ในขณะที่โควิด-19 กระทบผู้คนทั่วโลกแบบไม่เลือกเพศ เพศหญิงต้องเผชิญกับปัญหาที่มีความเฉพาะเจาะจง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคม ผู้หญิงจึงต้องการความช่วยเหลือหรือมาตรการเยียวยาที่มีความเฉพาะและแตกต่างไป ซึ่งการทำความเข้าใจถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อผู้หญิง จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และส่งผลลดความรุนแรงของความไม่เท่าเทียมกันทางเพศที่ฝังรากลึกจากบรรทัดฐานทางสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจมาอย่างยาวนานอีกด้วย
มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและพัฒนา และมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย จัดงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “อนาคตผู้หญิงทำงานกับโควิด” ขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 25 – 26 ส.ค. 2564
ในวันแรกของการสัมมนาได้เชิญตัวแทนของผู้หญิงทำงานในอาชีพต่าง ๆ มาจำนวน 7 คน ได้แก่ วุฒิชัย สมกิจ จากเครือข่ายพยาบาลลูกจ้าง มาลินี บุญศักดิ์ จากสหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จุลจิรา คำปวง จากกลุ่มผู้หญิงกิจการท่องเที่ยว เสาวลักษณ์ ทองก๊วย จากกลุ่มผู้หญิงทำงานที่พิการ สุทธิรัตน์ โหตระไวศยะ ในฐานะผู้ประกอบการหญิง ครรธรส ปิ่นทอง จากกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน และธนพร วิจันทร์ จากกลุ่มผู้หญิงในกิจการก่อสร้าง มาบอกเล่าถึงปัญหาที่ประสบในช่วงโควิด-19 และเสนอทางออกจากปัญหา โดยในการสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาจากหลายหลายอาชีพกว่า 50 คน
วุฒิชัย สมกิจ เครือข่ายพยาบาลลูกจ้าง ให้ข้อมูลว่า อาชีพพยาบาลซึ่งประกอบด้วยผู้หญิงกว่าร้อยละ 95 มีภาระงานในการดูแลคนไข้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงโควิด-19 และมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากการทำงาน ด้วยจำนวนคนไข้ที่มากเมื่อเทียบกับจำนวนพยาบาลที่มีอยู่ทำให้พยาบาลที่มีโรคประจำตัวและตั้งครรภ์ยังคงต้องทำงานในส่วนที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากการที่สมาชิกในครอบครัวกลายเป็นผู้ขาดรายได้ พยาบาลหลายคนจึงกลายเป็นผู้มีรายได้หลักของครอบครัว และมีภาระมากขึ้นจากการต้องดูแลลูกที่เรียนออนไลน์ อีกทั้งพยาบาลบางคนประสบปัญหาความสัมพันธ์กับคู่สมรส เนื่องจากต้องทำงานและได้กลับบ้านน้อยลง
วุฒิชัยต้องการให้ภาครัฐปรับค่าตอบแทนของอาชีพพยาบาลให้มีความเป็นธรรม ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม และความก้าวหน้าในวิชาชีพพยาบาลควรได้รับการส่งเสริม นอกจากนี้ ควรฟื้นฟูสุขภาพให้กับพยาบาลที่ติดเชื้อให้สามารถกลับมาทำงานได้ดังเดิมหรือปรับเปลี่ยนภาระงานให้เหมาะสม และกำหนดค่าเสี่ยงภัยและเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลให้มีอัตราที่เหมาะสม ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นชนิด mRNA ให้กับพยาบาลตั้งครรภ์และปรับภาระงานให้มีความเสี่ยงน้อยลง และฉีดวัคซีนให้กับพยาบาลที่ทำงานอิสระ (Freelance) อีกด้วย
มาลินี บุญศักดิ์ จากสหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เล่าว่า พนักงานของบริษัทเป็นผู้หญิงร้อยละ 80 ยังคงเดินทางไปทำงานตามปกติ ไม่สามารถ WFH ได้ จึงมีความเสี่ยงติดเชื้อทั้งจากการเดินทางไปทำงานและในระหว่างการทำงาน แรงงานหญิงโดยเฉพาะที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมีภาระเลี้ยงดูลูกที่ต้องเรียนออนไลน์มากขึ้น มีความตึงเครียดและการใช้ความรุนแรงมากขึ้นในครอบครัว
มาลินีเสนอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงาน ให้การช่วยเหลือเยียวยาแรงงานอย่างรวดเร็วและตรงจุด และปรับเงื่อนไขการทำงานของผู้หญิงให้มีรายได้และความมั่นคงในอาชีพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้แรงงานหญิงสามารถดูแลครอบครัวได้ดี ซึ่งจะช่วยลดปัญหาของสังคมลงได้อีกด้วย
จุลจิรา คำปวง จากกลุ่มผู้หญิงกิจการท่องเที่ยว กล่าวว่า มัคคุเทศก์เป็นผู้หญิงประมาณร้อยละ 60 ได้รับผลกระทบคือ ขาดรายได้มาแล้วกว่า 2 ปี ครอบครัวที่พึ่งพิงรายได้จากภาคท่องเที่ยวเป็นหลักจะมีความลำบากมาก บางคนต้องขายทรัพย์สิน ต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น ไม่ได้รับเงินชดเชยว่างงานจากกองทุนประกันสังคม และจะเป็นอาชีพที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวหากสามารถกลับมาทำงานได้ ในอนาคตมัคคุเทศก์หญิงอาจเผชิญกับโอกาสในการทำงานที่ลดลง เพราะรูปแบบการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวจะมาเป็นกลุ่มใหญ่น้อยลง มีความต้องการท่องเที่ยวแบบผจญภัยมากขึ้น จึงต้องการมัคคุเทศก์ที่มีทักษะและร่างกายแข็งแรงมากขึ้น
จุลจิรา เสนอว่า รัฐควรจะขึ้นทะเบียนมัคคุเทศก์และทำประกันสุขภาพให้ ควรอนุญาตให้กู้เงินชราภาพจากกองทุนประกันสังคม และให้ความรู้กับแรงงานในอาชีพต่าง ๆ เพื่อจะสามารถดำเนินชีวิตอยู่กับโควิด-19 ต่อไปได้
เสาวลักษณ์ ทองก๊วย จากกลุ่มผู้หญิงทำงานที่พิการ กล่าวว่า โควิด-19 ได้ซ้ำเติมปัญหาเดิมของคนพิการให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยอมรับหรือทัศนคติของสังคมและการถูกเลือกปฏิบัติ สตรีพิการเข้าไม่ถึงวัคซีน ระบบประกันสังคม และเงินชดเชยในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ เสาวลักษณ์เรียกร้องให้ภาครัฐจัดวัคซีน โรงพยาบาลสนาม และสถานพักคอยให้เพียงพอและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน ซึ่งในปัจจุบันคนพิการเข้าถึงโรงพยาบาลสนามไม่ได้เพราะไม่สามารถดูแลตัวเองได้ จึงจำเป็นต้องสร้างสถานพักคอยเอง
ในระยะยาวเสนอให้รัฐปรับยุทธศาสตร์ชาติใหม่ รวมถึงกฎหมายแรงงานให้สอดคล้องกับรูปแบบการจ้างงานที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และคนพิการจะทำงานในโลกดิจิทัลมากขึ้น นอกจากนี้ ยังควรปรับเปลี่ยนบทบาทของหน่วยงานรัฐให้สามารถดูแลคนเปราะบางได้มากขึ้น
สุทธิรัตน์ โหตระไวศยะ ผู้ประกอบกิจการ กล่าวว่า หญิงในกิจการร้านนวด แม่บ้านทำความสะอาด และรปภ.ประสบปัญหาปริมาณงานลดลงเกินครึ่งหนึ่ง แต่ยังพยายามรักษาพนักงานไว้ ด้วยการให้หมอนวดไปทำงานแม่บ้านทำความสะอาด งานรปภ.และทำอาหารขายหน้าร้านนวด พบว่า พนักงานหญิงมีภาระต้องเลี้ยงดูลูกมากขึ้นจากการที่ลูกเรียนออนไลน์ และหากติดเชื้อแล้วยังต้องกักตัวทำให้สูญเสียรายได้
สุทธิรัตน์เสนอว่า รัฐควรดำเนินการเรื่องวัคซีนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง เร่งแจกชุดตรวจโควิด-19 ให้กับประชาชน กฎหมายแรงงานควรได้รับการพัฒนาให้จำแนกตามประเภทแรงงาน กล่าวคือ แยกกฎหมายแรงงานชั่วคราวออกจากแรงงานถาวร และการจ้างงานไม่ควรกีดกันด้วยเพศไม่ว่าจะในอาชีพหรือตำแหน่งงานใด แต่ควรเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าไปมีบทบาทในการทำงานมากยิ่งขึ้น
ครรธรส ปิ่นทอง ตัวแทนลูกจ้างทำงานบ้าน กล่าวว่า ลูกจ้างทำงานบ้านเป็นผู้หญิงร้อยละ 99 สำหรับ กลุ่มที่พักอาศัยกับนายจ้างประสบกับภาระงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมที่ชั่วโมงการทำงานมากอยู่แล้ว พอเกิดโควิด-19 นายจ้าง WFH ทำให้มีภาระงานเพิ่มขึ้น และต้องการให้ดูแลทำความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อมากขึ้น และถูกขอให้ไม่กลับบ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทำให้ไม่มีวันหยุด ส่วนลูกจ้างที่งานทำงานบ้านแบบไปกลับ ร้อยละ 50 ถูกเลิกจ้างเพราะนายจ้างกลัวจะนำเชื้อมาติดคนในบ้าน อีกร้อยละ 50 ถูกลดชั่วโมงการทำงานลง เนื่องจากนายจ้าง WFH สามารถดูแลงานบ้านบางส่วนเองได้
ในขณะที่ลูกจ้างกลุ่มนี้มีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการซื้อหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ และมีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเลี้ยงดูลูกที่เรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าไฟ และค่าโทรศัพท์มือถือ และการที่แม่ต้องออกไปทำงานทำให้ลูกต้องอยู่ในที่พักตามลำพัง นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาการแข่งขันในอาชีพที่เพิ่มสูงขึ้นจากการตกงานของแรงงานจากอาชีพอื่น ซึ่งการเปลี่ยนอาชีพของลูกจ้างทำงานบ้านทำได้ยากเพราะขาดการพัฒนาทักษะ อีกทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ทำให้ต้องกู้เงินนอกระบบ จ่ายดอกเบี้ยสูง และมีความเครียด
ครรธรสต้องการให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าถึงวัคซีน และสามารถเข้าระบบประกันสังคมมาตรา 33 ได้ เพื่อจะได้รับรับสิทธิเงินชดเชยกรณีว่างงาน
ธนพร วิจันทร์ จากกลุ่มผู้หญิงในกิจการก่อสร้าง ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง ซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องจากการเป็นผู้นำสหภาพแรงงานของตนด้วย สำหรับผลกระทบต่อแรงงานหญิงในภาคก่อสร้าง พบว่า มีภาระเพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงดูลูกเนื่องจากศูนย์เลี้ยงเด็กปิด ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการที่ลูกอยู่บ้านเพิ่มขึ้น และต้องพาเด็กไปทำงานก่อสร้างด้วย ทำให้เด็กต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม
นอกจากนี้ พบกรณีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเสียชีวิตทำให้ลูกกำพร้าแม่ตั้งแต่แรกเกิด แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ จากภาครัฐ และเด็กต่างด้าวติดเชื้อไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้เพราะไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และแรงงานหญิงที่ทำงานบริการทางเพศเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก
ธนพร เสนอว่า ภาครัฐควรให้เงินเยียวยากับแรงงานที่ต้องประสบปัญหาการขาดรายได้และมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ควรเร่งฉีดวัคซีน จัดเตรียมเตียงสนามให้เพียงพอ ดูแลความเป็นอยู่ให้กับแรงงานก่อสร้างให้ถูกสุขลักษณะ และจัดเตรียมอาชีพใหม่ให้กับแรงงาน
Makiko Matsumoto ผู้อำนวยการด้านการจ้างงาน องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นำเอาประสบการณ์จากต่างประเทศมาเล่าให้ฟังว่า เนื่องจากผู้หญิงทำงานในภาคบริการจำนวนมาก และภาคบริการได้รับผลกระทบมากจากโควิด-19 ทำให้ผู้หญิงได้รับผลกระทบมาก และผู้หญิงยังมีภาระต้องทำงานดูแลครอบครัวโดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนอีกด้วย
นอกจากมาตรการสาธารณสุข การกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการภาษี และการอุดหนุนค่าจ้างเพื่อสนับสนุนการจ้างงานแล้ว ประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่มีมาตรการเฉพาะเจาะจงกับผู้หญิงในช่วงโควิด-19 ได้แก่ เงินอุดหนุนบุตรเพื่อช่วยบรรเทาภาระให้กับครอบครัว นอกจากนี้ ยังมี Family violent leave ให้กับครอบครัวที่มีปัญหาภายในครอบครัวให้สามารถลางานได้ไม่เกิน 10 วัน โดยไม่นับรวมกับวันลาประเภทอื่น ๆ และสามารถปรับชั่วโมงทำงานให้ยืดหยุ่นได้เป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาภายในครอบครัว ซึ่งมาตรการนี้มีมาก่อนเกิดโควิด-19 แต่มีส่วนช่วยลดความตึงเครียดภายในครอบครัวที่เพิ่มสูงขึ้นได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้
Makiko มีความเห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิการทำงานและสิทธิในที่ทำงานของผู้หญิง และควรเน้นย้ำในเรื่องการขจัดความรุนแรงและความคุกคามทางเพศเป็นพิเศษ อีกทั้งยังควรลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะในด้านการดูแล ไม่ว่าจะเป็นสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ โรงเรียน โรงพยาบาล และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถมีเวลาออกมาทำงานนอกบ้านได้ ซึ่งการสร้างเศรษฐกิจใส่ใจ (Care economy) ในลักษณะเช่นนี้จะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้น และผู้หญิงสามารถเข้าไปมีบทบาทในการทำงานเหล่านี้ด้วย
งานสัมมนาในวันแรกจบลงด้วยการให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอผ่านแอพพลิเคชั่นออนไลน์ ซึ่งข้อมูลและข้อเสนอของวิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งหมดได้ถูกรวบรวมและนำเสนอในวันที่สองของงานสัมมนาต่อผู้แทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และผู้แทนจากพรรคการเมือง 6 พรรค คือ พรรคก้าวไกล พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย และพรรคไทยสร้างไทย เพื่อให้ได้รับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำไปผลักดันนโยบายให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเสวนา: อนาคตผู้หญิงทำงานกับโควิด-19
ดังมีรายละเอียดของปัญหาและข้อเสนอที่จำเป็นต้องติดตามผลต่อไป ดังนี้
ปัญหาที่ผู้หญิงทำงานต้องเผชิญในช่วงโควิด-19 ประกอบด้วย 5 ด้าน ดังนี้
- ปัญหาสุขภาพ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไม่สามารถ WFH ยังไม่ได้รับวัคซีน เกิดความเครียดจากสภาพปัญหาที่รุมเร้า
- ปัญหาเศรษฐกิจ ถูกเลิกจ้าง ลดชั่วโมงทำงาน ขาดรายได้ ต้องขายทรัพย์สิน หนี้สินเพิ่มขึ้น ขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากการที่เด็กอยู่บ้าน ไม่ได้ไปโรงเรียน ค่าไฟฟ้า ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าอาหาร หน้ากาก เจลแอลกอฮอล์
- ปัญหาครอบครัว ภาระการเลี้ยงดูลูกที่ต้องเรียนออนไลน์ ศูนย์เลี้ยงเด็กปิด เด็กต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมและได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ปัญหาความสัมพันธ์กับคู่สมรส ความรุนแรงในครอบครัว ลูกสูญเสียพ่อ/แม่จากการติดเชื้อและเสียชีวิต
- ปัญหาด้านการทำงาน ภาระงานเพิ่มขึ้น จากคนไข้ที่เพิ่มมากขึ้น และจากการ WFH ของนายจ้าง โอกาสในการทำงานในอนาคตลดลง การแข่งขันในอาชีพมากขึ้น ขาดการพัฒนาทักษะทำให้เปลี่ยนอาชีพยาก
- ปัญหาเชิงโครงสร้างและสวัสดิการรัฐ ปัญหาเดิมของกลุ่มเปราะบาง อันได้แก่ สตรีพิการ สตรีตั้งครรภ์ ผู้ขายบริการทางเพศ แรงงานข้ามชาติหญิง แรงงานก่อสร้างหญิง แรงงานเพศทางเลือก ถูกซ้ำเติมให้มีความรุนแรงขึ้น เพราะไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมและโครงการเยียวยาของภาครัฐ
ข้อเสนอของผู้หญิงทำงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ข้อเสนอระยะเร่งด่วน มีจำนวน 8 ข้อ
- เร่งฉีดวัคซีนเชิงรุกให้ถ้วนทั่ว โดยกลุ่มแรกต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์และอสม. แล้วกระจายไปยังประชาชน โดยไม่เลือกสัญชาติ เพิ่มโรงพยาบาลสนาม สถานพักคอย เร่งตรวจโควิดเชิงรุก และแจกชุดตรวจโควิด
- ให้เงินเยียวยาผู้ขาดรายได้ 10,000 บาทต่อเดือน แบบเข้าถึงง่าย ถ้วนหน้า ในช่วงปิดเมือง
- ให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า 600 บาทต่อคนต่อเดือน
- ให้สิทธิพิเศษกับสตรีมีครรภ์ให้ได้รับวัคซีน และปรับภาระงานให้เหมาะสม
- จัดสถานที่กักตัวสำหรับกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศแยกจากผู้ชาย
- ไม่นับรวมวันลาจากการติดโควิดกับวันลาอื่น
- ระงับการจับกุมแรงงานข้ามชาติจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว
- สนับสนุนให้ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติทางเพศเข้าใช้สิทธิตามกฎหมาย
ข้อเสนอระยะกลาง แบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้
1.ด้านอาชีพ มีจำนวน 6 ข้อ
- เปิดพื้นที่ให้สามารถกลับไปประกอบอาชีพได้ โดยมีมาตรการป้องกัน
- ให้ทุนให้เปล่าในการประกอบอาชีพขนาดเล็ก
- ให้กู้เงินจากกองทุนประกันสังคม ปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำ
- จ้างงานผู้หญิงดูแลคนในชุมชน
- จัดเตรียมอาชีพใหม่ให้กับแรงงาน จัดให้มีการพัฒนาฝีมือโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
- ปรับค่าตอบแทนให้เป็นธรรมสำหรับอาชีพพยาบาล สนับสนุนความก้าวหน้าทางวิชาชีพ และฟื้นฟูสุขภาพให้กับบุคลากรที่ติดเชื้อ ให้สามารถกลับไปทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดังเดิม หรือปรับเปลี่ยนงานให้เหมาะสม
2.ด้านสุขภาพ มีจำนวน 4 ข้อ
- ปรับสภาพที่อยู่อาศัยของแรงงานก่อสร้างให้เหมาะสม
- ประกันสุขภาพให้กับแรงงานอิสระที่ต้องประกอบอาชีพเสี่ยงติดเชื้อ เช่น มัคคุเทศก์ คนขับรถ
- ติดตามฟื้นฟูผู้ป่วยโควิดที่หายแล้ว และเปิดสายด่วนให้คำปรึกษาสุขภาพกายและจิต
- ประชาสัมพันธ์สถานบริการยุติการตั้งครรภ์ของรัฐ แนวปฏิบัติการทำแท้งปลอดภัย ขยายจำนวนสถานบริการยุติการตั้งครรภ์
3.ด้านระบบ กฎหมาย และการคุ้มครองทางสังคม มีจำนวน 4 ข้อ
- ปรับแก้กฎหมายแรงงาน ได้แก่ การลาคลอดของบิดา การแยกกฎหมายแรงงานชั่วคราว แรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานนอกระบบ ออกจากกฎหมายแรงงาน
- ให้ความรู้เรื่องสิทธิสวัสดิการแรงงาน
- ปรับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้สามารถนำเงินสงเคราะห์บุตรมาเลี้ยงดูพ่อแม่ได้
- บูรณาการการทำงานและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ
ข้อเสนอระยะยาว มีจำนวน 5 ข้อ ดังนี้
- ปรับเงื่อนไขการทำงานของแรงงานหญิงให้มีรายได้และความมั่นคงในอาชีพมากยิ่งขึ้น
- ขยายประกันสังคมให้คนทำงานทุกอาชีพ
- มีหน่วยงานเฉพาะภายใต้กระทรวงแรงงานดูแลแรงงานหญิง
- สร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรแรงงานต่าง ๆ กับภาครัฐ
- วางแผนยุทธศาสตร์ชาติใหม่ ปรับกฎหมายให้ทันสมัย และปรับระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ
หมายเหตุ – สรุปการเสวนาโดย รศ. ดร. กิริยา กุลกลการ