อยู่ดีมีแฮง : กระท่อมปันสุขจากสวนถึงมือ บ้านหนองเม็ก จ.อำนาจเจริญ

อยู่ดีมีแฮง : กระท่อมปันสุขจากสวนถึงมือ บ้านหนองเม็ก จ.อำนาจเจริญ

สถานการณ์โควิด-19 แม้จะส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้านทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมและอื่น ๆ อีกมากมายต่างก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า หลายกิจการก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่อีกหลายกิจการก็ต้องปิดตัวลงเพราะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว โลกที่ถูกโควิด-19 คุกคามกลายเป็น “โลกที่ไม่มีกิน” ในสายตาของหลายคน แต่ท่ามกลาง วิกฤตนี้ ยังมีน้ำใจเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เกิดปรากฏการณ์แบ่งปันอาหาร ยารักษา ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น

ผู้เขียนในนาม “อยู่ดีมีแฮงออนไลน์” วันนี้ได้มีโอกาสเดินทางไปที่ บ้านหนองเม็ก ต.คึมใหญ่ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 20 กิโลเมตร ที่นี่เป็นแหล่งผลิตพืชผักอินทรีย์ โดยการรวมกลุ่มของชาวบ้านในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2558 และยังถือเป็นต้นแบบหมู่บ้านผักอินทรีย์แห่งแรกในจังหวัดอำนาจเจริญ ทางกลุ่มมีเป้าหมายในการปลูกผักอินทรีย์ให้เป็นแหล่งอาหาร สด สะอาด ปลอดภัย รวมทั้งพัฒนาสินค้าผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก ให้เป็นสัญลักษ์ “เมืองธรรมเกษตร” ตามนโยบายของจังหวัดอำนาจเจริญ

“อยากให้พี่น้องรู้ว่า ตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 อาจจะเดือดร้อน รุนแรงในเมืองใหญ่ แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัด บ้านนอกบ้านนา ยังสามารถปลูกได้ ปลูกอยู่ปลูกกินและแบ่งปันกันได้”

จำปา สุวะไกร เครือแหกสิกรรมไร้สารพิษ ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านหนองเม็ก เล่าให้กับทีมงานอยู่ดีมีแฮงออนไลน์ ฟังถึงแนวคิดในการจัด “กระท่อมปันสุข” เพราะเห็นถึงความเดือดร้อนของเพื่อนบ้าน ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่รุนแรง ทำให้ตลาดในชุมชนต้องปิดตัว ชาวบ้านขาดทั้งรายได้และอาหาร จึงได้พูดคุยกันกับสมาชิกในกลุ่มเกษตรอินทรีย์ว่าจะช่วยคนในชุมชนได้อย่างไร จึงเกิดเป็นกระท่อมปันสุข แบ่งปันกันกิน และสมาชิกในกลุ่มใครมีพืชผักอะไรก็จะรวมกันเอามาแจก แบ่งปันให้กับคนในชุมชนได้เอาไปกิน โดยเลือกทุกเช้าของวันพฤหัสบดี เป็นวันจัดกิจกรรมกระท่อมปันสุข

ผักอินทรีย์จากแต่ละสวนนำมารวมกัน

“ผู้ให้จะตื่นตั้งแต่เวลา 04.00-05.00 น. จะเตรียมตัวออกไปเก็บพืชผักในสวน หลังจากเก็บผักเสร็จก็จะนำมารวมกัน ล้างทำความสะอาด มัดเป็นกำเตรียมผักช่วยกัน ซึ่งผักที่ได้จากแต่ละสวน คนไหนอยากจะแบ่งปันผักอะไรก็จะเก็บมา มีอะไรในสวนก็จะเก็บอย่างนั้นมา นำมาสมทบกันคนละเล็กละน้อย และนำมาแบ่งปัน”

จำปา สุวะไกร เล่าให้ทีมงานอยู่ดีมีแฮงฟังต่ออีกว่า หลัก ๆ ผักที่นำมาก็จะมีผักสลัด แตงกว่า มะเขือเปราะ กระเจียบ เห็ดหูหนู มะนาว หน่อไม้ ใครมีผักอะไรในสวนก็จะเตรียมกันมา โดยที่ไม่ได้จำกัดจำนวนว่าจะต้องเอามาเท่าไร ใครอยากแบ่งปันอะไรก็เอามารวมกัน อย่างเช่น มันญี่ปุ่น ก็จะเอามาครั้งละ 100 กิโลกรัม และช่วงนี้ในสวนมีเมล่อนอินทรีย์ ก็จะเอาเมล่อนมาแจกด้วย

แบ่งปันความสุข ทั้งผู้ให้และผู้รับ

บรรยากาศกระท่อมปันสุขเป็นบรรยากาศเรียบง่ายและอบอุ่น ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรให้ยุ่งยาก ใครมาก่อนก็ต่อแถวเข้าคิวก่อน ซึ่งจะมีชาวบ้านมารอเข้าคิวตั้งแต่เช้ามืด และจะต้องเตรียมอุปกรณ์ใส่ของมาจากบ้านเอง เพราะทางกลุ่มเกษตรอินทรีย์จะรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติกในการมารับของ ก็เลยทำให้เห็นภาพบรรยากาศน่ารัก ๆ ในการมารับของ เช่น ตระกร้าสานไม้ไผ่ ตระกร้าหวาย กระสอบปุ๋ยตัดเป็นถุงใส่ของ ชาวบ้านจะเรียกว่าถุงพาย นำมาใส่ของกลับบ้าน ทำให้เสร็จกิจกรรมแล้วแทบไม่มีขยะหลงเหลือให้เห็น

“จัดกระท่อมปันสุขไปเรื่อย ๆ เพราะยิ่งทำแล้วยิ่งสัมผัสได้ว่าชาวบ้านเดือดร้อนมาก และมีความสุขที่ได้รับ ผู้ให้เองก็มีความสุขที่ได้แบ่งปัน ทำให้สมาชิกในกลุ่มได้เสียสละ ผู้ที่มารับก็มีความรู้สึกดี ๆ เพราะเราทำได้ก็แบ่งปันให้กับคนในชุมชน เป็นการเชื่อมระหว่างกลุ่มเกษตรอินทรีย์กับชุมชนให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น”

แบ่งปันกันกิน ฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน

“เราทำเพื่อการแบ่งปัน ให้ทุกคนที่มาหยิบแต่พอดี เพื่อแบ่งปันให้กับคนข้างหลัง เพราะคนข้างหลังก็รอรับอีกเยอะ หยิบเพื่อแบ่งปัน เอาแต่พอดี ผู้ที่มารับจะได้พืชผักทุกอย่าง อย่างละ 1 ชิ้น ให้คนอื่นได้ด้วยหลาย ๆ คน เราปลูกอยู่ ปลูกกิน ปลูกได้เยอะก็แบ่งปันให้กับคนอื่น อยากสะท้อนให้เห็นว่า พึ่งตนเองให้ได้ และแบ่งปันให้กับชุมชนด้วย”

ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างไปในทุกพื้นที่ แต่นี่ก็ถือเป็นบทพิสูจน์สำคัญ ของการพึ่งตนเอง การสร้างฐานชีวิตให้เข้มแข็งมีอยู่มีกิน ถือว่าเป็นภูมิคุ้มกันได้อย่างดี ต่อให้สถาการณ์เลวร้ายลงแค่ไหนก็สามารถอยู่ได้  สิ่งสำคัญคือเมื่อพึ่งตนเองได้แล้ว ก็ต้องแบ่งปันเพื่อให้คนรอบข้างได้มีอยู่มีกินด้วย กระท่อมปันสุข คือคำตอบของการพึ่งตนเอง จนเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ เพื่อยืนยันถึงความอยู่รอด นี่คือความงดงามที่ผลิดอกออกผลให้เห็นท่ามกลางวิกฤตในยุคนี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ