เป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า : ขนมพื้นบ้านแม่ฮ่องสอน ที่ทำให้คิดถึงบ้าน

เป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า : ขนมพื้นบ้านแม่ฮ่องสอน ที่ทำให้คิดถึงบ้าน

ยามโควิดทำเราร้าวราน ให้ขนมพาเรากลับบ้าน

เป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า คือชื่อขนม เป็นภาษาพม่า

คำว่า ม้ง แปลว่า ขนม

ส่วยทมิน แปลว่า ข้าวแก้ว หรือข้าวสีทอง (คล้ายขนม “ข้าวเหนียวแก้ว”)

(ส่วนคำว่า “เป็งม้ง” และ “อาละหว่า” ไม่มีใครรู้ความหมาย ไม่ว่าจะสอบถามจากคนทำขนมหรือจากชาวพม่า
แต่ก็เชื่อว่าน่าจะมีที่มา)

ขนมทั้งสามมีต้นกำเนิดจากประเทศเมียนมาหรือพม่า ต่อมามีการปรับปรุงสูตรเดิมจนทำให้ขนมมีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นและแตกต่างจากขนมประเทศต้นทาง

ขนมทั้งสามอย่างนี้ไม่ได้เป็นขนมที่หากินกันได้ง่ายๆ เพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะในวิธีการทำและมีไม่กี่คนที่ทำเป็น
เหตุใดเล่าจึงมีเฉพาะที่แม่ฮ่องสอน ?

รากเหง้าแห่งอาหารและ “ขนม”

ราว 100 ปีก่อนที่ผู้คนตามแนวตะเข็บชายแดนยังไปมาหาสู่กันได้อย่างง่ายๆ พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งอยู่ติดประเทศเมียนมาและทิศเหนือรัฐฉานขึ้นไปเป็นประเทศประเทศอินเดีย ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ได้สัญจรข้ามพรมแดนไปมา หลายคนหนีภัยสงคราม การล่าอาณานิคม เสาะแสวงหาแผ่นดินที่เหมาะสมอาศัยอยู่

คนพม่าและคนอินเดียจำนวนหนึ่งได้รอนแรมข้ามมาถึงฝั่งไทย และเห็นว่าเมืองเล็กๆ ในหุบเขาแม่ฮ่องสอนมีความสงบ อุดมสมบูรณ์ น่าอยู่ บางแห่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ อย่าง เมืองยวมใต้ หรือที่คนพม่าเรียก “ไมลองยี” (อำเภอแม่สะเรียงในปัจจุบัน) จึงได้ตัดสินใจตั้งรกรากถิ่นฐาน เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นี่

คุณพ่อของป้าสว่างเป็นคนหนึ่งที่ข้ามชายแดนพม่ามาทางแม่น้ำสาละวินพร้อมพี่น้องในครอบครัว  ต่อมาเมื่อได้รับสัญชาติไทยจึงสมัครเป็นตำรวจไทยโดยประจำการที่ศาลจังหวัดแม่สะเรียง

ป้าสว่างมีโอกาสได้เรียนรู้การทำขนมจากญาติๆ ครอบครัวของพ่อ ฝึกฝนการทำขนมจนชำนาญ จึงยึดเป็นอาชีพแม่ค้าขนมมานานหลายสิบปี

ขนมบูชาพระ

แม่ฮ่องสอนมีคนทำขนมเป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า ขายเกือบทุกอำเภอ แต่ที่ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยจะมี 2 อำเภอหลักๆ คือ อำเภอเมือง และอำเภอแม่สะเรียง ปัจจุบันเหลือคนทำเป็นไม่กี่คนแล้ว เนื่องจากเป็งม้งเป็นขนมที่ใช้เวลาในการทำนาน นับตั้งแต่การผสมแป้ง กวนแป้ง อบความร้อน ซึ่งการอบความร้อนแต่โบราณนั้น จะมีการนำแผ่นสังกะสีวางไว้ด้านบนเหนือถาดขนม และนำถ่านร้อนๆ ซึ่งนิยมใช้กาบมะพร้าวเผามาวางไว้ เพื่อให้ร้อนทั้งด้านบน ด้านล่าง สุกทั่วถึง

ในอดีตการทำขนมเป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า จะทำกันในเฉพาะเทศกาลทางศาสนาสำคัญๆ เพื่อนำไปถวายพระ เจ้าที่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสร็จแล้วจึงแจกจ่ายแบ่งปันกันกิน แต่เมื่อเวลาผ่านไป บ้านเมืองมีการค้าขายมากขึ้น ทั้งอาหารและขนมมีการทำขายทั้งในตลาดสดยามเช้าและริมถนนหนทางให้คนทั่วไปเลือกซื้อตามใจชอบ ขนมทั้งสามอย่างจึงไม่เพียงแต่มีคนแม่ฮ่องสอนเท่านั้นที่ชอบ คนต่างจังหวัดที่มีโอกาสมาเยือนยามได้ลองชิมขนมท้องถิ่นนี้ พวกเขาก็มักจะติดใจ ด้วยเพราะหน้าขนมราดกะทิชุ่มเหมือนครีม ทำให้มีกลิ่นหอม หวาน มัน อร่อย

ยามโควิดทำเราร้าวราน ให้ขนมพาเรากลับบ้าน

ป้าสว่างขายขนมพื้นบ้านที่อำเภอแม่สะเรียงมานานมาก กระทั่งส่งลูกชายเรียนหนังสือก็ได้อาศัยขนมเป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า ให้ลูกชายนำไปขายเป็นทุนในการเล่าเรียนกินอยู่

น้องจัมโบ้ หรือ โรจน์วณิช กันญณัฏฐิ์ ได้เล่าให้ฟังว่า ตอนเขาเรียนจบชั้นมัธยมที่บ้านเกิดมาเรียนต่อในเมืองเชียงใหม่ แม่ไม่มีรายได้มากนักจะส่งเสีย จึงทำขนมใส่ถาดมาให้ 3 ถาดต่อสัปดาห์เพื่อเอามาขายที่ลานถนนคนเดินเชียงใหม่ แม่สว่างจะทำขนมตอนตีสามเสร็จประมาณ 7.00 น. นำมาส่งที่รถโดยสารประจำทางโดยถาดขนมปกด้วยใบตองและคลุมพลาสติกเรียบร้อย ใส่ลังไม้ปิดฝาแน่นหนา ขนมมาถึงตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณบ่าย 2 โมง เขาจะไปรอรับที่ท่ารถ และนำมาขายที่ถนนคนเดินเชียงใหม่ประมาณ 4 โมงเย็น ซึ่งราว1-2 ทุ่ม ขนมก็หมด

หักต้นทุนแล้วจัมโบ้จะได้เงินประมาณ 1,500 บาท สำหรับกินอยู่ใน 1 อาทิตย์รวมค่าหอ ซึ่งเขาใช้ชีวิตแบบนี้ตลอด 4 ปีจนเรียนจบ

เมื่อเรียนจบ ทำงาน มีครอบครัว จัมโบ้จึงชวนแม่มาอยู่เชียงใหม่ด้วย แม้ว่าเขาอยากให้แม่ช่วยเลี้ยงหลานอย่างเดียวมากกว่า แต่ความที่เคยทำมาหากินด้วยตนเองทำให้แม่สว่างอยากทำอะไรขายไปด้วย จัมโบ้จึงหาพื้นที่ตลาดนัดให้แม่ได้วางขนมขาย ปรากฏว่าขนมของแม่ขายดีมาก โดยเฉพาะที่กาดฝรั่ง  แม่สว่างขายได้ประมาณ 7,000 – 8,000 บาทต่อครั้ง

(วันเดียว) คนรุมซื้อกันมาก ใช้เวลาราว 2-3 ชั่วโมงก็หมด (ช่วงนี้ป้าสว่างได้เปลี่ยนวิธีการทำขนมจากการใช้เตาถ่านธรรมชาติ มาเป็นเตาอบไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเมืองเชียงใหม่)

แต่ช่วงเวลาทองของแม่ก็มีไม่นาน เมื่อโควิด-19 ระบาดมาถึงเชียงใหม่เมื่อต้นปี 2563 และแม่สว่างต้องเลิกขายในตลาดนัดมาอยู่บ้านเฉยๆ แม้ภายหลังสถานการณ์จะดีขึ้นแต่ไม่ทันไรก็เจอโควิด-19 ระลอก 2-3 กลับมาอีก สุดท้ายแม่สว่างจึงตัดสินใจกลับมาอยู่แม่สะเรียง เปิดหน้าบ้านขายขนม ขณะที่น้องจัมโบ้ได้งานทำเป็นผู้จัดการโรงงานในกรุงเทพฯ

แต่การแยกย้ายของสองแม่ลูกไม่ได้มีอะไรเป็นที่น่าเสียใจ

แม่สว่างบอกว่า เรากลับมาอยู่บ้าน อย่างน้อยก็ยังขายได้ทุกวัน  (ช่วงนั้นสถานการณ์ของแม่ฮ่องสอนมีผู้ติดเชื้อเป็น 0 นานมาก นานๆ ครั้งจะปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มคราวละ 1-6 คนเป็นอย่างมาก (รวมทุกอำเภอ) จึงทำให้การค้าขายของพ่อค้าแม่ค้าดำเนินไปได้อย่างปกติ แต่ทุกคนก็ต้องระมัดระวัง สวมหน้ากาก มีอัลกอฮอลเจลไว้ให้ลูกค้าดูแลความสะอาด

เพราะขนมมีชีวิต จึงต้อง “ใส่ใจ”

“ขนมมันมีชีวิตของมันนะ มันต้องการการเอาใจใส่เหมือนคนเรานี่แหละ ถ้าเราไม่ใส่ใจ มันจะออกมาไม่ดี ไม่งามเลย”

คำพูดของป้าสว่างวัย 70 ปี ทำให้อึ้ง ไม่คิดว่าการทำขนมพื้นบ้านของป้าจะมีความลึกซึ้งกว่าภาพขนมที่เราเห็น “โดยเฉพาะเป็งม้ง  เป็งม้งที่ดีจะขึ้นฟูเป็นซี่ๆ ถ้าวันไหนขึ้นซี่ ป้าจะดีใจมาก แต่ถ้าวันไหนทำพลาดเนื้อขนมไม่ฟู ป้ารู้ว่าวันนั้นเราพลาดละ เราไม่ได้ใส่ใจเพียงพอ เป็งม้งเป็นขนมที่ต้องมีสมาธิกับมัน ต้องเอาใจใส่ลงไป”

ขณะพูด ป้าสว่างตาลุกวาว ท่าทางกระตือรือร้นมากที่จะอธิบาย เมื่อเราถามว่า ถ้าคนรุ่นใหม่มาขอเรียนรู้ ป้าจะสอนไหม ป้าบอกว่า ป้าเคยสอนมาตั้งแต่อยู่เชียงใหม่แล้ว เคยมีหน่วยงานมาเชิญให้ไปสอน ป้ายินดีสอน แต่ส่วนมากสอนแล้วไม่ค่อยมีใครไปทำต่อ ซึ่งไม่รู้เป็นเพราะอะไร

การกลับมาขายที่บ้านเกิดของป้าสว่างอีกครั้ง ใช้เวลาไม่นาน ขนมของป้าก็ติดตลาด ด้วยคำร่ำลือปากต่อปากถึงรสชาติที่กลมกล่อม ป้าจะตื่นมาทำขนมพร้อมกับหลานชายที่มาช่วยกวนขนมในเวลาตี 3 เสร็จ 7:00 น. ทุกวัน (อาจมีปิดบางวันหากมีธุระ) ซึ่งส่วนใหญ่ขนมก็จะขายหมด

และบ่อยครั้งที่ป้ารับออเดอร์จากหน่วยงานของภาครัฐ ไม่ว่าโรงเรียน เทศบาล ที่ว่าการอำเภอ เพื่อจะนำไปเป็นอาหารว่างสำหรับการประชุมหรือหากมีแขกบ้านเมืองมาเยือน หรือบางครั้งก็มีออเดอร์มาจากเชียงใหม่ ซึ่งถ้าเดินทางภายในวันเดียวขนมจะไม่เสีย

ออเดอร์ของป้ามีสั่งตั้งแต่ครั้งละหลักร้อยบาทไปจนถึงหลักหมื่นบาท (ขนมชิ้นละ 20 บาท) ซึ่งนับเป็นรายได้ที่น่าชื่นใจสำหรับคนทำขนมพื้นบ้านคนหนึ่ง

กลับมาค้นหาองค์ความรู้พื้นบ้าน

“สวัสดีค่ะ พี่ พี่สนใจรับมะพร้าวไหมคะ”

น้องคนหนึ่งที่แม่สะเรียงโทรมาหา เมื่อเราทักถามในหน้าเฟซบุ๊คของเธอว่าเธอปลูกมะพร้าวที่แม่สะเรียงใช่ไหม เธอบอกว่าใช่ เธอพยายามทยอยหาที่ขายมะพร้าวแก่ ฉันนึกได้ว่า ป้าสว่างซึ่งใช้กะทิสดจากมะพร้าวมาทำขนม ป้าเคยเล่าให้ฟังว่าที่ผ่านมามะพร้าวสำหรับทำกะทิของแม่สะเรียงจะนำเข้าจากเชียงใหม่ เป็นมะพร้าวเนื้อกะทิเดินทางมาจากภาคใต้ตอนบน

เรารีบแนะนำเธอว่า ลองติดต่อป้าสว่างนะ และให้เบอร์โทรป้าไป 

มะพร้าว ใบตอง แรงงาน ทุกอย่างต่างส่งเสริมอาชีพให้กันและกัน

การทำขนม1-3 อย่าง สามารถเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้คนได้อีกหลายๆ คน

อีกไม่นาน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวเล็งมาเที่ยวกันมากที่สุด ขนมพื้นบ้านอย่างเป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า เป็นขนมที่นักท่องเที่ยวมักต้องหามากิน และกินถึงที่เท่านั้นถึงจะอร่อย 

ยิ่งทราบประวัติความเป็นมา เราก็หวังว่าทุกคนจะมองเห็นความละเอียดลออของผู้สร้างสรรค์ขนมและจิตใจที่ใฝ่หาความสงบ สันติ ในโลกนี้สมดังที่ใครคนหนึ่งเคยกล่าวว่า นี้คือ “ขนมแห่งเมืองสันติสุข”

ภาพและเรื่องราวจาก : สร้อยแก้ว คำมาลา

https://www.facebook.com/thaithenorth/videos/595833544768711

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ