อยู่ดีมีแฮง : ธุรกิจมืดในชุมชน คนเผาถ่าน

อยู่ดีมีแฮง : ธุรกิจมืดในชุมชน คนเผาถ่าน

เดชา  คำเบ้าเมือง  เขียน

มิ่งขวัญ  ถือเหมาะ  ภาพ

ถึงแม้ว่าทุกวันนี้โลกจะพัฒนาไปไกลถึงการส่งยานอวกาศขึ้นไปสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่น มีการสร้างนวัตกรรมการสื่อสารอย่างไร้พรมแดนที่อยู่เพียงปลายนิ้ว และความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมสามารถนำพลังงานจากแก๊สธรรมชาติขึ้นมาใช้อย่างดาษดื่น รวมไปถึงการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์สุดแสนจะสบายยิ่งนักแล้วก็ตาม

แต่หากเราย่องเข้าไปสำรวจในครัวของแต่ละบ้านสิ่งหนึ่งที่มักจะพบนั่นก็คือ “ถ่าน” ซึ่งนับว่าจำเป็นอยู่ไม่น้อยสำหรับการประกอบหุงหาอาหาร โดยเฉพาะสังคมชนบทอีสาน ส่วนใหญ่จะใช้ไม้ฟืนที่หามาได้จากป่าหัวไร่ปลายนา ส่วนที่เป็นไม้ท่อนใหญ่ก็จะนิยมเอามาเผาถ่านไว้ใช้ในยามหน้าฝนซึ่งจะหาไม้ฟืนยากเพราะมันเปียกชื้น เพื่อไว้สำหรับทำเมนูต้มเคี่ยวที่ต้องใช้เวลานาน เนื่องจากถ่านจะเกิดการเผาไหม้อย่างช้าๆ แต่ให้พลังงานความร้อนสูง และสม่ำเสมอ รวมไปถึงการปิ้ง ย่าง ไอความร้อนจากถ่านก็จะทำปฏิกิริยากับอาหารแล้วให้กลิ่นหอม และมีความอร่อยแบบฟินๆ เลยทีเดียว

นอกจากนี้ตามร้านอาหาร ร้านหมูกระทะ หรือร้านปิ้งย่าง หลายร้านก็ยังคงใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงให้ลูกค้าได้นั่งชิลล์ กินเพลิน เหมือนทำอาหารไปและพูดคุยกันไปด้วย “มันอร่อยกว่าใช้เตาแก๊สจ้า เตาแก๊สมันไม่หอม ถ้าเตาใช้ถ่านมันจะหอม หอมถ่าน และก็นั่งกินไปสบายๆ ได้นาน แต่ถ้ากระทะไฟฟ้าพอเปิดไฟแล้วมันจะร้อนทั่ว ซึ่งมันเร็ว มันเร่งเกินไป” เสียงสะท้อนของสาววัยรุ่นเรียนมหาวิทยาลัยขาประจำร้านหมูกระทะกล่าวกับอยู่ดีมีแฮง

วันนี้ “อยู่ดีมีแฮง” จะนำพาท่านผู้อ่านมาพบกับการเผาถ่านสร้างรายได้ในชุมชน ซึ่งกว่าจะได้เป็นถ่านสีดำสนิทออกมาให้เราใช้หุงต้ม หรือลิ้มรสความแซ่บของหมู่กระทะ หมูหัน ไก่ย่าง ฯลฯ จะต้องผ่านกรรมวิธีผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างไร โดยการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านชีวิตของ สายทอง  ศรีโคตร อายุ 55 ปี ชาวบ้านสังคม ตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งครอบครัวของเธอไม่มีที่ดินทำกิน จึงยึดอาชีพเผาถ่านขาย โดยการเช่าที่เพื่อนบ้าน และรับซื้อเศษไม้ที่เหลือจากโรงงานเลื่อยไม้แปรรูปมาเผาจนเสร็จกระบวนการ แล้วบรรจุถุงพลาสติก ก่อนจะนำไปขายส่งให้กับร้านรับซื้อในเมือง

จากแม่ค้าผลไม้กลายเป็นคนขายถ่าน

เมื่อก่อนสายทอง มีอาชีพเป็นแม่ค้าขายผลไม้ ซึ่งเธอกับสามีจะไปรับเอาผักและผลไม้จากตลาดในเมืองอุดรธานี เช่น ทุเทียน เงาะ ฝรั่ง มังคุด สัปปะรด แตงโม พริก มะเขือ และผักอื่นๆ ตามฤดูกาล มาขับรถกระบะเร่ประกาศขายตามไปหมู่บ้าน แต่ก็พบปัญหาขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง รวมทั้งในชุมชนก็มีร้านค้ามากขึ้นซึ่งพ่อค้าแม่ค้าเขาก็รับของเหล่านั้นมาขายเหมือนกัน เมื่อขายไม่หมดผักผลไม้ก็เน่าเสียทำให้ขาดทุน แต่จะทำอย่างไรได้เมื่อได้ดาวน์รถกระบะมาแล้ว จะหาเงินที่ไหนไปผ่อนบริษัทรถ

“พอดีไปบ้านญาติ เห็นชาวบ้านเขาเผาถ่านโดยใช้ดินปั้นเป็นเตาเผา ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นช่องทางทำมาหากินและสร้างรายได้ อีกทั้งก็สามารถเก็บไว้ได้นาน ไม่เน่าไม่เสียเหมือนผลไม้ จึงมาลองทำดู คือเริ่มเผาตั้งแต่ปี 2539 โดยพ่อ (สามี) จะไปขนเอาไม้จากโรงเลื่อย ราคาตันละ 100 บาท สมัยนั้นไม่แพง ก็มีไม้มะม่วง ไม้ฉำฉา เอามาเผา เผาแล้วเอาไปขาย กรอกใส่ถุงขนาด 9 นิ้ว x 18 นิ้ว ถุงละ 7 บาท ถ้าใส่กระสอบก็ขนาดกระสอบป่านราคา 100 บาท แต่พอเผาแล้วก็เห็นสามารถสร้างรายได้จุนเจือเรา พอได้จ่ายงวดรถ พอได้อยากได้กิน” สายทองเล่าถึงที่มาที่ไปให้เราฟัง

ด้วยความที่ครอบครัวของสายทองไม่มีที่ดินทำกิน เธอจึงยึดเอาการเผาถ่านขายเป็นอาชีพตั้งแต่นั้นมา โดยการเช่าที่ดินของเพื่อนบ้านในราคาเตาละ 500 บาทต่อปี ซึ่งมีอยู่จำนวน 3 เตา และเสียภาษีให้กับ อบต. อีกเตาละ 200 บาทต่อปี ควบคู่ไปกับการเช่าที่ดินทำนาเพื่อจะได้แบ่งข้าวกินในแต่ละปี

จากไม้กลายเป็นถ่าน

สายทองไม่ได้มีความรู้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ว่า ถ่านเป็นกากคาร์บอนสีดำน้ำหนักเบาที่ผลิตโดยให้ความร้อนสูงแก่ไม้โดยใช้ออกซิเจนน้อยที่สุดเพื่อขจัดน้ำและส่วนประกอบระเหยออกทั้งหมด กล่าวคือ ถ่าน คือ ไม้ที่ได้จากการเผาไหม้ภายในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศอยู่เบาบางขณะนั้นคือ ระหว่างที่ไม้ถูกสลายตัวด้วยความร้อน ภายในเนื้อไม้จึงเกิดกระบวนการกำจัดน้ำ น้ำมันดินและสารประกอบอื่นๆ ออกไป คงเหลือถ่านที่มีคาร์บอนสูงกว่า 80% และไม่มีความชื้นหลงเหลืออยู่ เป็นผลให้ถ่านสามารถให้พลังงานได้สูงกว่าไม้แห้งถึงสองเท่า อะไรเทือกนั้น แต่สายทองใช้การเรียนรู้จากภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนที่ถ่ายทอดกันมา แล้วลงมือปฏิบัติ และผ่านการลองผิดลองถูก จนขึ้นขั้นโปร

“เริ่มต้นปั้นเตาเราจะกองไม้ก่อน หลังจากนั้นก็ขุดเอาดินมันปูมาย่ำผสมเข้ากับน้ำให้เป็นตม แล้วนำมาโปะ โปะ โปะ ขึ้นรูปตามกองฟืนหลายๆ รอบให้หนา โดยเหลือปากเตาไว้ยังไม่ปิด นอกจากนี้ก็ทำช่องสำหรับจุดไฟด้านท้ายเตา และปล่องควันด้านข้างๆ ละ 3 ปล่อง เสร็จแล้วรอจน 1-2 เดือน ทิ้งไว้ให้ดินแข็งและแห้ง ถ้าดินไม่แห้งเราไปจุดไฟเผาไม้ข้างในจะไหม้หมดและเตาก็จะพัง และเราต้องทำโครงหลังคามุงไว้ไม่ให้โดนฝน

เมื่อดินแห้งแล้วขั้นตอนต่อไป เราก็ปิดปากเตาและจุดไฟที่ช่องด้านท้าย โดยที่ยังไม่ปิดปล่องควัน เสร็จแล้วทิ้งไว้ 2 คืน แต่ถ้าเป็นไม้สดก็ 3-4 คืน รอให้มันหมดควัน และสังเกตไฟที่อยู่ในเตาจะค่อย ๆ มอดลง ควันจากปากปล่องก็ค่อยๆ จางหมดไป แล้วค่อยมาปิดปล่องควันโดยใช้ดินผสมน้ำเป็นตมโปะให้สนิท และปล่อยทิ้งไว้ จนกระทั่งเราเอามือคลำดูว่าดินมันเย็น ปากเตาเย็น หรือคลำดูว่าเตาไม่มีความร้อนแล้ว เราค่อยเปิด ถ้าเตายังอุ่นอยู่แล้วเราไปเปิดจะเกิดไฟ และพอเอาถ่านออกหมดแล้วเราก็เอาไม้ชุดใหม่เข้าเผาต่อได้เลย หมุนเวียนกันไปอยู่อย่างนี้” สายทองอธิบายให้เห็นแต่ละขั้นตอนกว่าไม้จะกลายมาเป็นถ่าน

จากถ่านกลายเป็นเงิน

สายทองจะรับซื้อเศษไม้จากโรงเลื่อยไม้แปรรูปมาเผาถ่าน โดยมีรถกระบะต่อคอกบรรทุกไม้มาส่งถึงที่ในราคารถละ 3,500 บาท หากคิดเป็นน้ำหนักก็ประมาณ 2-3 ตัน สามารถบรรจุใส่ในเตาได้ 2 เตา ก่อนจะเผาออกมาเป็นถ่านได้ประมาณ 180 ถุงพลาสติกขนาด 9 นิ้ว x 18 นิ้ว ต่อ 1 เตา ซึ่งปัจจุบันราคาอยู่ที่ถุงละ 18 บาท ถ้าเป็นขนาดกระสอบปุ๋ยราคา 100 บาทต่อกระสอบ

“หากจะคิดเป็นรายได้ก็จะได้ประมาณ 6,000 กว่าบาท ต่อ 1 รอบการเผา แต่ถ้าหักค่าใช้จ่ายซื้อไม้ ซื้อถุงใส่ และค่าน้ำมันไปส่งถ่านแล้ว ก็จะเหลือประมาณ 2,000-3,000 บาท โดยมีห้างร้านในเมืองที่เขารับซื้อกับเราเป็นประจำ เมื่อถ่านใกล้จะหมดเขาก็จะโทรมาบอกให้เราไปส่ง”

หากจะคิดตามตรรกะง่ายๆ ใน 1 เดือน สายทองสามารถเปิดเตาได้ 4-5 ครั้ง และมีรายได้มากถึง 15,000 บาท แต่เธอบอกว่าก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างประกอบด้วย “เป็นต้นว่าหน้าฝนฟืนจะเปียก เพราะเรากองไว้เวลาฝนตกจะเปียก พอเราไปติดไฟก็ติดยาก ถ้าไหม้ก็กลายเป็นขี้เถ้ามาก ซึ่งกว่าจะเผาเสร็จก็เหลือเป็นถ่านครึ่งเดียว หรือจำนวนน้อยอยู่ปากเตา หน้าฝนบางทีขาดทุน สมมติว่าเราซื้อฟืนราคา 3,500 บาท กว่าเราจะขายได้ บางทีหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เหลือไม่ถึง 500 บาทก็มี แต่หน้าฝนจะขายถ่านดีกว่า ส่วนหน้าแล้งได้ถ่านเยอะ แต่ขายยากคนก็ไม่ค่อยซื้อ เพราะเขาไปหาฟืนตามไร่ตามนาได้”

มีกินมีใช้ อยู่ได้ด้วยถ่าน

เมื่อถ่านกลายเป็นที่ต้องการของตลาดดังที่กล่าวมาทั้งหมด จึงทำให้ช่วงหนึ่งคนในชุมชนหันมาเผาถ่านขายเป็นอาชีพกันมากขึ้น สายทองบอกว่า ในหมู่บ้านเคยมีการเผาถ่านมากถึง 50 เตา จนทำให้เกิดผลกระทบตามมาคือ มีปัญหามลภาวะ ฝุ่นควันปริมาณมาก และมีการร้องเรียนเกิดขึ้น หลังจากนั้นผู้นำชุมชน ร่วมกับหน่วยงาน อบต. จึงได้จัดประชุมและวางระเบียบกติการ่วมกัน โดยมีข้อตกลงกันว่า เตาถ่านต้องอยู่ห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 2 กิโลเมตร ส่วนไม้ที่นำมาเผาก็ต้องไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือผิดกฎหมาย ซึ่งข้อนี้เข้าใจกันดีอยู่แล้ว นอกจากนี้ อบต. ก็ได้เข้ามาดูแลและจัดเก็บภาษีให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย

ทุกวันนี้น่าจะเหลือคนเผาถ่านอยู่ประมาณ 30 ราย เนื่องจากว่าไม้หายากและมีราคาแพงขึ้น จากเมื่อก่อนเคยซื้อไม้ในราคารถละ 400 บาท ตั้งแต่ถ่านถุงละ 7 บาท แต่ตอนนี้ราคาขึ้นไปถึงรถละ 3,500 บาท ถ่านถุงละ 18 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และค่าครองชีพก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

“พออยู่พอกินในแต่ละวัน เพราะว่าเราไม่มีที่นา ก็พอได้ซื้อกิน เพราะจะกินจะใช้ทุกวันนี้มันต้องใช้เงิน เราซื้อพริก มะเขือ เกลือ ปลาร้า และข้าวก็ต้องใช้เงิน ซึ่งเราไม่มีที่ดินทำนาพอเราไปเช่าเขาทำก็ต้องลงทุนมาก แต่เผาถ่านมันก็ถือว่าดีอยู่ พอไม่ได้ขอคนอื่นกิน ซึ่งหากจะพูดเปรียบเปรยก็คือว่า เวลาที่เราไม่เอาของหรือยืมเงินคนอื่น ก็ยังพอมีข้ออ้างว่าเผาถ่านเสร็จจะเอามาคืนเด้อ” สายทองกล่าวทิ้งท้าย 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ