถูกขู่ว่าถ้าไม่ยอมจะถูกจับกุมเข้าคุก อ่องมิ้นท์จึงไม่มีทางเลือก “ผมจำเป็นต้องไป เพราะพวกเขาแข็งแรงกว่าผม” เขากล่าว

4 เดือนหลังจากนั้น เขาถูกส่งไปรบยังแนวหน้าเพื่อต่อสู้กับกองกำลังคะฉิ่นใกล้กับกับแนวเทือกเขาชายแดนพม่า – จีน โดยเขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เดินตรวจตราในค่ายทหาร อ่องมิ้นกล่าวว่า เขาไม่ได้เห็นการสู้รบกัน แต่ทหารเด็กหลายคนในพม่าได้สัมผัสกับสงคราม

ชารุละทา ฮอกก์ ผู้อำนวยการโครงการประจำภูมิภาคเอเชียขององค์กรทหารเด็กนานาชาติ กล่าวว่า “เพราะว่าเด็กๆ ถูกเกณฑ์ไปเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ พวกเขาถูกใช้ให้แบกอาวุธ ทำลายกับระเบิด และทำงานเป็นลูกหาบ พวกเขาต้องสัมผัสกับการสู้รบและอาจเผชิญกับการบาดเจ็บร้ายแรงได้”

ในประเทศที่ผู้คนเพิ่งจะเข้าถึงโทรศัทพ์มือถือเมื่อไม่นานมานี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่อ่องมิ้นท์จะติดต่อกับครอบครัวได้ จดหมายที่เขาเขียนไม่มีวันถึงบ้าน “พวกเขาใช้เงินไปเยอะในการพยายามตามหาผม ” เขากล่าว “พวกเขาคิดว่าผมตายไปแล้ว”

5 ปีหลังจากนั้นที่เขาหนีออกมาจากกองทัพ แต่ก็ถูกบังคับให้ต้องหลบซ่อนตัวทุกครั้งที่ทหารมาตามจับตัวเขาและขู่ครอบครัวของเขา สุดท้ายเขาได้รับการคุ้มครองจาก ILO ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เขาถูกเกณฑ์มาเป็นทหารอย่างผิดกฎหมายและให้การคุ้มครอง

20142110092126.jpeg

กว่าครึ่งหนึ่งของเด็กที่ได้รบการปล่อยตัวจากกองทัพเมื่อเดือนที่แล้วเป็นกลุ่มที่หนีออกจากกองทัพ กรณีเดียวกับอ่องมินท์ที่หนีออกจากกองทัพแต่ก็ต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัวที่จะถูกจับกุม การปล่อยตัวทหารเด็กในครั้งนี้เป็นเหตุการณ์สำคัญของกองทัพ ที่ตอนนี้เป็นที่ทราบดีว่าเด็กที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารโดยผิดกฎหมายไม่อาจจะไปตั้งข้อหาว่าหนีออกจากกองทัพได้ อย่างไรก็ตาม การกลับบ้านของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการปลดประจำการอย่างเป็นทางการหรือไม่ เป็นแค่เพียงก้าวแรกเท่านั้น

ในขณะที่เด็กบางคนอาจถูกล่อลวงหรือลักพาตัวมาเป็นทหารในกองทัพ ก็ยังมีบางส่วนที่เลือกเดินเข้ามาเป็นทหารเองเพื่อหนีจากความรุณแรงในบ้าน หรืออาจจะถูกชักจูงจากพ่อแม่เพื่อหารายได้ดีกว่า หากชุมชนไม่มีความเข้าใจว่า การเกณฑ์ทหารเด็กเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย การกลับบ้านของเด็กเหล่านั้นก็จะถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี หรือไม่อยากทำงานหาเงิน

“บางครั้งครอบครัวก็ไม่พอใจที่เด็กออกจากกองทัพกลับไปอยู่ที่บ้าน และนั่นทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา” มาร์แชล กล่าว “ทหารเด็กที่กลับบ้านอาจได้รับการตอบรับในเชิงลบจากชุมชน”

เช่นเดียวกับเด็กๆ อีกจำนวนหลายพันคนทั่วประเทศพม่า อดีตทหารเด็กอาจได้รับการกีดกันจากระบบที่ทำให้เข้าถึงการศึกษาได้น้อย มีโอกาสน้อยที่จะได้รับการฝึกอาชีพ และไม่ได้รับการปกป้องจากสังคม แม้ว่าจะมีการปฏิรูปประเทศ แต่พม่าก็ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงนั้นจำเป็นที่จะต้องลงทุนทั้งเวลาและทรัพยากรมหาศาล

ในขณะที่เด็กชายอาจจะเป็นหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว จึงได้รับแรงกดดันให้หางานทำให้ได้เร็วๆ ลอลา เพย์น ที่ปรึกษาด้านการปกป้องเด็กจากองค์กร Save The Children ในพม่า กล่าว

“เด็กจำนวนมากาเรียนไม่ถึงชั้นมัธยม เพราะมีแรงกดดันให้ช่วยเหลือด้านการเงินของครอบครัว” ลอรา เพย์น กล่าว

เด็กๆ จำนวนนั้นต้องเสียสละการลงทุนเพื่ออนาคตด้วยการศึกษา เพื่อไปหาเงินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนด้วยการทำงานเป็นแรงงานไร้ทักษะแทน มันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก “ที่จะไม่มองพวกเขาว่าเป็นแค่เหยื่อ” ลอรา เพย์น กล่าว

อ่องมิ้นท์ หม่องหม่อง และตานเท็ต ทั้งหมดเป็นสมาชิกของกลุ่มอดีตทหารเด็ก พวกเขาทำงานกับชุมชน ให้ความรู้ว่าการเกณฑ์ทหารเด็กเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และช่วยเหลือเด็กที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร

ตานเท็ต หนีออกจากกองทัพปีนี้ โดยได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มดังกล่าวที่ติดตามเขาและรักษาจดหมายคุ้มครองจาก ILO

7 เดือนหลังจากกลุ่มผู้ค้ามนุษย์ขายเขาให้กับกองทัพ เมื่อกลับถึงบ้าน เขาสามารถกลับไปใข้ชีวิตตามปกติ

หม่องหม่องโชคดี เขาได้บัตรประชาชน และใช้สมัครงานที่มั่นคง อ่องมิ้นทำงานขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และรอคอยวันที่จะได้รับการปลดประจำหารอย่างเป็นทางการ และจะได้มองหาลู่ทางที่ดีกว่านี้ เขาหวังอยากจะฝึกอบรมเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์และเปิดร้านของตัวเอง

ส่วนตานเท็ตก็มีเรื่องอื่นให้ต้องคิด เมื่อถามถึงแผนการร์ในอนาคตของเขา เขายิ้มและบอกว่า “ผมกำลังจะแต่งงานในเดือนเมษายนนี้”

ที่มา : สาละวินนิวส์  แปลจาก : theguardian.com

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ